สำรวจข้อมูล… โค้งสุดท้าย ก่อนเลือก สว. ระดับประเทศ

การเลือก สว. เดินทางมาถึงโค้งสุดท้าย โดยการเลือกในระดับประเทศ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 26 มิ.ย. 2567 จะเป็นการเลือกจากแต่ละกลุ่มอาชีพให้เหลือ 10 คน จากปัจจุบันที่มีจำนวนผู้ที่ผ่านเข้ารอบในแต่ละกลุ่มไม่เกิน 154 คนต่อกลุ่ม รวมเป็นสว. รวมได้ สว. ชุดใหม่มาปฏิบัติหน้าที่ 200 คน

สว.

แต่ก่อนจะไปถึงการเลือกกันเองในรอบสุดท้าย The Active ได้นำข้อมูลผู้สมัคร สว. ที่ผ่านรอบระดับจังหวัดและไปต่อรอบระดับประเทศ ที่ทาง ปัญจมพงศ์ เสริมสวัสดิ์ศรี เผยแพร่ได้ จากการแปลงข้อมูลจากเว็บไซต์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาวิเคราะห์ว่ามีจำนวน-ตัวเลขไหนในการเลือก สว. รอบสุดท้ายที่ใกล้จะถึงนี้ที่น่าสนใจบ้าง

รอบประเทศแข่งดุเดือด 93% ไม่ได้ไปต่อ

จากผู้สมัครที่คุณสมบัติผ่านทั่วประเทศ 46,205 คน คัดรอบระดับอำเภอเหลือ 23,645 คน คัดต่อรอบระดับจังหวัดเหลือ 3,000 คน และจะคัดต่อรอบระดับประเทศที่จะถึงในวันที่ 26 มิ.ย. นี้ เหลือ 200 คน ซึ่งจะกลายมาเป็น สว. ชุดใหม่ในที่สุด

นั่นหมายความว่าในรอบระดับประเทศนี้จะต้องคัดออก 2,800 คน หรือคิดเป็นคัดออกถึง 93.33%

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับรอบสมัครที่คุณสมบัติผ่านจะพบว่า จาก 46,205 คน เหลือ 200 คนนั้น คัดออกถึง 46,005 คน หรือ 99.57% แปลว่าทุก ๆ ผู้สมัคร 1,000 คน จะมีคนได้เป็น สว. ประมาณ 4.32 คนเท่านั้น หรือคิดเป็นอัตราการแข่งขันประมาณ 1 : 231 คน

สัดส่วนผู้หญิงเข้ารอบสุดท้าย เพียง 1 ใน 4 แม้มีกลุ่มสตรีแยกต่างหาก

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2567 กกต. ได้ประกาศรายชื่อผู้สมัคร สว. ที่คุณสมบัติผ่านหลังการตรวจสอบ โดยมีจำนวนทั้งหมด 46,206 คน (ต่างจากจำนวนข้อมูลผู้สมัคร สว. ที่ปัญจมพงศ์เผยแพร่ 1 คน) โดยแบ่งเป็นเพศชาย 26,727 คน (57.84%) และเพศหญิง 19,479 คน (42.16%)

ในขณะที่จำนวนผู้สมัครที่ผ่านรอบการเลือกระดับอำเภอไปต่อรอบระดับจังหวัดนั้น กกต. รายงานว่า มีจำนวน 23,645 คน (ลดลง 48.83% หรือเกือบครึ่ง) โดยแบ่งเป็นเพศชาย 15,077 คน (63.76%) และเพศหญิง 8,568 คน (36.24%)

และล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2567 กกต. รายงานจำนวนผู้สมัครที่ผ่านรอบการเลือกระดับจังหวัดไปต่อรอบระดับประเทศว่า มีทั้งหมด 3,000 คน (ลดลงจากรอบก่อนหน้า 87.31%) โดยแบ่งเป็นเพศชาย 2,164 คน (72.31%) และเพศหญิง 836 คน (27.87%)

จะเห็นได้ว่า ในการเลือกแต่ละรอบ มีจำนวนผู้สมัครผู้หญิงลดลงเรื่อย ๆ โดยลดลงรวมถึง 14.29% ทำให้ในปัจจุบันเหลือผู้สมัครผู้หญิงเพียง 27.87% หรือประมาณ 1 ใน 4 เท่านั้น แม้จะมีกลุ่มสตรีแยกออกมาต่างหาก และครบ 154 คน แล้วก็ตาม

คนพิการ -ชาติพันธุ์ -LGBTQIAN+ สัดส่วนน้อย

กลุ่ม 15 ถือเป็นกลุ่มที่ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายประเภท โดยเป็นการรวมกลุ่มของคนชายขอบ ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น ๆ โดยต่างจากกลุ่มอื่น ๆ ที่กลุ่มนี้ไม่ต้อง “มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทํางานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่าสิบปี” (เช่นเดียวกันกับกลุ่ม 14 – กลุ่มสตรี) หรือหมายความว่า หากปัจจุบันผู้สมัครมีคุณสมบัติอื่น ๆ ครบถ้วน และเป็นผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่มอัตลักษณ์อื่น ๆ ก็สามารถสมัครเข้ากลุ่ม 15 ได้เลย

อ้างอิงจากเอกสารข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร ผู้สมัครที่ผ่านรอบจังหวัดไปต่อรอบประเทศในกลุ่มนี้ มีจำนวน 154 คน โดยจำนวนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่ผู้สูงอายุถึง 134 คน (หรือคิดเป็น 87.01%) โดยมีคนพิการเพียง 10 คน กลุ่มชาติพันธุ์เพียง 7 คน และผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) เพียง 1 คนเท่านั้น และอื่น ๆ / ไม่ระบุ อีก 2 คน นำมาสู่ข้อกังขาว่ากลุ่มดังกล่าวจะสามารถสะท้อนเสียงของกลุ่มคนชายขอบที่มีสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก ๆ เหล่านี้ได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากนับรวมผู้มีประสบการณ์การทำงานที่ระบุในเอกสาร (โดย 1 คนอาจจะมีประสบการณ์การทำงานกับคนมากกว่า 1 กลุ่ม) จะแบ่งข้อมูลได้ ดังนี้

  • มีคนที่เป็นผู้สูงอายุ และมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุ รวม 135 คน
  • มีคนที่เป็นคนพิการ และมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับคนพิการ รวม 24 คน
  • มีคนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ และมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ รวม 13 คน
  • มีคนที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ และและมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวม 1 คน

จะเห็นได้ว่า แม้รวมผู้มีประสบการณ์ในกลุ่มต่าง ๆ แล้ว จำนวนส่วนใหญ่ก็ยังกระจุกอยู่ที่ผู้สูงวัยมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีจำนวนรวมแล้วเพียง 1 คนเท่านั้น

กลุ่มท่องเที่ยว – กิจการอื่น – อุตสาหกรรม ผู้ผ่านเข้ารอบหายไปเยอะสุด

ในความเป็นจริง การเลือกในรอบจังหวัด ควรจะได้ผู้สมัครทั้งหมด 3,080 คน เพื่อไปต่อรอบประเทศ (ไปต่อ 2 คนต่อกลุ่มต่อจังหวัด มี 20 กลุ่ม และ 77 จังหวัด) หรือตกกลุ่มละ 154 คน แต่ท้ายที่สุดแล้วได้ผู้สมัครผ่านรอบจังหวัดไปต่อรอบประเทศ 3,000 คน หรือหายไป 80 คน โดยหากแบ่งตามกลุ่มแล้ว จาก 20 กลุ่ม พบว่ามีกลุ่มที่ครบ 154 คนต่อกลุ่ม ทั้งหมด 8 กลุ่ม และมีกลุ่มที่ไม่ครบทั้งหมด 12 กลุ่ม โดยกลุ่มที่หายเยอะที่สุด 3 อันดับแรก ดังนี้

  • กลุ่ม 12 – กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หาย 25 คน เหลือ 129 คน
  • กลุ่ม 10 – กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่น หาย 16 คน เหลือ 138 คน
  • กลุ่ม 11 – กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว หาย 8 คน เหลือ 146 คน

สระแก้ว – ตราด – บึงกาฬ คนหายเยอะสุด

แต่ละจังหวัดสามารถมีผู้สมัครผ่านรอบจังหวัดเพื่อไปต่อรอบประเทศได้สูงสุดกลุ่มละ 2 คน รวมจังหวัดละ 40 คน แต่ไม่ใช่ทุกจังหวัดที่มีคนครบตามจำนวน โดยมีจำนวนรวมหายไป 80 คน โดยมีจังหวัดที่คนหายไปเยอะสุด 3 อันดับแรก ดังนี้

  • จ.สระแก้ว หายไป 8 คน เหลือ 32 คน
  • จ.ตราด หายไป 7 คน เหลือ 33 คน
  • จ.บึงกาฬ หายไป 6 คน เหลือ 34 คน

โดยมีเพียง 44 จังหวัดเท่านั้นที่มีจำนวนคนครบ (40 คนต่อจังหวัด)

สัดส่วนผู้สมัครช่วงอายุ 60-69 ปี ผ่านเข้ารอบมากที่สุด

สัดส่วนการกระจายตัวทั้ง 3 รอบ ยังคล้ายเดิม กราฟมีการกระจายในลักษณะเบ้ขวา (right-skewed) เช่นเดิม และสัดส่วนผู้สมัครช่วงเกษียณอายุ (ประมาณช่วง 59-64 ปี) มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้น ในขณะที่กลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไปจะมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด

หากแบ่งตามช่วงอายุจะพบว่า กลุ่มที่เพิ่มขึ้นมากสุดคือช่วงอายุ 60-69 ปี โดยเพิ่มขึ้นจากรอบสมัครที่คุณสมบัติผ่านถึง 3.38% (จาก 42.29% ในรอบสมัคร เป็น 45.67% ในรอบผ่านจังหวัดไปต่อประเทศ)

ในขณะที่ช่วงอายุ 70-79 ปี กลับมีสัดส่วนที่ลดลงมากที่สุด โดยลดลงจากรอบสมัครที่คุณสมบัติผ่านถึง 3.08% (จาก 10.45% ในรอบสมัคร เหลือ 7.37% ในรอบผ่านจังหวัดไปต่อประเทศ)

ในขณะที่กลุ่มช่วงอายุที่เหลืออื่น ๆ มีสัดส่วนการเปลี่ยนแปลงไม่ถึง 1% โดยกลุ่มที่มีสัดส่วนลดลงในรอบผ่านอำเภอไปต่อจังหวัด ก็มีสัดส่วนลดลงในรอบผ่านจังหวัดไปต่อประเทศด้วย ได้แก่ ช่วงอายุ 50-59 ปี (ลดลงรวม 0.57%) ช่วงอายุ 80-89 ปี (ลดลงรวม 0.42%) และช่วงอายุ 90-92 ปี (ลดลงรวม 0.01%) ในขณะที่กลุ่มช่วงอายุ 40-49 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นรวม 0.70%

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล “ผู้สมัคร สว. 67” ได้ทาง

  • ข้อมูลผู้สมัคร สว. ในรูปแบบ JSON โดยปัญจมพงศ์ เสริมสวัสดิ์ศรี: Link
  • ข้อมูลผู้สมัคร สว. โดย กกต.: Link

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่