ดินโคลนเศษซากภัยพิบัติ (Disaster Waste) ที่กำลังเร่งจัดการอยู่ในเวลานี้ หลายฝ่ายระดมกำลังคน และเครื่องไม้เครื่องมือ เพื่อเร่งนำดินโคลนออกจากบ้าน ถนน แต่คำถามในเวลานี้คือ จำนวนดินโคลนจำนวนมหาศาล กำลังคนที่มีอยู่จะจัดการได้นานแค่ไหน
และดินโคลนเหล่านี้หากจัดการล่าช้า ก็อาจเป็นอุปสรรคเพิ่มขึ้นมาอีก หรือหากฝนตกซ้ำอุดตันท่อจะกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมซ้ำหรือไม่
The Active ชวนมองหาแนวทางจัดการดินโคลน ผ่านมุมมองของ รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยรวบรวม 5 นวัตกรรม ที่เคยทดลองวิจัย และจัดการดินโคลนร่วมกับประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว ประกอบด้วย
- รถดูดตะกอน ลอกท่อ : รถประเภทนี้มีประสิทธิภาพในการดูดตะกอนค่อนข้างแรง ถ้าเป็น ดินเหนียว (clay) ดินทราย (sand) จัดการง่าย แต่ถ้าเป็น ดินทรายแป้ง (silt) จะยากหน่อย ซึ่ง ดินโคลน จ.เชียงราย ที่กำลังเร่งจัดการเวลานี้ คือ กลุ่มทรายแป้งผสมดินเหนียว ซึ่งกำจัดยาก เกาะตัวแน่น โดยวิธีนี้หลายเทศบาลกำลังใช้อยู่
- รถปั๊มน้ำแรงดันสูง : อาจมีความเสี่ยงหากฉีดในบ้าน กำแพง เพราะเหมาะสำหรับใช้กับพื้นถนน ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีเครื่องมือชนิดนี้
- เครื่องฉีดน้ำแรงดันไม่สูง : หาซื้อได้ทั่วไปราคาตั้งแต่ 3,000 – 8,000 บาท เหมาะที่จะใช้ภายในบ้าน
รศ.สุทธิศักดิ์ ระบุว่า เครื่องมือทั้ง 3 ชนิด ที่ว่ามามีข้อจำกัด และเกี่ยวข้องกับวิธีการในการล้าง หรือตักออก การขนส่ง เเละที่ที่จะไปทิ้ง ถ้าเป็นดินเหนียว เเละทรายเเป้งที่ยังเป็นน้ำ หรือเลนที่ยังหนืดการขนส่งก็ยาก การนำไปทิ้งต้องคิดให้เป็นประโยชน์ เพราะเป็นดินที่เอาไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ใส่เป็นถุงกระสอบเพื่อเอาไปทำคันตลิ่งที่ถูกกัดเซาะ เป็นต้น
และโจทย์ในเวลานี้ ดินโคลนมีจำนวนมหาศาล การมีเครื่องมือที่สามารถจัดการโคลนหน้างาน และได้ดินที่มีประโยชน์จึงเหมาะกับ 2 วิธีสุดท้าย ส่วนนวัตกรรมที่เหลือ คือ
- เครื่องอัดกรอง (Filter Press) : ดูดเอาตะกอนดินซึ่งผสมน้ำเข้าไปในเครื่อง จากนั้นเครื่องจะทำหน้าที่บีบน้ำออก เหลือเฉพาะดินซึ่งมีขนาดเล็กลง เป็นวิธีการ Dewatering วิธีหนึ่ง ซึ่งจะง่ายต่อการจัดเก็บ เพราะดินเกือบแห้ง และสามารถเก็บในถุง หรือขนย้ายสะดวกง่ายขึ้น
- ซีเมนต์มิกไฟเบอร์ : คล้ายกับวิธีเครื่องอัดกรอง คือ การเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นของแข็ง โดยใช้ดินโคลนผสมกับซีเมนต์ ไฟเบอร์ ( เศษซากใบไม้ กระด่าษที่ใช้แล้ว ฟางข้าว) ตามสูตร ตีหรือปั่นเข้าด้วยกัน จะกลายเป็นดินน้ำมันซึ่งมีมูลค่า นำไปถมดินจะมีความแน่น
แต่สำหรับเครื่องมือ 2 ชนิดสุดท้าย ถือว่า ใช้อุปกรณ์เยอะ เหมาะกับการจัดการดินโคลนบริเวณถนน หรือปริมาณดินโคลนที่มากองรวมกันไว้จากแต่ละบ้าน ไม่ต้องขนย้ายทำในพื้นที่ได้เลย
รศ.สุทธิศักดิ์ ย้ำทิ้งทายว่า แนวทางที่ดีที่สุดในเวลานี้ อาจจะมีมากกว่า 5 แนวทาง และไม่ว่าจะใช้เครื่องมือชนิดไหน ควรเป็นเครื่องมือที่เคยทดลองใช้มาก่อน ซึ่งเครื่องมือที่เสนอหน่วยงานในไทย ทั้งเอกชน และราชการมีอยู่แล้ว