ลอยนวลพ้นผิด: รื้ออดีต ในวันที่รัฐยุติ(ความเป็น)ธรรม

“มีผู้กระทำผิด แต่ไม่มีผู้รับผิด”

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และดูเหมือนว่าสังคมไทยจะเคยชินกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ลอยนวลพ้นผิด’ จนต้องยกให้เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองในหลายเหตุการณ์ซึ่งเกิดจากการใช้ความรุนแรงโดยรัฐกับประชาชนโดยไม่มีผู้รับผิดชอบ

น่าแปลกที่ในคำอธิบายมีข้อความ “ความรุนแรงโดยรัฐ” อยู่ในความหมายของการลอยนวลพ้นผิด ทั้งที่ความจริงแล้ว ‘หน้าที่ของรัฐ’ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ระบุไว้ว่าจะต้องพิทักษ์ ปกป้อง คุ้มครอง สิทธิ เสรีภาพของประชาชนทุกคนภายในรัฐอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน

แต่ทำไม? เมื่อไหร่ที่รัฐมีความขัดแย้งกับประชาชน กลับมีการใช้กองกำลังและอำนาจคร่าชีวิตและร่างกายของประชาชนผู้ไร้ซึ่งทางสู้ หนำซ้ำเมื่อเหตุการณ์สงบแล้ว ชีวิตของประชาชนที่สูญเสียไปจากความรุนแรงโดยรัฐ กลับถูกมองข้าม แม้มีความพยายามที่จะทวงคืนความยุติธรรมโดยการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิด แต่สุดท้ายก็ต้องจบด้วยวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดอยู่เสมอมา

The Active ชวนมองเหตุการณ์ความรุนแรงโดยรัฐผ่านประวัติศาสตร์ที่ “มีผู้กระทำผิด แต่ไม่มีผู้รับผิด” จนนำมาสู่ ‘วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด’ และตอกย้ำความยุติธรรมที่ไม่มีจริงสำหรับเหยื่อความรุนแรง เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้และหาทางออกด้วยความหวังกับ ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

ลอยนวลพ้นผิด

“เผาลงถังแดง และอื่น ๆ” เมื่อประเทศนี้ต้องไม่มีคอมมิวนิสต์

เมื่อพูดถึง ‘ถังโลหะทรงกระบอก 200 ลิตร’ ในความเข้าใจของคนทั่วไปคงนึกถึงถังซึ่งเป็นภาชนะสำหรับบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง ต่างจาก ‘ชาวพัทลุง’ ที่เมื่อพูดถึงถังโลหะทรงกระบอก กลับทำให้นึกถึงถังมรณะที่มีพื้นที่มากพอให้ร่างของมนุษย์ผู้เป็นเหยื่อของเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการเผาอย่างไร้ความปราณี จนเป็นที่มาของความทรงจำอันแสนเจ็บปวดที่เรียกว่า ‘เหตุการณ์เผาลงถังแดง’

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2515 ในพื้นที่จังหวัดพัทลุงและใกล้เคียง ซึ่งเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวที่สำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และยังเป็นพื้นที่สำคัญในการปฏิบัติการของรัฐบาลไทย โดยมี ‘จอมพล ถนอม กิตติขจร’ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น

ภายใต้ปฏิบัติการด้านความมั่นคงของรัฐบาลไทยเพื่อกำจัดขบวนการคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากถูกจับกุม และนำตัวไปสอบสวนในเขตพื้นที่ปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคงอย่าง ‘ค่ายเกาะหลุง’ ใน ต.บ้านนา และ ‘ค่ายท่าเชียด’ ใน ต.ตะโหมด จนมีการตั้งข้อสังเกตว่าฝ่ายรัฐบาลไม่ได้นำตัวชาวบ้านไปเพื่อสอบสวนเพียงอย่างเดียว แต่อาจมีการสังหารชาวบ้านเหล่านั้นด้วยการตีหัวให้สลบก่อนที่จะนำร่างไปเผาใน ‘ถังแดง’ โดยที่บางคนยังรู้สึกตัว และได้ส่งเสียงร้องโหยหวนท่ามกลางกองไฟ จนเจ้าหน้าที่ต้องสตาร์ทรถ GMC แล้วเหยียบคันเร่ง เพื่อให้เสียงเครื่องยนต์ดังมากพอที่จะกลบเสียงร้องของชาวบ้านซึ่งถูกเผาในถังแดง

ในเวลาต่อมา ณ สนามหลวง เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2518 มีการนำเรื่องราวเหล่านี้ออกเผยแพร่สู่สาธารณชน โดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาและแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เปิดอภิปรายและมีแถลงการณ์กรณีถังแดง ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) โดยด่วน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ยุติการสังหารประชาชนในการปราบปรามคอมมิวนิสต์แบบเหวี่ยงแหและให้รัฐบาลใหม่ชดใช้ค่าเสียหายแก่ครอบครัวผู้เคราะห์ร้ายทุกครอบครัว

ด้าน พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น ยอมรับว่า เรื่องถังแดงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน พร้อมทั้งเตรียมเสนอให้รัฐบาลใหม่ถอนกำลังจาก กอ.รมน. ให้หมดด้วย

ขณะที่ พ.อ.หาญ พงศ์สิฏานนท์ ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายอำนวยการและประสานงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ได้ยอมรับเช่นกันว่ามีการสังหารชาวบ้านจากหลายอำเภอของจังหวัดพัทลุงโดยเจ้าหน้าที่ของ กอ.รมน. ด้วยการจุดไฟเผาราว 3,000 ศพ ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ มีเพียงการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโดยกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ. 2518 ที่ได้ข้อสรุปว่ามีผู้เกี่ยวข้องเพียง 70-80 คน แทนที่จะเป็นจำนวนหลายพันคน ทั้งยังไม่มีผู้รับผิดชอบจากการกระทำผิดในครั้งนี้อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่เกิดจากความรุนแรงโดยรัฐที่หวังจะใช้ไม้แข็งอย่างการ ‘ฆ่า’ ในการต่อสู้กับชาวบ้านธรรมดา เพื่อสร้างความหวาดกลัวและไม่ตั้งตนเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล (คอมมิวนิสต์) ที่คล้ายคลึงกับเหตุการณ์เผาลงถังแดง ดังนี้

  • เหตุการณ์ถีบลงเขา ใน จ.สุราษฎร์ธานี
  • เหตุการณ์สามเรียบ (ฆ่าเรียบ เผาเรียบ ทำลายเรียบ) ในพื้นที่บ้านนาทราย-นาหินกอง จ.หนองคาย
  • เหตุการณ์สังหารวัยรุ่น ในพื้นที่บ้านซ้ง จ.กาฬสินธุ์
  • เหตุการณ์ตัดศีรษะคนในชุมชนเนื่องจากชื่อซ้ำกับสมาชิก พคท. ในพื้นที่บ้านปากช่อง จ.นครราชสีมา

ท้ายที่สุด เหตุการณ์การบังคับให้ตายของชาวบ้านที่แม้จะมีสถานะเป็นเพียงผู้ต้องสงสัยในขบวนการคอมมิวนิสต์ ก็ไม่มีการติตตาม เอาผิดทางกฎหมายแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้อย่างจริงจัง มีเพียงคำให้การของชาวบ้านผู้รอดชีวิต ทำให้ไม่มีใครถูกลงโทษ อีกทั้งหน่วยงานของรัฐที่พึงรับผิดต่อการสังหารยังคงทำงานตามต่อไปปกติ จึงนับได้ว่าเหตุการณ์ข้างต้นนี้เป็นหตุการณ์ที่ยืนยันได้ดีว่าประเทศไทยอยู่กับ ‘วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด’ มานานกว่า 50 ปี

อ้างอิง

เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ หรือวันมหาวิปโยค

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เกิดจากหลายสาเหตุ โดยเริ่มจาก จอมพลถนอม กิตติขจร รัฐประหารตัวเอง เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2514 รวมไปถึงการเกิดกรณี ‘ล่าสัตว์ทุ่งใหญ่’ ที่พบซากสัตว์ป่าจากอุทยานในเฮลิคอปเตอร์ทหารที่ตกที่ จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2516 

ภายหลังเหตุการณ์ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ออกหนังสือ ‘บันทึกลับจากทุ่งใหญ่’ เพื่อเปิดโปงกรณีดังกล่าว และนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงออกหนังสือ ‘มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ’ ส่งผลให้มีนักศึกษา 9 คน โดนไล่ออก ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการประท้วงคัดค้าน

จากการประท้วง มีผู้ถูกจำกุมทั้งหมด 13 คน โดยผู้ชุมนุมยื่นคำขาดให้รัฐบาลปล่อยตัวภายในเที่ยงวันของวันที่ 13 ต.ค. 2516 แต่รัฐบาลไม่ยอมทำตามคำเรียกร้อง ศนท. จึงเคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อไปชุมนุมประท้วงที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

จนกระทั่งวันที่ 14 ต.ค. 2516 เกิดการปะทะระหว่างกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ (ตำรวจ-ทหาร) และนิสิต นักศึกษา ประชาชน ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังและอาวุธ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 77 คน บาดเจ็บ 857 คน และสูญหายอีกจำนวนมาก

การใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้รัฐบาลและ จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพล ประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร หมดความชอบธรรม จนต้องเดินทางออกจากประเทศ พร้อมกับมีการแต่งตั้ง สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี 

แม้เหตุการณ์จะจบลงที่ชัยชนะของประชาชน แต่เหตุการณ์ดังกล่าวยังถือเป็นการลอยนวลพ้นผิดอีกครั้งในสังคมไทย ทั้งการสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามผู้ชุมนุม โดยรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ 6 ฉบับ เพื่อปูทางสู่การใช้ความรุนแรง เช่น “ผู้ชุมนุมบุกรุกเข้าวังจิตรลดา” “ทำร้ายตำรวจและประชาชน” “ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการยกย่องผู้เสียชีวิตเป็น ‘วีรชนประชาธิปไตย’ ในภายหลัง แต่ก็ไม่ได้มีกระบวนการแสวงหาความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ อีกทั้งการกระทำความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐตามคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาการก็ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งแม้ไม่ได้ระบุในกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ผู้นำรัฐบาลทั้งสามคนก็ไม่ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด

อ้างอิง

เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 หรือเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 ถือเป็นจุดสิ้นสุดของยุคเผด็จการทหาร ประชาชนได้รับชัยชนะและสามารถขับไล่ จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร ออกจากประเทศไปได้ ถือเป็นช่วงเบ่งบานของแนวคิดทางการเมืองที่หลากหลาย โดยเฉพาะแนวคิดฝ่ายซ้าย มีการนัดหยุดงานและประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิ สวัสดิการ ความเท่าเทียม รวมถึงขึ้นค่าแรง ทั่วประเทศ โดยมีกำลังหลักคือ ‘สามประสาน’ ได้แก่ นิสิตนักศึกษา กรรมกร และชาวนา

การลุกฮือทั่วประเทศทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยม หรือหรือฝ่ายขวาเกิดความหวั่นเกรง และเริ่มหาทางตอบโต้ด้วยการใช้ความรุนแรงกับฝ่ายซ้าย ด้วยเหตุผลเรื่องการปกป้องความมั่นคงของชาติ การปกป้องศาสนา และการกำจัดภัยคุกคามที่เป็นอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงมีปฏิบัติการข่าวสารของรัฐซึ่งทำให้เกิดข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง เช่น สร้างภาพให้นักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ที่ต้องการทำลายชาติไทย 

วันที่ 19 ก.ย. 2519 จอมพลถนอม กิตติขจร เดินทางกลับเข้าประเทศ และบวชเป็นภิกษุที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่มนักศึกษา หวั่นเผด็จการทหารหวนกลับมามีอำนาจอีกครั้ง และถูกตอบโต้กลับอย่างรุนแรง โดยในวันที่ 24 ก.ย. 2519 พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 2 คนถูกฆ่าแขวนคอ ขณะออกติดใบปลิวต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม โดยเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารดังกล่าว

เหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้นักศึกษาร่วมกันจัดแสดงละครจำลองการแขวนคอเพื่อประท้วงการใช้ความรุนแรง ในวันที่ 4 ต.ค. 2519 และวันต่อมาหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวา ‘ดาวสยาม’ ได้ตีพิมพ์ข่าว โดยมีเนื้อหาว่านักศึกษาที่แสดงละครหมิ่นพระบรมโอรสาธิราช และต้องการล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ จนนำไปสู่การปลุกระดมกลุ่มฝ่ายขวาให้เข้ามาปิดล้อมพื้นที่ชุมนุม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สถานการณ์เริ่มบานปลายขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งในรุ่งเช้าของวันที่ 6 ต.ค. 2519 เจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้อาวุธสงครามในการล้อมปราบผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในช่วงเย็นของวันเดียวกัน คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมี พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้ทำการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และหวนคืนสู่การปกครองเผด็จการทหารอีกครั้ง

จากการล้อมปราบผู้ชุมนุมในครั้งนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการถูกยิง เผาทั้งเป็น ถูกทุบตีจนเสียชีวิต บางรายเสียชีวิตแล้ว ยังถูกทำร้ายและล่วงละเมิดทางเพศต่อ ซึ่งจากการรายงานอย่างเป็นทางการมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวน 45 คน แต่มีการคาดการณ์ว่าอาจมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่านั้น จากบันทึกประจำวันของมูลนิธิร่วมกตัญญู มีการบันทึกถึงการเสียชีวิตของนิสิตนักศึกษาและประชาชนกว่า 500 คน

ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ลอยนวลพ้นผิดของรัฐไทย เนื่องจากผู้ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมไม่ถูกรับโทษ และภายหลังเหตุการณ์มีการตรากฎหมายนิรโทษกรรม 2 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายนิรโทษกรรมแก่กลุ่มก่อรัฐประหาร (คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน) ทำให้ผู้ก่อรัฐประหารได้รับการยกเว้นความผิดฝ่ายเดียว และปี 2521 ในสมัยรัฐบาล พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมอีกฉบับ โดยยกเว้นความผิดให้ทุกฝ่าย ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรง รวมไปถึงมีเงื่อนไขการปิดกั้นการรับผิดชอบ ที่ผู้เสียหายไม่สามารถเรียกร้องการชดเชยเยียวยาได้

อ้างอิง

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35

วันที่ 23 ก.พ. 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งมี พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้าคณะได้ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยอ้างว่ารัฐบาลทุจริตและประพฤติมิชอบ จากนั้นจึงได้มีการเลือก อานันท์ ปันยารชุน ขึ้นเป็นนายกฯ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับ รสช. ขึ้นมาใหม่

ต่อมาในวันที่ 22 มี.ค. 2535 มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น โดยสภาฯ เลือก พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.อ.สุจินดา เคยมีการสัญญาว่าจะไม่ดำรงตำแหน่งนายกฯ แต่ที่ต้องเป็นนายกฯ ในครั้งนี้ ตนยอม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ทำให้มีการชุมนุมประท้วงการสืบทอดอำนาจของ รสช. และเรียกร้องให้ พล.อ.สุจินดา ลาออก ซึ่งนำโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)

การประท้วงดำเนินมาถึงคืนวันที่ 17 พ.ค. 2535 มีการสลายการชุมนุมด้วย ‘กระสุนจริง’ ที่สะพานผ่านฟ้า ตามมาด้วยการจับกุม พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในวันที่ 18 พ.ค. 2535 แต่การประท้วงยังคงดำเนินต่อไป จนกระทั่งในวันที่ 20 พ.ค. 2535 มีการประกาศเคอร์ฟิวใน กทม. และ ร.9 มีรับสั่งให้ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้ชุมนุมเข้าเฝ้า และได้ยุติการชุนนุมในที่สุด

กระบวนการลอยนวลพ้นผิดในเหตุการณ์ดังกล่าว มีทั้งการสร้างความชอบธรรมให้การใช้ความรุนแรง ผ่านการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ส่งผลให้แผน ‘ไพรีพินาศ/33’ มีความชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมายในการใช้ความรุนแรงเพื่อ “ปราบปรามผู้ก่อนความไม่สงบ” รวมไปถึงหลังเหตุการณ์ที่มีการออก พ.ร.ก. นิรโทษกรรมฯ ผู้กระทำความผิดในวันที่ 17 – 21 พ.ค. 2535 ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ และคำวินิจฉัยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ตีความรับรองให้ผลการนิรโทษกรรมไม่สิ้นสุดจากการที่สภาฯ ตีตก พ.ร.ก. ฉบับนี้ ตามมาด้วยการยกฟ้องคดีญาติวีรชนฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อเจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชา

อ้างอิง

ตากใบ 2547

ช่วงปี 2547 เกิดสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ทางการจึงได้จัดตั้งชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ซึ่งมีการฝึกอบรมตามหลักสูตรชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และได้รับอาวุธจากรัฐบาล เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่รัฐรักษาความปลอดภัยของชุมชน

ต่อมามี ชรบ. 6 คน เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีผู้ก่อการร้ายขโมยปืนที่ทางการมอบให้ไป แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เชื่อและจับกุม ชรบ. ทั้ง 6 คน ในข้อหาแจ้งความเท็จและยักยอกทรัพย์ นานกว่าสัปดาห์ เพราะเชื่อว่าชรบ. ตั้งใจมอบปืนให้กับผู้ก่อความไม่สงบเอง

การจับกุม ชรบ. นี้เอง เป็นชนวนเหตุที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจ จึงทำให้ช่วงเช้าของวันที่ 25 ต.ค. 2547 มีชาวมลายูมุสลิมออกมาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัว ชรบ. ทั้ง 6 คน ที่บริเวณด้านหน้า ‘สถานีตำรวจภูธรตากใบ’ เป็นจำนวนราว 1,500 คน โดยในจำนวนชาวบ้านที่ไปรวมตัวกันนี้ มีทั้งคนที่ตั้งใจเพื่อไปชุมนม และคนที่เพียงผ่านมาที่หน้า สภ. เท่านั้น

สถานการณ์การชุมนุมเริ่มตึงเครียด เพราะการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมไม่เป็นผล กระทั่งช่วงบ่ายมีคำสั่งให้สลายการชุมนุม ด้วยการใช้รถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา และกระสุนจริง ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ ขณะนั้นทันที 7 คน

นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมจำนวน 1,370 คน ยังถูกควบคุมตัว ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ที่อยู่ห่างออกไป 150 กิโลเมตร ด้วยรถบรรทุก 24-28 คัน โดยใช้วิธีการให้ผู้ชุมนุมถอดเสื้อและจับมัดมือไพล่หลัง และนอนซ้อนทับกัน 3-4 ชั้น อยู่ที่ด้านหลังรถบรรทุก ซึ่งผู้ชุมนุมจะต้องนอนซ้อนทับกันเช่นนี้กว่า 6 ชั่วโมง จนกว่าจะถึงปลายทาง

เมื่อขบวนรถบรรทุกมาถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร พบว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 78 คน ผู้บาดเจ็บ 50 คน จากสาเหตุการกดทับ ขาดอากาศหายใจ ขาดอาหารและน้ำ และผู้สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง

‘ทักษิณ ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ออกมาเคลื่อนไหวหลังเกิดเหตุ โดยระบุว่าการสลายการชุมนุมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุ อีกทั้งศาลจังหวัดสงขลาก็ได้พิพากษาว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 78 คน เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจในระหว่างการขนส่ง และไม่มีการระบุเช่นกันว่าเจ้าหน้าที่ได้การกระทำการเกินกว่าเหตุ

ด้วยเหตุนี้เอง สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน รวมถึงนักสังคมและสิทธิมนุษยชน จึงมีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง (คตส.) เพื่อสอบสวนเหตุการณ์ตากใบอย่างละเอียด และมีความพยายามที่จะหาผู้ผิดมาลงโทษจากความสูญเสียในครั้งนี้ โดยการฟ้องร้องในชั้นศาล แต่ไม่เป็นผล และกินระยะเวลามานานถึง 19 ปี

อย่างไรก็ตาม แม้ระหว่างนั้น ผู้เสียหายจะได้รับการเยียวยาจากรัฐ ทั้งสินไหมชดเชยจากกองทัพบกเป็นจำนวน 42.2 ล้านบาท และเงินเยียวยาในสมัยรัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ เป็นจำนวน 651,451,200 บาท แต่จำนวนเงินเหล่านี้ กลับเทียบไม่ได้กับชีวิตและร่างกายที่ต้องสูญเสียไป มีเพียงความยุติธรรมเท่านั้นที่ผู้เสียหายต้องการให้รัฐชดเชยจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยรัฐ

ในที่สุด ความยุติธรรมที่เหล่าผู้เสียหายรอคอยมานานเกือบ 20 ปีก่อนที่อายุความคดีตากใบจะจบลงก็กลับมามีความหวังอีกครั้ง เมื่อในปี พ.ศ.2567 ศาลนราธิวาสรับคำฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 7 คน ผู้ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูญเสียในครั้งนี้ โดยจะต้องมีจำเลยอย่างน้อย 1 คนมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลภายในวันที่ 25 ต.ค. 2567 จึงจะทำให้กระบวนการไต่สวนเริ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ตามมาตรา 95 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

และแล้วความหวังก็ได้จบลงพร้อมกับอายุความของคดีตากใบ ในวันที่ 25 ต.ค. 2567 เมื่อไม่มีจำเลยคนใดมาปรากฏตัวต่อศาล และสุดท้ายจำเลยทั้ง 7 คน ก็พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดจากรากที่ฝังลึกของ ‘วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด’ ซึ่งนับเป็นการลอยนวลพ้นผิดที่ชัดเจนที่สุด เนื่องจากมีผู้กระทำผิดที่รับรองโดยศาลอย่างชัดเจน อีกทั้งตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมหรือท่าทีของแต่ละรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้มีความเอาจริงเอาจังที่จะนำตัวผู้ผิดมาลงโทษ

อ้างอิง

7 ต.ค. 2551 สลายการชุมนุมพันธมิตรฯ


หลังการก่อรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 สังคมไทยได้เข้าสู่บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเต็มตัว จนเรียกได้ว่าในช่วงนี้เป็น ‘สงครามระหว่างสี’ ซึ่งมีการแบ่งขั้วการเมืองแบ่งเป็น ‘คนเสื้อแดง’ หรือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งสนับสนุน ‘ทักษิณ ชินวัตร’ และ ‘คนเสื้อเหลือง’ หรือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ในวันที่ 7 ต.ค. 2551 เป็นวันที่รัฐบาล ‘สมชาย วงศ์สวัสดิ์’ นัดแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนจะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันที่ผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ได้ปิดล้อมทางเข้า-ออกของรัฐสภา เนื่องจากเดิมที กลุ่มพันธมิตรฯ เชื่อว่า รัฐบาลของสมชายเป็นตัวแทนของ ‘ทักษิณ’

จากการชุมนุมในครั้งนี้ มีการแต่งตั้งให้ ‘พล.อ.เชาวลิต ยงใจยุทธ’ รองนายกฯ เป็นผู้นำในการเจรจาและคลี่คลายสถานการณ์กับผู้ชุมนุม โดยทำงานร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งตลอดวันมีการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อเปิดทางให้ ส.ส. ส.ว. และฝ่ายบริหารได้เข้าและออกจากที่ประชุมสภา รวมถึงเพื่อควบคุมผู้ชุมนุม โดยผู้ชุมนุมได้มีการตอบโต้ จนมีผู้บาดเจ็บทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ส่วนด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ ใช้วิธีการสลายการชุมนุมโดยไม่ได้ปฏิบัติตามหลักมาตรฐานสากลจากหนักไปหาเบา โดยใช้อาวุธปืนและวัตถุระเบิด จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บ 443 คน และเสียชีวิต 2 คน

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ อัยการสูงสุด ยื่นสำนวนฟ้อง ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สรุปข้อกล่าวหาจำเลย 4 คน ด้วยฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ดังนี้

  • สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี
  • พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี  
  • พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
  • พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

ต่อมาในวันที่ 2 ส.ค. 2560  ผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 4 คน เนื่องจากพยานและหลักฐาน ทำให้เชื่อว่าจำเลยทั้งสี่ ไม่ได้มีเจตนาทำร้ายประชาชน และศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง ในวันที่ 31 ม.ค. 2561 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย 254 คน จากการสลายการชุมนุม โดยสั่งให้จ่ายเงิน ตั้งแต่ 7,120 – 4,152,771.84 บาท ต่อคน ภายใน 60 วัน

อ้างอิง

สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง / สลายการชุมนุม เม.ย. – พ.ค. 53

หลังการก่อรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 สังคมไทยได้เข้าสู่บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเต็มตัว จนเรียกได้ว่าในช่วงนี้เป็น ‘สงครามระหว่างสี’ ซึ่งมีการแบ่งขั้วการเมืองแบ่งเป็น ‘คนเสื้อแดง’ หรือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งสนับสนุน ‘ทักษิณ ชินวัตร’ และ ‘คนเสื้อเหลือง’ หรือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์คนต่างสีเสื้อดำเนินมาจนถึงจุดสูงสุดในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคพลังประชาชนเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 จนทำให้เกิดการสลับขั้วทางการเมือง และมีการสนับสนุน ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้รับชัยชนะในเลือกตั้งจากประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนบางส่วน จนกระทั่ง นปช. การได้เริ่มการชุมนุม ‘แดงทั้งแผ่นดิน’ ณ ท้องสนามหลวง ก่อนจะเคลื่อนการชุมชุนมายังข้างทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ยุบสภาฯ และเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่

การชุมนุมดังกล่าวเป็นไปอย่างดุเดือด จนเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ณ แยกราชประสงค์ ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ในปี พ.ศ. 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 94 คน และผู้บาดเจ็บกว่า 1,500 คน จากกองทัพบกและกำลังความมั่นคงของรัฐบาลไทย

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง พร้อมจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ถูกใช้เป็นเหตุผลที่ให้ความชอบธรรมกับรัฐบาลในการใช้ ‘กระสุนจริง’ สังหารผู้ชุมนุมในขณะนั้นอย่างน้อย 18 คน โดย ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ อ้างว่า ต้องใช้เครื่องมือตามกรอบกฎหมายแก้ไขสถานการณ์ เพื่อคืนความเป็นปกติสุขให้ประชาชนโดยเฉพาะชาวกรุงเทพมหานคร และระงับเหตุอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อเหตุการณ์สงบลง คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งแต่งตั้งโดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกรายงานฉบับสมบูรณ์เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุม ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตจากผู้วิจัยใน “วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด และกระบวนการสร้างความชอบธรรมให้แก่ผู้กระทำความผิด ในกรณีปราบปรามและสังหารผู้ชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทย” ว่าเนื้อหาในรายการดังกล่าวไม่เป็นกลาง เนื่องจากมีการกล่าวหาผู้ชุมนุม และการอ้างอิงข้อมูลที่มีการให้น้ำหนักต่อฝ่ายรัฐบาลมากกว่า จึงเรียกได้ว่าเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและเป็นการแทรกแซงสื่อโดยใช้องค์กรอิสระเป็นกลไกหนึ่งของการเบี่ยงเบนการรับผิด

เช่นเดียวกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในวันที่ 28 ธ.ค. 2558 มีมติให้ข้อกล่าวหากรณีการใช้กำลังปราบปรามเข้าสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับคณะเป็นอันตกไป โดยชี้ว่าการสลายการชุมนุมของรัฐบาลและ ศอฉ. เป็นไปตามหลักสากล และอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย

ถึงวันนี้ ชีวิตที่ถูกสังหารจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 ก็ได้ล่วงเลยมาเป็นเวลากว่า 14 ปีแล้ว แต่กลับยังไม่มีใครคืนความยุติธรรมและไม่มีผู้รับผิดชอบกับ 94 ชีวิตที่ต้องถูกพรากไป รวมถึงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 1,500 คน ซ้ำร้าย ความคืบหน้าในการเยียวยาผู้เสียชีวิตและผู้ที่ต้องจำคุกฟรีก็ถูกแช่แข็งมานับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์นองเลือดในครั้งนั้น

จะเห็นได้ว่า การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง หรือสลายการชุมนุม เม.ย. – พ.ค. 53 มีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ไปจนถึงใช้องค์กรอิสระในการบิดเบือนข้อมูลเพื่อเบี่ยงเบนการรับผิด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการแนวทางของการลอยนวลพ้นผิดรูปแบบใหม่ที่ทำให้รัฐบาลไม่ถูกดำเนินคดีและคดีถูกยกฟ้องเนื่องจากไม่มีมูลในการเอาผิด

อ้างอิง

ม็อบ 2563 – 2566

เหตุการณ์การประท้วงช่วงปี 2563 – 2566 เป็นการประท้วงของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชน เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีเหตุการณ์การประท้วงที่สำคัญ ดังนี้

  • เริ่มต้นขึ้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2563 นำไปสู่การชุมนุมประท้วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แผ่กระจายไปทั่วประเทศ 
  • การชุมนุมเว้นไปในช่วงเดือน มี.ค. – มิ.ย. 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 
  • 5 มิ.ย. 2563 การชุมนุมเพื่อทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมือง หลังถูกอุ้มหายไปจากที่พักในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 
  • 18 ก.ค. 2563 กลุ่ม ‘เยาวชนปลดแอก’ จัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยื่น 3 ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล ได้แก่ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยุบสภาฯ 
  • 3 ส.ค. 2563 กลุ่ม ‘มหานครเพื่อประชาธิปไตย’ และ ‘มอกะเสด’ จัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อานนท์ นำภา ขึ้นปราศรัยในประเด็นการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์และการปฏิรูปสถาบันฯ เป็นครั้งแรก
  • 10 ส.ค. 2563 ‘แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ จัดชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อ่านข้อเรียกร้อง 10 ประการเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
  • 16 ส.ค. 2563 ‘คณะประชาชนปลดแอก’ จัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีผู้ร่วมชุมนุมมากที่สุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่การรัฐประหาร คสช. ย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง (หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยุบสภา) 2 หลักการ (ไม่รัฐประหาร ไม่จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ) และ 1 ความฝัน (ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ)
  • 16 ต.ค. 2563 ‘คณะราษฎร จัดชุมนุมที่แยกปทุมวัน มีการฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ผู้ชุมนุมและกระชับพื้นเป็นครั้งแรก
  • 28 ก.พ. 2564 ‘REDEM’ เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปชุมนุมประท้วงที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ อันเป็นที่ตั้งของบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • 20 มี.ค. 2564 ‘REDEM’ จัดชุมนุมที่ท้องสนามหลวง หน้าพระบรมมหาราชวัง ตำรวจตั้งตู้คอนเทนเนอร์และรั้วลวดหนามเพื่อเป็นเครื่องกีดขวาง

นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น แฟลชม็อบ (Flash Mob) ในรูปแบบการรวมตัวแบบฉับพลัน, คาร์ม็อบ (Car Mob) โดยการใช้รถของตนเองขับไปตามถนนและบีบแตรประท้วง

ในภาพรวม ข้อมูลจาก MOB DATA เปิดเผยว่า ระหว่างปี 2563 – 2566 มีการชุมนุมเกิดขึ้นทั่วประเทศอย่างน้อย 3,582 ครั้ง และมีการสลายการชุมนุมอย่างน้อย 74 ครั้ง ในจำนวนนี้มีการใช้กระสุนยางอย่างน้อย 29 ครั้ง

การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ไม่เป็นไปตามหลักตามกฎหมายไทยและสากล รวมไปถึงการใช้มาตรการหลายอย่างที่เกินกว่าเหตุและการใช้ความรุนแรงในการชุมนุม เช่น ไม่มีการเตือนว่าจะสลายการชุมนุมล่วงหน้า การใช้กระบองทุบตีผู้ชุมนุม การใช้แก๊สน้ำตา การยิงกระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุม รวมไปถึงการทำร้ายผู้ปฏิบัติงานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ผู้ร่วมชุมนุม เช่น แพทย์อาสา รวมถึงนักข่าวซึ่งกระทบเสรีภาพสื่อ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน และพิการสูญเสียการมองเห็นอย่างน้อย 3 คน

นอกเหนือจากการใช้ความรุนแรงทางตรงแล้ว ยังมีการคุกคามจากตำรวจและทหารในหลายวิธี เช่น การเยี่ยมบ้าน การนัดเจอโดยไม่มีหมาย การควบคุมตัว การส่งหนังสือห้ามไปร่วมงาน เป็นต้น

อ้างอิง

สังคมไทยก็สามารถก้าวข้ามวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด หากมีจินตนาการและความหวัง

“การจินตนาการและความหวังเป็นสิ่งสำคัญ”

ในแง่ของคนที่ทำงานของสันติวิธีของ ผศ.พัทธ์ธีรา มองว่าหนทางแห่งสันติภาพ จะต้องมีการจินตนาการและความหวังเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อไหร่ที่เราหมดสิ้นความหวัง เมื่อนั้นเราไม่เห็นทางออก

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เราก้าวพ้นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดได้ คือ องค์ความรู้ ซึ่งประเทศไทยมีองค์ความรู้มากมายเกี่ยวกับเรื่องการแสวงหาทางออกจากวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด แต่สิ่งที่ทำให้การก้าวข้ามนี้เป็นเรื่องยาก เพราะประเทศไทยไม่มีเสรีภาพที่จะใช้ความรู้อย่างอิสระ ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง และปัญหาในเชิงวัฒนธรรมที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น ไม่อยากให้เกิดความวุ่นวายจึงปล่อยให้เป็นไปโดยไม่ต้องแก้ไขอะไร หรือ ปล่อยให้กรรมทำงาน

ดังนั้น หากจะต้องหากวิธีในการก้าวข้ามวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด สำหรับ ผศ.พัทธ์ธีรา มองว่า ต้องเริ่มจากวันนี้ คือ ทุกคนจะต้องไม่เงียบ และจะต้องยืนยันว่าถ้าปล่อยให้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า รัฐประหารก็เกิดขึ้นได้อีก ความรุนแรงโดยรัฐก็จะเกิดขึ้นได้อีก

“เราผ่านความรุนแรงโดยรัฐมาหลายครั้งแต่เรากลบฝัง และเมื่อมีคนออกมาเรียกร้องก็จะถูกตีตราว่าเป็นพวกก้าวร้าว ต้องการล้มรัฐ ซึ่งเป็นมายาคติที่บิดเบือนความจริงที่เกิดขึ้น”

ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ สถาบันในสังคม ก็เป็นหนึ่งในสถาบันที่ให้ความชอบธรรมกับความอยุติธรรมดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้กระบวนการกฎหมาย เช่น สถาบันศาสนา ซึ่ง ผศ.พัทธ์ธีรา มองว่า สถาบันต้องทำความเข้าใจใหม่ที่จะไม่ใช้เรื่องของ ‘เวรกรรม’ มาตัดสินความถูก-ผิด เพราะเมื่อไหร่ใช้ความเชื่อทางศาสนามาตัดสินความผิด ก็ไม่ได้ต่างจากการอนุญาตให้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดเกิดขึ้นซ้ำอีก 

ปฏิรูป ‘ระบบยุติธรรม-ระบบการศึกษา-ฝ่ายความมั่นคง‘ คือทางออก

ผศ.พัทธ์ธีรา ชวนให้สำรวจระบบความยุติธรรมในหลาย ๆ ประเทศ อย่าง รวันดา ไนจีเรีย เยอรมนี โปแลนด์ ฯลฯ ที่ใช้ความยุติธรรมในเชิงสมานฉันท์ให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการที่จะช่วยกันค้นหาข้อมูล ข้อเท็จจริง โดยไม่ได้ผูกขาดกับอำนาจของสถาบันความยุติธรรมแต่เพียงฝ่ายเดียว และกลไกในเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ามาพิจารณา ฟื้นฟู เยียวยา มีการขอโทษ มีการไต่สวนสาธารณะ เพราะการทำเช่นนี้จะทำให้สังคมเรียนรู้ไปด้วยกันถึงเหตุและผลของความขัดแย้ง

“เขาจะได้รู้ว่าคนที่ทำผิด มีอะไรแรงจูงใจให้เขาทำ เพราะเค้าคิดว่าเค้ามีอำนาจอยู่ในมืออย่างมหาศาลใช่ไหม เขาใช้อำนาจนั้นได้ใช่ไหม เขามีกฎหมายคุ้มครองเค้าใช่ไหม เขาเลยคิดว่าเขาทำอะไรกับใครก็ได้

..

หรือเพราะว่าระบบการศึกษาที่ทำให้คนที่อยู่ในอำนาจหรือคนที่อยู่ในระบบความยุติธรรมคิดว่าความรู้และอำนาจที่ตัวเองมีไม่ว่าจะตำแหน่ง อภิสิทธิ์ ทำให้ความคิดหรือการตัดสินใจของตัวเองถูกอยู่ฝ่ายเดียว”

ดังนั้น ระบบยุติธรรมของไทยต้องปฏิรูปใหม่ให้มีเรื่องสิทธิมนุษยชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้าไปในกระบวนการขั้นตอนแบบนั้นอย่างเปิดเผย โปรงใส เพื่อให้กระบวนการด้านหนึ่งช่วยค้นหาข้อมูล ข้อเท็จจริง และอีกด้านหนึ่งทำให้เหยื่อได้สนทนา พูดคุย ขอโทษ และได้เอามิติความเป็นมนุษย์มาคุยกัน

ฝ่ายความมั่นคงที่จะเป็นหน่วยปฏิบัติงานก็จะต้องปฏิรูปด้วย เพราะจากงานวิจัยที่ ผศ.พัทธ์ธีรา ได้ศึกษา พบว่างานวิจัยของฝ่ายความมั่นคง มองประชาชนหรือคนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมเป็นอื่นด้วยการเรียกคนเหล่านี้ว่า ม็อบ อั้งยี่ซ่องโจร ผู้ก่อความวุ่นวาย ผู้ก่อการร้าย แต่ไม่มีคำไหนเลยที่จะบอกว่าประชาชนเหล่านี้เป็นประชาชนเจ้าของประเทศ เป็นคนที่ได้รับความอยุติธรรม และต้องการเรียกร้องความยุติธรรม

ระบบการศึกษา เช่นกัน ในเยอรมนีและโปแลนด์ มีการต้องเรียนรู้เรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในระดับประถมเป็นต้นไป แม้ว่าจะเป็นเรื่องอับอายว่าบรรพบุรุษของเค้าเคยกระทำอาชญากรรมกับมนุษยชาติใหญ่หลวงขนาดนั้น แต่เยาวชนหรือประชาชนควรที่จะเรียนรู้บาดแผลในอดีต เพื่อให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการสร้างความเกลียดชังแตกแยก และท้ายที่สุด นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างอดีตที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสำคัญที่สุดที่จะป้องกันความรุนแรงครั้งใหญ่ และป้องกันไม่ให้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดมันเกิดขึ้นได้

เมื่อมามองที่ระบบการศึกษาของไทย จะเห็นว่าไม่เคยมีประวัติศาสตร์ของ 6 ตุลาฯ, 14 ตุลาฯ, ตากใบ หรือเหตุการณ์ความรุนแรงอื่น ๆ ให้กับเยาวชนได้เรียนรู้บาดแผลในอดีต จึงต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก

ทั้งหมดนี้ หากได้ลองเรียนรู้บาดแผลประวัติศาสตร์ ทั้งการสูญเสียและสิ่งที่รัฐกระทำต่อประชาชน รวมถึงข้อเสนอทางออกของผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจทำให้สังคมเห็นว่า ‘วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด’ ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมมาอย่างยาวนาน ไม่จำเป็นต้องอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป เพียงแต่จะต้องช่วยกันเรียนรู้เรื่องราวในอดีต เพื่อวันข้างหน้าจะมีการระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์สูญเสียอย่างที่ผ่านมา อีกทั้งสังคมเองก็จะต้องเริ่มตระหนักถึงความยุติธรรมและไม่หยุดที่ส่งเสียงเพื่อให้เรื่องอยุติธรรมเหล่านี้ถูกพูดถึง ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ‘รัฐ’ ก็จะต้องทำตามหน้าที่ของรัฐที่พึงกระทำ ที่ไม่ใช่เป็น รัฐยุติ(ความเป็น)ธรรม เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา


Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่