ซิโนฟาร์ม vs ซิโนแวค: รู้จักวัคซีนจากจีน ที่ อย. ไทยให้การรับรองล่าสุด

หลัง “ซิโนฟาร์ม” ได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนแบบใช้ในภาวะฉุกเฉิน จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นวัคซีนโควิด-19 รายการที่ 5 ของไทยแล้ว

รู้จัก “ซิโนฟาร์ม” วัคซีนโควิด-19 ที่ขึ้นทะเบียนในไทยเป็นลำดับที่ 5

วัคซีนซิโนฟาร์ม มีเจ้าของเป็นรัฐบาลจีน (China National Pharmaceutical Group Corporation) และเป็นหนึ่งในวัคซีนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ขึ้นทะเบียนให้สามารถใช้งานได้ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Listing: EUL) เช่นเดียวกับ วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) โมเดอร์นา (Moderna) และแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) โดยซิโนฟาร์มได้รับการอนุมัติ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 และมีการฉีดใน 41 ประเทศทั่วโลกกว่า 62 ล้านโดส ทั้งจีน ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จอร์แดน เลบานอน อาร์เจนตินา ลาว ฯลฯ ซึ่งผลการทดสอบระยะที่ 3 พบว่ามีประสิทธิภาพร้อยละ 79.34

ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) เป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine): วัคซีนกลุ่มนี้ผลิตโดยนำไวรัสซาร์ส-โควี-2 มาเลี้ยงขยายจำนวนมาก และนำมาฆ่าด้วยสารเคมีหรือความร้อน เมื่อฉีดวัคซีนกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัส เทคโนโลยีนี้เป็นวิธีที่ใช้กับวัคซีนตับอักเสบ โปลิโอชนิดฉีด จึงมีความคุ้นเคยกับประสิทธิภาพและความปลอดภัย วัคซีนในกลุ่มนี้ ได้แก่ ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม และ Covaxin (Bharat Biotech) ของอินเดีย 

วัคซีนซิโนฟาร์ม 1 ชื่อ แต่ 2 บริษัท และมีชื่อเรียกแตกต่างกัน

  • ซิโนฟาร์ม (ปักกิ่ง): หรือ BBIBP-CorV พัฒนาโดยสถาบันชีววัตถุแห่งปักกิ่ง (Beijing Institute of Biological Product ) ซึ่งเป็นตัวที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรอง EUL และมีการฉีดใน 41 ประเทศทั่วโลก
  • ซิโนฟาร์ม (Wuhan): Inactivated (Vero Cells) พัฒนาโดย Wuhan Institute of Biological Product ข้อมูลจาก COVID19 Vaccine Tracker ระบุว่า องค์การอนามัยโลกยังไม่ให้การรับรอง EUL และมีการฉีดเพียงประเทศเดียว คือจีน 

สำหรับประเทศไทย บริษัทที่ได้รับลิขสิทธิ์ในการนำเข้าจัดจำหน่ายวัคซีนซิโนฟาร์มในประเทศ มี 2 บริษัทด้วยกัน คือ บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ “อนุมัติทะเบียนวัคซีน” COVILO (BIBP) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 โดยมีข้อสังเกตว่า เป็นวัคซีนของเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเร็วที่สุด เพียง 15 วัน (เพราะเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ อย. อนุมัติวัคซีน Moderna มีรายชื่อวัคซีนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพียง 2 ยี่ห้อ คือ วัคซีน Covaxin (Bharat Biotech) ของอินเดีย และ Sputnik V ของรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันค้างอยู่ในขั้นตอน ‘ทยอยยื่นเอกสารประเมินคำขอขึ้นทะเบียน’ มาระยะหนึ่งแล้ว 

และอีกหนึ่งบริษัทคือ บริษัท วีโนว่า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (Vnova International) ซึ่งถือลิขสิทธิ์วัคซีนซิโนฟาร์มของ Beijing Institute of Biological Product ซึ่งเคยมีข่าวในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ว่าอยู่ในระหว่างการยื่นขอขึ้นทะเบียนกับ อย. แต่ อย. ปฏิเสธ

ต่อมา อย. ได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่เคยปฏิเสธการขอขึ้นทะเบียน วัคซีนโควิด19 และได้มีการเปิดช่องทางพิเศษเพื่อเร่งรัดดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วที่สุด หากเอกสารสมบูรณ์ครบถ้วน โดย วีโนว่า มีแผนธุรกิจตั้งแต่ต้นจะขายให้โรงพยาบาลเอกชน

รู้ ข้อดี – ข้อเสีย ของ “ซิโนฟาร์ม”

คู่มือ “แนวทางการให้วัคซีนโควิด-19 ในสถานการณ์การระบาดปี 64 ของประเทศไทย” ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุข้อดีและข้อเสียของวัคซีนซิโนฟาร์ม ดังนี้ 

  • ข้อดี: มีความปลอดภัยสูง ใช้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ เป็นเทคโนโลยีแบบเดิมที่เคยมีประสบการณ์การใช้กับวัคซีนอื่น ๆ วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ เป็นต้น
  • ข้อเสีย: มีต้นทุนการผลิตสูง เนื่องจากต้องเพาะเลี้ยงเชื้อในห้องปฏิบัติการระดับสูง (Biosafety level 3)

วัคซีนมี 2 ประเภท

(1) Public Vaccine ที่บริหารจัดการโดยรัฐ โดยภาษีประชาชน ซึ่งประชาชนจะได้ฉีดฟรี ในสถานการณ์ที่มีวัคซีนจำกัด ประชาชนจึง “เลือกไม่ได้” ว่าจะได้ฉีดวัคซีนตัวใด

(2) Private Vaccine หรือ “วัคซีนทางเลือก” ที่อยู่นอกการบริหารจัดการและจัดสรรโดยรัฐ จะถูกใช้ในภาคเอกชน เช่น สมาคมโรงพยาบาลเอกชน หอการค้าไทย ล่าสุด ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำเข้าวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” (BBIBP) จากสถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง ผ่าน บ.ไบโอจีนีเทค จำกัด แทนองค์การเภสัชกรรม ลักษณะการขายเป็นองค์กรต่อองค์กร โดยล็อตแรกจำนวนเข้ามา 1 ล้านโดส ภายในเดือนมิถุนายน ขณะนี้ ยังไม่ได้กำหนดราคาวัคซีน เพราะต้องรวมค่าประกันความเสี่ยง หากมีอาการข้างเคียงรุนแรงจากการฉีดวัคซีน


อ้างอิง

หมายเหตุ

ข้อมูลประสิทธิภาพการป้องกันโรค ‘ที่มีอาการ’ ของวัคซีนซิโนแวค อ้างอิงจากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) เดือน พ.ค. 2564 ที่ประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ (SAGE) ใน 5 ประเทศ คือ จีน บราซิล อินโดนีเซีย ตุรกี และชิลี พบว่าประสิทธิผลหลังรับวัคซีนครบ 2 เข็ม 14 วัน ดังนี้

• ป้องกันการติดเชื้อ 67% (65-69%)
• ป้องกันการ Admit 85% (83-87%)
• ป้องกันการเข้า ICU 89% (84-92%)
• ป้องกันการเสียชีวิต 80% (73-86%)

ขณะที่ประสิทธิภาพวัคซีนที่ใช้ในแต่ละประเทศไม่เท่ากัน โดยประสิทธิภาพสูงสุดพบที่ ตุรกี 84% ส่วน ชิลี 67%, อินโดนิเซีย 65%, บราซิล 51%

ประกอบกับ ข้อมูลประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวคของไทยจากงานวิจัยที่ภูเก็ต พบว่าวัคซีนซิโนแวคเมื่อฉีดครบ 2 เข็ม แล้ว 14 วัน ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้ 84% เช่นกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฐิตินบ โกมลนิมิ

อดีตนักข่าวกระทรวงสาธารณสุข ผู้คลุกคลีในสนามข่าวสีแดงชายแดนใต้ เป็นทั้งนักมนุษยวิทยา นักสตรีศึกษา และนักสันติศึกษา ที่ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์