“ตัวกินฝัน” กับดักคน GEN Z

การโยกย้ายเข้ามาทำงานในเมือง
เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว | นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

เมื่อกับดัก “ความฝัน” อยู่รอบตัวคนรุ่นใหม่ การโยกย้ายเข้ามาหาโอกาสในเมืองหลวงจึงเป็นสิ่งที่หลายคนต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จังหวัดบ้านเกิดอาจไม่ตอบโจทย์การทำตามความฝันของพวกเขา สะท้อนว่าแต่ละจังหวัดเติบโตไม่เท่ากัน และมีโอกาสไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนรุ่นใหม่

ที่สำคัญ โครงสร้างระบบเศรษฐกิจยังคอยกดทับการใช้ชีวิตของพวกเขาอยู่ตลอดเวลา อนาคตของคนรุ่นใหม่จึงเหมือนยืนอยู่ใกล้ปากเหวมากขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับต้องประคองความฝันของตัวเองไม่ให้หล่นหายระหว่างทาง หลายคนตั้งคำถามกับตัวเองว่าหากการอยู่ในเมืองหลวงนั้นเหนื่อย แล้วถ้าเลือกที่จะกลับบ้านความฝันของเขาจะยังคงอยู่หรือไม่

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการอพยพเข้ามาทำงานในเมืองหลวงของคนรุ่นใหม่ว่า หากมองในแง่ของเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับศาสนา จะมีคำว่า “ตัวกินฝัน” ซึ่งมีการศึกษามานาน 200 – 300 ปี

เมื่ออธิบายจากมุมเศรษฐศาสตร์ จะพบว่า “ตัวกินฝัน” เกิดขึ้นทุกที่ทั่วโลกใน 4 ด้าน อย่างแรก การเปลี่ยนแปลงในโลกของงาน คือ โลกหมุนเร็วขึ้น เศรษฐกิจหมุนช้า เวลากลายเป็นศัตรู เมื่อเทียบ 77 จังหวัดในประเทศไทย แต่ละจังหวัดก้าวไปข้างหน้าไม่เท่ากัน จังหวัดที่พร้อมก่อนจะไปไกลกว่า เด็กที่ต้องการหาอนาคตจึงเลือกไปจังหวัดที่ก้าวไปข้างหน้าก่อน ส่งผลให้แรงงานมุ่งหน้าเข้าสู่พื้นที่เมืองใหญ่ ที่มีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกว่าจังหวัดอื่น ๆ เพื่อหาโอกาสให้ชีวิต

อย่างที่สอง คือ โอกาส ถ้าหากย้อนดูข้อมูลตั้งแต่ปี 2560 ภาคเศรษฐกิจของทุกจังหวัดจะพบว่าเมื่อเศรษฐกิจมีการขยายตัว ยิ่งจังหวัดที่มีการเติบโตยิ่งใช้แรงงานคนน้อย และโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งธุรกิจให้ปรับตัวเร็ว เพราะรู้ว่าคนเป็นต้นทุนคงที่ที่เป็นค่าใช้จ่ายที่เปลี่ยนไม่ได้ เพราะฉะนั้นการดูแลเศรษฐกิจที่ดีที่สุด คือ ใช้คนให้น้อยลง เพราะมองว่าแรงงานคนเป็นภาระ 

อย่างที่สาม คือ ค่าครองชีพ ในอดีตค่าครองชีพจะกระทบชีวิตคนต้องใช้เวลาถึง 10 ปี แต่ตั้งแต่ช่วงปี 2564 เป็นต้นมา ค่าครองชีพนั้นพุ่งเร็วทำให้ไปกัดกินความลำบากของคน เช่น จากต้นปีไปปลายปีชีวิตเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

และอย่างที่สี่ คือ ทักษะ เพราะเมื่อก่อนการมีทักษะบางอย่าง สามารถใช้ได้ประมาณ 10 ปี ตอนนี้ ทักษะทั้งหลาย มีช่วงชีวิตไม่ถึง 5 ปี หมายความว่าอะไรก็ตามที่คนรุ่นใหม่เรียนมา หรือฝึกมา ตอนที่เข้าไปเรียน แต่เมื่อจบออกมาจะใช้ไม่ได้แล้ว

ยกตัวอย่าง ‘World Academic Forum’ ทำการสำรวจไว้ว่า ทักษะที่ใช้ในศตวรรษที่ 21 ที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ ได้สำรวจในปี 2558 แต่เมื่อทำการสำรวจซ้ำในปี 2563 ทักษะที่เป็น Top 10 เหลือแค่ 7 ทักษะเท่านั้นที่ใช้ได้ หลังสถานการณ์โควิด-19 ทั้ง 10 ทักษะนั้นไม่สามารถใช้ไดเลย

คนรุ่นใหม่หลายคนมีความฝัน และอาจถูกตัวกินฝันทำให้ความฝันหล่นหายไปเมื่อไหร่ก็ได้ โดยเฉพาะคนตัวเล็ก ๆ จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยลำพัง เพราะต้องไปแก้ที่ปัญหาเชิงโครงสร้างเสียก่อน

ปัญหาเหล่านี้เป็นภาพใหญ่ต้องอาศัยกลไกทางการเมืองเท่านั้นเข้ามาจัดการ ถึงจะทำให้คนตัวเล็กหรือคน Gen Z สามารถรักษาและประคองความฝันของเขาในเมืองใหญ่เอาไว้ได้ ซึ่งวันหนึ่งการกลับบ้านที่ต่างจังหวัดของเขา อาจได้นำความฝันนั้นไปเติมเต็มการทำงานในพื้นที่บ้านเกิดได้

นอกจากนี้ เกียรติอนันต์ เห็นว่าหากปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข จะเกิดความท้าทายสำคัญที่มองเห็นจากภาพอนาคต คือ คนรุ่นใหม่จะจนลง ทั้งที่มีรายได้เพิ่มขึ้น

“การมีเงิน ไม่ได้การันตีการมีชีวิต” อาจเป็นประโยคที่เป็นไปได้สำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะเงินจะไม่เพิ่มเร็วกว่าภาระที่ต้องใช้ ยิ่งหากเลือกการมีครอบครัว การเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบตัวจะทำให้พวกเขาเจ็บเร็วขึ้น และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในโลกการจ้างงานที่ไม่ถาวร กลายเป็นโลกที่เสี่ยงมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นฝันร้ายของคนรุ่นใหม่ แม้บางคนมีความคิดที่อยากจะกลับบ้านเพื่อจะได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว เพราะอยู่ในเมืองหลวงต่อก็รู้สึกทรมาน แต่ก็ต้องจำยอมเพื่อโอกาสในการทำงานที่มากขึ้น

แล้วคน Gen Z สำคัญอย่างไรในมิติของเศรษฐศาสตร์? ก็พบว่ากลุ่มคน Gen Z เป็นกลุ่มที่มีโอกาสมากที่สุดเช่นกัน เพราะมีความสามารถในการ Up Skill – Re Skill ได้มากที่สุด เพราะเป็นคนที่ใกล้กับโลกมากที่สุด นั่นคือ Gen Z เนื่องจากความพิเศษของคน Gen Z คือเป็นรุ่นสุดท้ายของโลกเก่าและเป็นรุ่นแรกของโลกใหม่ การเรียนรู้องค์ความรู้ต่าง ๆ จึงสามารถพัฒนาได้มาก และถือเป็นกลุ่มประชากรที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ

สำหรับทางออกของเรื่องนี้ เกียรติอนันต์ มองว่า นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองในเวลานี้ ยังมุ่งไปที่ปลายทางของตลาดแรงงาน แต่สิ่งที่ภาคการเมืองต้องเข้ามาดูแลและทำความเข้าใจ คือ ความพอเพียงในชีวิตกับความเพียงพอในการเติมเต็มความฝันนั้นเป็นคนละโจทย์กัน เพราะฉะนั้น การรองรับ หรือฟูกอันแรกคือ การพอเพียงในชีวิต ด้วยการนำระบบซัปพอร์ตเข้าไปช่วยคนตัวเล็ก เพราะเขาจะสามารถล้มแล้วลุกขึ้นได้ ส่วนอีกโจทย์ คือ การที่เราเพียงพอ มีกินมีใช้ มีที่พักเพียงพอ ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าสิ่งเหล่านี้ใช่สิ่งที่เราต้องการเจอแบบนี้ทั้งชีวิตหรือไม่ ดังนั้น จึงต้องมีการเพียงพอในการหล่อเลี้ยงความฝันด้วย

เขากล่าวอีกว่า แม้เงินจะไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด แต่หากเลือกจัดการกับปีศาจกินฝันได้เพียงอย่างเดียว ในจำนวน 4 อย่าง ควรทำเรื่องเงิน เพราะเงินทำให้ทุกอย่างซอฟท์ลง ทั้งเรื่องของการดูแลรายได้ ลดค่าใช้จ่าย อย่างเป็นรูปธรรม

การมอง Gen Z จะต้องเข้าใจวิถีชีวิตของพวกเขาเพื่อจะออกแบบการซัปพอร์ตให้เขาได้ บางคนอาจจะมอง Gen Z ในหลายหลายมิติ แต่ เกียรติอนันต์ กำลังมองว่าในฐานะของทัพหน้า คนกลุ่มนี้คือกลุ่มคนที่พร้อมจะรับมือกับพายุเศรษฐกิจก้อนใหม่ที่กำลังเข้ามา ถ้าไม่สร้างกองหน้าให้แข็งแกร่งกองหลังที่อายุ 40 – 50 – 60 ปี ก็จะโดนตีพ่ายตั้งแต่แรก


หมายเหตุ "Lost & Found: ตามหาความฝันที่หล่นหายของคน GEN Z" เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการนำเสนอซีรีส์ชุด #Generationเคว้ง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง The Active และ The MATTER เพื่อนำเสนอปัญหาที่คนรุ่นใหม่กำลังเผชิญอยู่

ชม เวทีเสวนา "Lost & Found: ตามหาความฝันที่หล่นหายของคน GEN Z" | 22 เม.ย. 66

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

เมธาวี ทวีผล

เรียนมานุษยวิทยา สนใจเรื่องราวทางสังคม อยากปล่อยใจสู่เสรี

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์