‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เอายังไง ? กับคำถามคาใจ หลัง ‘เศรษฐา’ พ้นนายกฯ

“ผมไม่ทราบครับ ผมเรียนตรง ๆ ว่าผมไม่มีอำนาจแล้ว
แล้วก็เป็นหน้าที่ของรักษาการนายกรัฐมนตรี
หรือว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่ต้องกลับเข้ามา”

เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี 14 ส.ค. 67

ถือเป็นความชัดเจนจากปาก อดีตนายกฯ เศรษฐา เมื่อถูกถามถึงหนึ่งในนโยบายธง เงินหมื่นดิจิทัล และเชื่อว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ผู้คนทั้งประเทศตั้งตารอคอยคำตอบนี้อยู่เช่นกัน

ไม่ใช่แค่จะเอาไงต่อกับ ดิจิทัลวอลเล็ต ? เพราะทันทีที่มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ให้ เศรษฐา พ้นจากนายกฯ ส่งผลให้ #ศาลรัฐธรรมนูญ #เศรษฐาทวีสิน #พิชิตชื่นบาน #ดิจิทัลวอลเล็ต พุ่งขึ้นติดเทรนด์ X พร้อมกับอีกหลาย ๆ คำถาม ที่โลกออนไลน์ยังเกิดข้อกังขา ทั้งเรื่อง

  • ใครรักษาการนายกฯ
  • แคนดิเดตนายกฯ ที่เหลือมีใครบ้าง ทำไมไม่มีพรรคก้าวไกล
  • นายกฯ และ ครม. รักษาการมีอำนาจอะไรบ้าง
  • กระบวนการพิจารณากฎหมายในสภาฯ สะดุดหรือเปล่า
  • เส้นทางการเลือกนายกฯคนใหม่
  • ถามหาที่มาของ สว. ผู้ร้องเรียนเศรษฐา (มองเรื่องการวางยา)
  • กระทบกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไหม
  • ในสายตาโลกประเทศไทยยังมีความน่าเชื่อถืออยู่ไหม
  • การที่ ครม. หลุดทั้งคณะ จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญช้าออกไปอีกหรือไม่
  • ทั้งการยุบพรรคก้าวไกล และการวินิจฉัยให้เศรษฐาพ้นจากตำแหน่ง เรียกว่าการรัฐประหารได้ไหม (เกิด #รัฐประหารเงียบ ใน X)

‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เอาไงต่อ ?

เริ่มกันที่คำถามที่ประชาชนหลายคนอยากรู้ ไม่มีนายกฯ เศรษฐา แล้ว ดิจิทัลวอลเล็ต ยังมีอยู่ไหม ? ทั้งที่ก่อนหน้านี้เปิดรับลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ไปแล้ว มีประชาชนมากกว่า 27 ล้านคนเข้าไปลงทะเบียนใช้สิทธิ์

รวมทั้งสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 67 ก็ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ…. วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่า เป็นไปเพื่อรองรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตไปแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ ที่นโยบายนี้อาจถูกทบทวนเพราะยังไม่ได้นำเสนอขึ้นทูลเกล้าฯ และโครงการนี้ ยังไม่มีผลผูกพันงบประมาณใด ๆ

ล่าสุด วันนี้ (15 ส.ค. 67) จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาย้ำถึงข้อกังวลนี้ ว่าต้องให้เกียรติผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่และรัฐบาลชุดต่อไป ซึ่งกลไกตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า เมื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จัดตั้ง ครม. ขึ้นมาใหม่ ก็ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และต้องให้เกียรติกับนายกฯ คนต่อไปว่าจะบรรจุนโยบายอะไรบ้าง

ในฐานะที่พรรคเพื่อไทยมี สส. 141 คน หากจะจัดตั้งรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยร่วมด้วย ก็ยังคงเสนอนโยบายเติมเงิน 10,000 ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเห็นว่าเป็นหนึ่งในนโยบายที่ต้องขับเคลื่อนต่อไป และขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อไปว่าในท้ายที่สุด แต่ละฝ่ายจะมีความคิดเห็นอย่างไร และ ปัจจุบันในฐานะทำหน้าที่รักษาการ และมีมติ ครม. ให้เดินหน้าโครงการ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังมีหน้าที่ดำเนินการทุกอย่างตามกรอบของกฎหมายในการเตรียมความพร้อมการลงทะเบียนการพัฒนาแอพพลิเคชัน ยังคงเดินหน้าต่อ ไม่ต้องปั่นให้คนเป็นห่วง ส่วนต่อไปจะเดินหน้าต่ออย่างไรรอการฟอร์มรัฐบาลชุดใหม่

“มีการสื่อสารกันในโลกออนไลน์ที่ผิด ว่าเป็นห่วงหรือไม่ โครงการนี้จะเดินต่อหรือเปล่า จะมีการลบแอปพลิเคชันหรือไม่ เรียนทำความเข้าใจให้ตรงกันแอปฯ ทางรัฐ เป็นแอปพลิเคชันหลักสำหรับให้บริการประชาชน ไม่ใช่แอปพลิเคชันสำหรับดิจิทัลวอลเล็ต หากได้โหลดแล้วจะเห็นว่ามีบริการภาครัฐอยู่หลากหลาย มีความปลอดภัยระดับสูงสุดที่ภาครัฐกำหนด ความปลอดภัยไม่ต้องห่วง ข้อมูลส่วนตัวไม่มีเก็บอยู่ในทางรัฐ”

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

จุลพันธ์ ระบุด้วยว่า จะนำนโยบายดิจิทัลวอเล็ตไปหารือในการฟอร์มรัฐบาล หากมีการเจรจาเรื่องการตั้งรัฐบาล ขณะนี้ทุกอย่างยังคงเดินหน้าปกติ

ใคร ? รักษาการนายกฯ – มีอำนาจอะไร ?

แต่สำหรับคำถามที่ว่า “ใครรักษาการนายกฯ” และ “นายกฯ และ ครม. รักษาการมีอำนาจอะไรบ้าง” หลังการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน นั้น รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 หมวด 6 ว่าด้วยเรื่อง “การรักษาราชการแทน” กรณีนายกฯ บัญญัติไว้ในมาตรา 41 ว่า ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน

ในกรณีนี้ เคยมีคำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตามลำดับดังนี้

  1. ภูมิธรรม เวชยชัย
  2. สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
  3. พิชัย ชุณหวชิร
  4. อนุทิน ชาญวีรกูล
  5. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
  6. พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

ขณะที่ รัฐธรรมนูญมาตรา 48 ยังให้ผู้รักษาราชการแทน มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน นั่นทำให้รองนายกฯ คนที่ 1 คือ ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี หรือ นายกฯ รักษาการ ซึ่งมีอำนาจปฏิบัติภารกิจได้ใกล้เคียงกับตำแหน่งนายกฯ แม้กระทั่งการสั่ง “ยุบสภา”

ใคร ? แคนดิเดตนายกฯ

ยังมีคำถามที่สงสัยกันด้วยว่า “แคนดิเดตนายกฯ ที่เหลือมีใครบ้าง ทำไม ? ไม่มีพรรคก้าวไกล” คำตอบคือ เวลานี้มีแคนดิเดตจาก 5 พรรคการเมือง 7 คน โดยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน 6 คน ประกอบด้วย

  • พรรคเพื่อไทย มี ส.ส. 141 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเหลือ 2 คน คือ แพทองธาร ชินวัตร และ ชัยเกษม นิติสิริ
  • พรรคภูมิใจไทย มี ส.ส. 71 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียว คือ อนุทิน ชาญวีรกูล
  • พรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส. 40 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียว คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
  • พรรครวมไทยสร้างชาติ มี ส.ส. 36 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 2 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

และคนสุดท้ายเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านในปัจจุบันคือ พรรคประชาธิปัตย์ มี ส.ส. 25 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียว คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

ส่วน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งเคยเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่เคยมี สส. 151 คน เวลานี้ถูกตัดจากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตแล้ว หลังพรรคก้าวไกลถูกยุบ และพิธาเองก็ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง เพราะตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 159 กำหนดให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกฯ คนใหม่ โดยต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ที่พรรคการเมืองซึ่งต้องมี สส.ไม่น้อยกว่า 25 คน แจ้งไว้ต่อ กกต. เท่านั้น

โดยใช้เสียง สส. ในสภาฯ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวน สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เพื่อเสนอชื่อบุคคลดังกล่าวให้สภาผู้แทนราษฎรโหวต สำหรับขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 มีดังนี้

  1. พรรคการเมืองที่มี สส. ในสภา ไม่น้อยกว่า 5% (25 คน) สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเคยแจ้งไว้ในการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 88 กำหนดให้พรรคการเมืองส่งบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกินสามชื่อ

    โดยการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องเสนอชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 ดังนั้น พรรคเพื่อไทยซึ่งมีเศรษฐา ทวีสินอยู่ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะเสนอชื่อเศรษฐาอีกรอบไม่ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าเศรษฐาเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (4) และ (5)

    การเสนอชื่อแคนดิดเดตนายกรัฐมนตรีเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือก จะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) รับรองด้วยจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งใน 10 ของ สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร จากข้อมูล ณ วันที่ 14 ส.ค. 67 มี สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ 493 คน ดังนั้นจำนวนผู้รับรองในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 จะอยู่ที่ 50 คน
  2. สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี จากผู้ได้รับการเสนอชื่อ โดยขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีจะทำโดยเปิดเผย กล่าวคือ ใช้วิธีการเรียกชื่อ สส. แต่ละคนและให้ สส. ลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ผู้ที่ได้รับเลือก จะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อมี สส. ทั้งหมด 493 คน เท่ากับว่าต้องได้คะแนนเสียงตั้งแต่ 248 เสียงขึ้นไปจึงจะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ไม่ต้องใช้เสียง สว. อีกต่อไป เนื่องจากบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงไปแล้ว

ขณะที่ล่าสุดวันนี้ (15 ส.ค. 67) ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์รายการ “มุมการเมือง” ไทยพีบีเอส ยอมรับว่า ได้รับการแจ้งจากพรรคว่าจะเสนอชื่อให้สภาโหวตเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ในวันที่ 16 ส.ค. นี้ โดยยืนยันความพร้อมที่จะทำหน้าที่ หากได้รับเลือกจากสภาฯ แต่ต้องรอความชัดเจนเป็นมติพรรคก่อน

ชัยเกษม ยืนยันว่า ปัญหาสุขภาพไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้ถือว่าสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี ไม่ได้มีปัญหาใด ๆ แม้จะเคยเข้ารับการรักษาด้วยอาการเส้นเลือดสมอง หรือ สโตรก ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง แต่การรักษาผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อย


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active