มวลน้ำ 700 ล้าน ลบ.ม. คงค้างในเมียนมา บางส่วนจ่อเข้าไทย! ป้ายต่อไป…ที่ไหน ? ต้องรับมือ

“จ.เชียงราย อาจต้องเตรียมเผชิญกับมวลน้ำระลอกใหม่ ที่ยังค้างมาจากเมียนมา ที่มีอยู่อีกประมาณ 700 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมวลน้ำที่ก่อให้เกิดวิกฤตน้ำท่วมหนักที่ผ่านมาเมื่อไม่กี่วันนี้ เป็นมวลน้ำแค่ประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น สถานการณ์นี้อาจทำให้ระดับน้ำปัจจุบันยังสูงกว่าตลิ่งถึง 3 เมตรในบางจุด แน่นอนว่าต้องใช้เวลาระบายต่อเนื่อง”

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC)

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) อธิบายว่า มวลน้ำที่ค้างอยู่ในเมียนมาในเวลานี้จากคาดการณ์ว่าที่มีอยู่ประมาณ 700 ล้าน ลบ.ม.นั้น ส่วนหนึ่งจะคงค้างทุ่งอยู่ในเมียนมา แต่อีกกว่าครึ่ง หรือประมาณ 350 ล้าน ลบ.ม. จะไหลสมทบเข้ามาในไทยทางแม่น้ำกก ผ่าน จ.เชียงราย ซึ่งหากรวมกับน้ำก้อนเดิมที่ทำให้เกิดวิกฤติน้ำท่วมอยู่ในเวลานี้ อาจต้องใช้เวลาอีกประมาณ 10 วัน จึงจะสามารถระบายได้หมด

และแม้ยังมีร่องฝนพาดผ่าน จ.เชียงราย ไปอีกร่วมสัปดาห์ แต่ปริมาณน้ำฝนจะไม่วิกฤตไปมากกว่านี้ มวลน้ำที่ท่วมจึงยังทรงตัวในระดับเดิม สถานการณ์ตอนนี้จึงต้องเร่งระดมความช่วยเหลือให้เร็วที่สุด

สถานการณ์น้ำท่วมที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เกิดจากฝนตกหนักในฝั่งเมียนมา โดยไทยไม่มีสถานีวัดระดับน้ำฝนในพื้นที่ฝั่งเมียนมา ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ระดับน้ำได้แม่นยำ ส่วนฝนที่ตกหนักทำให้น้ำในพื้นที่ อ.แม่สาย ไหลลง แม่น้ำรวก ก่อนจะไหลลงสู่ แม่น้ำโขง ไหล่บ่าเข้า บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน, อ.เชียงของ, อ.เวียงแก่น ก่อนจะไหลเข้า ลาว และภาคอีสานของไทยในอีกไม่กี่วัน

จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวัง

อ.เชียงของ จ.เชียงราย ต้องเตรียมรับมวลน้ำนี้ เช่นเดียวกับจังหวัดในภาคอีสาน ไล่มาตั้งแต่ อ.เชียงคาน จ.เลย, จ.หนองคาย, จ.นครพนม, จ.สกลนคร, จ.อุดรธานี และ จ.อุบลราชธานี

เราพูดถึงปัจจัยจากฝนกันไปแล้ว คราวนี้ลองมาพิจารณาจาก สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงกันบ้าง เพราะแม่น้ำโขง คือ จุดที่น้ำท่วมเชียงรายในหลายลุ่มน้ำจะไหลไปรวมกัน เมื่อน้ำค้างเก่าที่รอการระบายยังอาจเข้ามาเพิ่มเติมอยู่เรื่อย ๆ แล้วสถานการณ์น้ำโขงเวลานี้พร้อมรับมวลน้ำแค่ไหน ?

ล่าสุดวันนี้ (12 ก.ย. 67) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง พบว่า ด้วยเหตุฝนตกหนักในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ลาว ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ร่องมรสุมที่จะพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 12 – 16 กันยายน 2567 จะทำให้ฝนตกหนักเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ โดยคาดการณ์ว่า

  • เชียงราย (สถานีเชียงแสน): ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 0.50 – 0.70 เมตร ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 3.40 เมตร

  • เลย (สถานีเชียงคาน): ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 3.00 – 3.60 เมตร คาดว่าจะสูงกว่าตลิ่ง 0.50 – 1.50 เมตร

  • หนองคาย และบึงกาฬ: ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 3.50 – 3.90 เมตร คาดว่าจะสูงกว่าตลิ่ง 1.50 – 2.50 เมตร

  • นครพนม, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี: ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 2.00 – 2.60 เมตร ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 0.50 – 1.30 เมตร

ขณะที่ สถานีโทรทัศน์หลวงพระบาง รายงานว่า ประเทศจีนจะปล่อยน้ำจากเขื่อนไฟฟ้าจิ่งหงเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้มวลน้ำได้ไหลเข้าลาว แล้วเมื่อเช้าวันที่ 12 กันยายน เวลา 04.00 น. ทางการ ลาว ได้แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยริมน้ำโขง และแม่น้ำสาขาให้ระวัง และย้ายของขึ้นที่สูง นอกจากนี้ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่หลวงพระบาง ที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นปัจจัยสมทบทำให้ระดับน้ำโขงสูงขึ้นได้อีก

ไม่ต่างจาก เขื่อนไฟฟ้าไซยะบุรี ที่ตั้งอยู่ใน ลาว ประกาศว่า มวลน้ำจากเขื่อนจิ่งหง จะทำให้ระดับน้ำที่หลวงพระบาง เพิ่มขึ้น 2 เมตรในวันที่ 13 กันยายนนี้ โดยมีอัตราการไหล อยู่ที่ 23,000-25,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดว่า น้ำจะไหลถึง อ.เชียงคาน จ.เลย ในวันที่ 15 กันยายน และถึงเวียงจันทน์ (บริเวณ จ.หนองคาย ประเทศไทย) ในวันที่ 18 กันยายนนี้

ส่วนข้อมูลจาก คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย รายงานว่า ระยะเวลาที่น้ำเดินทางในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่สถานีวัดระดับน้ำ ตั้งแต่ จิ่งหง-เชียงแสน-เชียงคาน-หนองคาย-นครพนม-มุกดาหาร-โขงเจียม จะใช้เวลาราว 6 วัน 17 ชั่วโมง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำอย่าง ผศ.มงคลกร ศรีวิชัย หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา คาดการณ์ว่า มวลน้ำในวิกฤตน้ำท่วมรอบนี้ อาจทำให้น้ำเดินทางได้เร็วกว่าฤดูฝนในภาวะปกติถึง 10%

นั่นหมายความว่า มวลน้ำอาจไหลบ่าเข้าสู่ภาคอีสาน และจังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง รวดเร็วมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยข้อมูลระยะเวลาเดินทางของน้ำมีดังนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active