สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดริมแม่น้ำโขงยังคงน่ากังวล เนื่องจากระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สถานีเชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าตลิ่ง 3.4 เมตร แต่ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ เนื่องจากหลายพื้นที่ในประเทศเมียนมา จีน ลาว และไทยกำลังประสบปัญหาน้ำท่วมหนัก โดยเฉพาะในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ที่มีปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงสูงมาก
ขณะที่ จ.เชียงราย กำลังเข้าสู่ภาวะฟื้นฟู แต่สถานการณ์น้ำท่วมได้เคลื่อนต่อไปยังลุ่มน้ำโขง กลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ออกประกาศเตือนเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ระหว่างวันที่ 16 – 21 กันยายน 2567 เนื่องจากมวลน้ำหลากในแม่น้ำโขงได้เคลื่อนผ่าน จ.เลย จ.หนองคาย และ จ.บึงกาฬ ประกอบกับเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2567 มีปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดหนองคายสูงสุดที่ 21,187 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งสูงกว่าระดับตลิ่ง 1.62 เมตร
มวลน้ำดังกล่าวเคลื่อนผ่านไปยัง จ.บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5 – 1.0 เมตร ในช่วงวันที่ 18 – 21 กันยายน 2567 โดยเฉพาะที่ จ.นครพนม คาดว่าระดับน้ำจะล้นตลิ่ง 0.3 – 0.5 เมตร ในวันที่ 18 กันยายน 2567 ขอให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังบริเวณริมแม่น้ำโขงและริมแม่น้ำสาขา
นอกจากนี้ สถานการณ์น้ำในลำน้ำห้วยหลวงที่ จ.อุดรธานี ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.21 เมตร และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในวันนี้ (17 ก.ย. 67) เนื่องจากน้ำในลำน้ำสาขาไม่สามารถระบายลงแม่น้ำโขงที่กำลังเอ่อล้นได้ ส่งผลให้มีความเสี่ยงน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ จึงขอให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมขัง บริเวณพื้นที่ด้านท้ายน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ได้แก่
- อ.กุดจับ, อ.สร้างคอม, และ อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี
- อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย
สถานการณ์น้ำท่าทยอยสูงขึ้น ประกอบกับน้ำฝนที่จะเทลงมาเพิ่มอีก จากข้อมูลคาดการณ์ของ กรมอุตุนิยมวิทยา เตือนประชาชนในพื้นที่ริมแม่น้ำโขง ควรเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักระหว่างวันที่ 15 – 24 กันยายน 2567 โดยเฉพาะภาคอีสาน ภาคกลาง ตะวันออก และภาคใต้ ที่มีโอกาสเกิดน้ำท่วมหลากอีกครั้งจากฝนตกหนักที่คาดว่าจะครอบคลุมพื้นที่ถึง 80%
ขณะที่ข้อมูลจากกรมทรัพยากรน้ำ ในวันที่ 17 กันยายน 2567 เปิดเผยข้อมูลระดับน้ำท่า ที่เป็นลำน้ำสาขาจากแม่น้ำโขง พบหลายสถานีอยู่ในระดับสูงกว่าตลิ่ง ดังนี้:
สถานี | ที่ตั้ง | ปริมาณน้ำ | สถานะ | ระดับน้ำ (ม.รทก.) | ระดับตลิ่ง (ม.รทก.) |
บ้านโนนตูม | ต.หมูม่น อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี | 103.75% | ล้นตลิ่ง | 171.68 | 171.5 |
บ้านท่าห้วยหลัว | ต.บ้านจันทน์ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี | 101.55% | ล้นตลิ่ง | 154.95 | 154.95 |
ลำน้ำอูน | ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร | 105.35% | ล้นตลิ่ง | 155.2 | 154.85 |
สะพานหาดกวน-อุ่มไผ่พัฒนา | ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม | 103.06% | ล้นตลิ่ง | 145.31 | 144.87 |
ปตร. บ้านนาบัว-ท้ายน้ำ | ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม | 100.81% | ล้นตลิ่ง | 138.77 | 138.72 |
ที่มา: กองอำนวยการแห่งชาติ กรมทรัพยากรน้ำ วันที่ 17 กันยายน 2567
‘นครพนม’ เตรียมตัว! 18 – 19 ก.ย. นี้
รศ.เสรี ศุภราทิตย์ โพสต์ข้อความระบุว่า ระดับน้ำในพื้นที่ตอนล่างของ จ.นครพนม คาดว่าจะสูงสุดในวันที่ 19 กันยายนนี้ โดยจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.7 – 1.0 เมตร จากข้อมูลล่าสุดของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และ เตือนภัยให้ประชาชนในพื้นที่ อ.ธาตุพนม และบางส่วนของ อ.เมืองนครพนม เตรียมความพร้อม ยกของขึ้นที่สูง และย้ายยานพาหนะออกจากพื้นที่เสี่ยง ที่ระบุในภาพจาก ESRI ทั้งนี้ขอให้ท้องถิ่นตรวจสอบระดับความสูงของคันป้องกันน้ำด้วย
ล่าสุดวันนี้ (17 ก.ย. 67) รายงานสถานการณ์ระดับน้ำแม่น้ำโขงในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ในหลายจังหวัดระดับน้ำเริ่มลดลง ในขณะที่บางพื้นที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมยังคงต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในจังหวัดที่ระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ จ.นครพนม, มุกดาหาร และ อุบลราชธานี (ข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 09.00 น.) โดยมีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ ดังนี้
สถานี | ระดับน้ำ (เมตร) | ระดับน้ำท่วม (เมตร) | สูง-ต่ำกว่าระดับน้ำท่วม (เมตร) | แนวโน้ม |
---|---|---|---|---|
เชียงแสน (จ.เชียงราย) | 5.87 | 12.80 | -6.93 | ลดลง |
เชียงคาน (จ.เลย) | 15.53 | 16.00 | -0.70 | ลดลง |
หนองคาย | 13.17 | 12.20 | +0.97 | ลดลง |
นครพนม | 11.82 | 12.00 | -0.18 | เพิ่มขึ้น |
มุกดาหาร | 11.26 | 12.50 | -1.24 | เพิ่มขึ้น |
โขงเจียม (จ.อุบลราชธานี) | 12.67 | 14.50 | -1.83 | เพิ่มขึ้น |
ที่มา: กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 17 กันยายน 2567 เวลา 07.00 น.
ขณะที่ข้อมูลคาดการณ์ภาพรวมของ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง คาดการณ์ว่ามวลน้ำจะเคลื่อนตัวสู่ จ.อุบลราชธานี ทำให้ระดับน้ำที่สถานีวัดระดับน้ำที่ อ.โขงเจียม เพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 12.85 เมตร ในวันที่ 19 กันยายน แต่จะยังไม่ถึงระดับน้ำท่วมที่ 14.5 เมตร และจะค่อย ๆ ลดระดับลงตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน ท้ายที่สุด มวลน้ำจะไหลออกตามลำน้ำโขง เข้าสู่ลาว กัมพูชา และไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในช่วงนี้ต้องติดตามประกาศจากทางการและ สนทช. อีกทีหนึ่ง
‘นครพนม’ กับ แผนรับมือน้ำท่วม!
ขณะที่ วันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยกับ The Active ว่า ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขง ขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา เพราะมีน้ำเหนือไหลมาจาก จ.เชียงราย ซึ่งมาที่ จ.หนองคาย โดยระดับน้ำขึ้นมาวันละเกือบ 1 เมตร โดยในวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ระดับน้ำสูงขึ้นมา 0.35 เมตร และเมื่อวันที่ 16 กันยายน ขึ้นมาอีก 0.15 เมตร ขณะนี้ยังเหลือจุดวิกฤตที่รับน้ำได้อยู่ที่ 1.35 เมตร ซึ่งหากมีฝนตกลงมาอีก มีโอกาสที่ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น
ผู้ว่าฯ นครพนม ยังระบุถึง จุดเสี่ยงรับน้ำของ จ.นครพนม คือ พื้นที่ติดกับชายแดน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.บ้านแพง ซึ่งรับน้ำต่อจาก จ.บึงกาฬ เบื้องต้นตอนนี้มีประชาชนได้รับผลกระทบแล้ว เป็นบ้านเรือนที่อยู่ติดกับริมตลิ่ง อ.ศรีสงคราม มีน้ำเอ่อล้นเข้าพื้นที่แล้ว อ.เมืองนครพนม ได้รับผลกระทบแล้วเช่นกัน จึงได้อพยพย้ายประชาชนและสัตว์เลี้ยง และปศุสัตว์ออกจากพื้นที่ ไปอยู่ในที่ปลอดภัย และจัดเจ้าหน้าคอยเฝ้าระวังเหตุการณ์ ขณะที่ อ.ท่าอุเทน ซึ่งเป็นจุดรับน้ำต่อจาก อ.บ้านแพง ก็เป็นพื้นที่เฝ้าระวังเช่นกัน ขณะเดียวกัน อ.ธาตุพนม ก็จะเป็นเขตที่รับช่วงต่อจาก อ.เมือง
ผู้ว่าฯ วันชัย ยังยืนยันถึง มาตรการและแผนรับมือน้ำท่วมในพื้นที่ จ.นครพนม ประกอบด้วย
- แจ้งเตือนสถานการณ์กับประชาชน ทุกช่องทางตลอดสัปดาห์ ผ่านเพจ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครพนม และ เสียงตามสายหมู่บ้าน
- ให้ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในชุมชนที่ติดริมฝั่งปม่น้ำโขง เฝ้าระวังระดับน้ำ เพื่อประเมินอพยพคนออกจากพื้นที่
- แจ้งเตือนประชาชนยกของขึ้นที่สูง ซึ่งขณะนี้ประชาชนดำเนินการเตรียมรับมือแล้ว
- อพยพสัตว์เลี้ยง และ ปศุสัตว์ ออกจากพื้นที่เสี่ยง
- เตรียมแจ้งเตือน เมื่อสถานการณ์น้ำเหนือไหลบ่า เตรียมการอพยพ
- สั่งการให้สาธารณสุขจังหวัด ให้แพทย์ทำการสำรวจ ครัวเรือนที่มีผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ที่ไม่สามรถช่วยเหลือตัวเองได้ หากเป็นพื้นที่เสี่ยง ให้นำตัวผู้ป่วยไปอยู่ที่ รพ.สต. หรือ ที่ที่เหมาะสมและปลอดภัย
เมื่อถามถึงความมั่นใจ ในการรับมืออุทกภัย เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ผู้ว่าฯ นครพนม ยอมรับ มีแผนรับมือครบถ้วนทั้งหมดแล้ว ทุกหน่วยงานทั้งระดับจังหวัด ระดับอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อุปกรณ์ เครื่องมือ เรือท้องแบน รถ รถพยาบาล การประสานกับโรงพยาบาลต่าง ๆ ทหาร ตำรวจ และทุกหน่วยที่มีกำลังช่วยเหลือมาเตรียมพร้อมไว้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
“มั่นใจครับ ว่าจะรับมือกับสภานการณ์น้ำท่วม จ.นครพนมได้ มีแผนรับมือครบหมดแล้ว ทุกพื้นที่อำเภอที่ติดแนวชายแดน พื้นที่อพยพคนและสัตว์เลี้ยงไป คือ ลานกลางหมู่บ้าน วัด โรงเรียน เป็นที่สูง โดยมีหอกระจายข่าวในทุกหมู่บ้าน มีหัวหน้าคุ้มบ้านเป็นกระบอกเสียง และยังมีชุดรักษาความสงบประจำหมู่บ้าน (ชรบ.) คอยบอกกล่าว แจ้งเตือน คือ มีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวังตลอดครับตอนนี้ พร้อมกับแจ้งเบอร์โทรศัพท์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนรับทราบทุกหมายเลข”
วันชัย จันทร์พร
จาก ‘น้ำท่วมเชียงราย’ สู่ แผนรับมือ ‘นครพนม’
ผู้ว่าฯ วันชัย ยังระบุถึงสถานการณ์ น้ำท่วมเชียงรายที่ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างมาก เป็นบทเรียนที่ทำให้เห็นว่า จังหวัดต้องเตรียมการรับมืออย่างเต็มที่ มีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา คนแรกที่ต้องดำเนินการคือ “ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ต้องสั่งการ” หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นทหารบก ทหารเรือ หน่วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องพร้อมในการปฏิบัติงาน ประกอบกับการบังคับบัญชา ต้องมีความเข้มงวดกวดขัน ทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องอยู่ในพื้นที่พร้อมทำงาน และขอให้ประชาชนในความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำ
“ผมได้กำชับผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับงานส่วนต่าง ๆ ห้ามออกนอกพื้นที่จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ยกเว้นเหตุจำเป็นจริง ๆ ให้ขออนุญาตกับผู้ว่าราชการจังหวัด อีกส่วนที่สำคัญคือชาวบ้าน ที่เตือนแล้วไม่ยอมอพยพ เราได้เอาบทเรียนที่เกิดขึ้นมาบอกกล่าว อย่างไรก็ต้องขอให้ย้าย ขอให้ออก หากเจ้าหน้าที่เตือนว่าน้ำจะมาแล้ว อย่าห่วงบ้าน ขอให้เอาชีวิตรอดก่อน อันนี้ย้ำเลยนะครับ เพราะประสบการณ์ของเชียงรายที่เราได้เห็นกันในข่าว เตือนแล้วคิดว่าคงไม่มา คงไม่แรง คิดไปเอง แต่พอมาจริง ๆ มันแรงเกินกว่าที่จะต้านทานได้นะครับ เวลาไปบอกชาวบ้าน ก็จะเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง”
วันชัย จันทร์พร