#แพงทั้งแผ่นดิน พาเหรดสินค้าราคาแพง

คาด ค่าครองชีพสูงขึ้น 8-10% สวนทางรายได้ที่มีแนวโน้มลดลง

“อะไร ๆ ก็แพง ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ” อาจใช้เป็นคำเปรียบเปรยได้ในช่วงนี้ ที่นอกจากวิกฤตโรคระบาดในหมูจะส่งผลให้ราคาเนื้อหมูในตลาดทยอยขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีสินค้าอุปโภคบริโภคอีกหลายรายการ ทยอยประกาศขึ้นราคาตามมา ยิ่งซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือน และภาวะเผชิญโรคระบาดที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น แฮชแท็กอย่าง #หมูแพง และ #แพงทั้งแผ่นดิน จึงทะยานติดเทรนด์อีกครั้งในทวิตเตอร์

The Active สำรวจราคาสินค้าและบริการที่จำเป็น เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ค่าครองชีพสวนทางกับรายได้ประชาชนเช่นนี้ รัฐบาลมีมาตรการหรือแนวทางอะไรช่วยพยุงปากท้องของพวกเขาได้บ้าง

หมูแพง

ราคา “เนื้อหมู” อาจสูงถึงกิโลกรัมละ 300 บาท

แม้กรมปศุสัตว์จะออกมายอมรับแล้ว หลังพบผลบวกเชื้ออหิวาต์​แอฟริกา​ใน​หมู หรือ (African swine fever : ASF) ​จริง โดยพบตัวอย่างจากพื้นผิวสัมผัสบริเวณโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม โดยชุดเฉพาะกิจได้ลงพื้นที่เข้าสอบสวนโรคทางระบาดวิทยาถึงแหล่งที่มาของหมูและสาเหตุเพื่อควบคุมโรค และจะประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ แต่ในพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในรัศมีการควบคุมโรค 5 กิโลเมตรต้องคำนึงถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือราคาเนื้อหมูที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสะโพก สันนอก สันใน และสามชั้น แตะราคา 200 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาหัวหมูพุ่งทะยานสูงสุด 400 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ ชาบู หมูกระทะ รวมไปถึงร้านอาหารตามสั่งที่ต้องใช้เนื้อหมูเป็นวัตถุดิบ ขอขึ้นราคาขายตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่ 5-30 บาท

ข้อมูลจาก สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ณ วันที่ 10 มกราคม 2565 ระบุราคาแนะนำหมูเนื้อแดง อยู่ระหว่าง 218 – 220 บาท ขณะที่ราคาเดิมในปีก่อน ณ วันที่ 10 มกราคม 2564 อยู่ที่ 158 – 160 บาท ต่อกิโลกรัม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ราคาเนื้อหมูเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2565 จะอยู่ในกรอบ 190-220 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อนหน้า และเมื่อราคาเนื้อหมูเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการธุรกิจร้านค้าร้านอาหาร หันไปใช้วัตถุดิบจากเนื้อสัตว์ประเภทอื่น ๆ แทน เช่น เนื้อไก่ ซึ่งจะมีผลให้ราคาเนื้อไก่สูงขึ้นตามมา รวมถึงวัตถุดิบอาหารอื่น ๆ ด้วย ทั้งยังคาดว่าผู้บริโภคจะมีรายจ่ายด้านอาหารต่อคนต่อเดือนเพิ่มสูงขึ้นในภาพรวมราว 8-10%

เนื้อไก่เตรียมปรับตัวสูงขึ้นอีก เป็น 90 บาทต่อกิโลกรัม

เมื่อเนื้อไก่กลายมาเป็นวัตถุดิบทางเลือกอันดับหนึ่ง แทนที่เนื้อหมูราคาแพง ส่งผลให้ราคามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามมา ทีมข่าวไทยพีบีเอส สำรวจราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์มต่าง ๆ ในจังหวัดสระบุรี พบว่าปัจจุบันราคาส่งอยู่ที่ 70 บาทต่อกิโลกรัม แต่ผู้ประกอบการแจ้งว่ามีแนวโน้มที่จะปรับราคาสูงขึ้นอีกประมาณ 80-90 บาท เนื่องจากไก่เนื้อขาดตลาดจากการที่ผู้คนหันมาบริโภคมากขึ้น ซึ่งความต้องการเนื้อไก่ที่สูงขึ้นทำให้ตลาดขายไก่หน้าฟาร์มฟื้นตัวขึ้นด้วย

โดยเว็บไซต์ ตลาดนัดเกษตรไพรซ์ ระบุข้อมูลราคาเนื้อไก่ ณ วันที่ 11 มกราคม 2565 จากค่าเฉลี่ยราคาปลีกในตลาดสดและสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ พบว่า ราคาน่องไก่และสะโพกไก่อยู่ที่กิโลกรัมละ 65 บาท ปีกไก่เต็มและอกไก่อยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 80 บาท

ขณะที่ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ภายหลังประชุมร่วมกับผู้เลี้ยง สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย บริษัทรายใหญ่ รวมถึงกรมปศุสัตว์ เห็นร่วมกันที่จะกำหนดราคาไก่ โดยจะตรึงราคาขายไก่มีชีวิตหน้าฟาร์ม และราคาขายปลีกชิ้นส่วนไก่สด เป็นเวลา 6 เดือน ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2565

ไข่ไก่ ขึ้นราคา แผงละ 6 บาททุกเบอร์

ตามมาด้วยราคาไข่ไก่ที่เพิ่มสูงขึ้นตามกลไกตลาด สมาคมการค้าผู้ค้าไข่ไก่ไทย แนะนำราคาไข่ไก่แก่สมาชิกสมาคมฯ ที่ฟองละ 3 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิมฟองละ 20 สตางค์ ส่งผลให้ราคาไข่ทุกเบอร์มีราคาหน้าฟาร์มสูงขึ้น 6 บาทต่อแผง และเมื่อราคาขึ้นจากหน้าฟาร์ม กลุ่มผู้ค้าไข่ไก่ก็ต้องปรับราคาขึ้นในระดับเดียวกัน คือ แผงละ 6 บาท เท่ากับว่าไข่ไก่จะถึงมือผู้บริโภคในราคาสูงขึ้นอย่างน้อย 12 บาทต่อแผง

ก๊าซหุงต้ม ทยอยปรับขึ้นราคา หลัง ม.ค. นี้

หลังประสบปัญหาน้ำมันดีเซลแพง และมีการเรียกร้องการตรึงราคาน้ำมันต่อเนื่องให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร รวมถึงการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม LPG ทำให้สภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือนธันวาคม 2564 มีรายจ่ายเฉลี่ยติดลบเดือนละ 5,963 ล้านบาท 

วันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา ‘กุลิศ สมบัติศิริ’ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยที่ประชุม กพช. รับทราบมาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม LPG ที่ราคา 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม จะสิ้นสุดใน 31 มกราคมนี้ ซึ่งหลังจากนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ จะทยอยปรับขึ้นราคาแบบขั้นบันได เพื่อลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนค่าไฟยังไม่มีการแถลงการณ์ว่าจะเพิ่มราคาค่าเอฟที

ค่าโดยสารเรือแสนแสบ ปรับราคา เริ่มต้น 9 บาท

ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 25 บาทตั้งแต่ปีที่แล้ว ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงเหลือร้อยละ 10 ทำให้การเดินเรือประจำทาง หรือเรือด่วนคลองแสนแสบประสบปัญหาภาวะขาดทุนอย่างหนัก และไม่สามารถคงการเดินเรือให้บริการในราคาโดยสาร 8 บาท เท่าเดิมได้ กรมเจ้าท่า จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกประกาศ กรมเจ้าท่า ที่ 68/2563 ในการกำหนดราคาค่าโดยสารแบบคงที่ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเดินเรือรักษาการให้บริการได้ต่อไป โดยให้ใช้อัตราค่าโดยสารที่ระดับราคาน้ำมันเกิน 25 บาท เป็นกรอบในการจัดเก็บ ซึ่งในเส้นทางแสนแสบจะเริ่มต้นที่ 9 บาท

ค่าทางด่วน ปรับราคาขึ้น สูงสุด 35 บาท

สำหรับราคาค่าทางด่วนปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด หรือ BEM ปรับขึ้นค่าทางด่วนพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ระยะทาง 16.7 กม. ด้าน ‘สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข’ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชี้แจงว่า การปรับอัตราค่าผ่านทางครั้งนี้เป็นการปรับทุก ๆ 5 ปี ตามสัญญาสัมปทานกับ กทพ. รถ 4 ล้อ จาก 50 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 65 บาท รถ 6-10 ล้อ ปรับขึ้นจาก 80 บาท เป็น 105 บาท ส่วนรถมากกว่า 10 ล้อขึ้นไป ปรับเพิ่มเป็น 150 บาท 

ครม. เคาะงบประมาณเยียวยาปัญหาโรคระบาดหมู 574.11 ล้านบาท

11 มกราคม 2565 คณะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงราคาสินค้าที่สูงขึ้น โดยให้เหตุผลว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงกำชับให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาเรื่องราคาเนื้อหมูแพง และสินค้าประเภทอื่น ๆ โดยย้ำว่าขอให้อย่ามีการเอาเปรียบผู้บริโภค ฝากหน่วยราชการให้ทำงานเชิงรุก ตอบคำถามประชาชนให้เข้าใจในทุกเรื่อง

นอกจากนี้ ครม. ยังอนุมัติงบประมาณ ประจำปี 2565 (งบกลาง) 574.11 ล้านบาท สำหรับป้องกันแก้ปัญหาโรคอหิวาต์​แอฟริกาและโรคระบาดร้ายแรงในหมูและหมูป่า เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเกษตรกรราว 4,941 ราย ที่ได้มีการทำลายหมูแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงินชดเชย และ 159,453 ตัว ในพื้นที่ 56 จังหวัดทั่วประเทศ โดยจะจ่ายตามหลักเกณฑ์กฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.โรคระบาด พ.ศ. 2558


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์