‘ความอิ่ม’ ในวันนี้ มีราคาที่เพิ่มสูงขึ้นตาม “วัตถุดิบ” ที่นำมาประกอบอาหารในแต่ละมื้อ โดยปัจจุบันพบว่าสินค้าหลายรายการทยอยปรับเพิ่มขึ้น จนส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋าของประชาชนในวันที่ “รายได้” ลดลง สวนทางกับ “รายจ่าย” ที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ภาครัฐมาช่วยควบคุมราคาและหาทางเยียวยาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น
สถานการณ์ของแพงที่เกิดขึ้น วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย อธิบายกว่า ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก การค้าการส่งออกชะลอตัว ภาคธุรกิจปรับอัตราการผลิตน้อยลง แต่เมื่อเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการ ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตเหมือนปกติ อัตราความต้องการใช้ทรัพยากรต่างๆ ก็กลับมามีความต้องการสูงขึ้น ทำให้เกิดการ ‘แย่งกันใช้’ จนทำให้ราคาสินค้าตลาดโลก ‘ปั่นป่วน’ รวมถึงผลกระทบที่ซ้ำเติมจากสงครามยูเครน-รัสเซีย และปัจจัยภายในประเทศบางประการ ทำให้ราคาสินค้าหลายรายการเพิ่มสูงขึ้น
จากการสำรวจรายการสินค้าที่เพิ่มขึ้นมีทั้ง อาหารทะเล ที่ปรับตัวสูงขึ้นในหลายรายการสินค้า เฉลี่ยกิโลกรัมละ 10 บาท เนื่องจากน้ำมันแพงขึ้นมีผลต่อต้นทุนภาคการขนส่ง ทำให้ราคาขายในร้านค้าปลีกต้องปรับราคาขึ้นตามมา โดยเฉพาะภาคอีสานที่ระยะทางไกลจากพื้นที่ประมง ร้านค้าบางแห่งสะท้อนว่ายอดขายปลีกน้อยลงจากเดิมกว่าเท่าตัวเพราะประชาชนไม่มีกำลังซื้อ
ทีมข่าวเศรษฐกิจ ไทยพีบีเอส ยังพบว่า เรือประมงพานิชย์หลายแห่ง ยังชะลอการออกหาปลาด้วยเนื่องจากกังวลเรื่องค่าน้ำมันที่ใช้ในการออกหาปลา โดยประเมินว่าอาจไม่คุ้มกับรายได้ที่ลงทุน เช่น เรือประมงพาณิชย์ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง พบว่ามีการทยอยจอดเทียบท่าหลังราคาน้ำมันปรับราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง
“การออกเรือประมง 1 ชุด ใช้เรือ 4 ลำ ใช้น้ำมันถึง 2.5 หมื่นลิตร คิดเป็นเงินกว่า 7 แสนบาท และยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งค่าแรง เสบียงอาหาร เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นตามไปด้วย บางส่วนจึงตัดสินใจจอดเรือประมง เพื่อรอดูสถานการณ์ และพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อประหยัดน้ำมันให้ได้มากที่สุด”
เจ้าของเรือประมงพาณิชย์ ประเภทเรืออวนล้อมจับ
นอกจากนี้ ยังพบราคาวัตถุดิบชนิดอื่น ๆ ทะยอยขึ้นราคาตามไปด้วย เช่น เนื้อหมูสามชั้น แตะ กิโลกรัมละ 240 บาท เนื้อวัว กิโลกรัมละ 250-280 บาท ไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม เพิ่มขึ้น 10 สตางค์/ฟอง จาก 3.10 บาท/ฟอง ปรับเป็น 3.20 บาท/ฟอง
วิศิษฐ์ มองว่า เหตุผลที่สินค้าเนื้อสัตว์บางรายการปรับตัวสูงขึ้น ไม่ใช่เพียงมาจากปัจจัยราคาน้ำมันเท่านั้น แต่ยังมีผลจากการที่ราคาอาหารสัตว์ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เช่น ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลีที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตามราคาตลาดโลก และยังมีปัจจัยภายในอย่างโรคระบาดในสุกร ที่ยังอยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหาไม่แล้วเสร็จ คาดว่าอย่างต่ำต้องใช้เวลา 6 เดือน
ล่าสุด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขอปรับขึ้นราคา เฉลี่ยซองละ 0.50-1 บาท จากราคาซองละ 5 บาท เป็นซองละ 6 บาท
“เรื่องโรคระบาดในหมูก็ยังแก้ปัญหาอยู่เลย ยังแก้ไม่ได้ทั้งหมด จำนวนหมูที่ลดลงจากการตายเมื่อระยะก่อน วันนี้จำนวนประชากรสุกรก็ยังไม่มากเท่าเดิม เพราะต้องนับหนึ่งใหม่ ลูกหมูใช้เวลาโตเกือบปี”
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย
สินค้าด้านพลังงาน ขึ้นราคาทั่วโลก
แก๊สหุงต้ม ปรับขึ้นราคาครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ราคาขายปลีกถังขนาด 15 กิโลกรัม ยังไม่รวมค่าขนส่ง ขึ้นราคาเป็น 348 บาท
วิศิษฐ์ อธิบายกว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซ้ำเติมปัญหาสินค้าราคาแพง เพราะรัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกพลังงานหลักของโลก เมื่อไม่สามารถส่งออกพลังงานเหมือนเดิมได้ ก็ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นด้วย และยังพบว่าความต้องการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากการคลายล็อคดาว์นและภาคการผลิตเดินหน้ามากขึ้น ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการ “แย่งกันใช้” ราคาก็สูงขึ้นตามไป
ไม่เพียงแต่น้ำมันดิบเท่านั้น แต่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีส่วนประกอบของน้ำมันก็ต้องปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วยจากผลกระทบลูกโซ่ เช่น สินค้าเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร อย่างปุ๋ยใส่พืช กลายเป็นต้นทุนทางการเกษตร จึงจะเห็นได้ว่างพืชบางชนิดต้องปรับราคาจากผลกระทบของน้ำมันโดยทางอ้อม
อีกประการหนึ่ง คือ ราคาตลาดโลกที่มีการผันผวนหนักช่วงคลายล็อคดาว์น เช่น อาเจนตินา ระงับการส่งออกถั่วเหลือง อินโดนีเซีย ระงับการส่งออกน้ำมันปาล์ม ทำให้สินค้าประเภทนี้ปรับราคาขึ้นด้วย
ปาล์มสด ปรับตัวขึ้นราคา อยู่ที่กิโลกรัมละ 11-12 บาท
ราคาน้ำมันปาล์ม ขนาด 1 ลิตร ปรับขึ้นเฉลี่ยขวดละ 2.50 บาท ราคาขายใหม่ 67.50 บาท
น้ำมันถั่วเหลือง ขนาด 1 ลิตร ปรับขึ้นขวดละ 3 บาท ราคาขายใหม่ 65 บาท แนวโน้มคาดการณ์ราคาขายชนิดขวด อาจจะไปแตะที่ 65-70 บาท
อีกทั้งยังพบว่า เคมีภัณฑ์อื่นๆ เช่น พลาสติก บรรจุภัณฑ์จากพลาสติก ถุงพลาสติก ทั้งหมดที่มีส่วนของน้ำมัน ก็จะขึ้นราคาขึ้นด้วย และจะสมทบเป็นราคาสินค้าปลีกที่ปรับตัวสูงขึ้นอีกเช่นกัน
แม้ปัจจัยสินค้าราคาแพงจะควบคุมยาก และเป็นปัจจัยภายนอก แต่ วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ให้ข้อเสนอแนะว่า ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน สามารถช่วยลดต้นทุนค่าครองชีพได้ในหลายวิธีการเพื่อให้ “ทันเกมโลก” ดังนี้
- รัฐต้องพยายามตรึงราคาพื้นฐานน้ำมันให้ได้ยาวนานที่สุด เพื่อรักษาต้นทุนราคาสินค้าในภาพรวม ตรึงราคาค่าไฟ และตั้งกฎระเบียบ ในเชิงการ “ตั้งการ์ด” สินค้านำเข้าต้องโดนกำแพงภาษีก่อน แต่ถ้าสินค้าไหนขาดต้องลดภาษีลงมาทันที เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ราคาสินค้านั้นๆ จะได้ไม่ปรับขึ้นราคา รัฐจำเป็นต้องติดตามสถานการโลกอย่างใกล้ชิดและมีแนวทางการรับมือที่รวดเร็ว
- ภาคเอกชน ภาคการค้า และการผลิต ต้องหาวิธี ว่าจะทำอย่างไร ที่จะตรึงราคาให้ได้ยาวที่สุด ทำให้ต้นทุนให้ต่ำลง เพื่อให้ประชาชนพอจะซื้อสินค้าได้ แต่รัฐก็ต้องพยายามช่วยเหลือไม่ให้สินค้าต้นทุนพื้นฐานมีราคาสูงมาก เพราะหากต้นทุนอยู่ที่เอกชนอย่างเดียว อาจจะเจอภาวะสินค้าขาดแคลน เพราะผู้ผลิตมีน้อยลง
- ประชาชน สามารถติดตามข่าวสารสถานการณ์ รวมถึงสนับสนุนสินค้าราคาถูกที่มีคุณภาพดี มีมาตรฐาน โดยไม่จำเป็นต้องหรูหรา ซึ่งสินค้าดีมีคุณภาพมีอยู่ในท้องตลาด แต่อาจไม่รู้จัก ไม่ได้วางตลาดมากนักเนื่องจากเป็นผู้ประกอบการรายกลาง-รายเล็ก ต้นทุนต่ำ แต่หากประชาชนสามารถเลือกสินค้าราคาประหยัดมาใช้ ก็จะช่วยรัดเข็มขัดได้ หรือพิจารณาตัดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยบางประการออกไป
สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์การเมือง มองว่า การที่สินค้าแพงขึ้น และแนวโน้มในอนาคตราคาสินค้าคงจะไม่กลับไปถูกลงไปจากก่อนหน้านี้ ดังนั้นรัฐจึงต้องดูเรื่องกำลังซื้อ กำชับให้ผู้ผลิตไม่เก็งกำไรจนเกินไป และควรเจรจากับแรงงาน เรื่องการปรับค่าแรง ให้สะท้อนค่าครองชีพ และเงินเฟ้อ รายพื้นที่ตามความเป็นจริง รวมถึงแนวทางช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่กระทบจากพลังงาน ค่าไฟด้วย