ปฏิบัติการ #หยุดจนข้ามรุ่น

จากเรื่องเล่า “คนจนเมือง”

สารคดีคนจนเมือง ซีซัน 3 ตอน “ความฝันของปูแป้น” เรื่องเล่าตัวแทนของคนจนเมืองในกรุงเทพมหานคร ที่แบกรับความเปราะบางของชีวิตในทุกมิติ ทั้งรายได้ อาชีพ การศึกษา และความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย 

การแก้ปัญหาควรเริ่มตรงไหน ปูแป้นจึงจะหลุดพ้นจากวังวนความจนที่ส่งต่อมาจากรุ่นพ่อแม่?

ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active สรุปเนื้อหาบางช่วงบางตอนจากงาน “เรื่องเล่าคนจนเมือง” สู่ปฏิบัติการแก้ปัญหาจริงหยุดความยากจนข้ามรุ่นได้อย่างไร? ที่ภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันถอดบทเรียน ฉายภาพปัญหาให้ชัดเจนขึ้น เพื่อออกแบบเครื่องมือและกลไกช่วยเหลือ ช่วย #หยุดจนข้ามรุ่น ในรูปแบบ Visual Note

หยุดจนข้ามรุ่น

ก่อนการระดมความคิดเห็นสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในงานฯ ความรู้สึกร่วมของผู้ร่วมเสวนากลายเป็นประเด็นเปิด หลังรับชมสารคดีพร้อมกัน ที่ต่างสะท้อนในมุมมองที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่า “ปูแป้น” คือ ภาพตัวแทนของคนจนเมืองที่แบกรับความเปราะบางของชีวิตหลากหลายมิติซ้อนทับกัน

ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ สกสว. ผู้เปิดประเด็นคนแรก บอกว่าสารคดีความฝันของปูแป้น พบปัญหาหลัก ๆ คือ การไม่มีทักษะการเก็บออม ต้นทุนสินค้าแพง หนี้สิน เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ ที่อยู่อาศัย การเข้าถึงสวัสดิการของรัฐพื้นฐาน ป่วยหลายโรค มีภาระต่อระบบการรักษาแบบเคลื่อนที่ และท้ายที่สุด เวลาของเยาวชนหายไปเมื่อต้องดูแลครอบครัว 

“เป็นไปตามนิยามความยากจน ที่พบว่ามีปัญหาเรื่องรายได้ไม่มั่นคงอาชีพ การบริหารต้นทุน หนี้สิน การเข้าไม่ถึงสวัสดิการพื้นฐานสมบูรณ์ทั้งสุขภาพ การศึกษา” 

ขณะที่ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง หนึ่งในนักวิจัยโครงการวิจัยชุด ‘คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง’ ย้ำให้เห็นถึงปัญหาของการประกอบอาชีพของคนจนเมืองที่มีวิถียึดโยงอยู่กับพื้นที่สาธารณะและทำงานหนัก แต่ก็ยังไม่สามารถข้ามพ้นความยากจนได้เพราะไม่มีต้นทุน 

“เขาบอกว่าขายได้ 2,000 บาท แต่มีต้นทุนยังไม่หักกำไรสุทธิ ทำงานตั้งแต่ตีสามถึงสองทุ่ม รายได้เหลือเท่าไหร่ ทำงานกี่ชั่วโมง ถ้าคิดจากเส้นแบ่งความยากจน เกินไปเยอะ จนดักด้าน จนข้ามรุ่น ตอนนี้คนจนเมืองเปลี่ยนไป ไม่มีแล้วบุกรุกอยู่แบบสลัม แต่เช่าใกล้แหล่งงาน ลดต้นทุนเดินทาง ขายของได้ จะทำยังไงให้นโยบายแบบเช่ารองรับคนจนเมือง พื้นที่ค้าขายสาธารณะแหล่งสำคัญของรายได้นอกระบบก็หดหาย คนจนเมืองทั้งหมดต้องพึ่งที่สาธารณะแบบนี้”  

เอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการ เทใจดอทคอม | ชุมชนการให้เพื่อคนไทย เสริมในประเด็นนี้ว่า ความเปราะบางเริ่มต้นจากอาชีพและยิ่งเชื่อมโยงกับสุขภาพ บางคนกลับไปยากจนอีก ส่วน พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ สะท้อนสถานการณ์คนจนเมืองในเวลานี้ ว่าพวกเขากำลังเจอวิกฤตซ้อนวิกฤต จากโควิด-19 ปัญหาราคาพลังงาน น้ำท่วม คนจนในเมืองเยอะมาก คนหาเช้ากินค่ำทำงานหนักมาก บางครอบครัวลูกต้องออกจากโรงเรียนในช่วงที่ผ่านมา   

ด้าน เอริกา เมษินทรีย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อิน เดอะ ลีด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และผู้ร่วมก่อตังแพลตฟอร์ม Youth In Charge (YIC) รู้สึกว่าคำบอกเล่าจากเรื่องสารคดีโดยเฉพาะที่พูดถึง ”คนจนยิ่งจนลง ความไม่มั่นคงในชีวิตไม่มี ยิ่งบ้านเมืองเจริญเท่าไหร่ คนจนยิ่งจนลงเท่านั้น“ สะท้อนว่าการพัฒนาประเทศที่นึกถึงจีดีพี เอื้อคนบางกลุ่มเท่านั้น ขณะที่การศึกษาก็ไม่มีทางเลือก ไม่เอื้อให้คนที่มีความต้องการที่แตกต่างกันและยังมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ปัจจัยพื้นฐาน ปัญหาสังคม ปัญหาผู้สูงอายุ

วิเชียร พงศธร ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ กล่าวเสริมประเด็นทิศทางการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการพัฒนาที่มุ่งความมั่งคั่งให้คนเฉพาะกลุ่มแล้วจะกระจายสู่ฐานราก วิธีคิดเช่นนี้ไม่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ การยุติความจนข้ามรุ่น หยุดส่งมอบความจนให้รุ่นลูกหลานต้องทำให้พวกเขาเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา  

“ข้างบนโตแล้วจะไหลลงมาไม่จริง 50 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้ว การเข้าถึงแหล่งทุนเป็นแต้มต่อ จะยุติหรือไปต่อรุ่นลูกหลานเขา จะได้ลืมตาอ้าปากได้ ท่านทั้งหลายการเมือง การศึกษา นักธุรกิจ ภาคประชาชน สื่อก็ดี ทุกคนมีโอกาสที่จะมีส่วนช่วยกันแก้ปัญาหา”

การแลกเปลี่ยนในวงสนทนาช่วงแรก เพื่อถอดบทเรียนจากสารคดี จะเห็นได้ว่า ชีวิตของปูแป้นและครอบครัว สะท้อนให้เห็นปัญหาของคนจนเมืองทั้งระบบ ทั้งเรื่อง ปัญหาทางการเงิน ตั้งแต่ต้นทุนสินค้าราคาแพง การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ รวมถึงการจัดการเงินครัวเรือนและการเก็บออม, ปัญหาปัจจัยพื้นฐาน ทั้งที่อยู่อาศัย ที่ทำมาค้าขาย, ปัญหาการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ, ปัญหาการศึกษา, ปัญหาของเยาวชนกลุ่มคนจนเมือง รวมถึงข้อจำกัดของการเข้าถึงกองทุนหรือแหล่งทุนที่ช่วยดูแลคุณภาพชีวิตของคนจนเมือง

หยุดจนข้ามรุ่น

การระดมความคิดเห็นในช่วงแรกต่อสถานการณ์ปัญหาของ “ปูแป้น”  ได้ตั้งคำถามถึงโครงสร้างสังคมซึ่งเป็นรากปัญหาเรื้อรังของความเหลื่อมล้ำ และยังมีข้อมูลจากกรณีของตัวละครในสารคดีคนจนเมืองในซีซัน 1 และซีซัน 2 ตัวละครเหล่านี้ล้วนตอกย้ำให้เห็นถึงข้อมูลซ้ำ ๆ ที่คนจนเมืองเผชิญ คือ การสูญเสียพื้นที่ทำกิน ซึ่งยึดโยงอยู่กับพื้นที่สาธารณะ ส่งผลต่อความไม่มั่นคงทางรายได้ อาชีพ และยิ่งเจอกับความเจ็บป่วยต้นทุนของชีวิตที่มีน้อยอยู่แล้ว ยิ่งกลายเป็นติดลบ และผลักให้ไม่มีทางเลือกวนเวียนกู้เงินนอกระบบ และปัญหาที่เรื้อรังเหล่านี้ก็ส่งผลเชื่อมโยงถึงบุตรหลานที่ไม่สามารถเดินบนเส้นทางการศึกษาที่มีราคาต้องจ่ายได้ วังวนเหล่านี้เป็นบทสรุปที่เกิดขึ้นจากสารคดีคนจนเมือง ที่ชวนตั้งคำถามต่อไปว่าจะมีเครื่องมือ นวัตกรรมใดบ้างที่จะสามารถให้คนจนเมืองหลุดพ้นและยุติส่งต่อความยากจนข้ามรุ่นได้

ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง มีความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า การจัดการทรัพยากรที่ไม่เอื้อให้คนอย่างทั่วถึงกัน ทั้งระบบการรักษาสุขภาพ การศึกษา ผังเมือง สถาปัตยกรรมที่ไม่เอื้อให้คนพิการใช้ชีวิตได้อิสระ ต้องพึ่งพาแรงงานช่วยเหลือจากลูกหรือคนในครอบครัว คนจนเมืองจึงต้องมีต้นทุนมากกว่าชนบท ต้นทุนมีน้อยไม่สามารถก้าวข้ามได้ 

“หากจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ต้องสื่อสารให้สังคมตระหนัก ไม่ใช่แค่รู้ แต่ต้องตระหนักว่านี่คือปัญหาเชิงโครงสร้าง สื่อสารแบบ interactive ให้คนชั้นกลางตระหนักรู้สึกร่วมกับคนจนและปัญหาในระดับโครงสร้าง ให้เกิดความรู้ หางานวิจัยใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา เพื่อหาทางเลือก ที่ไม่ใช่เสื้อโหล และทำต่อเนื่อง” 

ด้าน ศ.ดร.ระพีพรรณ คำหอม อดีตคณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสริมว่า ครอบครัวปูแป้นมีพลัง ปูแป้นบอกได้เลยว่าอยากทำอาชีพอะไร หากจะแก้ให้เริ่มจากการหาพลังของครอบครัวให้เจอ ลดหนี้สินได้ มีเงินกลับเข้ามา สร้างโมเดลการเสริมพลัง ไม่อยากให้คนนอกเอาไปใส่ให้เขา แต่ควรเริ่มจากเขา ให้คนในบ้านคุยกัน เราเป็นตัวกลางทำความเข้าใจเรื่องของเรา ช่วยเรื่องกฎหมายคนพิการ เพิ่มความรู้สิทธิ์ที่เขามี

“จัดหาคนติดตามแบบเคสเมเนเจอร์ คอยดูแลปัญหาด้านสุขภาพเพื่อให้ปูแป้นได้ไปเรียน และระวังการทำงานที่จะไปกระทำซ้ำปัญหาของเขาอย่างไม่ตั้งใจ”

เตชิต ชาวบางพรหม หัวหน้าศูนย์ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะกรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เสนอให้แก้ปัญหาใน 3 ระดับ เริ่มจากครอบครัวแก้กันเอง เพื่อน ญาติ และใช้กลไกของรัฐช่วยให้เขาเข้าถึงการแก้ปัญหา และสื่อมวลชนเกาะติด ด้าน อาจิน จุ้งลก รองประธานมูลนิธิสุภาวงค์เสนา เพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ เห็นว่า หนี้นอกระบบเป็นปัญหาใหญ่ บ่อนทำลายชีวิตหากไม่จัดการเรื่องนี้ คนจนก็ยากที่จะหลุดได้ เพราะหากมีเงินที่หามาได้ก็ต้องหมดไปกับการใช้หนี้ จึงเสนอให้ จัดการหนี้ ลงรายละเอียดหนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมด แล้วขอชำระทีละราย เป็นตัวอย่าง ปักธงแก้หนี้ทำแผนฟื้นฟูหนี้

ขณะที่ประเด็นการศึกษามีหลายคนเห็นตรงกันว่า ต้องทำให้ปูแป้นไม่หลุดจากระบบการศึกษา และควรเริ่มต้นจากความสนใจของปูแป้น

ธานินทร์ ทิมทอง ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสร้างประโยชน์และคุณค่าทางสังคม บริษัท เลิร์นเอ็ดดูเคชั่น จากัด เห็นด้วยและเสนอว่าให้เรียนไปด้วย มีรายได้ด้วย หากรอนโยบายอาจเห็นผลช้ารอนาน แต่ควรร่วมมือกับหลายภาคส่วน ขยับส่งเสริมให้มีงานทำ 

“เรียนรู้ มีรายได้เกิดขึ้นจริง กลไกเห็นผลจริง มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง ใช้รูปแบบที่เหมาะสมกับเวลาของเขา ก่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ออกแบบ Format Group ของการแก้ปัญหา”

เอริกา เมษินทรีย์ เสนอว่า การพัฒนาพื้นที่ต้องสร้างประโยชน์ให้กับคนที่อยู่ตรงนั้นด้วย น่าจะตอบโจทย์ตลาดหลักทรัพย์นักลงทุนเรื่องนี้ด้วย สร้างธุรกิจเอื้อคนจนชั้นล่างให้ได้ประโยชน์ การันตีการเข้าถึงพื้นฐานชีวิตและทำให้เขาเติบโตได้รับการปกป้อง ดึงพลังคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นโปรเจกต์เมเนอร์เจอ ยืดหยุ่น ลื่นไหล ทำงานเพื่อคนจน

พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ เสนอว่า สังคมต้องเปลี่ยนทัศนคติ แนวคิดที่มองคนจนเป็นปัญหา ไม่เห็นคุณค่า แต่คนจนทำให้เราอยู่ได้ เป็นคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องส่งเสริมเขา

“ถ้าคิดว่าเขาเป็นปัญหาก็จะนั่งแก้แบบนี้ แต่ถ้ามองว่าเขาเป็นประโชน์ จีดีพีเกือบครึ่งมาจากคนจนแรงงาน เปลี่ยนวิธีคิดการพัฒนาประเทศเราใหม่ ก็จะได้แนวทางใหม่ที่เขามีคุณค่า” 

วิเชียร พงศธร เสนอให้ทำแบบจำลองลงมือทำจริง สร้างต้นแบบที่สำเร็จหรือไม่สำเร็จเพื่อขยายผล เพื่อทำความเข้าใจปัญหาและความต้องการจริง ๆ ขณะที่ ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความ เสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เสนอให้มีการจัดหลักสูตรที่เหมาะสมกับทุกคน และสอดคล้องตามความเป็นจริง ยืดหยุ่นและไม่ยึดติดชั่วโมงเรียน สอดคล้องกับ ธานินทร์ ทิมทอง ที่มองว่าเวลาเป็นสิ่งที่มีค่า หากหมดไปกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ก็หมดเวลา ไม่เหลือพอสำหรับการจัดการให้โอกาสกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต 

ชมบันทึกการสนทนา เรื่องเล่า “คนจนเมือง” สู่ปฏิบัติการแก้จนข้ามรุ่น

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

วรรวิสาข์ อินทรครรชิต

นักออกแบบ และนักการศึกษา ผู้สนุกกับประเด็นและเรื่องราวรอบโลก ชอบทำเรื่องยากให้เข้าใจได้ง่าย ผ่านศิลปะและการสื่อสารด้วยภาพแบบ Visual note, Visual Recording และวิดีโอ เป็นนักเจื้อยแจ้วแห่ง FB: Mairay May