ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดปกคลุมประเทศไทยในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ไทยเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว แน่นอนว่าในทางกลับกัน ภาคใต้ฝั่งตะวันออก กลับกลายเป็นพื้นที่ฝนตกหนักเพิ่มมากขึ้น และมีโอกาสเสี่ยงเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ระบุว่า หากปีไหนที่กระแสลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรง ไม่เพียงแต่จะส่งผลให้พื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนัก แต่ฝนจะข้ามไปตกหนักถึงในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกอีกด้วย หรือพูดง่าย ๆ ว่า “ฝนจะตกหนักทั่วทั้งภาคใต้”
จากการติดตามของ สสน. และประเมินแนวโน้มปริมาณฝน จาก 3 ดัชนีสมุทรศาสตร์ ประกอบไปด้วย
- ค่าดัชนีจากบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ด้านตะวันออกและกลาง (ONI Index หรือ ENSO)
- มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ (PDO Index)
- มหาสมุทรอินเดีย (IOD Index หรือ DMI)
เมื่อวิเคราะห์ค่าดัชนีสมุทรศาสตร์แล้วนั้น จะเห็นว่า 2 ดัชนีที่ส่งผลมาก ๆ ต่อฤดูฝนของภาคใต้ ได้แก่
- ดัชนีจากมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกและกลาง (ONI) ซึ่งในขณะนี้มีการเย็นตัวลงของอุณหภูมิผิวน้ำอย่างต่อเนื่อง และเข้าสู่ภาวะ ลานีญา โดยแนวพื้นที่ที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลเย็นตัวลงได้แผ่ขยายลึกเข้ามา ยังบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ใกล้กับแนวเกาะปาปัวนิวกีนี ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การก่อตัวของพายุด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปินส์เกิดได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้หากการเย็นตัวลงของน้ำทะเลในขณะที่บางส่วนยังอุ่นอยู่อาจจะทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างน้ำทะเลอุ่น เเละเย็น ซึ่งอาจก่อตัวเป็นพายุได้ตลอดช่วงฤดูฝนของภาคใต้
- ดัชนีมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ (PDO) ซึ่งขณะนี้มีค่า -2.88 (Negative Phase) สะท้อนให้เห็นว่า มีแรงส่งของลมหมุนตัวในทิศตามเข็มนาฬิกา โดยจะผลักแนวความชื้นให้ก่อตัวเป็นพายุ รวมถึงเสริมลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือให้มีกำลังแรงมากขึ้น
ดังนั้นสำหรับภาคใต้ปีนี้ อาจต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำมากเป็นพิเศษ เนื่องจาก
- จะเกิดแนวร่องมรสุมกำลังเเรงและแช่ตัว
- ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่จะเสริมให้มีกำลังแรง
- จะเกิดหย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวที่เกาะบอร์เนียว และเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคใต้ได้ง่ายขึ้น
- อาจเกิดการก่อตัวของพายุบริเวณประเทศฟิลิปปินส์ ที่จะก่อตัวได้บ่อยและมีโอกาสที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทยได้ ซึ่งต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
จากปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ทำให้ทุกจังหวัดของภาคใต้ ต้องเตรียมพร้อมเฝ้าระวัง และต้องเตรียมรับมือจากทุกภาคส่วนมากกว่าทุก ๆ ปี
แจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยภาคใต้
ก่อนหน้า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศพบ ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำจาก กรมทรัพยากรน้ำ และ กรมทรัพยากรธรณี พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 19 – 23 ตุลาคม 2567 โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ประกอบด้วย
- จ.ชุมพร : อ.เมืองชุมพร, อ.สวี, อ.ทุ่งตะโก, อ.หลังสวน, อ.พะโต๊ะ
- จ.ระนอง : อ.เมืองระนอง, อ.กระบุรี, อ.ละอุ่น, อ.กะเปอร์, อ.สุขสำราญ
- จ.พังงา : อ.ตะกั่วป่า, อ.กะปง
- จ.ภูเก็ต : อ.เมืองภูเก็ต, อ.กะทู้, อ.ถลาง
- จ.สุราษฎร์ธานี : อ.เมืองสุราษฎร์ธานี, อ.กาญจนดิษฐ์, อ.พนม, อ.บ้านนาสาร, อ.บ้านนาเดิม, อ.พุนพิน, อ.เคียนซา, อ.พระแสง, อ.ดอนสัก, อ.เกาะสมุย
- จ.ตรัง : อ.เมืองตรัง, อ.ย่านตาขาว, อ.ห้วยยอด, อ.นาโยง, อ.วังวิเศษ
- จ.สตูล : อ.เมืองสตูล
- จ.นครศรีธรรมราช : อ.เมืองนครศรีธรรมราช, อ.ปากพนัง, อ.เฉลิมพระเกียรติ, อ.พระพรหม, อ.ร่อนพิบูลย์, อ.จุฬาภรณ์, อ.ขนอม, อ.ทุ่งสง, อ.สิชล, อ.นบพิตำ, อ.ท่าศาลา, อ.พรหมคีรี, อ.ลานสกา, อ.เชียรใหญ่, อ.ชะอวด, อ.หัวไทร
- จ.พัทลุง : อ.เมืองพัทลุง, อ.ควนขนุน
- จ.สงขลา : อ.เมืองสงขลา, อ.กระแสสินธุ์, อ.ระโนด, อ.นาทวี, อ.สิงหนคร, อ.หาดใหญ่, อ.รัตภูมิ
- จ.ปัตตานี : อ.เมืองปัตตานี, อ.แม่ลาน, อ.กะพ้อ, อ.ทุ่งยางแดง, อ.ไม้แก่น, อ.ยะรัง, อ.สายบุรี, อ.ยะหริ่ง, อ.ปะนาเระ, อ.มายอ, อ.หนองจิก
- จ.ยะลา : อ.เมืองยะลา, อ.กรงปินัง, อ.เบตง, อ.ธารโต, อ.บันนังสตา, อ.กาบัง, อ.ยะหา, อ.รามัน
- จ.นราธิวาส : อ.เมืองนราธิวาส, อ.ศรีสาคร, อ.เจาะไอร้อง, อ.แว้ง, อ.บาเจาะ, อ.ยี่งอ, อ.ระแงะ, อ.รือเสาะ, อ.จะแนะ, อ.สุคิริน, อ.สุไหงโก-ลก, อ.สุไหงปาดี, อ.ตากใบ
ทั้งนี้ยังต้องเฝ้าระวัง อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็ก ที่มีปริมาณน้ำมากกว่า ร้อยละ 80 บริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.สุราษฎร์ธานี จ.ภูเก็ต จ.กระบี่ และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ
สำหรับ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ เขื่อนบางลาง จ.ยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้น อย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ คลองบางสะพาน, คลองชุมพร, แม่น้ำหลังสวน, แม่น้ำตาปี, คลองชะอวด, คลองลำ, คลองท่าแนะ, แม่น้ำตรัง, แม่น้ำสายบุรี, แม่น้ำปัตตานี, แม่น้ำบางนรา, แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส
603 ชุมชนเสี่ยงภัยพิบัติภาคใต้
สำหรับพื้นที่ความเสี่ยงภัยพิบัติในพื้นที่ภาคใต้ ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรธรณี และ หน่วยวิจัยวิศวกรรมดินถล่ม ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า มีหมู่บ้าน/ชุมชน ที่เสี่ยงภัยพิบัติ ซึ่งประกอบด้วย น้ำท่วมฉับพลัน, น้ำป่าไหลหลาก, ดินถล่ม, ดินไหล รวมทั้งพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 603 พื้นที่ โดยจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงภัยมากที่สุด คือ จ.นครศรีธรรมราช มีจุดเสี่ยงทั้งสิ้น 109 จุด รองลงมา คือ จ.ชุมพร 101 จุด, จ.สุราษฎร์ธานี 85 จุด, จ.ระนอง 78 จุด, จ.ยะลา 58 จุด, จ.พัทลุง 30 จุด, จ.พังงา 29 จุด, จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ ภูเก็ต แห่งละ 25 จุด, จ.ตรัง 19 จุด, จ.สงขลา 17 จุด, จ.สตูล 14 จุด, จ.นราธิวาส และ กระบี่ แห่งละ 13 จุด ขณะที่ จ.ปัตตานี ไม่พบข้อมูลจุดเสี่ยง
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดินถล่ม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
- จ.นครศรีธรรมราช ในพื้นที่บริเวณเทือกเขาหลวง ถือเป็นจุดเสี่ยงเรื่องของน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม มากที่สุด
- จ.สุราษฎร์ธานี เสี่ยงเรื่องน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งทุกปีก็มีความเสี่ยงเรื่องฝนตกหนักและน้ำท่วมรุนแรง
- จ.ภูเก็ต เสี่ยงน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ซึ่งมีโอกาสส่งผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง เนื่องจากมีประชากรหนาแน่นบริเวณตีนเขา และบนภูเขา
- จ.กระบี่ บริเวณเขาพนมเบญจา เสี่ยงภัยพิบัติในหลายรูปแบบ
- เช่นเดียวกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสี่ยงภัยพิบัติ ที่อาจมาในรูปแบบใดก็ได้เช่นกัน
ส่วนการคาดการณ์ การแจ้งเตือนภัยที่ประชาชนยังเกิดคำถาม รศ.สุทธิศักดิ์ จึงได้ยกตัวอย่าง การเตือนภัยของญี่ปุ่น โดยพบว่า มีการคาดการณ์ ถูก-ผิด ถึงครึ่งต่อครึ่ง หมายความว่า ธรรมชาติของฟ้าฝนแปรปรวน การคาดการณ์ จะมีฝนตกหนักในพื้นที่นั้น ๆ อาจจะมีการย้ายตำแหน่งไปในพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งเป็นเรื่องปกติ
“สิ่งที่ต้องพิจารณาประกอบกันในเรื่องการเตือนภัย คือ กระบวนการชุมชน ซึ่งจะต้องมีการเฝ้าระวัง เมื่อมีการเตือนภัย แม้จะเป็นภาพกว้าง แต่ก็มีโอกาสเกิดภัยในทุกพื้นที่ เพียงแต่จะมากหรือน้อย หรือเป็นอย่างไร ก็อาจจะระบุไม่ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีสภาพภูมิประเทศต่างกัน”
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์
ดังนั้น ชุมชนในพื้นที่ต้องเข้มแข็ง และต้องมีการรวมตัวกันเพื่อตอบคำถาม 3 ข้อ ดังนี้
- จะหนีเมื่อไร ? เช่น ฝนตกหนักแค่ไหน หรือสัญญาณบอกเหตุอะไรถึงหนี
- จะหนีอย่างไร ? เช่น เกิดฝนตกหนัก อาจทำให้การจราจรติดขัดจนไม่สามารถหนีได้ แล้วจะต้องหนีด้วยวิธีไหน
- จะหนีไปไหน ? คือต้องมีจุดให้ชัดเจนกับการหนี อพยพที่ปลอดภัย
รศ.สุทธิศักดิ์ ยังระบุด้วยว่า ทั้ง 3 คำถามนั้น ต้องมาพร้อมกับเครื่องมือ โดยเรื่องงบประมาณจะต้องจัดการอยู่ 2 ส่วน ดังนี้
- ชุมชนตกลงกับคนในพื้นที่หรือหน่วยงานราชการ ว่าต้องการเครื่องมืออะไรบ้างในการตอบคำถาม 3 ข้อข้างต้น ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีความต้องการแตกต่างกัน
- หน่วยงานรัฐต้องตอบสนองความต้องการของชุมชน โดยการให้เครื่องมือ เพราะการจัดการชุมชน ประกอบไปด้วย การให้ข้อมูลหรือความรู้ เครื่องมือ และทางเชื่อมต่อในการสื่อสารก่อน-หลังการเกิดภัยพิบัติว่าเป็นอย่างไร