อยากหมดหนี้ “คลิ๊ก!” เปิดคัมภีร์รู้ก่อน รวยก่อน !

หยุด! ก้มหน้าก้มตาใช้หนี้ เปลี่ยนมารู้จัก “เครื่องมือทางการเงิน”

อยากหมด “หนี้” ชีวิตต้องไม่ “เครียด” อย่าทำแค่ก้มหน้าก้มตาใช้หนี้ แต่ลองแบ่งเงินออกสำหรับ “ใช้ชีวิต” “ปลดหนี้” และต้องไม่ลืม “เก็บออม” และคิดเผื่อการ “ลงทุน” เพื่อผลกำไรในอนาคต The Active รวบรวมข้อมูลจาก Workshop ปลดหนี้ ที่ไทยพีบีเอส ในวันที่ 26 ก.พ. 66 โดยผู้เชี่ยวชาญทางการเงินและการปลดหนี้ ครูบี๊-นุกูล ลักขณานุกุล ผู้ก่อตั้ง บริษัทเก็ทบิซ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาวางแผนธุรกิจและผู้เขียนหนังสือออกจากวังวนที่จนตลอดชาติ และ ครูพัช-พัสชนันท์ คงวณิชกิจเจริญ Founder Genius School Thailand (SMEs)

โค้ชบี๊ เปิดมุมมองให้ทางการเงินถึง (อดีต) ที่ทำให้เกิดหนี้ โดยมองย้อนกลับไปที่จุดผิดพลาดเพื่อไม่ทำแบบเดิม, จากนั้นจึงค่อยกลับมาดูสถานการณ์ (ปัจจุบัน) เพื่อประเมินความสามารถจัดการหนี้ของตัวเอง และเตรียมกำหนดเป้าหมายใน (อนาคต) ที่ชัดเจน และเครื่องมือทางการเงินง่าย ๆ แต่สำคัญสำหรับคนเป็นหนี้ทุกคน คือ “บันทึกรายรับ-รายจ่าย” เพื่อให้รู้ที่มา-ที่ไปของเงิน ขณะที่ ตัวเลขหนี้ก็ต้องไม่รู้แบบคร่าว ๆ แต่ต้องรู้แบบชัดเจน เพื่อให้เราสามารถจัดการกับหนี้ได้ชัด และกำหนดระยะเวลาการปลดหนี้ได้จริง

ไม่รู้ “เงินไปไหนหมด” เป็นภาษาของคนจน

ถ้าคุณไม่รู้ว่า เพื่อนคุณหายไปไหน เราก็จะตามเขากลับมาได้ยาก

เงินก็เหมือนกัน ถ้าไม่รู้ว่าเงินหายไปไหนหมด จะตามกลับมาได้อย่างไร

ครูบี๊ นุกูล ลักขณานุกุล ผู้ก่อตั้งบริษัทเก็ทบิซ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาวางแผนธุรกิจและผู้เขียนหนังสือออกจากวังวนที่จนตลอดชาติ

เทคนิคออมเงิน 6 กระปุก

ครูบี๊-นุกูล ลักขณานุกุล ยกตัวอย่าง เครื่องมือที่ช่วยให้ประชาชนบริหารจัดการกับเงินได้ง่ายขึ้น โดยแบ่ง การออมออกเป็น 6 กระปุก โดยหลักการคือ เก็บไว้กระปุกละ 10% ของรายรับ ยกเว้น กระปุกที่แบ่งไว้ใช้ยามจำเป็น จำต้องเก็บออม 50% ของรายรับ โดยโค้ชบี้ แนะนำหากต้องการจัดการเงิน 6 กระปุก อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจจะต้องทำล่วงหน้า 12 เดือน

FFA : เพื่ออิสรภาพทางการเงิน  (FINANCIAL FREEDOM) เป็นเงินก้อนที่เก็บไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยง
โดยหัวใจสำคัญคือ ทำให้เราสามารถทำสิ่งที่ต้องการได้ด้วยกำลัง และแรงใจที่มีอยู่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องใด

LTSS : เพื่อจ่าย (LONG TERM SAVING for SPENDING) เก็บไว้สำหรับใช้จ่ายประจำ โดยเริ่มต้นเก็บ 10% และกำหนดสิ่งที่ต้องการจ่ายไว้ไม่ให้เกิน 10% ของรายรับ

EDU : พัฒนาตัวเอง (EDUCATION) เป็นเงินส่วนที่ใช้เพื่อเติม และพัฒนาทักษะของตัวเองให้ดีขึ้น โดยเริ่มจากสายงานของตัวเอง จะได้ง่ายต่อการพัฒนา ต่อยอดในงานที่สนใจ

GIVE :ให้บริจาค (GIVE) เป็นเงินที่ใช้สำหรับบริจาค หรือ เรียกอีกอย่างว่าเงินอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นเงินส่วนใหญ่ที่ทำให้คนไทยเป็นหนี้ เพราะไม่ประมาณการให้ หรือให้มากจนเกินไป

PLAY บันเทิง (PLAY) ควรเก็บไว้เพื่อใช้จ่ายเพื่อความสุขในชีวิต 10%

NEC ความจำเป็น (NECESSITY) เงินที่ใช้จ่ายเพื่อในยามจำเป็น ส่วนนี้ควรเก็บไว้ให้ได้ถึง 50% และอาจจะลดลงได้เมื่อมีเงินเพิ่มในกระปุกอื่นมากขึ้น

รู้ หรือ ไม่ บ้านไม่ใช่ทรัพย์สินเสมอไป

ครูพัช-พัสชนันท์ คงวณิชกิจเจริญ Founder Genius School Thailand (SMEs) ย้ำที่ผ่านมา สังคมไทยเข้าใจผิดมานานว่า บ้าน เป็น ทรัพย์สิน เพราะสมัยก่อนการซื้อบ้าน มีโอกาสที่จะกลายเป็นทรัพย์สินมากกว่าปัจจุบัน โดยสมัยนี้เงินเฟ้อ ประกอบกับ คนสมัยนี้มีนิสัยการออมเงิน, มีเงินดาวน์ก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน, ใช้บ้านสร้างเงิน-สร้างทรัพย์สิน, ผลิตเงินได้, ซื้อแค่พออยู่ ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้มักไม่ค่อยเห็นในปัจจุบัน บ้าน จึงอาจจะไม่ได้หมายความถึงทรัพย์สินในยุคปัจจุบันแล้วนั่นเอง

กู้เงินซื้อบ้าน 3 ล้านบาท ที่ดอกเบี้ย 6% ผ่อนเดือนละ 18,000 บาท
เปลี่ยนมาความคิดนำเงินมาลงทุนเดือนละ 18,000 บาท
ที่ผลตอบแทน 6% ระยะเวลา 30 ปีเท่ากัน จะได้เงิน 17.6 ล้านบาท

ครูพัช พัสชนันท์ คงวณิชกิจเจริญ Founder Genius School Thailand (SMEs)

โค้ชการเงิน ระบุ ความแตกต่างของการลงทุนกับการพนัน คือเรื่องของเวลา ต้องมีความอดทน และมีวินัยในการอดออม หรือถ้าอยากได้ บ้านราคา 3 ล้านบาท ก็จะใช้เวลาการลงทุนเพียง 10 ปี เพราะเป็นพลังของดอกเบี้ยทบต้น การเปรียบเทียบให้เห็นภาพแบบนี้ทำให้เข้าใจถึงความสำคัญของการลงทุน และการออมก่อนซื้อบ้าน ซึ่งหมายถึงการวางแผนระยะยาวโดยไม่เป็นหนี้ โค้ชย้ำว่า ข้อมูลเหล่านี้ มีคนเพียง 20% ที่เข้าใจ

5 เทคนิคการเงิน รู้ก่อน รวยก่อน!

การปลดหนี้ จึงไม่ได้ใช้แค่เงิน แต่ต้องมีความรู้ และเข้าใจเรื่องการเงิน โดยโค้ชพัช แนะนำ 5 เทคนิคการเงิน รู้ก่อนรวย ประกอบด้วย

  • การออมหุ้น (DCA)
  • ความรู้เรื่องการออมก่อน-รวยก่อน
  • กฎ 72
  • กฎของดอกเบี้ยทบต้น
  • การกระจายการลงทุน

เช่น เทคนิค DCA Dollar Cost Average หรือ การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน คือลงทุนแบบเท่ากันทุกเดือน สม่ำเสมอ โดยจะต้องเริ่มต้นจากการมองหากองทุนที่มีคุณภาพตั้งแต่แรก ทยอยลงทุนรวมเป็นงวด ๆ งวดละเท่า ๆ กัน คนส่วนใหญ่ไม่กล้าทำเพราะหุ้นผันผวน แต่คนลงทุนจะเข้าใจว่าหากไม่มีเวลาในการติดตามความผันผวนของหุ้น จำเป็นต้องศึกษากองทุนที่ดีและมีวินัยในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และนานพอด้วยจำนวนเงินที่ไม่ต้องเยอะ การลงทุนเสมอคือการไม่ขาย และรอคอยพลังของ “ดอกเบี้ยทบต้น” เพื่อให้ยอดสูงขึ้นเรื่อย ๆ และจากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย ยังพบว่า มีโอกาสขาดทุนน้อยลงเรื่อย ๆ

ถัดมาคือ กฎ 72 เป็นอีกกฎที่ควรรู้จัก คิดค้นจากอัลเบิร์ต ไอน์สไตล์ หมายถึงการเอาเลข 72 หารด้วยดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนที่เราลงทุน ได้ตัวเลขเท่าไหร่ คือ จำนวนปีที่เงินจะโตขึ้นเป็น 2 เท่า โดยส่วนใหญ่สถาบันการเงินจะจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากแยกคนละบัญชี การฝากประจำจึงได้ผลตอบแทนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นหากใช้ทักษะการฝากประจำเพียงอย่างเดียว โดยไม่เรียนรู้เรื่องการลงทุนเลยจะได้ผลตอบแทนน้อย แต่หากเปลี่ยนมาตั้งใจศึกษาเรื่องการลงทุน ผลตอบแทนจะแตกต่างจากเดิม 3-4 เท่าตัว

สุดท้าย การกระจายการลงทุน เพื่อให้ถูกกระจายความเสี่ยง และ เกิด passive income โดยกระจายการลงทุนไปใน หุ้น กองทุน การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ และ การลงทุนธุรกิจ

ลงทุนใน “หวย” รวยจริงหรือ ?

คนส่วนใหญ่ลงทุนใน หวย เพราะคาดหวังผลกำไร เช่น เคสคุณครูท่านหนึ่งที่ลงทุนกับการซื้อหวย งวดละ 2,000 บาท เป็นเวลา 16 ปี ระยะเวลา 20 ปี ก็ต้องเสียเงินไปกว่า 960,000 บาท แต่หาก เปลี่ยนเป็นเงินลงทุน  ที่ผลตอบแทน 6% จะได้ผลตอบแทน 1,822,583 บาท

เลิกกิน “กาแฟ” ได้เงินล้าน

เลิกกินกาแฟ ได้เงินล้าน สมมุติกาแฟวันละ 100 บาท กิน 20 วัน ตกเดือนละ 2,000 ระยะเวลา 20 ปี เสียเงิน 480,000 บาท แต่หากเปลี่ยนเป็นการออม ลงทุน ที่ผลตอบแทน 6% จะได้ผลตอบแทนกลับมา 911,292 บาท

โดยสรุป โค้ชทางการเงิน ย้ำถึงความสำคัญของพีระมิดทางการเงินที่ต้องเริ่มตั้งแต่ การจดบันทึกรายรับรายจ่าย, การออมเงิน, ต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินมีประกันต่างๆ ให้ครบ, มีเงินออมเพื่อเป้าหมายตัวเอง ถึงจะเริ่มลงทุน เพราะ การลงทุน จะพังเสมอหากไม่มีเงินสำรอง และต้องไม่ลืมรอคอยผลตอบแทนจากพลังของดอกเบี้ยทบต้น ไม่ใจร้อนถอนออกมาใช้ และไม่ถอนเงินอนาคต เงินที่เก็บไว้ใช้ยามเกษียณ แก่เฒ่ามาใช้ก่อน ความสำเร็จทางการเงิน คือ วินัยระยะยาว แต่ต้องรู้ก่อนว่าสำคัญแค่ไหน การฉายตัวเลขจริงในครั้งนี้ทำให้ประชาชนตระหนัก และเห็นความสำคัญของความรู้ทางการเงิน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปลดหนี้ได้ตั้งแต่สาเหตุของการเป็นหนี้ วิธีคิดเกี่ยวกับการเงิน ด้วยหวังว่าบทความนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านมีความหวังเดินหน้าปลดหนี้ และใช้เป็นประโยชน์ในการสร้างอิสรภาพทางการเงินที่มั่นคงในอนาคต


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์