10 วิธี ที่จะทำให้คนเห็นต่างคุยกันได้

จำเป็นหรือไม่ ที่เราต้องคุยกับคนที่มีความคิดหรือมีความเห็นที่ไม่เหมือนกับเรา?

โซเชียลมีเดีย ทำให้ปรากฏการณ์นี้รุนแรงยิ่งขึ้น เพราะโซเชียลมีเดียกล่อมให้เราอยู่ในวงความคิดที่เหมือน ๆ กัน และไม่ให้เราพบเจอกับความคิดและมุมมองอื่น ๆ ที่ต่างออกไป

บางครั้งเราถูกทำให้เชื่อว่า “เราเป็นฝ่ายที่ถูก คนอื่นต่างหากที่คิดผิด” เมื่อมีอินเทอร์เน็ต เราสามารถเชื่อมต่อกับใครก็ได้บนโลก แต่เรากลับเลิกพูดคุยกัน การสื่อสารที่ยังเห็น เหลือเพียงแค่การสบประมาทกัน

คุณไม่ต้องเปลี่ยนมาคิดเหมือนฉัน แต่ขอให้ช่วยฟังกันบ้าง…

หลายคนเชื่อว่า การโต้เถียงมักนำไปสู่ความขัดแย้ง แต่งานวิจัยกลับพบเคล็ดลับช่วยควบคุมการโต้เถียงไม่ให้ลุกลามได้ บางคนเกิดการโต้เถียงกัน อาจมีการปะทะคารมกันอย่างดุเดือด แต่ไม่มีรายงานความรุนแรง เพราะพวกเขายึด 10 กฎเหล็ก ที่ทำให้คนเห็นต่างคุยกันได้อย่างสร้างสรรค์ ที่ค้นพบโดย Romy Jaster & David Lanius นักวิจัยด้านความขัดแย้ง มหาวิทยาลัยฮุมบ็อลท์แห่งเบอร์ลิน (Humboldt-Universität zu Berlin) และเป็นผู้ฝึกสอนทักษะการโต้เถียงและวาทกรรม

1. ทำความเข้าใจสิ่งที่คู่ของเราต้องการจะบอก

ฟังในสิ่งที่คู่สนทนาพูดและทำความเข้าใจใจความสำคัญในสิ่งที่คู่ของเรากำลังพูด เมื่อสรุปสิ่งที่ได้ยิน สามารถพูดกับคู่ของเรา อย่างเช่น “ถ้าผม/ฉันเข้าใจคุณไม่ผิด คุณกำลังกังวลเรื่อง … ” หรือ “ประเด็นของคุณคือ … ” เพื่อเป็นการทบทวนกับอีกฝ่ายว่า สิ่งที่คุณเข้าใจอยู่นั้นเป็นเรื่องที่เขา/เธอให้ความสำคัญหรือไม่

ในทฤษฎีการสื่อสารอย่างสันติ (Non-violent communication) การปฏิบัติเช่นนี้ เรียกว่า “การฟังเชิงรุก” (Active Listening)

2. ไม่หลุดจากประเด็นที่กำลังคุยกัน

ระหว่างการโต้เถียงกัน คู่ของเรามีแนวโน้มเปลี่ยนหัวข้อ หรือแทรกความคิดเห็นอื่นเข้ามากระทันหัน การกระทำนี้อาจทำให้ใจความสำคัญของการถกเถียงหล่นหาย ก่อนจะได้ฟังเหตุผลของกันและกันอย่างลึกซึ้ง ฉะนั้น อย่าปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น คุณสามารถใช้ประโยคคำถามดังต่อไปนี้ เพื่อควบคุมการถกเถียงได้ เช่น “ดูเหมือนเรากำลังคุยกันคนละประเด็น รบกวนคุณช่วยอธิบายที่คุณพูดตอนแรกว่า … หน่อยได้ไหมคะ/ครับ?”

3. ใช้คำถามปลายเปิดให้มากที่สุด

ถามคำถามประเภทปลายเปิดเพื่อแสดงออกว่า เราต้องการเข้าใจมุมมองและทัศนคติของคู่ของเรา การกระทำเช่นนี้ยังช่วยสร้างฐานการสนทนาต่อไปทั้งในระดับส่วนบุคคลและการสนทนาตามบริบท (Contextual) ให้มั่นคง หนึ่งในคำถามสำคัญที่เกิดขึ้นระหว่างการโต้เถียงที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ “ทำไมคุณถึงคิดว่า … ?

4. หาจุดที่เราและคู่ของเรายอมรับร่วมกันได้

การหาข้อเท็จจริงและจุดที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน เกิดขึ้นได้ในทุกการโต้เถียง และกับทุกคู่สนทนา เราต้องหาจุดร่วมกันให้ได้ระหว่างการพูดคุยกัน การหาจุดที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ช่วยสร้างบรรยากาศเชิงบวกในการโต้เถียง และช่วยเติมเต็มมุมมองที่อาจขาดหายไป เมื่อเจอจุดที่ต่างฝ่ายต่างยอมรับได้ จุดยืนทางความคิดของเราอาจไม่ได้ห่างไกลจากคู่ของเราอย่างที่เคยคิดไว้

5. อย่าทำเป็นสอนคู่ของเรา โดยไม่ให้พื้นที่เขาแลกเปลี่ยน

การสอนผู้อื่นแสดงออกว่า เรามีความรู้มากกว่า และอาจทำให้คู่ของเรารู้สึกไม่สบายใจได้ ควรหลีกเลี่ยงการสั่งสอนผู้อื่น และเลือกถามคำถามที่ช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างเรากับคู่ของเรา เช่น “คุณเคยมีประสบการณ์……………หรือไม่?”

6. บอกเล่าถึงเหตุผลว่าทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญกับเรา

ความคิดเห็นเป็นสิ่งสำคัญ แต่คู่ของเราอาจไม่ได้เข้าใจเราอย่างแท้จริง หากเราไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้ ดังนั้น ในการถกเถียงที่แท้จริง เราจำเป็นต้องอธิบายให้ได้ว่า ทำไมเราถึงมีความคิดแบบนี้ พิสูจน์จุดยืนของตัวเองและขอให้คู่ของเราทำในสิ่งเดียวกัน การแสดงความคิดเห็นและการกล่าวยืนยันความเชื่อตัวเองแบบเลื่อนลอยไม่ช่วยทำให้การสนทนาเกิดขึ้นได้อย่างสร้างสรรค์

7. ทำความเข้าใจเหตุผลของคู่ของเรา

อย่าจ้องจับผิดจุดอ่อนของคู่ของเรา เลือกตีความและทำความเข้าใจเหตุผลของเขา/เธอให้มากที่สุด เลือกโต้เถียงเฉพาะจุดแข็ง แม้ว่าคู่สนทนาอาจมีข้อมูลไม่มากพอ หรือไม่สามารถอธิบายได้ดีก็ตาม ในทฤษฎีการสื่อสาร การปฏิบัติเช่นนี้ เรียกว่า “หลักการแสดงเจตจำนงที่ดี” (Principle of Goodwill)

8. โต้แย้งข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอย่างละมุนละม่อม และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคู่ของเราที่อาจยังมีไม่ครบถ้วน

การแก้ไขข้อมูลของคู่ของเรา การสรุปความแบบหุนหันพลันแล่น หรือการเหมารวม ถือเป็นการดึงดูดความสนใจ และอาจทำให้การให้เหตุผลของอีกฝ่ายถูกเพ่งเล็ง ฉะนั้น ควรวิพากษ์วิจารณ์เฉพาะประเด็นที่กำลังพูดคุยกันอยู่ และหลีกเลี่ยงการปะทะคารมกัน

9. การคุยกันต้องทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้นและความขัดแย้งลดลง

การโต้เถียงกันอาจก่อให้เกิดอารมณ์ เพราะฉะนั้น ควรระวังไม่ให้คู่ของเรารู้สึกเสียหน้า เมื่อได้ยินคำวิพากษ์วิจารณ์จากคุณ เราอาจใช้มุขตลก หรือตลกร้าย บรรยายความรู้สึกของเราหรือคู่ของเราเพื่อช่วยควบคุมสถานการณ์ได้ เช่น “ผม/ฉันสังเกตเห็นว่า เรื่องนี้ทำให้คุณ/ผม/ฉันหัวเสีย” สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการสงบสติอารมณ์

10. การคุยกันทำให้เราเปลี่ยนมุมมองต่อคู่ของเรา

หลายครั้ง การโต้เถียงไม่ได้ล้มเหลวเพราะความแตกต่างทางความคิด แต่เพราะมีชุดความคิดทางศีลธรรมที่แตกต่างกัน ในกรณีนี้ อาจลองคิดในมุมมองของคู่ของเราและลองหาทางโต้แย้งกับคนที่มีชุดความคิดเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญมากต่อเขา/เธอ เราลองอธิบายเรื่องนี้จากมุมมองของเรา ในทางวิทยาศาสตร์ เคล็ดลับนี้ เรียกว่า “การเปลี่ยนกรอบความคิด” (Reframing) อย่างไรก็ตาม เราต้องหาเหตุผลที่น่าเชื่อถือมาสนับสนุนความคิดของเรา และไม่ละเมิดความเชื่อของตัวเอง


เข้าร่วมโครงการ Thailand Talks

ผ่านการตอบคำถาม
ให้ระบบจับคู่คุณกับคู่ของคุณ
จากนั้นนัดแนะและพุดคุยกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active