โควิด-19 กลายพันธุ์ไปถึงไหนแล้ว?

ไทยพร้อมรับมือการระบาด เดลตาครอน แค่ไหน…

แพทย์หลายคนออกมายืนยันแล้วว่าขณะนี้เราอยู่ท่ามกลางการระบาดของ โควิด-19 ระลอกเล็ก หลังจากที่เริ่มเปิดเมือง กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ แต่คำถามก็คือการระบาดรอบนี้จะมีความต่างไปจากการระบาดที่ผ่านมาอย่างไร และมีความน่ากังวลมากน้อยแค่ไหน 

สายพันธุ์ของไวรัส โควิด-19 ที่เกิดการกลายพันธุ์เป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดว่าการระบาดในแต่ละระลอกจะรุนแรงมากหรือน้อย ย้อนกลับไปเราเผชิญสายพันธุ์ที่น่ากังวลมาแล้วทั้งหมด 4 สายพันธุ์ไล่มาตั้งแต่ปี 2563 สายพันธุ์อัลฟา ปี 2564 สายพันธุ์เบตา และแกมมา รวมไปถึงเดลตาซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ดุที่สุด

ต่อมาในปี 2565 สายพันธุ์โอมิครอนก็เริ่มกลืนเดลตากลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาด แต่ความรุนแรงของโรคน้อยลง โดยมุ่งโดยโจมตีระบบหายใจส่วนบนแทนระบบหายใจส่วนล่าง ทำให้อาการคล้ายกับโรคหวัดทั่วไป 

แต่ล่าสุดค้นพบสายพันธุ์ลูกผสม (XBC) หรือที่เรียกว่า “เดลตาครอน” ในไทยพบแล้วหนึ่งคน และทั่วโลกกำลังจับตาว่าสายพันธุ์นี้จะกลายเป็นสายพันธุ์หลัก แทนโอมิครอนในปีหน้าหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันว่า ยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์ แต่อาจจะทำให้มีการแพร่และติดเชื้อง่ายขึ้น ขณะที่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายอดผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 700 คนต่อวันและมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 10 คนต่อวัน คิดเป็น 1.4% 

ไทยฉีดวัคซีนไปแล้วเท่าไหร่? 

เมื่อพูดถึงการรับมือการระบาดของ โควิด-19 ในห้วงเวลาที่เราไม่สามารถจะปิดเมืองหรือล็อกดาวน์ได้อีกแล้ว วัคซีนเป็นคำตอบสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาคนไทยได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วถึง 82.5% ครอบคลุมประชากร 57 ล้านคน เข็มสอง 77.5% หรือ 53 ล้านคน และเข็มสามขึ้นไปยังฉีดได้ต่ำกว่า 50% คืออยู่ที่ 46.7% หรือครอบคลุมประชากร 32 ล้านคนเท่านั้น

ในขณะที่เมื่อไปดูที่กลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่ 12 ล้านคนแต่ยอดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังต่ำ โดยฉีดเข็มสามไปได้เพียง 43.5% และเข็มสี่ฉีดไปได้เพียง 8.2% เท่านั้น

แผนการจัดหาวัคซีนปี 2566 

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแผนจัดหาวัคซีนโควิดปี 2566 โดยมีกรอบในการจัดหาและบริหารจัดการให้มีวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับกลุ่ม 608 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้าและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมถึงประชาชนทั่วไปตามความสมัครใจ จำนวน 1-2 โดสต่อคน 

โดยให้พิจารณาสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัส และแนวโน้มประสิทธิผลของวัคซีนต่อสายพันธุ์ที่ระบาด และนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเพื่อให้คำแนะนำสำหรับการให้วัคซีนโควิด-19 ในปี 2566 อย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ชนิดของวัคซีน ที่จะใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อรองรับกับโควิดกลายพันธุ์ ตามแผนการจัดหาวัคซีนโควิด 2566 ยังไม่มีการระบุชนิดของวัคซีนที่จะใช้ในประเทศไทย 

ไบวาเลนต์ วัคซีนรุ่นใหม่ ที่ไทยยังไม่มี

จึงมีข้อเสนอจากนักไวรัสวิทยาให้จัดหาวัคซีนที่ได้มีการปรับสูตร เพื่อรองรับสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ ปัจจุบัน ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา ได้มีการพัฒนาวัคซีนออกมาเจน 2 เรียกว่า “ไบวาเลนต์  (Bivalent)”​  สามารถรับมือกับสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ได้พอสมควร

วัคซีนโควิดไบวาเลนต์ ประกอบด้วยส่วนประกอบของไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมเพื่อให้การป้องกัน โควิด-19 ในวงกว้าง และส่วนประกอบของตัวแปร โอมิครอนเพื่อให้การป้องกันจากสายพันธุ์โอมิครอน ที่ดีขึ้น ซึ่งวัคซีนไบวาเลนต์จึงเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น รุ่นล่าสุดในเวลานี้

ขณะที่ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ยังเป็นห่วงตัวเลขผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่สามเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละเพียงประมาณ 3,000 เข็ม ดังนั้นจึงต้องเพิ่มจุดบริการฉีดวัคซีน ขยายเวลา เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเปราะบางมากที่สุด

โดยมองแม้จะเป็นวัคซีนเวอร์ชั่นเก่าไม่ใช่วัคซีนไบวาเลนต์รุ่นใหม่ ที่รับมือกับกลุ่มสายพันธุ์โอมิครอนได้ดีกว่า แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ฉีด

ทั้งนี้กลางเดือนพฤศจิกายน กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้ารณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด19 ไม่น้อยกว่า 2 ล้านโดส ภายในเดือนธันวาคม 2565  แต่ต้องยอมรับว่าภาพรวมการฉีดวัคซีนยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ 


อ้างอิง

https://www.hfocus.org/content/2022/11/26443

https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/getFiles/10/1669624129353.pdf

https://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/1743

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์