COP26 ไทยทำอะไรได้บ้างเพื่อ “ลดภาวะโลกร้อน”

น่าจะเป็นสัญญาณที่ดี สำหรับการประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero จากปากผู้นำนานาประเทศ บนเวที COP26 ณ เมืองกลาสโกว สหราชอาณาจักร

หลายประเทศกำหนดว่าจะบรรลุเป้าหมายให้ได้ภายในปี 2050 ส่วนประเทศไทยขอยืดเวลาไปอีก 15 ปี เป็นปี 2065 (พ.ศ. 2608) หรืออีก 44 ปีข้างหน้า ท่ามกลางความคาดหวังของนักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม ที่ต้องการให้ทุกประเทศเร่งแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติก่อนที่จะสายเกินไป

ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์

นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศว่า ปัจจุบันประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพียงร้อยละ 0.72 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก แต่ประเทศไทยกลับเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบร้ายแรงทางภูมิอากาศมากที่สุด พร้อมย้ำว่า ไทยได้ปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส หรือ paris agreement ที่ได้ตกลงกันไว้ตั้งแต่ 6 ปีก่อนเป็นอย่างดี นั่นคือการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือว่าง่าย ๆ คือ “ความพยายามลดภาวะโลกร้อน” นั่นเอง

สำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (Conference of Parties) หรือ COP26 เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่รัฐบาลของแต่ละประเทศ จะได้ชี้แจงผลลัพธ์ของความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศของตน 

ขณะที่องค์การอุตุนิยมวิทยาแห่งสหประชาชาติ หรือ WMO รายงานว่า ปี 2021 อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้นกว่า 1 องศาในรอบ 20 ปี และระดับน้ำทะเลโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ดังนั้น จึงเป็นความท้าทาย ที่ฝ่ายรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมมองว่าแม้จะมีความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงแล้วก็จริง แต่ดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

เสนอ “ปลดระวางถ่านหิน”

สำหรับความคาดหวังของ กรีนพีซ ประเทศไทย ต่อท่าทีของรัฐบาลไทย คือ การปฏิรูปแผนพลังงาน เนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากสู่ชั้นบรรยากาศ โดยเสนอว่า ควรเร่ิมต้นด้วยการยุติการพึ่งพาเชื้อเพลิงพลังงานฟอสซิล หรือพลังงานจากถ่านหินเป็นอันดับแรก

“ถ่านหิน” เชื้อเพลิงประสิทธิภาพต่ำ

มีการประมาณการว่า หากจะผลิตไฟฟ้าสักหนึ่งหน่วย ด้วยการเผาถ่านหิน นั่นเท่ากับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว 1 กิโลคาร์บอน สูงกว่าการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ เกือบ 1 เท่าตัว และปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าแหล่งพลังงานอื่น ๆ ในแง่ของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม จึงไม่คุ้มค่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น…

ถ่านหิน คือ หินตะกอนชนิดหนึ่งที่เกิดจากการทับถมของซากดึกดำบรรพ์ ทั้งโลหะหนักและคาร์บอนมหาศาล ฝังตัวอยู่ใต้ดิน จะนำถ่านหินขึ้นมาได้ ต้องอาศัยอุตสาหกรรมเหมืองขุดเจาะ จากนั้นก็จะลำเลียงไปยังประเทศคู่ค้า เช่น ทางบกหรือทางเรือ จากนั้นจึงเข้าสู่โรงงานและเข้าสู่กระบวนการเผาไหม้ เพื่อเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลงเคมีอื่น ๆ หรือที่มักเรียกว่า เชื้อเพลิงฟอสซิล ให้ได้พลังงานและเปลี่ยนไปเป็นไฟฟ้าในบ้านเรือนประชาชน แต่พลังงานที่นำมาใช้ได้ คิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของพลังงานที่สูญเสียไประหว่างทาง จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นแนวทางการสร้างพลังงานที่มีประสิทธิภาพต่ำ และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าแหล่งพลังงานอื่น ๆ เกือบเท่าตัว

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหิน 10 แห่งทั่วประเทศ ตั้งอยู่ใน 4 จังหวัดคือ ระยอง (6 แห่ง) ปราจีนบุรี (2 แห่ง) พระนครศรีอยุธยา (1 แห่ง) และอีก 1 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง การดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าเหล่านี้ ทำให้ไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ราว 21-24 ล้านตันต่อปี

”ถ่านหิน” ผลกระทบด้านสุขภาพ

ผลกระทบจากถ่านหินยังทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงด้านสุขภาพมากขึ้น กรีนพีซฯ รายงานว่า แต่ละปี ประชากรไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 1,500 คน จากผลกระทบของถ่านหิน ยังไม่รวมถึงความเสียหายจากสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบพื้นที่อุตสาหกรรมถ่านหินด้วย

รายงาน ระบบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนที่อาศัยในพื้นที่บริเวณโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง ระบุว่า ผลกระทบหลักจากมลพิษทางอากาศ ได้แก่ ฝุ่นละออง ออกไซด์ของไนโตรเจน ก๊าซโอโซน ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบตา ระบบทางเดินหายใจ ระบบผิวหนัง ทั้งยังเกิดมลพิษทางเสียง แรงสั่นสะเทือน

แต่ยังพบว่ามีความพยายามที่จะสำรวจพื้นที่เหมืองถ่านหิน หรือการเสนอสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมในประเทศไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง ข้อเรียกร้องของกรีนพีซฯ จึงอยากให้นายกรัฐมนตรี ประกาศ “ปลดระวางถ่านหิน” ในเวที COP26 ด้วย และเดินหน้าผลักดันพลังงานสะอาดเป็นการทดแทน

น่ายินดีที่ข้อเรียกร้องนี้ เกิดขึ้นแล้วในเวทีผู้นำ G20 ที่เพิ่งจะจบลงไปในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีข้อสรุปว่า ประเทศสมาชิกจะยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเติมภายในประเทศ พร้อมจะจัดตั้งกองทุน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และต่อสู้กับวิกฤตสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โดยจะดำเนินการภายในปี 2023

ก็หวังว่า เป้าหมายเหล่านี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทยบ้าง…ในเร็ววัน


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้