Collective Housing ทางเลือกในการมี “บ้าน”

รัฐบาล”เศรษฐา” ปัดฝุ่นเดินหน้านโยบาย “แก้กฎหมายต่างชาติถือครองที่ดิน” กระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงนักลงทุนเข้าไทย หลังตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซบเซา  ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ชี้ชัดว่ายอดขายอสังหาฯใน กทม.-ปริมณฑล ร่วงลงไป 26.6% (เหลือมากขึ้น ขายได้น้อยลง)

 ขณะที่คนจำนวนมากเริ่มแบกรับ ภาระหนี้ไม่ไหว ‘ทิ้งบ้านที่กำลังผ่อน’ สะท้อนหนี้ครัวเรือนสูง ขณะที่ธุรกิจอสังหามี “บ้าน” แต่ขายไม่ออก ทั้งที่คนไทยจำนวนไม่น้อยยังเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะ “กลุ่มเปราะบาง”

collective housing

ในโลกทุนนิยม “บ้าน” กลายเป็นสินค้า ที่นับวันยิ่งมีมูลค่าสูงเพราะ “ที่ดิน” ตัวแปรหลักมีมูลค่าผกผันตามวันเวลาและการพัฒนา ยิ่งเจริญ ยิ่งยากที่คนจนจะเข้าถึงได้ นโยบายของรัฐบาลหากเดินหน้าโดยไม่คำนึงถึงเรื่องนี้ จะยิ่งซ้ำเติมหรือไม่ เพราะความจริงอีกด้านใม่ได้มีแค่ตัวเลขจีดีพีที่ต่ำลงทุกปีเท่านั้น แต่ชีวิตคนจนอีกไม่น้อย พวกเขากำลังอาศัยอยู่ในห้องเช่าที่ต่ำกว่ามาตรฐาน

บุญเหลือ ทวี วัย 64 ปี เป็นคนต่างจังหวัด เข้ามาทำงานเป็นแม่บ้าน  ย่านซอยกีบหมูนาน  25 ปี ค่าแรงในอดีตเริ่มต้น 300 บาท ปัจจุบันขยับขึ้นมาหน่อยเป็น 500 บาท แต่ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ได้หยิบยื่นโอกาสที่จะทำให้มีเงินใช้จ่ายมากขึ้น เธอบอกว่างานสมัยนี้หายากเพราะเขาไม่จ้างคนแก่ทำงานบ้าน

“เมื่อก่อนได้ 300 แล้วก็มา 500 เขาจ้างให้ทำอะไรก็ทำหมด เช็ดถูล้างห้องน้ำ ทำหมด แต่ว่าตอนนี้เขามีแอปฯอะไรไม่รู้ เขาจ้างกันแบบนั้นหมด เราไม่ค่อยมีงานหรอก เดือนนี้เพิ่งมีงานแค่ 3-4 วันเอง”

ตลอดช่วงชีวิตของการเข้ามาแสวงหาโอกาสในซอยกีบหมู บุญเหลือ อาศัยอยู่ในห้องเช่าย่านนี้มาโดยตลอด ทางเดินเข้าบ้านเป็นไม้กระดาน หากเดินในช่วงกลางวัน อาจจะไม่ลำบากมากนัก แต่หากเป็นช่วงกลางคืนไม่มีไฟส่องสว่าง มีโอกาสที่จะก้าวพลาดเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ๆ   ซึ่งบุญเหลือเคยได้รับบาดเจ็บมาแล้ว

“เดินกลางคืนก็ใช้ไฟจากโทรศัพท์  เดินอยู่ดี ๆ ก็พลาดตกลงไปเลย ชินแล้ว”

บ้านที่บุญเหลือเช่าอยู่ราคา 2,200 บาท มีห้องน้ำในตัว ข้าวของที่จัดวางบ่งบอกสัดส่วนที่เธอใช้สำหรับนอน ทำกิน และห้องน้ำ หลังคามุงด้วยสังกะสี ไม้อัดรอบบ้านไม่มีหน้าต่าง ตอนกลางวันร้อนอบอ้าว มีเพียงลมจากพัดลมเท่านั้นที่ช่วยคลายร้อน สำหรับ บุญเหลือ ชีวิตตัวคนเดียว มีที่ให้ซุกหัวนอน มีคนจ้างทำงานทุกวัน เพียงเท่านี้ก็ดีมากแล้ว

“บางเดือนหาได้พอแค่ค่าเช่าห้อง บางเดือนไม่มีก็ค้างเขาไว้ก่อน ดีที่เราพอคุยกับเจ้าของเขาได้ มีเท่าไหร่ก็ให้ก่อน”

ชีวิตของแรงงานต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในเมืองหลวง มีเรื่องเล่าคล้าย ๆ กัน คือเป็นเพียงแรงงานรับจ้างราคาถูก ไม่มีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยมั่นคง  บางคนมาอาศัยในที่ดินของรัฐ เอกชน อย่างผิดกฎหมาย บางคนไม่มีงานไม่มีเงิน กลายเป็นคนไร้บ้าน อาศัยหลับนอนในพื้นที่สาธารณะ

จากผลสำรวจข้อมูลสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2558 ระบุว่า จำนวนครัวเรือนในประเทศไทย 21.32 ล้านครัวเรือน มีครัวเรือนที่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย 15.45 ล้านครัวเรือน และ ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย 5.87 ล้านครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 27.5 ของจำนวนครัวเรือนทั้งประเทศ

ในปี 2560 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จัดทำ ‘แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)’ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศประมาณ 3 ล้านครัวเรือน  โดยการเคหะแห่งชาติรับผิดชอบดำเนินการประมาณ 2 ล้านครัวเรือน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)  พอช. จำนวน 1,053,702 ครัวเรือน 

“โครงการบ้านมั่นคง” เป็นรูปแบบที่พอช.ใช้เข้ามาพัฒนาที่อยู่อาศัยให้คนจนในชุมชนแออัด ภายใต้ “บ้าน…ที่มากกว่าคำว่าบ้าน” หลักการสำคัญ คือ ชุมชนต้องลุกขึ้นมาจัดการตนเอง หรือที่เรียกว่า การพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน (Collective Housing)

นพพรรณ พรหมศรี กรรมการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เล่าให้เห็นภาพของการทำงานมากยิ่งขึ้น ว่าบ้านที่คนจนร่วมกันสร้างมีหน้าตาแบบไหน และรูปแบบนี้เกิดโครงการที่เป็นรูปธรรมกับกลุ่มคนจนที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นคนจนใน ชุมชนแออัด คนไร้บ้าน และคนจนในห้องเช่า

โดยหลักการของการจัดการตนเองนั้นจะมีหลักใหญ่ที่คล้ายกัน คือ การรวมกลุ่มในรูปแบบของสหกรณ์หรือนิติบุคคล เช่าซื้อที่ดินอย่างถูกกฎหมาย และออกแบบชุมชนที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจครอบคลุมมิติทั้งสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยจะมีพอช. สนับสนุนงบประมาณบางส่วน รวมถึงองค์ความรู้ตลอดจนการเชื่อมโยงกับกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ 

ผลการดำเนินงาน นับตั้งแต่ปี 2546 –  มีนาคม 2567 จำนวน 133,382 ครัวเรือน จากจำนวนเป้าหมายตามแผนแม่บท 20 ปี จำนวน 690,000 ครัวเรือน

นพพรรณ ระบุว่า แม้สัดส่วนของการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของคนจนจะยังมีน้อยกว่าความเป็นจริง แต่หลายเรื่องมีความก้าวหน้า เช่น มีชุมชนริมทางรถไฟกว่า 300 ชุมชน 20,000 กว่าครัวเรือนที่ได้รับการสำรวจข้อมูลชัดเจนและกำลังเดินหน้าในการเช่าที่อย่างถูกกฎหมายและจะใช้กระบวนการเดียวกันนี้เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยให้พวกเขามีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีหลายชุมชนที่ดำเนินการอย่างเข้มแข็ง สามารถเข้าถึงโอกาสในการสร้างเนื้อสร้างตัวก้าวพ้นจากความจนได้

ปัจจุบันการจัดการที่อยู่อาศัยโดยชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของพอช.ในรูปแบบบ้านมั่นคง ทำงานเห็นเป็นรูปธรรมแล้วผ่าน 3 กลุ่ม คือ ชุมชนแออัด,ริมคลองและริมราง, คนไร้บ้าน และกลุ่มคนเช่าบ้าน โดยขณะนี้การดำเนินโครงการบ้านเช่าราคาถูกให้แรงงานในซอยกีบหมู ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมคนซึ่งจะมีความยากมากกว่าลักษณะของกลุ่มอื่น ๆ ขณะที่กลุ่มคนไร้บ้านดำเนินโครงการต้นแบบไปแล้วใน 4 พื้นที่ ได้แก่ ขอนแก่น ปทุมธานี เชียงใหม่ และหัวลำโพง กทม.

ต้นแบบ Collective Housing บ้านเหนือ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

ที่ดิน สปก.ติดเขา อากาศดีตลอดทั้งปีในอ.ปากช่อง เนื้อที่ 1,024 ไร่ ถูกจัดสรรให้ชาวบ้าน ที่ไร้ที่ดินทำกิน จำนวน 85 ครัวเรือน  ปรเมศร์ เจริญจิรัญเกียรติ ชาวบ้านเหนือ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา คือ 1 ในคนที่ได้รับจัดสรรที่ดิน เขาเล่าว่าตอนที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ใหม่ ๆ ไม่รู้จักใครมาก่อน ไม่เคยทำเกษตร มีอาชีพรับจ้างทั่วไป เมื่อเห็นสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นดินหินยากแก่การเพาะปลูก เริ่มกังวลว่าจะทำเกษตรได้หรือไม่ แต่ก็ตัดสินใจเดินหน้าต่อ เพราะเงื่อนไขบังคับไว้ว่า ผู้ที่ได้รับจัดสรรที่ดิน สปก.ต้องทำเกษตรเท่านั้น

นิรันดร์ สมพงษ์ ประธานสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินปากช่อง (คทช.) เล่าย้อนให้ฟังถึงกระบวนการจัดตั้งชุมชนในช่วงแรก ๆ ว่า ชาวบ้าน 85 ครัวเรือน ล้วนมาจากคนละทิศคนละทาง แต่ทุกคนมีต้นทุนคล้ายกัน คือการเป็นคนไร้ที่ทำกิน และมีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น เขาจึงตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะพลิกฟื้นที่ดินผืนนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพไหนให้กลายเป็นแผ่นดินทองคำให้ได้

ผมเหยียบผืนดินครั้งแรก ผมเอาดินใส่หัวแล้วพูดว่า ช่วยผมด้วย ผมจะทำให้ที่นี่กลายเป็นแผ่นดินทองเพื่อทุกคน”

ความตั้งใจบวกกับความรู้ความสามารถของ นิรันดร์ ฉายให้เห็นแววผู้นำชุมชน หลังเขาได้รับเลือก ก็เดินหน้าแบ่งบทบาทให้ทุกคนมีหน้าที่ในฐานะประธานทุกคน เริ่มจากการจัดสรรการใช้ประโยชน์ที่ดิน เขาไม่ใช้วิธีการจับฉลากวัดดวงสำหรับลงหลักปักฐาน แต่สอบถามความเห็นว่าคนในชุมชนต้องการจะทำอะไร และให้ทุกคนมีโอกาสในการเลือกว่าจะปลูกบ้านใกล้ใคร แก้ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้ง หลังจากนั้นก็เริ่มจัดโซนพื้นโดยแบ่งเป็นที่อยู่อาศัยและเกษตร โซนเลี้ยงปศุสัตว์ และโซนที่ดินทำกิน

สำหรับพื้นที่บ้านและเกษตร 1 ไร่ ใช้ปลูกบ้าน โดยตั้งธรรมนูญชุมชน ห้ามใช้สารเคมีทุกชนิดในบริเวณนี้ หากจะทำเกษตรต้องเป็นอินทรีพย์เท่านั้น และต้องเป็นเขตปลอดขยะ ส่วนที่ดินทำกิน 5 ไร่ จะอยู่ห่างออกจากตัวบ้าน ธรรมนูญชุมชนอนุญาตให้ทำเกษตรตามมาตรฐาน GAP

“ตอนที่เริ่มทำ ไม่มีใครเชื่อว่าจะปลูกอะไรขึ้น เราก็ลองให้คนในชุมชนทดลองปลูกกันทุกอย่างเพื่อดูว่าดินเราเหมาะกับพืชชนิดไหน ส่งคนไปเรียนหมอดิน กลับมาถ่ายทอดให้กัน จนทุกวันนี้เรามีพืชที่ทำรายได้ให้เราตลอดทั้งปี”

ณัฐพงษ์ พหลโสภาพันธ์ ชาวบ้านเหนือ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เล่าว่าเขามีรายได้จากการปลูกพืชสวนครัว สวนผลไม้และข้าวโพด หากคิดเฉลี่ยต่อเดือน มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท

“ในสวนของผมมีลูกค้าจองไว้หมด แทบไม่พอขาย เขาจะมารับเอง มาถึงสวนมาตัดเอง บางส่วนที่ไม่ค่อยสวยก็เก็บไว้กินเอง”

การใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้หลักการ แต่ชุมชนคิดวางแผนผ่านยุทธศาสตร์ 8 ปี โดยในช่วง 1-2 ปีแรก เป็นการเรียนรู้ถอดบทเรียน เข้าสู่ปีที่ 2-3 ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ปี 3-4 ลงทุนลงแรง ปี 4-5 คืนทุน ปี 5-6 ปลดหนี้ และปีที่ 7-8 อยู่ตัว สมดุล ยั่งยืน

“เราคิดมาแล้วว่าจะต้องทำเกษตรแบบผสมผสาน ที่ชาวบ้านจะสามารถเก็บผลผลิตและมีรายได้ทั้งแบบรายวัน รายเดือน และรายปี อาหารยังมีความปลอดภัย เป็นความมั่นคงในครัวเรือนที่ชุมชนสามารถหาทานได้เองตลอดทั้งปี”

การจัดการชุมชนภายใต้รูปแบบบ้านมั่นคง ที่ชาวบ้านเหนือ.อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ทำนั้น ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบของประเทศที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกพื้นที่จะสามารถทำได้สำเร็จเหมือนกับที่นี่

สมสุข บุญญะบัญชา ประธานอนุกรรมการบ้านมั่นคง และประธานมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเชีย  บอกว่า การพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน (Collective Housing)  ซึ่งมีคนเป็นหลัก เป็นตัวตั้ง จัดวิธีบริหารที่มีประสิทธิภาพ ด้วยวิธีคิดสมัยใหม่ เกิดความสามารถเชื่อมโยงกันไปเป็นระบบชุมชนที่จัดการแบบชาวบ้าน ท้าทายเพราะสภาพสังคมไทยคุ้นชินอำนาจแบบบนลงล่าง Collective Housing จึงถือเป็นศาสตร์ใหม่ และสิ่งที่เราทำไม่ใช่แค่พยุง แต่ต้องเกิดอาชีพ รายได้ คิดค้น สร้างนวัตกรรม ได้ผลผลิตที่ต้องสู้กับโลกสมัยใหม่ได้ โดยใช้ทุนสังคมที่เรามี รูปแบบนี้ส่งเสริมประชาธิปไตยแบบฐานรากด้วย เพราะทุกกระบวนการคือทุกคนเท่าเทียมมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

“ยอมรับว่ารูปแบบนี้ค่อย ๆ เติบโตอย่างช้า ๆ เพราะการจัดการขับเคลื่อนด้วยผู้คน หากไม่ได้คนที่มีพลังมีความรู้ก็ยาก เรายังอยากได้คนจนที่เป็นตัวตั้งเป็นพลังอีกมาก”

สมสุข  มองเห็นโอกาสของการพัฒนาในรูปแบบนี้ด้วยการปรับความรู้ความเข้าใจของคนทำงานทั้ง ภาคประชาสังคม รัฐ  พัฒนาความรู้ให้มากขึ้น โดยเชื่อว่าพลังของคนจนพร้อมจะเปลี่ยนแปลง แต่เขาแค่ไม่รู้ว่าจะรวมตัวกันอย่างไร ทั้งเรื่องการจัดการเงิน ที่อยู่อาศัย และควรได้รับการสนับสนุนจากภาคนโยบาย แต่หากรอนโยบายอีกหลายเรื่องอาจจะยังไม่เกิด จึงเชื่อว่าทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการลุกขึ้นมาจัดการด้วยตนเองเท่าที่กำลังเรามี 

“ระบบประเทศเราตึงมาก ท้องถิ่นก็ตึงมาก ไม่มีความยืดหยุ่น ท้องถิ่น กทม. มีโครงการเยอะแต่ติดเงิน บ้านเราขาดการสร้างรูปแบบวิธีคิด มีข้อจำกัดมาก แต่เราไม่ต้องรอให้กฎเกณฑ์พร้อมแล้วค่อยเดินหน้า แต่ควรทำเท่าที่เราทำได้ บ้านมั่นคง เริ่มจากปัญหาไล่ที่ ที่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร เงินก็ไม่มี แต่พอเริ่มเกิดโครงการ เห็นอะไรใหม่ ๆ เราก็ชวนหน่วยงานไปดู เรียนวิธีใหม่ เรียนรู้ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ สร้างจากความเป็นจริงที่เรามีให้เป็นไปได้ จากเล็กไปใหญ่”

ในยุคที่ “บ้าน”กลายเป็นสินค้าแสนแพง จำเป็นต้องมีนโยบายเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึง “บ้าน” ได้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนจนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชนชั้นกลางด้วย ทรัพยากรที่ยังมีอยู่ในมือของรัฐ อย่าง “ที่ดิน” จำเป็นต้องอาศัยความจริงจังในการดำเนินนโยบายกระจาย จัดสรรและใช้มาตรการภาษี ฯลฯ รวมถึงสนับสนุนแนวคิดอื่นๆ ที่ตีความ“บ้าน” ไม่ใช่เพียงแค่สินค้าเท่านั้น แต่เป็นปัจจัยพื้นฐาน เป็นโอกาสแรกของการยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกมิติ

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล