3.3 หมื่นล้าน “เยียวยาด้านการศึกษา” ใครได้อะไรบ้าง ?

The Active พาไปดูว่าภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 มีใครเข้าเกณฑ์ได้รับสิทธิพิเศษ กับแพ็กเกจ “การศึกษาสู้วิกฤตโควิด-19” จากรัฐบาลกันบ้าง 

หลายแพ็กเกจได้มาจากข้อเสนอของผู้ได้รับผลกระทบในห้วงเวลาที่ผ่านมา ตอกย้ำความสำคัญ เสียงของประชาชนมีความหมายให้กลายเป็นนโยบายตอบรับ

[1] ระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ทั้งประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

“นักเรียน” ได้รับเงินคนละ 2,000 บาท สำหรับแบ่งเบาภาระค่าธรรมเนียมการเรียน ค่าบำรุงการศึกษา ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าไฟฟ้า ฯลฯ โดยสถานศึกษาจะจ่ายตรงให้นักเรียน หรือผู้ปกครอง ในรูปแบบเงินสด หรือนำเข้าบัญชีธนาคาร

“ผู้ปกครอง” ได้รับส่วนลด หรือ ตรึงค่าใช้จ่าย ที่ถูกเรียกเก็บจากโรงเรียนเอกชนที่ไม่รับการอุดหนุนจากรัฐ และกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ ในอัตราเท่ากับปีการศึกษา 2563 (รัฐบาลขอความร่วมมือจากโรงเรียน ไม่ได้บังคับ)

“ครูผู้สอน และสถานศึกษา” ได้รับการปลดล็อกระเบียบการใช้งบประมาณรายหัว ตามนโยบายเรียนฟรี 5 รายการ ได้แก่ ค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้สามารถถัวจ่ายสำหรับจัดการเรียนรู้สอดรับสถานการณ์โควิด-19 และจะได้รับงบฯ เพิ่มเติม สำหรับแก้ปัญหาความรู้ที่ขาดหาย (Learning Loss) เพื่อจัดหาอุปกรณ์ ทำสื่อการสอน ใบงาน แบบฝึกหัด ซื้อชั่วโมงอินเทอร์เน็ต ฯลฯ ตามสภาพปัญหา

นอกจากนี้ กสทช. ประกาศสนับสนุนแพ็กเกจอินเทอร์เน็ต วงเงิน 1,200 ล้านบาท แบ่งเป็น สนับสนุน “อินเทอร์เน็ตมือถือ” ให้ใช้งานไม่จำกัด สำหรับแอปพลิเคชัน Microsoft Teams, Google Meet, Zoom, Cisco Meeting, Webex และ Line Chat ส่วน “อินเทอร์เน็ตบ้าน” จะสนับสนุนค่าอินเทอร์เน็ตให้เดือนละ 79 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จำนวน 2 รอบบิล โดยให้โรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนออนไลน์ ทำรายชื่อนักเรียนและเครือข่ายที่ใช้เรียน ทั้งอินเทอร์เน็ตมือถือและอินเทอร์เน็ตบ้าน เพื่อรับการสนับสนุน

[2] นิสิตนักศึกษาไทย ระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

“สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ” ได้รับส่วนลดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา แบ่งสัดส่วนดังนี้

  • ไม่เกิน 50,000 บาท ลด 50%
  • 50,001 – 100,000 บาท ลด 30%
  • เกิน 100,000 บาท ลด 10%

โดยรัฐบาลจะร่วมจ่ายกับสถาบันอุดมศึกษาในอัตรา 6:4 ของส่วนลด

“สถาบันอุดมศึกษาเอกชน” ได้รับเงินคนละ 5,000 บาท สำหรับแบ่งเบาภาระค่าเล่าเรียน โดยรัฐบาลขอความร่วมมือให้แต่ละสถาบันพิจารณาลดค่าเล่าเรียน หรือช่วยสนับสนุนมาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ขยายเวลาผ่อนชำระ จัดหาอุปกรณ์เรียนออนไลน์ ลดค่าหอพัก

ทั้งหมดนี้ เป็นมาตรการ “ลดค่าใช้จ่ายทางการศึกษา” ตามมติ ครม. วันที่ 27 ก.ค. 2564 รวมงบประมาณ 33,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกระทรวงศึกษาธิการ 23,000 ล้านบาท กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 10,000 ล้านบาท โดยจะเร่งจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับสนับสนุนแหล่งเงินตามขั้นตอนของ “พ.ร.ก. กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564” ยังไม่ระบุวันช่วยเหลือที่ชัดเจน


อ้างอิง

https://www.facebook.com/154553218343826/posts/1223958348069969/

https://www.facebook.com/454636668365287/posts/1148544958974451/

https://www.facebook.com/145793628809398/posts/4126461250742596/

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์