6 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. โชว์วิสัยทัศน์ “ปัญหาขยะล้นเมือง” ไม่ถูกเท

แยกขยะไปก็เท่านั้น สุดท้าย “รถขยะ” ก็เทรวมกันอยู่ดี…

เหตุผลจาก “คนกรุงเทพฯ” ที่ไทยพีบีเอสร่วมกับภาคประชาสังคมกว่า 70 องค์กรในนาม “เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ” จัดกิจกรรมเชิญผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มาร่วมโชว์วิสัยทัศน์ ว่าจะทำอย่างไรให้กรุงเทพฯ เป็น “เมืองน่าอยู่” ภายใต้คำถาม “การจัดการขยะในเมืองใหญ่ จะมีนโยบายลดการสร้างและแยกขยะตั้งแต่ต้นทางในเชิงระบบอย่างไร”

สุจิตรา วาสนาดำรงดี จากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ เปิดคำถามที่ได้จากการฟังเสียงประชาชนซึ่งระบุว่า ปัจจุบัน “กรุงเทพมหานคร” ใช้งบประมาณบริหารระบบกำจัดขยะปีละกว่า 7,000 ล้านบาท แต่จัดเก็บค่าธรรมเนียมได้เพียงปีละ 500 ล้านบาท และส่วนใหญ่ก็เน้นเก็บเพื่อนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบและการเผา ไม่เกิดการลงทุนสร้างระบบรองรับการคัดแยกขยะที่ต้นทาง

ขณะที่การทำงาน ยังเน้นรณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิงแคมเปญทำให้เป้าหมายลดขยะไม่บรรลุผล ซ้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านมา

เมืองน่าอยู่ ขยะ

The Active ชวนสำรวจนโยบาย 5 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่มาร่วมโชว์วิสัยทัศน์ “ปลุกกรุงเทพฯ เปลี่ยนเมืองใหญ่” ในงาน Bangkok Active ฟังเสียงกรุงเทพฯ ครั้งที่ 1 ซึ่งให้คำตอบถึงแนวทางจัดการขยะกับประชาชนที่เฝ้ารอ เลือกตั้งผู้ว่าฯ65


วิโรจน์ ลักขณาอดิศร หมายเลข 1

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 1 พรรคก้าวไกล มองปัญหาขยะล้นเมืองไปที่ต้นเหตุ เขาบอกว่า “กว่า 50% ของขยะสด เกิดจากห้างสรรพสินค้าและธุรกิจค้าปลีก” ขณะที่ขยะใน 2.4 ล้านครัวเรือนเป็นเพียงส่วนน้อย แต่ที่ผ่านมาไม่มีผู้ว่าฯ กทม. คนไหนมีนโยบายแตะนายทุน

“ค่าธรรมเนียมในการจัดการขยะ กทม. ไม่เป็นธรรม แต่ละเดือนห้างสรรพสินค้าสร้างขยะเป็นตัน ๆ เสียค่าจัดการให้ กทม. เพียง 2-4 หมื่นบาท แล้วรถขยะ กทม. ต้องไปเก็บให้ทุกวัน ภายใต้เงื่อนไขแบบนี้นายทุนใหญ่ ๆ จะมีแรงจูงใจอะไรมาช่วยเมืองนี้คัดแยกขยะ”

วิโรจน์ ประกาศนโยบาย “แก้ข้อบัญญัติค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะ” เพื่อสร้างแรงจูงใจในการคัดแยกประเภทขยะที่ต้นทาง จากนั้นจะบริหารจัดการค่าธรรมเนียมที่ได้รับเพิ่มจากภาคธุรกิจมาพัฒนาระบบจัดการขยะในภาคครัวเรือน โดยปรับปรุงความถี่ในการจัดเก็บขยะให้ได้รับการดูแลดีขึ้น

ด้านระบบบริหารจัดการขยะที่ปลายทาง วิโรจน์ ประกาศ “สะสางระบบกำจัดขยะใหม่” สร้างระบบเผาประสิทธิภาพสูง ใช้เทคโนโลยีให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน เพื่อตัดวงจรจ่ายค่าฝังกลบขยะให้กับนายทุนที่เป็นภาระงบประมาณ

“เราดูการจัดการขยะของโรงกำจัดขยะอ่อนนุชและหนองแขม ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนที่ไหน เทคโนโลยีเหล่านี้ดีมาทั่วโลกแต่มาล้มเหลวที่ กทม. ผมตั้งคำถามว่านี่คือความจงใจล้มเหลวหรือเปล่า เอามาเป็นเหตุผลในการเอาขยะกองมหึมาไปฝังกลบกับนายทุนบ่อขยะและสร้างปัญหาให้กับจังหวัดข้างเคียง กทม. ยังต้องเอาเงินภาษีไปจ่ายให้กับนายทุนเหล่านี้อีกตันละ 800 บาท ผมว่าเรื่องนี้ต้องถูกสะสางทั้งหมด ให้เมือง ๆ นี้เป็นเมืองน่าอยู่และเป็นเมืองที่คนเท่ากัน”


สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หมายเลข 4

“ปฏิรูประบบจัดเก็บขยะ” เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศจะเก็บให้ถึง เก็บให้ถี่ และปรับข้อบัญญัติใหม่ เขาอธิบายถึงต้นเหตุขยะล้นเมืองด้วยการฉายภาพบริบทพื้นที่ใน กทม. ว่ามีหลายรูปแบบ เช่น ตรอกซอกซอย ขณะที่รถเก็บขยะส่วนใหญ่มีขนาด 5 ตัน กับ 3 ตัน ทำให้บางพื้นที่ต้องจอดรถเก็บขยะบนถนน แล้วพนักงานเข้าไปลากถังขยะออกมา จึงขอเสนอนโยบาย “ลดไซซ์รถเก็บขยะแต่เพิ่มจำนวนและความถี่”

“นโยบายของผมคือรถเก็บขยะมีขนาดเหมาะกับพื้นที่เหมือนต่างประเทศที่มีรถขนาด 1 ตัน และครึ่งตัน ทำให้สามารถเข้าถึงซอยได้ วันนี้ กทม. เช่ารถเก็บขยะอยู่แล้วเป็นเรื่องดี แต่ต้องเหมาะกับพื้นที่จะได้เข้าไปเก็บได้ถี่มากขึ้น”

“แก้ข้อบัญญัติให้ทุกหมู่บ้านมีจุดรวมขยะ” คืออีกนโยบายของ สุชัชวีร์ ซึ่งพบว่าหลายเขตมีรถเก็บขยะไม่เพียงพอ รวมถึงจำนวนพนักงานไม่สอดคล้องกับปัญหา เขาพบว่าหลายหมู่บ้านใช้รถเก็บขยะขนาด 3 ตัน เข้าไปเก็บทีละบ้าน เขาจึงจะนำตัวอย่างของเทศบาลนนทบุรีที่มีข้อบัญญัติว่า ทุกหมู่บ้านโดยเฉพาะหมู่บ้านสร้างใหม่ต้องมีจุดรวมขยะ เพราะเมื่อมีศูนย์รวมขยะ รถเก็บขยะ กทม. จะสามารถไปเก็บขยะได้ถี่มากขึ้น

“กทม. ล้าหลัง ไม่ทันเทศบาลนนทบุรี ข้อบัญญัติ กทม. ไม่ชัดเท่านนทบุรีที่เขียนไว้ว่าทุกหมู่บ้านโดยเฉพาะหมู่บ้านที่สร้างใหม่ต้องมีจุดรวมขยะ นโยบายที่ชัดเจนของผมคือ รถขยะต้องมีมากขึ้น คนเก็บต้องมีมากขึ้น รถขยะมีขนาดเหมาะสมกับพื้นที่ และจะปลูกฝังความรับผิดชอบคัดแยกขยะในโรงเรียนสังกัด กทม.”


วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ หมายเลข 5

นำความสำเร็จ “ไต้หวันโมเดล” มาใช้ คือนโยบายของ วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 5 ในนามอิสระ เขาจะสร้างระบบบริหารจัดการขยะด้วยวิธี “แบ่งเวลาเก็บขยะ” โดยกำหนดเส้นทางรถขยะดังนี้ ช่วงเช้าเก็บขยะครัวเรือนโดยไม่อนุญาตให้ประชาชนนำถุงขยะมากองบนทางเท้า ส่วนช่วงบ่ายถึงเย็นเป็นช่วงเวลาเก็บขยะย่านการค้า การท่องเที่ยว

“ทุกเช้าก่อนออกจากบ้านไปทำงานทุกคนจะนำขยะมาทิ้ง ไม่มีการกองขยะไว้บนฟุตบาท เนื่องจากจะมีสัตว์ไปคุ้ยเขี้ย ขยะปลิวตันท่อระบายน้ำ แนวทางนี้จะขอประชาชนให้ความร่วมมือ เราแบ่งเวลาให้รถขยะวิ่งไปรับ เราจะไปรับกันเองจริง ๆ จะไม่มีการกองขยะเอาไว้ อันนี้คือไต้หวันโมเดลในการแบ่งเวลาทิ้งขยะ”

อีกหนึ่งนโยบายของ วีรชัย คือ “รถขยะแบ่งสี” แยกประเภทรถขยะเพื่อแก้ปัญเทรวม โดยรถขยะทั่วไปจะจัดให้มี 3 ถังย่อย เช่น ถังกระดาษทิชชู ถุงน้ำจิ้ม ถุงพลาสติก, ถังขยะเศษอาหาร นำไปทำอาหารสัตว์, ถังเก็บขยะสด ทำปุ๋ยชีวภาพ เป็นต้น วีรชัย ยังประกาศนโยบาย “เก็บค่าธรรมเนียมตามการทิ้งจริง” ด้วย

“ใครทิ้งเยอะก็ต้องจ่ายเยอะ ทุกคนจะเท่าเทียมกัน ถามว่าตรงนี้เกินจริงไหม ผมตอบเลยว่าไม่ เราสามารถจะเข้าไปค้น Google ได้ว่าไต้หวันโมเดลเป็นอย่างไร ทุกคนช่วยกันทำ Smart city ต้องมี Smart people อย่าผลักภาระคนกรุงเทพฯ ให้พนักงานเก็บขยะ”


รสนา โตสิตระกูล หมายเลข 7

“สร้างแรงจูงใจประชาชน” คือนโยบายที่ รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 7 ในนามอิสระ ประกาศแนวทางเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนทิ้งขยะผ่านหลายมาตรการ เริ่มที่ “โครงการขยะเปียกแลกแก๊สหุงต้ม” สนับสนุนประชาชนแยกขยะรับผลตอบแทน เช่น หากมีขยะเปียกให้ กทม. นำไปทำปุ๋ยหมักหรือก๊าซชีวภาพ 40 กิโลกรัมต่อเดือน จะได้รับแก๊สหุงต้มหนึ่งถัง

อีกหนึ่งโครงการส่งเสริมคัดแยกขยะที่ต้นทาง คือ สนับสนุนทุกหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม อะพาร์ตเมนต์ ให้มี “ธนาคารขยะรีไซเคิล” เพื่อแลกขยะเป็นเงิน ขณะที่ด้านการกำจัดขยะทั่วไป รสนา เสนอนโยบาย “เผาในระบบปิดถูกต้อง” ป้องกันมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม

“ไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเล นี่เป็นปัญหาร้ายแรงอันดับ 2 ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ดิฉันคิดว่าในกระบวนการจัดเก็บต้องเฝ้าระวังไม่ให้ขยะลงแม่น้ำ คลอง ท่อระบายน้ำ จะมีมาตรการหลาย ๆ อย่างให้คนที่อยู่ในเมืองกรุงมีการแยกขยะจากต้นทางจริง ๆ”

“บริหารรายได้จัดการขยะจัดสรรสวัสดิการสังคม” เป็นอีกนโยบายที่ รสนา เชื่อว่าหากมีระบบกำจัดขยะต้นทางที่มีประสิทธิภาพ ค่าใช้จ่ายจัดการขยะ กทม. ปีละ 7,000 ล้านบาทจะลดลงให้สามารถนำส่วนต่างมาจัดสวัสดิการสังคมให้กับประชาชนมากขึ้น

“ดิฉันพูดเสมอว่าเราสามารถทำบำนาญประชาชนเดือนละ 3,000 บาทได้ เริ่มที่ กทม. ดิฉันจะทำให้การจัดการขยะมีความประหยัด ใช้งบประมาณเต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่รั่วไหล มีงบประมาณมาจัดสวัสดิการให้ชาว กทม. มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น”


น.ต. ศิธา ทิวารี หมายเลข 11

น.ต. ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย มุ่งเน้นนโยบาย “Reuse Reduce Recycle หรือ ลดปริมาณขยะ นำมาใช้ซ้ำ และนำมาใช้ใหม่” โดยจะปรับเทคโนโลยีการเผาขยะด้วยความร้อนสูงแบบอินซีนสโตรกเกอร์ไทด์ มาสู่เทคโนโลยี Waste to Energy หรือการผลิตพลังงานจากขยะ

น.ต. ศิธา บอกว่า การกำจัดขยะด้วยการเผาแบบอินซีนสโตรกเกอร์ไทด์เป็นรูปแบบที่ล้าหลังไปแล้ว หลายประเทศเลิก ขณะที่ไทยยังมีการก่อสร้างโรงเผาขยะระบบนี้ซึ่งเป็นระบบที่ก่อมลภาวะส่งผลโลกร้อน ส่วนการฝังกลบ เขามองว่าควรทำเท่าที่จำเป็น เพราะเสี่ยงเกิดสารพิษกระจายสู่สิ่งแวดล้อม

“ญี่ปุ่นใช้การเผาแต่ว่าการเผาของเขามีการคัดแยกขยะก่อน เตาเผาระบบอินซีนสโตรกเกอร์ไทด์ ถ้าขยะผสมกันจะสร้างมลภาวะมาก เราต้องใช้ลักษณะ Waste to Energy นำขยะไปหมักเป็นแก๊สอย่างที่คุณรสนาบอก”

น.ต. ศิธา สนับสนุน “ไต้หวันโมเดล” และ “ญี่ปุ่นโมเดล” คือไม่เน้นการเผาแต่เน้นระบบคัดแยกประเภทขยะที่ต้นทาง โดยเขาจะส่งเสริมให้ปลูกฝังเรื่องนี้ผ่านการศึกษาในโรงเรียน

“ทั่วโลกสามารถนำพลาสติกกลับมาใช้เฉลี่ย 14% แต่ไทยทำได้แค่ 9% ส่วนญี่ปุ่นเมื่อสามารถคัดแยกขยะได้อย่างดี เขาสามารถนำวัสดุใช้แล้วกลับมาหมุนเวียนได้ถึง 40%”


อุเทน ชาติภิญโญ หมายเลข 17

เมื่อถามถึงการบริหารจัดการขยะ อุเทน ชาติภิญโญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 17 ในนามอิสระ ประกาศใช้ “รถขยะจัดเก็บตามประเภท” เปลี่ยนความรู้สึกประชาชนที่บอกว่า “แยกขยะไปก็เท่านั้น สุดท้ายรถขยะก็เทรวมกันอยู่ดี” โดยจะนำตัวอย่างความสำเร็จจากประสบการณ์ที่พบเห็นในประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันมาปรับใช้

“หลักการของไต้หวันยังให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทุกคนต้องเอาขยะใส่ถุงขยะที่เป็นของเมืองนั้น ๆ ถุงขยะที่ชาวบ้านใช้ใส่ขยะต้องจ่ายเงิน ถ้าประชาชนอยากประหยัดก็จะลดปริมาณขยะ ผมเห็นดีด้วยอย่างยิ่ง”

อุเทน ยังได้ประกาศนโยบาย “ยกเลิกฝังกลบ สร้างระบบเผาประสิทธิภาพสูง” เพื่อรองรับขยะปลายทาง เขามองว่าหากแยกประเภทขยะได้ วิธีกำจัดด้วยการเผาจะส่งผลเสียด้านมลพิษน้อยกว่า

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม