โรงเรียนสังกัด กทม. ความหวังก้าวพ้น ‘มหานครเหลื่อมล้ำ’ ได้จริงหรือไม่ ?

สำรวจ…การอุดหนุนค่าใช้จ่ายการศึกษา และงบประมาณภาครัฐ

“นโยบายเรียนฟรี 15 ปี” รัฐอุดหนุนครอบคลุม อนุบาล-มัธยมศึกษาตอนปลาย แต่ทำไมยังเห็นเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา สาเหตุหนึ่งมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะครอบครัวที่ยากจน ตอกย้ำว่า เงินอุดหนุนรายหัวที่รัฐบาลจัดสรรไม่เพียงพอ ต่อสถานการณ์ความเป็นจริง แต่ละครอบครัวต้องเผชิญภาระค่าใช้จ่าย และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น

แม้ล่าสุด ครม.จะมีมติ ปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวตามความจำเป็นพื้นฐาน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้เรียนตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แบบขั้นบันได 4 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปี 2566-2569 ปีละกว่า 2,000 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะเป็น “นโยบายเรียนฟรี” อย่างแท้จริง

โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนกรุงเทพฯ ต้องจ่ายค่าอุปโภคบริโภคต่อครัวเรือนเฉลี่ย 13,738 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายดังกล่าวสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ 1.5 เท่า และมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของพื้นที่อื่นทั่ประเทศถึงสองเท่า

ซ้ำเติมด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำที่พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของเด็กที่มาจากครัวเรือนยากจน 10% ล่างสุดของกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ 6,600 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่เด็กที่มาจากครัวเรือนที่รวยที่สุด 10% แรกของกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่สูงถึง 78,200 บาทต่อคนต่อปี ตัวเลขห่างกันถึง 12 เท่า

The Active รวบรวมข้อมูลจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. และสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร เพื่อสำรวจดูว่า นักเรียนแต่ละคนได้รับงบประมาณจากการศึกษาไทยเท่าไหร่

นโยบายเรียนฟรี 15 ปี “อนุบาล-ม.ปลาย” ได้รับเงินอุดหนุน 5 รายการ

ค่าชุดนักเรียน 300-450 บาท/คน/ปี
ค่าอุปกรณ์การเรียน 200-420 บาท/คน/ปี
ค่าหนังสือเรียน 200-969 บาท/คน/ปี
ค่าจัดการเรียนการสอน 1,700-3,800 บาท/คน/ปี
ค่าจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 430-950 บาท/คน/ปี

รัฐอุดหนุนเฉพาะกลุ่มสำหรับนักเรียน และโรงเรียนที่มีความต้องการพิเศษ

โรงเรียนขนาดเล็ก
ประถมศึกษา น้อยกว่า 120 คน 500 บาท/คน/ปี
มัธยมศึกษา น้อยกว่า 300 คน 1,000 บาท/คน/ปี

ปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.), กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.), กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.), กรุงเทพมหานคร (กทม.)
ประถมศึกษา 1,000 บาท
มัธยมศึกษาตอนต้น 3,000 บาท
(ยังไม่ครอบคลุม ระดับอนุบาล กับ มัธยมปลาย)

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
อนุบาล – มัธยมตอนต้น 3,000 บาท

ทำความรู้จัก โรงเรียนในสังกัด กทม. โรงเรียนแห่งความหวัง?

นักเรียนในสังกัด กทม. ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลผ่านสำนักการศึกษา กทม. แต่มีส่วนที่เพิ่มมา จากงบประมาณของ กทม. ทำให้นักเรียนในสังกัด กทม. ได้รับเงินอุดหนุนที่มากกว่า โรงเรียนสังกัดอื่นในพื้นที่ กทม. ตัวอย่างเช่น ค่าอาหารกลางเช้า (รัฐไม่อุดหนุน), ค่าอาหารกลางวันเพิ่มให้อีกคนละ 4 บาท , ค่าประกันอุบัติเหตุ และค่าเครื่องแบบพิเศษ ฯลฯ

ขณะที่สวัสดิการ-รายจ่ายด้านบุคลากรการศึกษา จะถูกรวมไว้ในเงินอุดหนุนจากรัฐบาลผ่านสำนักการศึกษา กทม.

โรงเรียนในสังกัด กทม. ถูกเปรียบว่าเป็นโรงเรียนแห่งความหวังของสวัสดิการครู และนักเรียน แต่ด้วยความเป็นโรงเรียนในเขตปกครองพิเศษ ทำให้โรงเรียนในสังกัด กทม. ยังไม่มีฐานข้อมูลสำรวจเด็กยากจน และเด็กหลุดระบบการศึกษา ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่จะต่อยอดไปถึงการของบประมาณให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

ขณะเดียวกัน กทม. ก็ยังเป็นพื้นที่แห่งความหลากหลาย มีนักเรียนตั้งแต่รวยสุด-ยากจนที่สุด เพราะต้องยอมรับว่า โรงเรียนในพื้นที่ กทม. มีทั้งสังกัดของ สพฐ. ที่ขึ้นอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ และ สังกัด กทม. อยู่ในความดูแลของแต่ละสำนักงานเขต การบูรณาความร่วมมือ เพื่อให้โรงเรียนในสังกัด กทม.มีมาตรฐานที่เท่าเทียม-เสมอภาค จึงยังคงเป็นโจทย์ยากระหว่างฝ่ายบริหารทั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ และกรุงเทพมหานคร

ปัจจุบัน โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครทั้งหมด 437 แห่ง ดูแลนักเรียน 261,160 คน แบ่งเป็นเปิดสอนระดับชั้น อนุบาล-มัธยมศึกษาตอนปลาย โดยช่วงชั้นที่มีการเปิดสอนน้อยที่สุด คือ โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย

โรงเรียน สังกัด กรุงเทพมหานคร 437 แห่ง
อนุบาล-ประถมศึกษา 327 แห่ง
ประถมศึกษา-มัธยมศึกษาตอนต้น 101 แห่ง
มัธยมศึกษาตอนปลาย มีเพียง 9 แห่ง

โดยพบข้อมูลเด็กหลุดจากระบบการศึกษา 2,615 คน  แบ่งเป็น อยู่ระหว่างการติดตาม 1,021 คน ติดตามได้แต่ไม่กลับเข้าระบบ 1,097 คน ติดตามไม่ได้แล้ว 497 คน

โรงเรียน

ยกตัวอย่าง “ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา”
นักเรียน ป.6 สังกัด กทม. เทียบ รัฐอุดหนุน

โดยโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้รับงบประมาณอุดหนุนการศึกษา 2 ทางด้วยกัน The Active ขอหยิบยกตัวอย่างการอุดหนุนผ่าน นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งจะเห็นความแตกต่างระหว่างเงินอุดหนุนโดยรัฐ กับ งบประมาณเพิ่มเติมจาก กทม. อย่างชัดเจน

เด็กชั้น ป. 6 โรงเรียนในสังกัด กทม. ได้รับงบประมาณก้อนแรกมาจากรัฐบาล โดยสำนักการศึกษาจะจัดสรรให้โรงเรียนในสังกัดทั้ง 50 เขต แบ่งเป็น

  • ค่าอุดหนุนรายหัว 1,900 บาท/คน
  • ค่าหนังสือเรียน 859 บาท/คน
  • ค่าอุปกรณ์การเรียน 390 บาท/คน
  • ค่าเครื่องแบบ 360 บาท/คน
  • ค่าอาหารกลางวัน 21 บาท/คน

นอกจากนี้ ยังได้รับเงินอุดหนุนส่วนที่ 2 เพิ่มเติม จากงบประมาณของ กรุงเทพมหานครเอง
โดยแบ่งเป็น

  • ค่าเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ชุดนอน และชุดพละ 450 บาท
  • ค่าอาหารกลางวัน เพิ่มอีก คนละ 4 บาท เป็น 25 บาท
  • ค่าอาหารเช้า 15 บาท/วัน
  • และสุดท้ายเป็นค่าประกันอุบัติเหตุ 150 บาท/คน

แม้จะมีสวัสดิการที่เพิ่มเติมเข้ามาแต่หากดูภาพรวมงบประมาณอุดหนุนที่ได้รับจากการจัดสรรของรัฐบาล เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2555-2565) ราว 9 พันล้านบาท -1 หมื่นล้านบาท จะพบว่าส่วนใหญ่มากถึง 60% ยังอยู่ที่เงินเดือนค่าจ้าง และเงินบำเหน็จดำรงชีพของบุคลากรทางการศึกษา

การนำร่องให้มิติการสำรวจฐานข้อมูลเด็กใน กทม. เพื่อของบประมาณเพิ่มเติม รวมถึงการให้ทีมสภา กทม. ที่ถูกคาดหวังให้เป็นกลไกสำคัญ ช่วยผลักดันให้งบประมาณของเด็ก ๆ ได้รับการจัดสรรเพื่อการศึกษามากขึ้น…

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์