‘อาร์ตทอย’ กระแสที่ควร ‘ตาม’ หรือ ต้อง ‘สร้าง’?

“ลาบู ลาบู ลาบู้ ลาบู”

กระแส ‘อาร์ตทอย (Art Toy)’ ยังคงถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ‘ลาบูบู้ (Labubu)’ อาร์ตทอยโดย Kasing Lung ศิลปินชาวฮ่องกง ที่น่ารักจนทำให้ชาวไทยหลายคนทนกระแสไม่ไหวต้องมีลาบูบู้ไว้ครอบครอง และเป็นที่นิยมถึงขั้นการจัดกิจกรรม Welcome Ceremony of LABUBU ภายใต้โครงการ ‘ลาบูบู้เที่ยวไทย’ ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ POP MART เพื่อกระตุ้นให้ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น และสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้กับประเทศไทยโดยท่องเที่ยวตามรอยลาบูบู้

แม้ว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อสื่อสารไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนตามโปรแกรมการท่องเที่ยว ‘5 Must Do in Thailand’ ก็ตาม แต่การที่ ททท. โพรโมตการท่องเที่ยวไทยโดยใช้ลาบูบู้ซึ่งเป็นอาร์ตทอยสัญชาติอื่นมาสวมชุดไทยในการสื่อสารนี้ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคนในสังคมออนไลน์ถึงความเหมาะสมในการเลือกอาร์ตทอยสำหรับโพรโมต โดยส่วนใหญ่มองว่าควรใช้อาร์ตทอยของศิลปินไทย เพื่อการแสดงให้เห็นของดีของไทยและสนับสนุนศิลปินชาวไทยด้วย

The Active ชวนสำรวจสถานการณ์ ‘อาร์ตทอย (Art Toy)’ บนโลกออนไลน์ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค. -14 ก.ค. 67 ผ่านเครื่องมือ Zocial Eye และเปรียบเทียบการถูกพูดถึงระหว่างอาร์ตทอยที่สร้างสรรค์จากศิลปินไทยกับลาบูบู้ว่ามีการพูดถึงบนโลกออนไลน์มากน้อยแค่ไหน?

จากการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลผ่านเครื่องมือ Zocial Eye พบว่ามีการพูดถึง ‘อาร์ตทอย (Art Toy)’ 29,675 ข้อความ รวมทั้งหมด 21,359,024 Engagement  ดังนี้

อาร์ตทอย

LABUBU ถูกพูดถึงมากที่สุด

มีการพูดถึง 6.238 ล้านเอ็นเกจเมนต์

POPMART Thailand

ด้วยความน่ารักและเอกลักษณ์ของสัตว์ประหลาดปากกว้าง ฟันแหลม หูยาว ที่มาในรูปแบบพวงกุญแจในกล่องสุ่ม ประกอบการโพสต์รูปคู่กับกล่องสุ่มคอลเล็กชัน LABUBU Macaron ของลิซ่า-ลลิษา มโนบาล ศิลปินชาวไทยทำให้กระแสความนิยมของ LABUBU เพิ่มมากขึ้นจนทำให้มีการพูดถึงบนโลกออนไลน์มากที่สุดในบรรดาอาร์ตทอย จากการเปิดกล่องสุ่มโชว์ตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ และการพูดถึงเกี่ยวกับการใช้ LABUBU ในการโปรโมตการท่องเที่ยวไทย

CRYBABY อันดับสองรองจาก LABUBU

มีการพูดถึง 3.783 ล้านเอ็นเกจเมนต์

Molly Factory

อาร์ตทอยเด็กน้อยน้ำตาคลอเบ้าที่อยู่บนใบหน้าแสนน่ารักในทุก ๆ คาแรคเตอร์ของ CRYBABY ทำให้หลายคนหลงใหลจนต้องมีไว้ครอบครอง โดยการออกแบบของ ‘มด-นิสา ศรีคำดี หรือ มอลลี่’ ซึ่งสอดแทรกเรื่องราวและความหมายของน้ำตาเอาไว้ภายใต้คาแรคเตอร์ที่แสนน่ารักนี้

ด้วยความน่ารักและเรื่องราวของ CRYBABY โดยเฉพาะคอลเล็กชัน ‘CRYBABY x Powerpuff Girls’ ทำให้เหล่า Influencer และคนทั่วไปทำคลิปวิดีโอเปิดกล่องสุ่ม จนเกิดเป็นกระแสและถูกพูดถึงมากที่สุดในบรรดาอาร์ตทอยที่ออกแบบโดยศิลปินไทย

อันดับ 3 ‘Chalotte

มีการพูดถึง 0.27 ล้านเอ็นเกจเมนต์

Trendy Gallery

เด็กสาวผมสั้น มีหน้าม้า แววตาเศร้า มาในโทนสีฟ้า-ขาวที่สร้างสรรค์โดย ‘แม็กกี้-ชรารัตติ์ สาระอาภรณ์ หรือ แม็กชา (Mackcha)’ ศิลปินชาวไทย ซึ่งในการพูดถึงชาล็อตบนโลกออนไลน์นั้น ส่วนใหญ่แล้วผู้คนจะพูดถึงชาล็อตในงานนิทรรศการเดี่ยวชื่อ “CHALOTTE’S CASTLE” โดยมีชาล็อตขี่ปลาทองเป็นไฮไลต์ของงาน ซึ่งหลังจากมีผู้คนเข้ามาร่วมชมนิทรรศการนี้ ก็เกิดประเด็นจนกลายเป็นกระแสจากกรณีที่มีเด็กวิ่งชนจนอาร์ตทอยไฮไลต์ดังกล่าวล้มเสียหาย

อันดับ 4 ‘StarSeed.X

มีการพูดถึง 0.097 ล้านเอ็นเกจเมนต์

Holyandme

อาร์ตทอยแนวไซไฟ (Sci-Fi) ออกแบบโดย ‘กอล์ฟ-พิชญะ นิธิไพศาลกุล’ นักร้องและนักแสดงชาวไทยที่มีความสนใจเรื่องอาร์ตทอย และเปลี่ยนจากความสนใจมาสร้างสรรค์จนเกิดเป็นงานออกแบบคาแรคเตอร์มนุษย์ต่างดาวที่มีทั้งความน่ารักและความเท่อยู่ด้วย โดยจุดเด่นของอาร์ตทอยชิ้นนี้คือในตำแหน่งท้องของมนุษย์ต่างดาวจะมีมนุษย์หลับไหลอยู่ ซึ่งนอกจากจะมีความสวยงามแล้วยังแฝงไปด้วยความหมายและเรื่องราวของอาร์ตทอยชิ้นนี้ด้วย ทำให้หลายคนบนโลกออนไลน์ที่ชื่นชอบผลงานอาร์ตทอย รวมถึงแฟนคลับของกอล์ฟ ต่างก็พูดถึงStarSeed.X

อันดับ 5 ‘BABY GANESHA

มีการพูดถึง 0.016 ล้านเอ็นเกจเมนต์

RAVIPA

‘พระพิฆเนศปางเด็ก’ ที่มาในรูปแบบอาร์ตทอยสำหรับสายมู แตกต่างจากพระพิฆเนศที่เคยเห็นกันอยู่บ่อย ๆ ตามสถานที่บูชาต่าง ๆ ออกแบบโดย RAVIPA (ระวิภา) แบรนด์ดีไซเนอร์เครื่องประดับของไทยเป็นผู้ออกแบบ ซึ่งนอกจากจะมีความน่ารัก มินิมอลแล้ว ยังเป็นการเสริมสิริมงคลให้กับผู้บูชาหรือนักสะสมอาร์ตทอยอีกด้วย

4 อาร์ตทอยไทย ไปไม่ถึง LUBUBU

จากการสำรวจกระแสอาร์ตทอยของไทยทั้งหมดนี้ พบข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ เมื่อยอดรวมการถูกพูดถึงเกี่ยวกับอาร์ตทอยของศิลปินไทยจากจำนวนเอ็นเกจเมนต์ทั้งหมดบนโลกออนไลน์ พบว่าการถูกพูดถึงของ CRYBABY, Chalotte, StarSeed.X และ BABY GANESHA รวมกันแล้ว มีจำนวนน้อยว่าการพูดถึง LABUBU เพียงตัวเดียว ซึ่งข้อสังเกตดังกล่าวสามารถสะท้อนให้เห็นได้หรือไม่ว่า นี่อาจเป็นสาเหตุที่ LABUBU ถูกเลือกให้ใช้ในการโปรโมตการท่องเที่ยวของไทย เพราะมีความนิยมมากที่สุดเมื่อสังคมมีการพูดถึงอาร์ตทอย และมากไปกว่านั้น คือการมองเห็นสถานการณ์งานศิลปะไทย โดยเฉพาะ ‘วงการอาร์ตทอย’ ว่ามีอุปสรรคอะไรที่ทำให้งานศิลปะชั้นดีของไทยไปไม่ถึงเช่นเดียวกับ LABUBU

ในแง่ของการดึงดูด เราปฏิเสธกระแสของ LABUBU ไม่ได้”

ณัฐพล ม่วงทำ เจ้าของบริษัทและเพจการตลาดวันละตอน

ความเห็นของ หนุ่ย-ณัฐพล ม่วงทำ เจ้าของบริษัทและเพจการตลาดวันละตอนที่มีความเชี่ยวชาญด้าน Data Driven Marketing เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งแม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าการเกาะกระแสสังคมอย่างการใช้ LABUBU จะเป็นตัวช่วยในการโพรโมตให้ต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการใช้เรื่องราวที่อยู่ในตัวอาร์ตทอยมาโพรโมตมากกว่าซึ่งเป็นปัจจัยที่รัฐควรคำนึงถึงในการเลือกใช้สำหรับโพรโมตประเทศไทย อย่างการใช้ ‘อาร์ตทอยของไทย.. จากฝีมือคนไทย’ ที่นอกจากจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนวงการศิลปะของไทยอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ความนิยมในการพูดถึงอาร์ตทอยที่ไม่ว่าจะออกแบบโดยศิลปินไทยหรือศิลปินต่างประเทศ เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความชื่นชอบอาร์ตทอยเป็นจำนวนมาก และมีหลายคนหันมาสะสมกันมากขึ้น จนไม่ว่าจะเดินไปที่ไหนก็จะพบเห็นผู้คนห้อยอาร์ตทอยติดกระเป๋าอยู่เสมอ

แล้วทำไมเราไม่เป็นคนสร้างขึ้นมาจนกลายเป็นกระแสล่ะ?

คำถามน่าคิดที่เหมือนไกด์นำทางให้วงการอาร์ตทอยไทยไปสู่ความสำเร็จได้ในระยะยาว ซึ่งจะต้องช่วยกันผลักดันและสนับสนุนด้วยกลยุทธ์สำคัญอย่าง ‘Ecosystem Business’ ที่ณัฐพลมองว่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้อาร์ตทอยไทยมีมูลค่าจนสามารถเป็นที่นิยมและดึงดูดให้ผู้คนหันมาสนใจ เพราะเชื่อว่าประเทศไทยมีต้นทุนทางด้านศิลปะอยู่แล้ว ประกอบกับศิลปินไทยมีความสามารถ เพียงแต่ยังไม่ถูกดึงมาพัฒนาให้กลายเป็นผลงานศิลปะที่เรียกว่าอาร์ตทอยอย่างจริงจัง

หากจะให้ลองใช้ Ecosystem Business ในการส่งเสริมอาร์ตทอยไทย ต้องเริ่มจากมองหาของดีหรือเอกลักษณ์ของไทยซึ่งมีอยู่แล้ว มาเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบอาร์ตทอย เช่น มาสคอต (คาแรคเตอร์สัญลักษณ์ตัวแทนของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง) หรือคำขวัญของแต่ละจังหวัด โดยดึงเอาจุดเด่นเหล่านี้มานำเสนอให้มีความทันสมัยมากขึ้น แล้วนำไปอยู่ในองค์ประกอบต่าง ๆ ที่หน่วยงานรัฐต้องใช้อยู่แล้ว เช่น ของประดับตกแต่งในสถานที่ราชการ หรืออื่น ๆ จนทำให้เกิดภาพจำในจังหวัดนั้น ๆ ซึ่งนี่เองคือ Ecosystem Business ที่เกิดจากความร่วมมือกันทั้งในส่วนของศิลปินและภาครัฐที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการสร้างให้เกิดมูลค่าขึ้นมา

“อาจจะไม่ได้เกิดขึ้น 100% แต่นี่คือราคาของการเรียนรู้

เพราะตอนนี้เราถามหาแต่ราคาของการลงทุนว่าจ่ายแล้วได้เท่าไหร่

แต่เราลืมคิดว่าจ่ายแล้ว เราจะสร้างอะไรในระยะยาวได้บ้าง”

แม้ว่าจะไม่มีใครรับประกันว่าจะประสบผลสำเร็จในระยะเวลาอันใกล้ เพราะนี่คือการลงทุนที่มีความเสี่ยง แต่การที่เริ่มต้นจากความร่วมมือทั้งจากภาครัฐหรือศิลปินเอง ก็เป็นหมุดหมายอันดี ซึ่งหากจะให้วงการอาร์ตทอยของไทยอยู่ไกลจากความเสี่ยงและเข้าใกล้ความสำเร็จ การร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องในหลายภาคส่วนจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องสร้างและทำให้เกิดขึ้นให้ได้ หรืออย่างน้อยที่สุด ปลายทางในสายนี้อาจจะไม่ได้เป็นอาร์ตทอยที่ประสบความสำเร็จ แต่ในกระบวนการระหว่างทางก็สามารถมีช่องทางขยายไปได้อีก

แล้วตอนนี้ได้รับการสนับสนุนมากพอหรือยัง?

ก่อนที่จะไปถึงกลยุทธ์ระยะยาวหรือการสร้างอาร์ตทอยให้มีมูลค่าจนเกิดเป็นกระแสได้ สิ่งสำคัญคือรัฐจะต้องเริ่มกันมาสนใจวงการอาร์ตทอยไทยอย่างจริงจังสักที ซึ่งหากเราลองสำรวจตลาดอาร์ตทอย จะเห็นว่ามีอาร์ตทอยจากศิลปินไทยหลายคนออกแบบอาร์ตทอยจนได้รับความนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ อย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ CRYBABY ซึ่งก็ยังไม่ได้ถูกผลักดันหรือได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐ จึงทำให้พื้นที่ในการโชว์ความสามารถของศิลปินไทยมีไม่มากนัก

“หน่วยงานรัฐมักจะขอเข้ามามีส่วนร่วมในตอนที่อะไรก็ตามประสบผลสำเร็จแล้ว

แต่ยากมากที่จะเห็นภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่จุดเริ่มต้น”

สำหรับ ณัฐพล นี่คืออุปสรรคหนึ่งที่ทำให้อาร์ตทอยไทยไม่สามารถเติบโตได้เท่าที่ควร ด้วยการขาดแรงสนับสนุนจากรัฐในช่วงเริ่มต้น และการดิ้นรนด้วยตัวเองของศิลปิน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยากที่สุด เพราะไม่มีพื้นที่หรือช่องทางให้สร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่ ดังนั้น การที่รัฐเข้ามาสนับสนุนและพยายามผลักดันร่วมกับศิลปินตั้งแต่แรกเริ่มจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเติบโตที่ดีของวงการอาร์ตทอยไทย เพราะยังมีอาร์ตทอยจากหลายศิลปินที่รอการสนับสนุนและพร้อมที่จะโชว์ความสามารถของตัวเอง โดยไม่ต้องรอให้เป็นกระแสหรือประสบความสำเร็จเหมือนอย่าง CRYBABY, Chalotte, StarSeed.X และ BABY GANESHA 

เริ่มแล้ว! แคมเพน ‘เหนือความคาดหมาย’ 5 จังหวัด 5 อาร์ตทอย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะยังไม่ค่อยเห็นศิลปินจากวงการอาร์ตทอยได้รับการสนับสนุนมากนัก แต่การมีแคมเปญ ‘เหนือความคาดหมาย’ เริ่มทำให้เห็นการเติบโตของอาร์ตทอยไทยที่ดูเหมือนว่าจะมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้นมาแล้วหลังจาก ททท. ปล่อยแคมเปญเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาชมเสน่ห์ของ 5 จังหวัดภาคเหนือเมื่อวันที่ 12 ก.ค ที่ผ่านมาทั้ง เชียงใหม่ แพร่ น่าน พิษณุโลก และนครสวรรค์ ผ่านอาหาร สถานที่ และอาร์ตทอย ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นอาร์ตทอยของไทยเข้ามามีส่วนร่วมในการโปรโมตการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง โดยสะท้อนเอกลักษณ์ 5 จังหวัด ผ่าน 5 อาร์ตทอย ดังนี้

  • จ๊างแดง จากจังหวัดชียงใหม่
  • เสือแปล้ จากจังหวัดแพร่
  • บันนี่บันน่าน จากจังหวัดน่าน
  • ไก่ฟิตพิษโลก จากจังหวัดพิษณุโลก
  • มังจิ จากนครสวรค์

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเห็นวงการอาร์ตทอยไทยเข้ามามีพื้นที่ร่วมกับภาครัฐและได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ซึ่งเป็นไปได้ว่าในอนาคตเราจะเห็นอาร์ตทอยเติบโตและได้รับการสนับสนุนเช่นนี้มากขึ้นกว่าเดิม