หน้ากากไม่มีคุณภาพ ไม่มีที่มาที่ไป จำหน่ายเกินราคา เพราะไม่ใช่หน้ากากทางการแพทย์…
ควบคุมราคาไม่ได้ หากไม่ได้เข้าเกณฑ์หน้ากากทางการแพทย์!!!
ประชาชนจะรู้ได้อย่างไร แล้วหน้ากากมีคุณภาพหาซื้อได้ที่ไหน สังเกตอย่างไร?
หลายคำถามและข้อสงสัย เหล่านี้ The Active รวบรวมอยู่ 8 คำถาม ให้รายละเอียดเกี่ยวกับหน้ากากชนิดต่าง ๆ ที่นิยมใช้ และจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด
รศ.พานิช อินต๊ะ หัวหน้าหน่วยวิจัยสนามไฟฟ้าประยุกต์สำหรับงานวิศวกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่ ผู้เคยทดสอบหน้ากากอนามัยในท้องตลาด มีห้องปฏิบัติการทดสอบหน้ากากที่ได้มาตรฐาน รวมถึงเป็นที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการผลิตหน้ากากอนามัยของหน่วยงานภาครัฐ
ความแตกต่าง ระหว่าง หน้ากากกันฝุ่น PM 2.5 และ หน้ากากกันโรค โควิด-19
หน้ากากอนามัยแยกเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก หน้ากากกรองอากาศ (Filtering facepiece respirator) ประเภท N95 มี 2 แบบ คือ N95 ทางการแพทย์ (Medical Grade) และชนิดไม่ใช่ทางการแพทย์ คือ non-Medical Grade
กลุ่มสอง
หน้ากากอนามัย (Surgical masks) มี 2 แบบ เช่นเดียวกัน คือ แบบทางการแพทย์ (Medical Grade) และชนิดไม่ใช่ทางการแพทย์ non-Medical Grade
และ แบบสาม หน้ากากผ้า (Fabric masks) เป็นหน้ากาก ชนิดไม่ใช่ทางการแพทย์ non-Medical Grade
เปรียบเทียบประสิทธิภาพการกรองอนุภาคขนาดเล็ก ของหน้ากากแต่ละแบบ
ประเภทหน้ากาก | ค่าเฉลี่ย | ต่ำสุด | สูงสุด | ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน |
หน้ากากอนามัย surgical mask | 50.50 | 2.50 | 95.90 | 26.34 |
หน้ากากผ้า Fabric mask | 39.10 | 5.93 | 87.55 | 19.64 |
หน้ากากกรองอากาศ N95/KN95/FFP1/FFP1 | 72.21 | 8.92 | 99.97 | 26.65 |
จากตาราง หน้ากากอนามัย surgical mask มีค่าประสิทธิภาพการกรองต่ำสุดใน 3 ชนิดนี้ คือ 2.50 เมื่อเทียบกับหน้ากากผ้าและหน้ากาก N95/KN95/FFP1/FFP1 ที่ 5.93 % และ 8.92 % โดยค่าเฉลี่ยต่ำสุดของหน้ากากทั้ง 3 ชนิดนี้ ถือว่าเป็นค่าที่ยอมรับไม่ได้ตามมาตรฐาน ASTM F2299-03 ซึ่งช่วงเวลาทดสอบก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการขาดแคลนหน้ากากอนามัย แสดงให้เห็นว่าหากคุณภาพหน้ากากไม่ตรงตามมาตรฐาน ก็จะไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจจากละอองฝอย หรือสารคัดหลั่งจากการไอจาม และดักจับละอองของเหลว และละอองลอยแบคทีเรียจากปากและจมูกของผู้สวมใส่ได้
ในทางตรงกันข้ามหากหน้ากากมีคุณภาพ ตามผลการทดสอบหน้ากาก N95/KN95/FFP1/FFP1 มีประสิทธิภาพการกรองสูงสุดถึง 99.97 % รองลงมา คือ หน้ากากอนามัย 95.90 % (surgical mask) หน้ากากผ้า 87.55 %
สำหรับผลการทดสอบนี้ ได้จากการรวบรวมหน้ากากอนามัยในช่วงที่โควิด-19 มีการระบาดในไทย มีการสุ่มตัวอย่างหน้ากาก ที่มีขายในท้องตลาด 259 ตัวอย่าง ประกอบด้วยหน้ากากอนามัย (surgical mask) 67 ตัวอย่าง หน้ากากผ้าจำนวน 71 ตัวอย่าง และหน้ากาก N95/KN95/FFP1/FFP1 121 ตัวอย่าง ทำการทดสอบด้วยวิธีมาตรฐาน ASTM F2299-03 เพื่อหาประสิทธิภาพการกรองอนุภาคทรงกลมชนิดพอลิสไตรีน ลาเท็กซ์ ที่ความเร็วด้านหน้าประมาณ 10.6 cm/s
หน้ากากกันฝุ่น PM 2.5 กันโควิด-19 ได้ไหม
ฝุ่นละอองขนาดเล็กเป็นอนุภาค ขณะที่เชื้อแบคทีเรียและไวรัสโควิด-19 เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก โดยเชื้อไวรัสมีขนาดเล็กว่าแบคทีเรีย เทียบเท่าที่ขนาด 0.1 ไมครอน ดังนั้น หากหน้ากากอนามัยที่มีการโฆษณาคุณสมบัติว่าสามารถกันฝุ่น PM 2.5 ได้ ไม่ได้หมายความว่าจะกันโควิด-19 ได้เสมอไป เราจำเป็นต้องพิจารณาคุณสมบัติอื่น ๆ ประกอบ โดยเฉพาะการระบุว่าเป็นหน้ากากชนิดทางการแพทย์ (Medical Grade) หรือไม่
สังเกตอย่างไร ว่าเป็น “หน้ากากอนามัยทางการแพทย์” (Medical Grade)
หน้ากาก N95 ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย ประเภทหน้ากากใช้ครั้งเดียว จะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก. 2480-2562
ถ้าเป็นหน้ากากอนามัย (Surgical masks) จะเป็น มอก. 2424-2562
ส่วนหน้ากากผ้า ไม่มี เพราะหน้ากากชนิดนี้ยังไม่สามารถรับรองมาตรฐานให้ถึงขั้นหน้ากากทางการแพทย์ได้ แต่มีมาตรฐานอีกระดับหนึ่ง
ประเทศไทย ยังไม่มีผู้ผลิตรายใด ได้รับการรับรองมาตรฐาน ?
คำตอบ คือ ใช่ เพราะว่าตอนนี้หน้ากากที่ผลิตในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นชนิดไหนก็ตาม ยังไม่มีผู้ประกอบการได้รับการรับรอง เพราะยังอยู่ระหว่างการยื่นขอรับรองผลิตภัณฑ์ชนิดหน้ากากทางการแพทย์ เนื่องจากราคาการทดสอบแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่าย และแลปทดสอบที่ได้รับมาตรฐานจาก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. เพิ่งเริ่มต้นช่วงที่มีการระบาดโควิด-19 แต่มีโรงงานผลิตหน้ากากเกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว
การทดสอบ หน้ากากทางการแพทย์ จะต้องได้รับการทดสอบจากห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองจาก สมอ. และจะต้องทดสอบทั้งหมด 5 อย่าง
- การกรองแบคทีเรีย มากกว่าหรือเทียบเท่า 95%
- การกรองอนุภาค 0.1 ไมครอน มากกว่าหรือเทียบเท่า 95%
- การต้านการหายใจ ดูการสวมใส่สบาย หายใจสะดวก
- การลามไฟ
- การซึมผ่านของเหลว
หากพูดถึงเรื่องการทดสอบประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อ ปัจจุบันมีมาตรฐานกำหนดให้ทดสอบเฉพาะแบคทีเรียเท่านั้นที่เป็นตัวแทนของเชื้อ สำหรับการทดสอบกับไวรัสนั้นยังไม่มีกำหนดในมาตรฐานใด ซึ่งขนาดไวรัสเทียบเท่า 0.1 ไมครอน นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ใช้อนุภาค 0.1 ไมครอน เป็นการทดสอบประสิทธิภาพการกรองอนุภาคของหน้ากากอนามัย เพื่อให้มั่นใจว่าหน้ากากสามารถกรองอนุภาคที่มีขนาดเทียบเท่ากับเชื้อไวรัสได้ นอกจากนี้คุณสมบัติพิเศษของหน้าการทางการแพทย์ยังมีสารเคมีที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อบนหน้ากาก ลดการแพร่เชื้อติดเชื้อเมื่อเกิดการสัมผัสกับหน้ากากได้
ราคาหน้ากาก จำหน่ายเท่าไหร่ ใครควบคุม
หากเป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เป็นสินค้าควบคุมโดย กรมการค้าภายใน จำหน่ายราคาปลีกอยู่ที่ราคา 2.50 บาท องค์การเภสัชกรรม ได้จัดหาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ แบบใช้ครั้งเดียวจากผู้ผลิตในประเทศ ที่ผลิตด้วยวัสดุที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน เน้นจัดสรรให้โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ก่อน ส่วนที่นำมาจำหน่ายให้กับประชาชน จำหน่ายผ่านร้านยาขององค์การเภสัชกรรม ทั้ง 8 สาขา
ราคาหน้ากากอนามัยที่จำหน่ายในร้านค้าออนไลน์ ส่วนใหญ่มีราคาสูงและเป็นมาตรฐานของต่างประเทศ ซึ่งก็สามารถสังเกตได้เช่นกัน เช่น ในยุโรปหน้ากากอนามัยต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรฐานยุโรป (European Standard) คือ EN 14683:2019, ISO 13485 ASTM,F2100,NIOSH 42 CFR 84 ฯลฯ
หน้ากากผ้า หน้ากากทางเลือก ป้องกันไวรัสได้แค่ไหน ?
หน้ากากผ้ามีไว้สำหรับคนที่ไม่แสดงอาการทางคลินิก ของการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียและผู้ที่ไม่ได้สัมผัสกับผู้ที่มีอาการติดเชื้อ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กำหนดมาตรฐาน และมีการทดสอบผ้าชนิดต่าง ๆ เอาไว้ และแนะนำว่า หน้ากากผ้า ต้องมี 2 ชั้นขึ้นไป ผ้าหรือวัสดุที่ใช้ทำหน้ากากต้องทำจากเส้นใยธรรมชาติ เส้นใยประดิษฐ์ หรือเส้นใยผสม ไม่ครอบคลุมวัสดุหรือหน้ากากที่ผลิตจากเส้นใยไม่ถักทอ (Nonwoven) โดยแบ่งออกเป็น 6 ระดับ คือ ตามประสิทธิภาพการกรองอนุภาคและสมบัติการสะท้อนน้ำ คือ ผ้าชั้นแรกต้องสะท้อนน้ำ เช่น ผ้านาโน ส่วนผ้าชั้นที่ 2 ต้องกรองอนุภาคฝุ่น เช่น ผ้ามัสลิน ฯลฯ
ระดับที่ 1 ป้องกันฝุ่นได้พอใช้ ไม่ป้องกันละอองฝอย
ระดับที่ 1* ป้องกันฝุ่นได้พอใช้ ป้องกันละอองฝอยได้
ระดับที่ 2 ป้องกันฝุ่นได้ดี ไม่ป้องกันละอองฝอย
ระดับที่ 2* ป้องกันฝุ่นได้ดี ป้องกันละอองฝอยได้
ระดับที่ 3 ป้องกันฝุ่นได้ดีมาก ไม่ป้องกันละอองฝอย
ระดับที่ 3* ป้องกันฝุ่นได้ดีมากป้องกันละอองฝอยได้
และล่าสุด คณะกรรมการมาตรฐานยุโรป (European Committee for Standardization) หรือ CEN ได้ออกคำแนะนำเกี่ยวกับข้อกำหนดขั้นต่ำวิธีการทดสอบการใช้งานของหน้ากากผ้า CWA17553:2020 โดยแบ่งระดับการกรองอนุภาคขนาด 3 ไมครอน ไว้ 2 ระดับ คือ 70% และ 90% ตามลำดับ ขณะที่ประเทศไทย กำลังอยู่ระหว่างการร่างประกาศ ซึ่งอิงตามมาตรฐานยุโรปเช่นกัน
“หน้ากากกรองอากาศ แบบมีวาล์ว” ใส่กันฝุ่นได้ แต่ไม่ควรใส่กันโควิด-19
การใส่หน้ากากแบบมีวาล์ว แพทย์และคนใกล้ชิดผู้ป่วยไม่ควรใส่ เนื่องจากหน้ากากชนิดนี้มีการรั่ว 1-5 % จากการหายใจเข้า และ 20-25 % จากการหายใจออก เนื่องจากปกติแล้วหน้ากากชนิดนี้ใส่เพื่อลดความต้านทานการหายใจออก และเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้สวมใสในการระบายความชื้น และความร้อนภายในหน้ากาก และหน้ากากชนิดนี้จัดอยู่ในประเภทที่ไม่ใช่หน้ากากทางการแพทย์
วิธีสังเกต เมื่อเลือกซื้อหน้ากากอนามัย
ใบรับรอง Certificate หรือใบรับรองจากการทดสอบหน้ากาก ยืนยันว่าได้ผ่านการทดสอบมาแล้วจากห้องปฏิบัติการ
รายละเอียดในเเอกสาร ต้องระบุชื่อผลิตภัณฑ์ตรงกัน วันเดือนปีที่ออกให้ ต้องเป็นปีปัจจุบันหรือย้อนหลังไม่เกิน 1 ปี ใบทดสอบอนุภาคการกรองฝุ่นและแบคทีเรียต้องเป็นคนละใบ รวมถึงรายละเอียดของการทดสอบ หรืออาจเลือกซื้อจากช่องทางการจำหน่ายที่ไว้ใจได้ หรือขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้โดยตรง เช่น ร้านขายยา ฯลฯ