เนียนเชียวนะ!! 10 สายพันธุ์ สัตว์-พืช ที่นึกไม่ถึงเลยว่า เป็น ‘เอเลี่ยนสปีชีส์’ รุกรานไทย

“ชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิต
ที่ไม่เคยปรากฏในถิ่นชีวภูมิศาสตร์หนึ่งมาก่อน
แต่ได้ถูกนำเข้ามา หรือเข้ามาโดยวิธีใด ๆ
ดำรงชีวิตอยู่ และสามารถสืบพันธุ์ได้
ตามการปรับตัวของชนิดพันธุ์นั้น”

เป็นคำนิยามของสัตว์ พืช ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือ เอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) ตามการขึ้นทะเบียนของ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และยังแบ่งแยกย่อยออกเป็น 2 ชนิด คือ

  • ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (Alien Species) หมายถึง ชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิต ที่ไม่เคยปรากฏในถิ่นชีวภูมิศาสตร์หนึ่งมาก่อนแต่ได้ถูกนำเข้ามาหรือเข้ามาโดยวิธีใด ๆ จากถิ่นอื่น ซึ่งอาจดำรงชีวิตอยู่และสามารถสืบพันธุ์ได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของปัจจัยแวดล้อมและการปรับตัวของชนิดพันธุ์นั้น

  • ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (Invasive Alien Species : IAS) หมายถึง ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาแล้วสามารถตั้งถิ่นฐานและมีการแพร่กระจายได้ธรรมชาติ เป็นชนิดพันธุ์เด่นในสิ่งแวดล้อมใหม่ (dominant species) และเป็นชนิดพันธุ์ที่อาจทำให้ชนิดพันธุ์พื้นเมืองสูญพันธุ์ รวมไปถึงส่งผลคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพและก่อให้เกิดความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขอนามัย

เพื่อความชัดเจน สผ. ก็ยังได้จัดกลุ่มทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ที่ควรป้องกัน ควบคุม กำจัดของประเทศไทย ออกเป็นอีก 4 รายการด้วยกัน ประกอบด้วย

  1. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว

  2. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีแนวโน้มรุกราน

  3. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีประวัติว่ารุกรานแล้วในประเทศอื่นแต่ยังไม่รุกรานในประเทศไทย

  4. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานที่ยังไม่เข้ามาในประเทศไทย
ปลาหมอคางดำ

จาก ฐานข้อมูล สผ. จนถึงปี 2560 พบเอเลี่ยนสปีชีส์ในประเทศมากถึง 309 สายพันธ์ุ แต่ที่น่าตกใจ คือ มีถึง 151 สายพันธุ์ หรือ 48.87 % อยู่ในชนิดที่ 1 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว โดย ปลาหมอคางดำ ที่พบการแพร่ระบาด และสร้างผลกระทบให้กับชาวประมงในหลายจังหวัดเวลานี้ ก็เป็นหนึ่งในเอเลี่ยนสปีชีส์ ชนิดที่ 1 ด้วยเช่นกัน

The Active ชวนส่องสัตว์ และพืชเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่อาศัยอยู่กับพวกเราอย่างกลมกลืน จนอาจนึกไม่ถึงว่าพวกมันเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ บางชนิดสร้างประโยชน์ แต่บางชนิดรุกรานสิ่งมีชีวิตพื้นถิ่นให้สูญพันธุ์อย่างเงียบ ๆ  

คำถาม…? ใครกันนะ ตีตั๋วพาพวกมันเข้ามา

“นกเอี้ยงมาเลี้ยงควายเฒ่า” เพลงพื้นบ้านของไทยที่ร้องต่อกันมาหลายชั่วอายุคน แต่ความจริงแล้ว นกเอี้ยงชวา เป็นนกเลี้ยงที่หลายประเทศนำเข้ามาจากเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ปัจจุบันพบมากในสิงคโปร์, ไต้หวัน, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และไทย โดยจำนวนของพวกมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ประชากรของนกเอี้ยงควายซึ่งเป็นนกพื้นถิ่นไทยลดลงอย่างน่าเป็นห่วง

แต่ในขณะเดียวกัน ประชากรดั้งเดิมของนกเอี้ยงชวาบนเกาะชวา กลับกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เพราะถูกจับเอามาเลี้ยง จนเข้าข่ายใกล้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ จึงถูกยกระดับให้กลายเป็นนกที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ เพื่อให้มีการติดตามและฟื้นฟูประชากรของนกเอี้ยงชวาในถิ่นอาศัยดั้งเดิมของมันนั่นเอง

ใครจะคิดว่าสัญลักษณ์แห่งอิสรภาพ และสันติภาพ อย่าง นกพิราบ จะเป็นตัวการในการสร้างปัญหาเสียเอง ซึ่งนกพิราบที่เราคุ้นเคยความจริงเป็น นกพิราบป่า ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรป เอเชียตะวันตก และแอฟริกาเหนือ แต่ปัจจุบันพบแพร่กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก  โดยเฉพาะในเมือง หรือชุมชน เช่น กรุงเทพมหานคร เคยมีการสำรวจเอาไว้ว่ามีจำนวนอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านตัว ขณะที่ กทม. มีประชากรตามทะเบียนราษฎร์ อยู่ที่ 5.4 ล้านคน  

ปัจจุบันนกพิราบได้สร้างปัญหาอย่างมากมาย ทั้งถ่ายมูลเรี่ยราด เป็นพาหะนำโรค สร้างรังบนหลังคา กินพืชสวนพืชไร่ ฯลฯ แต่ต้นเหตุส่วนหนึ่งมาจากการให้อาหารของมนุษย์ที่ไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของพวกมัน จึงมีกฎหมายอย่างน้อย 2 ฉบับที่เอาผิดกับผู้ฝ่าฝืนให้อาหารนกพิราบ ตั้งแต่จำคุก 3 เดือน ปรับไม่เกิน 2,000 ไปจนถึง 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปลาหางนกยูง ที่คนไทยคุ้นเคยกัน พบทั้งตามแหล่งน้ำทั่วไป ตลอดจนนำมาเลี้ยงไว้เพื่อช่วยกินลูกน้ำยุง จริง ๆ แล้วเป็น “สัตว์ต่างถิ่น” ที่มีต้นกำเนิดมาจากแถบทวีปอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ พบประวัติการเลี้ยงต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ไม่มีบันทึกว่าใครเป็นผู้นำเข้ามา จากนั้นพบแพร่กระจายไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศ เนื่องจากเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมแบบเขตร้อนของไทย มีสีสันสวยงามจึงถูกพัฒนาสายพันธุ์ให้มีขนาด และสีสันที่สวยงามเพื่อดึงดูดผู้เลี้ยงปลาสวยงาม

อย่างไรก็ตามแม้ปลาหางนกยูงจะเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่พบเห็นได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่พวกมันก็เป็นได้ทั้งผู้ล่าและเหยื่อในเวลาเดียวกัน ยังไม่พบรายงานการสร้างผลกระทบทางนิเวศวิทยามากนัก แม้จะมีรายงานวิจัยพบว่ามันกินไข่ของปลาพื้นเมืองได้แต่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับปลาชนิดอื่นตามธรรมชาติ

เชื่อว่า ปลานิล น่าจะเป็นเมนูปลาติดครัวของใครหลาย ๆ คน และยังสามารถส่งออกนำรายได้เข้าประเทศมูลค่าหลายร้อยล้านบาทต่อปี แต่ก็จัดเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ที่แพร่พันธุ์ในธรรมชาติมาแล้วกว่า 60 ปี โดยข้อมูลจากกรมประมง ระบุว่า ปลานิล มีต้นกำเนิดมาจากพันธุ์ปลา Nile tilapia จำนวน 50 ตัว ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฏราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2508 ก่อนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลี้ยงไว้ในบ่อที่วังสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต จนแพร่ขยายพันธุ์เป็นจำนวนมาก

ด้วยปลาชนิดนี้เจริญเติบโตดี เลี้ยงง่าย และเนื้อมีรสชาติดี เหมาะที่จะเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของประชาชนทั่วไป จึงพระราชทานปลาที่เพาะเลี้ยงจากสวนจิตรลดาจำนวน 10,000 ตัว แก่กรมประมง เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2509 เพื่อขยายพันธุ์และแจกจ่ายแก่ประชาชนเพื่อนำไปเลี้ยงในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล”

อย่างไรก็ตามมีนักวิชาการด้านความหลากหลายทางระบบนิเวศ แนะนำว่า ไม่ควรปล่อยลงแหล่งตามธรรมชาติอีก

ศัตรูคู่นาข้าว แต่ละปีเกษตรกรของไทยต้องเสียต้นทุนไปกับการกำจัดเจ้า หอยเชอรี่ ไปไม่น้อยเลย ซึ่งถิ่นกำเนิดเดิมของพวกมันอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ถูกนำเข้ามาในไทยเพื่อเลี้ยงขายเป็นอาหาร เลี้ยงประดับในตู้ปลา และผู้ประกอบการ ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แต่อาจหลุดรอดลงแหล่งน้ำจนกลายเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์

หอยเชอรี่จะเจริญเติบโตและกินอาหารอยู่ในน้ำเท่านั้น รวมถึงกินพืชที่มีลักษณะนุ่มได้เกือบทุกชนิด รวมถึงพืชผักเศรษฐกิจที่อยู่ในน้ำได้แก่ เช่น ผักบุ้ง, ผักกระเฉด, ต้นกล้าข้าว, บัว เป็นต้น ซึ่งข้อมูลจากกรมประมงรายงานว่า มีแผนการจัดการการแพร่กระจายจนอยู่ในสถานะการระบาดมีแนวโน้มคงที่ รวมถึงในบางภูมิภาคของไทยนิยมนำมามาบริโภคใส่ในอาหาร เช่น ส้มตำ

มาต่อที่หมวดพืชกันบ้าง เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จัก ผักตบชวา ตั้งแต่จำความได้โดยเฉพาะใครที่มีบ้านติดแม่น้ำ ลำคลอง แต่ความจริงแล้วพวกมันไม่ใช่วัชพืชพื้นถิ่นของเราตั้งแต่แรก แต่ถูกนำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย ตั้งแต่ พ.ศ. 2444 ในประเทศไทยสมัยในรัชกาลที่ 5 โดยนำเข้ามาเนื่องจากเห็นว่าเป็นพืชน้ำที่มีดอกสวยงาม จึงนำมาเพาะเลี้ยงประดับอ่างดินวังสระปทุม แต่เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมวังสระปทุม ทำให้ผักตบชวาลอยออกไปภายนอกและแพร่พันธุ์จนถึงปัจจุบัน

ผ่านมา 123 ปี ปัจจุบันเรายังไม่มีวิธีกำจัดได้อย่างสิ้นซาก ด้วยความทนทายาด แพร่พันธุ์เร็ว จะทำได้ก็เพียงฉีดยาให้ตาย หรือนำมาทำเป็นงานฝีมือ เช่น กระเป๋าสาน

ที่สำคัญพิษสงของพวกมันก็มากตามไปด้วย ทั้งกีดขวางการสัญจรทางเรือ การหาปลาของชาวบ้าน การระบายน้ำก็ทำได้ยากขึ้นจนเกิดปัญหาน้ำท่วม เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลื้อยคลาน ยุงลาย และที่สำคัญลดปริมาณออกซิเจนน้ำทำให้คลอง หนอง บึง ต่าง ๆ เน่าเสีย ด้วยเหตุนี้ ผักตบชวา จึงถูกจัดอยู่ในบัญชีวัชพืชร้ายแรงอันดับ 8 ของโลก ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำลำคลอง

จอกหูหนูยักษ์ เป็นพืชน้ำที่อยู่คู่กันกับผักตบชวา และยังขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วจนส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำสาธารณะไม่ต่างจากผักตบชวาด้วยเช่นกัน พบถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ มีรายงานการพบในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2544 ทั้งที่ในขณะนั้นจอกหูหนูยักษ์ถูกขึ้นบัญชีเป็น “พืชต้องห้ามนำเข้า” ตามกฎหมาย พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 กระทั่งในอีกหลายปีให้หลัง เริ่มมีรายงานจอกหูหนูยักษ์ระบาดหนักในแหล่งน้ำหลายจังหวัดทั่วประเทศ

เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ จะเบียดแน่นเป็นแพในแหล่งน้ำบดบังแสงแดด และทำให้ออกซิเจนละลายลงสู่แหล่งน้ำได้น้อยลง พืชน้ำที่อาศัยอยู่ด้านล่างขาดแสงสำหรับกระบวนการสังเคราะห์แสง ซึ่งเป็นการลดการเติมออกซิเจนลงในแหล่งน้ำ ในขณะที่การย่อยสลายซากพืชที่ตายและจมลงสู่เบื้องล่าง ซึ่งต้องอาศัยออกซิเจนที่ละลายน้ำอย่างมาก ทำให้ปลาและสัตว์น้ำ สิ่งมีชีวิตอื่นขาดออกซิเจน และอาจรุนแรงมากจนทำให้ปลาและสัตว์น้ำอื่นตายได้

แม้หน้าตาเหมือนผักกระเฉด แต่มันคือ ผักกระฉูด เอเลี่ยนสปีชีส์จากเขตร้อนของทวีปอเมริกา ปัจจุบันกระจายเข้าไปในเขตร้อน และกึ่งเขตร้อนของทวีปเอเชียและออสเตรเลีย ชอบขึ้นตามที่โล่งแจ้ง เช่น ขอบบึง คูน้ำ มีน้ำนิ่งหรือไหลเอื่อยหรือพื้นดินที่ชื้นแฉะข้างทาง ออกดอกและติดผลตลอดทั้งปี ปัจจุบันพบไปทั่วประเทศไทยแล้ว โดยเฉพาะตามคูน้ำข้างทาง พื้นที่ชุ่มน้ำหรือที่นารกร้าง ยอดอ่อนสามารถกินได้คล้ายผักกระเฉด แต่จะมีเนื้อที่เหนียวมากกว่าบางคนจึงไม่นิยมนำมารับประทาน

ที่สำคัญต้นและใบซึ่งมีธาตุไนโตรเจนสูงจะเพิ่มปริมาณไนเตรทลงในน้ำ ส่งผลกระทบต่อสมดุลของสัตว์น้ำและพืชน้ำชนิดอื่นได้ พาหะที่สำคัญคือมนุษย์ที่มักจะเข้าใจผิดว่าเป็นผักกระเฉด จึงนำไปขยายพันธุ์ตามแหล่งน้ำต่าง ๆ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เคยแนะนำควรทำการกำจัดในช่วงฤดูฝน หากพบมีการแพร่ระบาดให้ใช้วิธีถอนหรือไถให้ถึงรากออกให้หมด รวบรวมเผาทำลายหรือใช้เป็นอาหารสัตว์หรือหมักปุ๋ยได้ หากมีต้นที่งอกใหม่จากเมล็ดหรือต้นเดิมที่ตกค้างในดินให้ใช้วิธีเดิม การกำจัดจะต้องติดตามต่อไปอีก 2-3 ปี

ไมยราบยักษ์ ถูกนำเมล็ดเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย ปลูกเป็นพืชคลุมบำรุงดินในไร่ยาสูบ นอกจากนั้น ยังพบว่ามีการใช้ประโยชน์จากไมยราบยักษ์เพื่อเป็นพืชป้องกันการพังทลายของดินบริเวณตลิ่งในไร่ยาสูบ หรือใช้เพื่อเลี้ยงครั่งแทนต้นจามจุรีเมื่อ พ.ศ. 2490 ซึ่งในขณะนั้นตัวมันเองก็สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยได้ดี ทำให้มีการเจริญเติบโตและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และกระจายเข้าสู่ทุกภาคของประเทศในปัจจุบัน พบการแพร่ระบาดของไมยราบยักษ์เกือบทั่วประเทศ

เมื่อพวกมันเข้ายึดครองพื้นที่ ก็เป็นการยากที่พืชอื่น ๆ จะขึ้นแซมทำให้พืชพรรณดั้งเดิมค่อย ๆ สูญพันธุ์ไปจากพื้นที่นั้นในที่สุด จึงถูกจัดเป็นวัชพืชต่างถิ่นประเภทรุกรานที่มีความรุนแรง ส่งผลต่อการลดลงของพื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่เลี้ยงสัตว์ พื้นที่เก็บกักน้ำ และบดบังทัศนียภาพ 

ดอกไม้สีทองเหลืองอร่าม งดงามจนไปชื่อไปแต่งอยู่ในบทเพลง หรือโปรโมทเป็นแหล่งท่องเที่ยว  แต่ บัวตอง ก็ถูกจัดเป็นวัชพืชเอเลียนสปีชีส์ที่จัดอยู่ในบัญชี 1 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานในไทย ด้วยเช่นกัน เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกากลาง เม็กซิโก และคิวบา มีผู้นำมาปลูกและปัจจุบันปรับตัวได้ดีมากในเอเชียและแอฟริกา หลายประเทศจัดให้อยู่ในรายการชนิดพันธุ์รุกรานระดับโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2551

ดอกบัวตอง สามารถเจริญเติบโตได้แม้ในที่ดินเลว ทนร้อน ทนแล้ง โตเร็ว โดยเฉพาะในฤดูฝนเมื่อเจริญเติบโตเป็นพุ่มใหญ่จะแตกกิ่งหนาแน่น บังแสง ทำให้ต้นกล้าพืชท้องถิ่นเจริญไม่ได้ ที่สำคัญต้นของมันสร้างสารซึ่งเป็นพิษต่อพืชอื่น ที่ไปยับยั้งการเจริญของหน่อและราก และการดูดซึมแร่ธาตุของพืชหลายชนิด แพร่พันธุ์ทำลายทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และป่าหญ้าตามธรรมชาติในหลายประเทศ ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง

สายพันธุ์รุกรานแค่ไหน แต่ไทยยังเปิดช่องให้นำเข้าได้

แล้วใครพาเอเลี่ยนสปีชีส์เหล่านี้เข้ามากันนะ ? เคยมีความเห็นจากนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ อธิบายว่า สามารถเกิดขึ้นได้ 3 ปัจจัยด้วยกัน

  1. การลักลอบนำเข้า หรือติดเข้ามากับสินค้าโดยไม่ตั้งใจ เช่น กรณีของหนอนตัวแบนนิวกีนี ที่อาจติดมากับดินในกล้วยไม้นำเข้า

  2. เคลื่อนย้ายต่อกันมาเรื่อย ๆ ตามภูมิศาสตร์ เช่น นกพิราบ

  3. ขออนุญาตนำเข้าเพื่อวิจัย หรือส่งเสริมในเชิงเศรษฐกิจได้ เช่น ปลาหมอคางดำ

โดยหมายเหตุในทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน ได้ยกเว้นในทะเบียนรายการ 1, 2 และ 3 ว่า หากเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สามารถส่งเสริมในเชิงเศรษฐกิจได้ แต่ต้องมีมาตรการป้องกันเฉพาะที่รัดกุมเพื่อมิให้เกิดการแพร่กระจายเข้าไปในพื้นที่อนุรักษ์ นอกจากนี้สำหรับสัตว์น้ำต่างถิ่นใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ควรควบคุมหรือมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการปล่อยสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติถึงแม้เป็นนอกพื้นที่อนุรักษ์ก็ตาม

สำหรับมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น มุ่งเน้นการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด การกำจัด การเฝ้าระวังและติดตามชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่พบว่ารุกรานแล้ว มีแนวโน้มรุกราน และชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานของโลก ทั้งที่เข้ามาแล้วและยังไม่ได้เข้ามาในประเทศไทย ตามที่กำหนดไว้ในทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ควรป้องกัน ควบคุม กำจัด ของประเทศไทย มีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบและหน่วยงานสนับสนุนรวม 35 หน่วยงาน เพื่อให้เกิดการดำเนินการตามมาตรการอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม

กิจกรรมตามมาตรการป้องกัน ควบคุม และการจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น จึงควรได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรขยายการดำเนินงานตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่แล้ว ให้ครอบคลุมกิจกรรมตามมาตรการนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในทางปฏิบัติ ประกอบด้วย มาตรการ 5 ด้าน ดังนี้

  • มาตรการที่ 1 การกำหนดนโยบาย แผน กฎหมาย และงบประมาณ สำหรับการบริหารจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

  • มาตรการที่ 2 การบริหารจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

  • มาตรการที่ 3 การเฝ้าระวังและติดตามชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

  • มาตรการที่ 4 การสนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

  • มาตรการที่ 5 การเผยแพร่ สร้างความตระหนักและให้ความรู้ในเรื่องของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

อย่างไรก็ตามกรณีของ ปลาหมอคางดำ ถือเป็นบทเรียนสำคัญของการติดตามสัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่นที่นำเข้ามาวิจัย หรือเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ที่มีการประเมินความเสียหายและงบฯ ที่ใช้กำจัด เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมานับพันล้านบาท ซึ่งความเสียหายนี้อาจทดแทนไม่ได้ หากแลกกับการหายไปของความหลากหลายทางระบบนิเวศ การสูญพันธุ์ของสัตว์ พืชพื้นถิ่นของไทย


ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน