ผลกระทบจากนโยบายเยียวยาให้เปล่า หวังคะแนนเสียงทางการเมือง
ขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทยร่วงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกครั้งแรกในรอบ 21 ปี ล่าสุดกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา ได้ทำการคำนวณดัชนีผลิตภาพปัจจัยการผลิตรวมในภาคเกษตรของหลายประเทศในโลกรวมถึงประเทศไทย โดยดัชนีนี้จะบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของขีดความสามารถในการแข่งขันในประเทศนั้น เชื่อมโยงปัจจัยการผลิต (เช่น ที่ดิน แรงงาน ทุน) ที่ใช้กับผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับ
พบว่า ดัชนีของไทยคือเส้นสีแดงแทบไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเลยตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ส่วนเส้นสีดำคือดัชนีที่เป็นค่าเฉลี่ยของโลก หากเปรียบเทียบไทยและค่าเฉลี่ยของโลกแล้วจะพบว่า ค่าดัชนีผลิตภาพปัจจัยการผลิตรวมในภาคเกษตรไทยไม่เคยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเลยตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา
รศ.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในปี 2563 เป็นครั้งแรกในรอบ 21 ปี ที่ดัชนีผลิตภาพปัจจัยการผลิตรวมในภาคเกษตรไทยถดถอยและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา อินโดนีเซีย จีน อินเดีย มีค่าดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและแซงหน้าประเทศไทย
ทำไมขีดความสามารถในการแข่งขันถึงทรงกับทรุด และถูกหลายประเทศแซงหน้า
รศ.วิษณุ วิเคราะห์ว่า หนึ่งในสาเหตุหลักคือการดำเนินนโยบายช่วยเหลือแบบเยียวยาให้เปล่าโดยไม่มีเงื่อนไขในการปรับตัวของเกษตรกรเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตหรือลดความเสี่ยงในการผลิตและการตลาด
“หากมองย้อนจากอดีตถึงปัจจุบันจะพบว่านโยบายเกษตรส่วนใหญ่จะวนเวียนโดยเน้นการแทรกแซงกลไกตลาดผ่านการช่วยเหลือแบบเยียวยาให้เปล่าโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งเน้นนโยบายประชานิยมเพื่อให้ได้คะแนนเสียงทางการเมือง เช่น นโยบายรับจำนำข้าวที่ตั้งราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาด นโยบายประกันรายได้ การพักชำระหนี้ ชดเชยค่าเก็บเกี่ยว เป็นต้น ซึ่งใช้งบประมาณหลักแสนล้านบาทในแต่ละปี โดยมักจะอ้างว่าต้องการยกระดับรายได้ให้เกษตรกรและต้องการให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”
อย่างไรก็ตาม งานศึกษาในอดีต เช่น สมพร อิศวิลานนท์ (2556) นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ (2557) วิษณุ อรรถวานิช (2558) Attavanich (2016) และ Attavanich et al. (2019) กลับพบว่านโยบายในลักษณะนี้จะลดแรงจูงใจในการปรับตัวของเกษตรกร และเพิ่มความเสี่ยงในการผลิต และการตลาดอีกด้วย เราคงได้เห็นข้อมูลรายได้และหนี้สินครัวเรือนเกษตรในหลายปีที่ผ่านแล้วว่ารายได้ครัวเรือนเกษตรปรับเพิ่มขึ้นน้อยมาก ขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนเกษตรทวีความรุนแรงมากขึ้น และเกษตรกรยังคงไม่หลุดพ้นจากวงจรความยากจน
รศ.วิษณุ ยังกล่าวอีกว่า หนึ่งตัวอย่างคือนโยบายเกษตรไทยสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งพบว่าเกษตรกร 1 ครัวเรือน ได้รับความช่วยเหลือหลายโครงการ และนโยบายส่วนใหญ่ส่งผลกระทบเพียงระยะสั้น เน้นให้การช่วยเหลือแบบเยียวยาให้เปล่า เช่น ชดเชยค่าเก็บเกี่ยว พักหนี้ เยียวยาภัยพิบัติ นโยบายดี ๆ ที่ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและลดความเสี่ยงในการผลิตมีน้อยมาก เช่น พืชหลังนา เกษตรอินทรีย์/GAP
อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ โครงการรับจำนำข้าวแบบประชานิยม โดยรัฐบาลจะรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรทุกเม็ด และตั้งราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาด ทำให้คุณภาพข้าวไทยถดถอย
งานศึกษาในอดีต เช่น สมพร อิศวิลานนท์ (2556) Attavanich (2016) วิษณุ อรรถวานิช (2558) John (2013) และ Mahathanaseth and Tauer (2014) พบว่า นโยบายนี้ไม่ได้ช่วยให้ภาระหนี้สินของเกษตรกรลดลง เกษตรกรรายย่อยได้ประโยชน์น้อยกว่าเกษตรกรรายกลางและรายใหญ่ เกษตรกรได้ประโยชน์ในระยะสั้นเท่านั้น แต่ส่งผลเสียในระยะกลางถึงระยะยาว เกษตรกรไม่ได้ใช้เงินจากโครงการไปลงทุนเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ช่วยยกระดับราคาข้าวในตลาดโลกได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น ไม่ได้ช่วยเพิ่มอำนาจตลาดในการกำหนดราคาข้าวในตลาดโลก และไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากผลประโยชน์ที่ได้น้อยกว่างบประมาณที่ใช้จ่าย
ผลกระทบต่ออนาคตของภาคเกษตรและเกษตรกรไทย
ในโลกของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น การแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว หากเกษตรกรไม่ปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ภาระงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้งบประมาณใช้จ่ายเพื่อการลงทุนยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของภาครัฐมีแนวโน้มลดลง ท้ายสุด ขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลกจะลดลง ส่งผลกระทบเชิงลบย้อนกลับมาสู่เกษตรกร ทำให้เกษตรกรไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรความยากจนได้ นอกจากนั้น ผู้ประกอบการขั้นกลางน้ำและ ปลายน้ำที่ต้องพึ่งพาผลผลิตจากเกษตรกรจะมีความเสี่ยงด้านต้นทุนมากขึ้น และสูญเสียส่วนแบ่งตลาดจากขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
ทางออก ทวงคืนขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
จริงๆ มีสิ่งที่ควรทำหลายประเด็น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือควรปรับลดนโยบายที่ให้การช่วยเหลือแบบเยียวยาให้เปล่าและเพิ่มนโยบายที่ให้การช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขในการปรับตัวมากขึ้น ซึ่งจะเกิดผลดีกับเกษตรกรและภาคเกษตรไทยในระยะยาวและยั่งยืน
ตัวอย่างเช่น นโยบายประกันรายได้หรือประกันราคาควรดำเนินการแบบชั่วคราวและมาพร้อมเงื่อนไขในการปรับตัวเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้า และลดความเสี่ยงในการผลิตและการตลาด เช่น การปรับเปลี่ยนไปสู่การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง การไม่เผาเมื่อเก็บเกี่ยวและจัดการแปลง ปลูกพืชตามความเหมาะสมของดินและน้ำ การใช้ท่อนพันธุ์สะอาดหรือท่อนพันธุ์ทนทานโรคใบด่างมันสำปะหลัง การอบรมและฝึกทดลองการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
เนื่องจากประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า ควรมาช่วยกันสร้างบรรทัดฐานใหม่ โดยขอให้ทุกพรรคการเมืองออกนโยบายที่สร้างสรรค์ซึ่งนำไปสู่การยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและลดความเสี่ยงในการผลิตและการตลาดอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตลดลง รายได้สุทธิเพิ่มขึ้น และหนี้สินครัวเรือนลดลง นโยบายที่ดียังทำให้ผู้ประกอบการที่รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรมีความแน่นอนมากขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพของผลผลิตที่รับซื้อและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
“ขอฝากให้คนไทยทุกคนช่วยกันเลือกพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายสร้างสรรค์ที่เกิดผลประโยชน์กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน ไม่ใช่นโยบายประชานิยมที่ประเทศไทยได้ประโยชน์น้อยมากและไม่ยั่งยืน ร่วมด้วยช่วยกันเพื่อสังคมไทยของเราที่ดีขึ้น”
อ้างอิง