จาก Admission สู่ TCAS: เรื่องสอบ-เรื่องใหญ่ ทำไมข้อสอบยังผิด?

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เตรียมเปิดข้อสอบเก่าย้อนหลัง โดยเริ่มเปิดข้อสอบตั้งแต่ TCAS68 ให้ผู้เข้าสอบนำกระดาษคำถามกลับบ้านได้ และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามาท้วงติงถึงคำถามข้อสอบได้มากขึ้น หวังแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง “คลังข้อสอบ” ที่นักเรียนต้องยอมจ่ายเงินเรียนสถาบันกวดวิชาเพื่อเข้าถึงแนวข้อสอบได้มากขึ้น และครูทุกคนจะได้มีแนวข้อสอบเพื่อไปออกแบบการสอนให้ตอบโจทย์มากขึ้น

โจทย์สำคัญของการเปิดเผยข้อสอบ ไม่ใช่แค่การลดความเหลื่อมล้ำ แต่ยังหมายถึงการ “ถ่วงดุลอำนาจ” ระหว่างผู้ออกข้อสอบกับผู้เข้าสอบและประชาชนทั่วไป เพราะแน่นอนว่าการออกข้อสอบย่อมมีข้อผิดพลาดได้ คำตอบและข้อถกเถียงทางวิชาการย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะในข้อสอบปรนัย (กาตัวเลือก) ที่จะกำหนดให้ผู้เข้าสอบหาคำตอบที่สมบูรณ์ที่สุด ดังนั้น การเปิดเผยข้อสอบ คือการเปิดพื้นที่ให้สังคมคุ้นชินต่อการถกเถียงถึงคำตอบที่ตายตัวเหล่านั้น และสะท้อนเสียงเพื่อปรับปรุงให้ข้อสอบมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

The Active รวบรวมข้อมูลการร้องเรียนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับคุณภาพข้อสอบเพื่อยื่นคะแนนเข้ามหาวิทยาลัย ได้แก่ O-NET, GAT/PAT, 9 วิชาสามัญ, TGAT/TPAT, A-Level และข้อสอบวิชาเฉพาะแพทย์ (กสพท.) ตั้งแต่มีการเริ่มต้นระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระบบ Admission (ระบบ GAT/PAT) ในปี 2552 จนถึงปี 2567 ที่คัดเลือกในระบบ TCAS พบว่า ในระยะเวลา 15 ปี มีการท้วงติงข้อสอบอย่างน้อย 122 ข้อ* และมีความเป็นไปได้ว่าจะมากกว่าที่เห็น เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการเปิดเผยข้อสอบออกสู่สังคมอย่างเป็นทางการ (ยกเว้นข้อสอบ O-NET ในบางปี)

อย่างไรก็ตาม ข้อท้วงติงนั้นอาจจะกล่าวหาถูกหรือผิดก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือหน่วยงานผู้ดูแลการออกข้อสอบอย่าง สทศ., ทปอ., และ กสพท. ได้ออกมาชี้แจงบ้างหรือไม่ มีวิธีการรับมือกับความขุ่นข้องของสังคมอย่างไร มากไปกว่านั้นคือ มีกระบวนการปรับปรุงแก้ไขให้การออกข้อสอบมีความสมบูรณ์มากขึ้นด้วยหรือไม่ ไปหาคำตอบกันใน Infographic Series จากข้อมูลชุดนี้กัน

* หมายเหตุ: ข้อมูลการร้องเรียนที่จัดเก็บได้จะถูกนับจำนวนเป็น ‘รายข้อ’ รวมไปถึง 4 เหตุการณ์ที่ส่งผลต่อข้อสอบทั้งฉบับ ได้แก่
1. กรณีโปรแกรมตรวจคะแนนผิดพลาดในข้อสอบวิชา GAT ความถนัดทั่วไป (เชื่อมโยง) เมื่อปี 2553 
2. กรณีการคำนวณคะแนนไม่ตรงตาม Blueprint ที่ได้แจ้งไว้ในข้อสอบวิชา TPAT3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์เมื่อปี 2565 
3. กรณีการคำนวณคะแนนไม่ตรงตาม Blueprint ที่แจ้งไว้ในข้อสอบ TGAT3 สมรรถนะการทำงาน พาร์ทการสร้างคุณค่าและนวัตกรรมเมื่อปี 2567
4. กรณีข้อสอบแบบคอมพิวเตอร์และแบบกระดาษได้โจทย์ไม่ตรงกันในข้อสอบ TPAT3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์เมื่อปี 2567

สามารถเข้าไปอ่านข้อมูลดิบได้ที่ Google Sheet: https://bit.ly/4ajGoOS
ข้อมูลอัพเดตล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2567

วิชาภาษาปัญหาเยอะ วิชาวิทย์โจทย์ไม่ชัดเจน

จากการรวบรวมและประมวลข้อมูลโดย The Active ย้อนดูการร้องเรียนที่ปรากฏตามสื่อสังคมออนไลน์ พบว่ามีการท้วงติงและเปิดเผยถึงปัญหาในระบบการสอบมากถึง 122 ข้อ โดยแบ่งตามรายวิชา พบมากที่สุดคือกลุ่มวิชาภาษาต่างประเทศ 36 ข้อ (เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส) รองลงมาคือวิชากลุ่มวิทยาศาสตร์​ 28 ข้อ (เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา) และวิชาวิศวกรรมศาสตร์ 23 ข้อ

ทั้งนี้ หากนับแยกระหว่างกลุ่มวิชาสายศิลป์และวิชาสายวิทย์ จะพบว่ามีการร้องเรียนในวิชาสายศิลป์รวมกัน 46 ข้อ และวิชาสายวิทย์รวมกัน 71 ข้อ 

หากแบ่งข้อร้องเรียนตามปีเข้าสอบ (ในที่นี้ The Active ยึดตามปีเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เช่น DEK67 หมายถึง ผู้เข้าสอบที่จะเริ่มศึกษาในระดับอุดมศึกษาปี 2567) จะพบว่าในปีของ DEK65 มีจำนวนข้อสอบที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดถึง 39 ข้อ ทั้งนี้ เป็นเพราะว่าข้อสอบ PAT 7.1 ความถนัดทางภาษาฝรั่งเศส มีปัญหาในเรื่องความกำกวมของโจทย์คำถามตั้งแต่ข้อที่ 51 – 70 ส่วนปีที่มีปัญหารองลงมาคือปีของ DEK56 ที่พบปัญหามากในวิชาวิทยาศาสตร์ O-NET ม.6 พบโจทย์ซ้ำกัน 16 ข้อ และใน 16 ข้อมีตัวเลขข้อที่ซ้ำกัน 9 ข้อ จึงไม่สามารถตอบคำถามได้ สทศ. จึงให้ 24 คะแนนฟรีแก่นักเรียนที่เข้าสอบวิทยาศาสตร์ทุกคน

ธีระยุทธ บุญมา หรือ ‘พี่น็อต’ นักแนะแนวด้านการศึกษา และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการผลิตภัณฑ์ บริษัท SmartMathPro ระบุว่า หากจะให้วิเคราะห์ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ต้องมองผ่าน 2 องค์ประกอบหลัก ด้วยกันคือ 1) ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัย และ 2) ระบบการออกข้อสอบ โดยที่ผ่านมา ระบบการคัดเลือกมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสมมากขึ้น เช่นมีการแตกรอบรับสมัครออกมาหลายรอบ ให้เด็กที่เก่งกิจกรรม สามารถเลือกเข้าด้วยวิธียื่น Portfolio ส่วนเด็กที่แม่นวิชาการก็สามารถเลือกยื่นคะแนนสอบในรอบ Admission ได้

แต่จุดที่มีปัญหาจริง ๆ คือระบบการออกข้อสอบ เพราะแม้ว่าจะมีการยื่นสมัครเข้ามหาวิทยาลัยได้ถึง 5 รอบ แต่ 4 ใน 5 รอบยังต้องใช้คะแนนสอบในการยื่นสมัคร และหากข้อสอบยังไม่มีมาตรฐาน ไม่มีการรับประกันว่าจะยึดโยงกับหลักสูตรจริงหรือไม่ เด็กนักเรียนก็ยากที่จะทำคะแนนให้ได้สูง เพราะข้อสอบไม่อาจวัดผลสมรรถนะของผู้เรียนได้จริง การพัฒนาระบบการสอบเข้าจึงต้องยกระดับคุณภาพของข้อสอบด้วย

“ต่อให้ระบบสอบเข้ามหา’ลัยดีแค่ไหน แต่ข้อสอบวัดผลไม่ได้ ไม่มีมาตรฐาน สุดท้ายเด็กที่เขาจะยื่นเขายังใช้ ‘คะแนนสอบ’ ยื่นอยู่ มันส่งผลต่ออนาคตเขาโดยตรง… ที่ผ่านมามีกรณีลืมตรวจข้อสอบทั้งฉบับ มีกรณีข้อสอบคณิตศาสตร์ 2 [คณิตศาสตร์สำหรับเด็กสายศิลป์] ที่ออกยากเกินเนื้อหา… พอเป็นอย่างนี้ นักเรียนก็ต้องอ่านหนังสือเผื่อมากขึ้น และครูต้องสอนอัดมากขึ้น”

ธีระยุทธ บุญมา

กำกวม-เฉลยผิด-ตอบได้หลายข้อ: ข้อผิดพลาดยอดฮิตในข้อสอบ

จากบรรดาข้อร้องเรียนในข้อสอบ 122 ข้อ พบข้อท้วงติงหลักคือ ‘คำถามผิดหรือกำกวม’ ปรากฏมากถึง 75 ข้อ ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนข้อสอบที่มีการร้องเรียนทั้งหมด นับว่าเป็นประเด็นที่พบเห็นได้แทบทุกวิชาสอบทั้งภาษาต่างประเทศ วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ โดยเฉพาะกลุ่มวิชาสายวิทย์จะมีข้อครหาในเรื่องการกำหนดตัวแปรที่ไม่ชัดเจน หรือโจทย์ระบุเงื่อนไขการพิสูจน์/คำนวณมาไม่ครบถ้วน จนเกิดของพิพาทในการหาคำตอบสมบูรณ์

ขณะที่ข้อท้วงติงรองลงมา พบว่าโจทย์บางส่วนอาจ ‘มีคำตอบที่ถูกต้องมากกว่า 1 ข้อ’ พบมากในวิชาภาษาอังกฤษ เนื่องจากบริบทของการใช้ภาษานั้นยืดหยุ่นไม่ตายตัว ทำให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมอยู่บ่อยครั้งว่าบางคำถามควรตอบได้มากกว่า 1 ข้อ

ในบางวิชาที่มีการเปิดเผยเฉลยคำตอบ เช่น ข้อสอบวิชาสังคมฯ O-NET ก็พบว่าข้อสอบนั้น ‘เฉลยคำตอบผิด’ อย่างเหตุการณ์ในปี 2559 ที่บรรดาติวเตอร์วิชาสังคมออกมาท้วงติงถึงเฉลยว่าผิดไปจากที่ระบุไว้ในตำราเรียน ทำให้สังคมเกิดความแคลงใจถึงคุณภาพข้อสอบว่าจะยึดโยงตามตำราเรียนในหลักสูตรหรือไม่ 

ธีระยุทธ เล่าว่า ปัญหาล่าสุดในปี 2567 พบข้อพิพาทอย่างหนัก เมื่อผู้เข้าสอบพบว่าวิชาแพทย์ที่ออกโดย กสพท. นั้นไปคัดลอกข้อสอบ BMAT (Biomedical Admission Test หรือข้อสอบวิชาแพทย์ภาคภาษาอังกฤษของเคมบริดจ์) ซึ่งอยู่ในข้อสอบพาร์ทเชาวน์ปัญญา 11 ข้อ สร้างความไม่เป็นธรรมในการสอบ เพราะอาจมีหลายคนที่เคยเห็นข้อสอบมาก่อน และสามารถทำคะแนนได้โดยง่าย โดยล่าสุดทาง กสพท. ได้แก้ไขปัญหาด้วยการตัดข้อสอบพาร์ทเชาวน์ปัญญาที่มีปัญหา ไม่นำมาคิดคะแนนรวม ซึ่ง ธีระยุทธ ก็มองว่า อาจทำให้เด็กที่ถนัดในพาร์ทเชาวน์ปัญญาเสียประโยชน์ไปโดยปริยาย

นอกจากนี้ยังมีอีก 4 เหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อข้อสอบทั้งฉบับ ได้แก่ 

  1. กรณีโปรแกรมตรวจคะแนนผิดพลาดในข้อสอบวิชา GAT ความถนัดทั่วไป (เชื่อมโยง) เมื่อปี 2553 
  2. กรณีการคำนวณคะแนนไม่ตรงตาม Blueprint ที่ได้แจ้งไว้ในข้อสอบวิชา TPAT3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์เมื่อปี 2565 
  3. กรณีการคำนวณคะแนนไม่ตรงตาม Blueprint ที่แจ้งไว้ในข้อสอบ TGAT3 สมรรถนะการทำงาน พาร์ทการสร้างคุณค่าและนวัตกรรมเมื่อปี 2567
  4. กรณีข้อสอบแบบคอมพิวเตอร์และแบบกระดาษได้โจทย์ไม่ตรงกันในข้อสอบ TPAT3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์เมื่อปี 2567

หากลองยื่นท้วงติง มีโอกาสเกือบ ‘ครึ่งหนึ่ง’ ที่หน่วยงานจะยอมรับผิด

จากข้อร้องเรียนถึงข้อสอบทั้ง 122 ข้อนั้น ไม่ได้หมายความว่าทุกข้อจะเป็นจริงตามที่ร้องเรียน แต่เป็นเพียงเสียงสะท้อนถึงความคลางแคลงใจของผู้เข้าสอบตลอดระยะเวลา 15 ปี สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือ แล้วหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง สทศ., ทปอ., และ กสพท. นั้นมีวิธีการรับมือหรือชี้แจงข้อร้องเรียนนั้นให้กระจ่างอย่างไรบ้าง 

จากข้อมูลพบว่า มีถึง 59 ข้อ (48.4%) ที่ทางหน่วยงานผู้ดูแลข้อสอบจะออกมายอมรับว่ามีข้อผิดพลาด และนำไปสู่แนวทางการแก้ไขบางอย่าง ขณะที่อีก 38 ข้อ (31.1%) ได้รับการยืนยันว่าข้อสอบไม่มีปัญหาแต่อย่างใด และอีก 25 ข้อ (20.5%) ยังไม่มีการชี้แจงจากทางหน่วยงานที่รับผิดชอบ 

หลังจาก ทปอ. ออกมายืนยันว่าจะมีการเปิดข้อสอบตั้งแต่ปลายปี 2567 ที่จะมีการสอบ TGAT/TPAT สำหรับ DEK68 อนุญาตให้ผู้สอบนำข้อสอบออกจากห้องสอบได้ และจะมีการเฉลยคำตอบ โดยไม่เฉลยวิธีทำภายใน 1 สัปดาห์หลังสอบ และจะจัดให้มีกระบวนการท้วงติงข้อสอบ เปิดโอกาสให้คนทั่วไปตรวจสอบคุณภาพของข้อสอบได้ ด้าน ธีระยุทธ มองว่า ด้วยกระบวนการนี้จะทำให้เกิดการ ‘ถ่วงดุลอำนาจ’ ระหว่างผู้ออกข้อสอบกับผู้เข้าสอบหรือประชาชน กล่าวคือ เมื่อข้อสอบไม่ถูกทำให้เป็นความลับ ผู้ออกข้อสอบก็จะรักษามาตรฐานคุณภาพข้อสอบมากขึ้น

การเปิดเผยข้อสอบต่อสาธารณะ ยังทำให้ครูและนักเรียนได้รู้จักกับหน่วยงานที่ออกข้อสอบมากขึ้น ไม่ได้มีความสัมพันธ์แบบ ผู้เข้าสอบ – ผู้วัดผล แต่ยังได้เป็นเจ้าของคลังข้อสอบอีกด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้นักเรียนได้ลองทำข้อสอบย้อนหลัง ให้ครูได้มีแนวข้อสอบไปออกแบบการสอน และผู้ปกครองอาจจะลดค่าใช้จ่ายในการส่งลูกเรียนกวดวิชาเพื่อให้ได้เข้าถึงคลังข้อสอบเหล่านั้น

“พอเปิดข้อสอบแล้ว คนออกข้อสอบต้องระวังมากขึ้น ต้องแคร์เสียงของสังคมมากขึ้น แต่ถ้าเขาไม่สนใจเลยมันก็จะย่ำอยู่กับที่ ดังนั้นแล้วสิ่งสำคัญคืออยากให้ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องเปิดใจฟัง Feedback เพราะทุกคนไม่ได้อยากจะโจมตีแต่อย่างใด แต่ต้องการให้คุณภาพข้อสอบพัฒนาไปในทางที่ดี” 

ธีระยุทธ บุญมา

กสพท. ตัดทุกข้อที่มีปัญหา ขณะที่ สทศ. และ ทปอ. มักยืนยันว่าไม่ผิด

เมื่อพิจารณาว่าแต่ละหน่วยงานที่ดูแลข้อสอบมีวิธีการจัดการข้อร้องเรียนอย่างไรบ้าง พบว่า ระหว่าง กสพท. และ สทศ. (รวมถึง ทปอ. ที่เข้ามาดูแลแทนในปีให้หลัง) มีแนวทางการจัดการข้อร้องเรียนที่ต่างกันชัดเจน  

สำหรับ กสพท. ที่ดูแลข้อสอบวิชาแพทย์ฯ​ ใช้วิธี ‘ตัด’ ข้อที่มีปัญหาออกทั้งหมด ไม่นำมาคิดคะแนนตั้งแต่แรก ทั้งกรณีในปี 2563 การพิมพ์ข้อสอบมีควาผิดพลาด ไม่ปรากฏคำถาม และกรณีในปีล่าสุด 2567 ที่ข้อสอบพาร์ทเชาวน์ปัญญาลอกมาจากข้อสอบ BMAT รวมข้อที่มีปัญหาทั้งสิ้น 18 ข้อ 

ส่วนด้าน สทศ. และ ทปอ. ไม่เคยมีการใช้วิธี ‘ตัด’ ข้อสอบที่มีปัญหาออก แต่โดยมากจะยืนยันว่าข้อสอบที่ออกไปนั้นไม่มีจุดบกพร่อง (38 ข้อ) หรือถ้ายอมรับว่าผิดจริง ส่วนใหญ่จะใช้วิธีแก้ไขปัญหาด้วยการ ‘ให้คะแนนฟรี’ (35 ข้อ) ในข้อที่มีปัญหาไปเลย และมีอยู่เพียง 2 ข้อ จาก 104 ข้อเท่านั้น ที่แก้ไขความผิดด้วยการปรับแก้ไขเฉลยใหม่ให้ถูกต้อง และคำนวณคะแนนใหม่ให้กับผู้เข้าสอบทุกคน ซึ่งก็คือกรณีการเฉลยคำตอบผิดในข้อสอบ PAT3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ ปี 2555 และข้อสอบ O-NET สังคมฯ ปี 2559

ธีระยุทธ ตั้งข้อสังเกตในกรณีนี้ว่า ด้วยวิธีการแก้ไขปัญหากันคนละแบบของแต่ละหน่วยงาน อาจสะท้อนถึงวิธีการคิดและการทำงาน วิธีอย่าง กสพท. นั้นมีความเด็ดขาด แต่จะสร้างแผลให้กับผู้สอบ ยกตัวอย่างเช่น กรณีการตัดข้อสอบปัญหาเชาวน์ทั้งหมด ทำให้เด็กที่ถนัดพาร์ทนี้เสียเปรียบมากกว่าผู้เข้าสอบรายอื่น ส่วนวิธีการแบบ สทศ. และ ทปอ. นั้น คือยอมแจกคะแนนฟรี เพราะถือว่ายกประโยชน์ให้ และทุกคนจะได้เสมอภาคถ้วนหน้ากัน แต่สิ่งสำคัญคือ เมื่อข้อสอบปรากฏว่าบกพร่องจริง แล้วหน่วยงานนั้นมีการถอดบทเรียนและนำไปปรับปรุงคุณภาพข้อสอบอย่างไรหรือไม่?

มองทางต่างประเทศ: รับผิดชอบอย่างไรเมื่อระบบสอบผิดพลาด?

แน่นอนว่าการออกแบบข้อสอบย่อมเกิดข้อผิดพลาดได้ เพียงแต่สังคมจะถอดบทเรียนอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้กรณีเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำอีก เพราะสุดท้ายผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดหนีไม่พ้น ‘ผู้เข้าสอบ’ ที่จะมีผลคะแนนติดตัวไปตั้งแต่ยื่นเข้ามหาวิทยาลัยและส่งผลไปตลอดชีวิตที่เหลือ โดย The Active ยก 4 กรณีตัวอย่างในการแก้ไขปัญหา จาก 4 ประเทศ

  1. ญี่ปุ่น – ปี 2023 เกิดข้อผิดพลาดในการให้คะแนนการสอบเข้าโรงเรียนมัธยมของรัฐ ในจังหวัดจิบะ ประเทศญี่ปุ่น ในการสอบเข้าฤดูใบไม้ผลิปีดังกล่าว มีข้อผิดพลาดในการให้คะแนนทั้งหมด 933 ครั้ง ในโรงเรียนมัธยมของรัฐ 98 แห่งในจังหวัดปริมณฑลใกล้กรุงโตเกียว พบการรายงานว่าผู้สมัครสอบ 6 ราย ได้รับแจ้งในทีแรกว่า ‘ไม่ผ่านการสอบ’ และทีหลังรับทราบว่า ‘สอบผ่าน’ 

    ด้านคณะกรรมการการศึกษาของจังหวัดได้ประกาศว่าจะลงโทษหรือตักเตือนครูใหญ่และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 196 คน ขณะที่ผู้อำนวยการคณะกรรมการการศึกษายินยอมที่จะหักหนึ่งในสิบของเงินเดือนตัวเองเป็นเวลาหนึ่งเดือน และนอกจากนี้จะมีการนำเอานวัตกรรมการตรวจข้อสอบใหม่ ๆ มาปรับใช้เพื่อลดข้อผิดพลาด
  1. สหราชอาณาจักร – ปี 2020 กระทรวงศึกษาธิการของสหราชอาณาจักรตัดสินใจยกเลิกการสอบวัดผลเพื่อยืนคะแนนเข้ามหาวิทยาลัย หรือข้อสอบ A-Level เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงตัดสินใจนำ Algorithm เข้ามาออกแบบและให้เกรดเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โดยอิงข้อมูลจาก 1) สถิติผลการเรียนของนร. ในโรงเรียน และ 2) การประเมินจากครูโดยตรง

    การตัดสินใจใช้ระบบดังกล่าว ส่งผลให้นักเรียนกว่า 2 แสนคน หรือราว 40% ได้เกรดต่ำกว่าที่ประเมิน และไม่สามารถยื่นศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้ โดยเฉพาะเด็กที่ด้อยโอกาส อยู่ในโรงเรียนที่ไม่พร้อม เด็กจะถูกกดคะแนนมากกว่านักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนที่พร้อมอย่างโรงเรียนเอกชน ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ออกมายอมรับ ขอโทษในข้อผิดพลาด และปรับให้การประเมินคะแนนอิงจากสัดส่วนการประเมินจากครูโดยตรงเท่านั้น
  1. แคนาดา – ปี 2019 นักเรียนแคนาดา Grade 12 ราว 30,000 คน ได้รับผลคะแนนสอบที่ไม่ถูกต้องจากการสอบคัดเลือกประจำรัฐ โดยทางการชี้แจงว่า อาจเป็นผลมาจาก ‘ข้อผิดพลาดของมนุษย์’ ที่โอนถ่ายข้อมูลคะแนนผู้เรียนอย่างผิดพลาด จนส่งผลต่อการยื่นคะแนนเข้าสถาบันอุดมศึกษา

    ภายใน 1 เดือนให้หลังเกิดเหตุ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ แคนาดา ได้ติดต่อกับสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งในแคนาดาและสถาบัน NCAA ในสหรัฐอเมริกา เพื่อยืนยันว่าใบสมัครของนักเรียนในช่วงฤดูใบไม้ร่วงจะไม่ได้รับผลกระทบจากข้อผิดพลาดดังกล่าว


  2. เกาหลีใต้ – ปี 2014 ในการสอบ ‘ซูนึง’ หรือการสอบเพื่อยื่นคะแนนเข้ามหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้ มีนักเรียนเข้าสอบกว่า 640,000 คน ผู้เข้าสอบพบข้อผิดพลาดในโจทย์ 2 ข้อด้วยกัน และยืนยันว่าคำตอบทั้ง 2 ข้อตอบได้มากกว่า 1 ตัวเลือก โดยศาลปกครองกรุงโซลตัดสินว่าโจทก์ผู้เข้าสอบเป็นผู้ชนะในการฟ้องร้อง

    เจ้าหน้าที่การศึกษายอมรับในข้อชี้แจงดังกล่าว และจะแก้ไขคะแนนให้ใหม่ซึ่งจะกระทบกับคะแนนนักเรียนหลายพันคน ขณะที่หัวหน้าคณะกรรมการสอบระดับชาติเสนอตัวลาออกเพื่อรับผิดชอบ ด้านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีใต้ออกมาขอโทษต่อการสร้างความสับสนให้ผู้เข้าสอบ และยืนยันว่าจะปรับปรุงคุณภาพข้อสอบให้รัดกุมมากขึ้น

อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

บัณฑิตจบใหม่คณะสื่อสารฯ ผู้เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล