เปิดแผลการศึกษาไทย ผลักดันสังคมร่วมเรียนรู้ กล้าเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง

“Education Journey 50 ปี การศึกษาไทย”

การมองปัญหาและความเจ็บของระบบการศึกษาไทย รวมถึงข้อเสนอแนะเพื่อหาทางออกให้สังคมไทยอยู่รอดได้ และสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางข้อจำกัด และความวิกฤตรอบด้านของสังคม คือโจทย์สำคัญที่ถูกหยิบยกมาสนทนาในงานประชุมวิชาการ “Education Journey 50 ปี การศึกษาไทย” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. และภาคีการศึกษา เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา

ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช, ศ.นงเยาว์ เนาวรัตน์, รศ.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม และวิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ คือ นักการศึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาและการเรียนรู้ ที่ร่วมสนทนาประเด็นสำคัญเหล่านี้ ชวนคุยโดยทพ.กฤษดา เรืองอารีรัชต์ ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership : TEP)

The Active สรุปประเด็นสำคัญของวงสนทนา

เปลี่ยนโครงสร้างการศึกษาใหม่ ต้องมาพร้อมความรักแท้

รศ.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มองว่า ความเจ็บปวดทางการศึกษา เกี่ยวข้องผลประโยชน์ของหลายภาคส่วนในสังคม และมีความซ้ำซ้อน การแก้เฉพาะระบบการศึกษาอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจการเรียนรู้ไปถึงระดับพื้นที่ แต่ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือเวลานี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการศึกษาไม่ได้มาเจอกัน “Learning Loop” ไม่ครบ ทำให้การศึกษาไปต่อได้ยาก

รศ.ปุ่น จึงฝากแนวคิดสำคัญในฐานะครู ว่าสำคัญที่สุดของการแก้ปัญหา คือ เจตนารมณ์ของความรุ่นเรา ต่อคนรุ่นไปต่อไปอย่างแท้จริง โดยเปรียบเทียบมายาคติเรื่องชาติ ที่ก่อนหน้านี้เราเคยมีมายาคติว่า เรารวมพลังกันถึงรอด แต่วันนี้อาจต้องเปลี่ยน เพราะมนุษย์ต้องศึกษาเรียนรู้เพื่ออยู่รอด แต่คำถามคือ อะไรคือโครงสร้างใหม่ที่ควรเกิดขึ้นบนข้อจำกัด เพราะหลายสัญญาณที่บอกว่า “เราพึ่งพาระบบเดิมไม่ได้แล้ว” เช่น เด็กที่มีทางเลือก แทบไม่มีใครส่งลูกเข้าสู่ระบบการศึกษาภาครัฐอีกแล้ว และเวลานี้สังคมไทยยังแยกการศึกษาทางเลือก ออกจากการเรียนรู้ทุกช่วงวัยอีกด้วย อาจารย์ย้ำว่าการแก้ปัญหาจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเปลี่ยน โครงสร้างทางการศึกษาใหม่ และมีเจตจำนงของความรักต่อคนรุ่นหลังอย่างแท้จริง

“เรามองการศึกษา เป็นแค่การศึกษาไม่พอ แต่ต้องมองการศึกษาว่าเป็นเครื่องมือทรงพลัง เพราะมัน คือ “มนุษย์”

วันนี้ชัดเจนว่า ระบบเดิมใช้ไม่ได้แล้ว ผมท้าทายว่า เราต้องหาระบบใหม่ เพราะโลกข้างหน้ามันโหดร้าย ถ้าเราไม่ช่วยกัน เราจะอยู่ไม่ได้จริง ๆ… ถ้ารักลูกหลานจริง คุณจะไม่อยากเห็นปรากฏการณ์ทางการศึกษาแบบวันนี้”

หน้าที่การศึกษา คือ ความยุติธรรมในสังคม การกระจายความมั่งคั่งในเชิงเศรษฐกิจ และทำให้ทุกคนเท่ากัน

ศ.นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุ “การศึกษาก็เป็นของแพง” ทำให้สังคมปฏิเสธไม่ได้ว่าความเหลื่อมล้ำของครอบครัวและเศรษฐกิจมีผลต่อชีวิต โอกาส และการพัฒนาของเด็ก ๆ การเรียนรู้ของคนชายขอบจึงเป็นอีกประเด็นที่น่าชวนสนทนาต่อในสังคมเพื่อขยับไปให้ถึงประสบการณ์ ความรู้สึกของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทางการศึกษา ที่ผ่านมาเด็กเยาวชนแทบจะไม่สนใจวิธีการสอนในห้องเรียน เพราะตอบไม่ได้ว่าเราได้ประโยชน์อะไรจากการศึกษา

“ผู้สอนไม่กล้าแม้แต่จะตั้งคำถามกับโครงสร้างสิ่งที่เราสอนนักเรียน ทั้งที่รู้ว่าไม่มีประโยชน์ แล้วทำไมถึงยังสอนแบบเดิม เหตุผลที่เราถอยไม่ได้ เพราะ ความรู้ของคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องวัดผลประเมินผล มันจะถูกกระทบกระเทือน เราจึงไม่กล้าสร้างความรู้ชุดใหม่ให้สถานศึกษาใช้ได้จริง” อาจารย์ย้ำว่า คนที่ตกอยู่ในสถานะนี้เป็นเหมือนคนที่ทำงานโดยไม่ได้เอาหัวใจเข้ามา เพราะรู้ว่าตัวเองอยู่ภายใต้วิธีคิดแบบอำนาจนิยม จารีตนิยม และไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะเข้าไปต่อสู้กับระบบอำนาจนิยมได้อย่างอาจหาญ จึงไม่ได้มองว่าการศึกษา คือ ความยุติธรรมในสังคม คือ การกระจายความมั่นคงเชิงเศรษฐกิจ และคนทุกคนต้องเท่ากันผ่านระบบการศึกษา

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเหลื่อมล้ำของครอบครัวและเศรษฐกิจ มีผลต่อชีวิตและโอกาสการพัฒนาของเด็ก การศึกษาของเด็กชายขอบจึงควรเป็นบทสนทนาในสังคม…

คนอยู่ในระบบอำนาจนิยม จะไม่มองการศึกษาเป็นความยุติธรรมในสังคม การกระจายความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และคนทุกคนต้องเท่ากันผ่านระบบการศึกษา”

อำนาจการศึกษา ใครเป็นเจ้าของ ?

วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการอิสระ ชวนเปลี่ยนวิธีคิด โดยมองว่า อำนาจการศึกษาอยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่อำนาจรัฐ ไม่ต้องรอให้ใครมากระจายอำนาจ แต่เราต้องเริ่มต้นลงมือทำเอง ที่ผ่านมาปัญหาการศึกษาซับซ้อนและหลากหลาย ทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำ คุณภาพการสอน ผู้นำการศึกษาที่ไร้ความรับผิดชอบ หรือแม้แต่หลักการเรียนการสอน อย่างหลักสูตรสมรรถนะที่หายไป เพราะไร้คนรับผิดชอบ และตั้งคำถามกับคนทำงานระดับกระทรวง หน่วยงานรัฐ เช่น ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่าเป็นผู้ที่ตั้งใจจะมาทำงานด้านการศึกษาจริง ๆ หรือไม่

ที่ผ่านมาระบบการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพเพราะบุคลากรทำตามหน้าที่ ไม่ได้ทำตามแรงปรารถนา โดยสรุป 3 สิ่งสำคัญที่วิริยะ ต้องการจะเห็นจากการศึกษา คือ

  • อยากเห็นห้องเรียน ที่เด็ก ๆ มีความสุข ความหวัง และมีความรู้ที่นำไปใช้ได้จริง
  • อยากเห็นห้องเรียนที่เด็กมีความสุข ความหวัง และมีความรู้ที่นำไปใช้ได้จริง
  • อยากเห็นโรงเรียนไม่มีรั้ว อยากเห็นการศึกษาเข้าสู่ผู้เรียน ไม่ใช่การให้ผู้เรียนเข้าห้องเรียน ระบบโรงเรียนเพียงอย่างเดียว

“เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เพราะอำนาจเปลี่ยนการศึกษาเป็นของเรา ไม่ใช่อำนาจรัฐ…

เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะทำให้การศึกษามีคุณภาพ เพราะรัฐทำตามหน้าที่ ไม่ได้ทำตามแรงปรารถนาสิ่งที่ผมอยากเห็นมากที่สุด คือ เด็กมีความสุข ความหวัง และนำความรู้จากห้องเรียนที่นำไปใช้ได้จริง อยากเห็นโรงเรียนที่ไม่มีรั้ว อยากเห็นการศึกษาเข้าสู่ผู้เรียน ไม่ใช่ให้ผู้เรียนเข้าสู่ห้องเรียน หรือ ระบบโรงเรียน”

เปลี่ยนแนวคิดการศึกษาต่างขั้ว เป็นพลัง สร้างการเปลี่ยนแปลง

ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานที่ปรึกษา คณะทำงานบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านการเรียนรู้ ระบุ สังคมไทยจำเป็นต้องหนุนแนวคิด “All for education” ให้ทุกฝ่าย ทุกส่วนช่วยกันสร้างให้เกิดการเรียนรู้ โดย ศ. นพ.วิจารณ์ ย้ำว่าที่ผ่านมาสังคมไทยทำอยู่แล้ว และมีโมเดลความสำเร็จที่หลากหลายที่รอการต่อยอดและหนุนเสริม โดยแต่ละการเรียนรู้จำเป็นเกิด VASK หมายถึง Value คุณค่า ค่านิยมในชีวิต หากให้ค่าผิดก็อาจจะนำชีวิตไปสู่เส้นทางเสื่อมได้, Attitude ทัศนคติ, Skill ทักษะ และ Knowledge ความรู้ที่ต้องวัดผลกระทบจากสิ่งที่เด็ก ๆ ได้รับ

ศ. นพ.วิจารณ์ ยังย้ำถึงภาพอนาคตทางการศึกษาที่อยากเห็นประกอบด้วย

  • การศึกษาไทยจะต้องก่อเกิดผลลัพธ์ที่มีคุณภาพต่อเด็ก
  • เปลี่ยนแบบอย่างการศึกษาจากการถ่ายทอด ความรู้สำเร็จรูป มาเป็นการเรียนผ่านประสบการณ์ตรง ใคร่ครวญ สะท้อนความคิด ตกผลึกเป็นหลักการและทดลองใช้ในสถาการณ์จริง เกิดเป็นการเรียนรู้ โดยแบ่งสัดส่วนการเรียนรู้ ทั้ง 2 ส่วน โดยเน้นการเรียนรู้ประสบการณ์มากกว่า
  • โรงเรียน และครู สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีวงจรการเรียนรู้ในโรงเรียนระหว่างเครือข่ายครู และโรงเรียนกันได้

ศ. นพ.วิจารณ์ ย้ำถึงความจำเป็นในการทำงานร่วมกัน ระหว่างขั้วความคิดทางการศึกษาซึ่งไม่ต้องการให้มองฝ่ายสร้างนวัตกรรม และฝ่ายการวางระบบเป็นศัตรู แม้จะตั้งตัวกันอยู่คนละทิศ ทำงานคนละแบบ แต่นี่จะกลายเป็นเครื่องมือที่ย้อนแย้งแต่เสริมพลังกันได้ เป็นพลังของการเรียรู้ร่วมกัน เพราะไม่เฉพาะการเรียนรู้ของเด็กเยาวชน แต่พวกเราทุกคนต้องเรียนรู้ “Experiential learning : การเรียนรู้จากประสบการณ์เดิมเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ เป็นคุณสมบัติของการเรียนรู้ทุกระดับ การเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบก็ใช้วิธีการเดียวกัน” ศ. นพ.วิจารณ์ กล่าวทิ้งท้าย

“ต้องไม่มองฝ่ายสร้างนวัตกรรม ฝ่ายวางระบบเป็นศัตรูกัน แม้จะตั้งตัวกันคนละทิศ ทำงานกันคนละแบบ แต่ควรเป็นเครื่องมือที่เสริมพลังกันได้ เป็นพลังแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา”

การศึกษา

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน