ในเดือนพฤศจิกายนนี้ประเทศไทยกำลังจะเริ่มเข้าสู่ “ปรากฏการณ์ลานีญา” และต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษนับจากนี้ต่อไปอีก 3 เดือน เพราะมีความเสี่ยงต้องเผชิญทั้งลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ, ร่องมรสุมแช่ตัว, หย่อมความกดอากาศต่ำจากบอร์เนียว และการก่อตัวของพายุ ที่จะทำให้ฝนตกหนักและนาน
สอดรับกับที่กรมทรัพยากรธรณีระบุว่า มีกว่า 603 ชุมชน ใน 531 ตำบลทั่วทั้งภาคใต้ เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม ดังนั้นในแต่ละพื้นที่จึงต้องเฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมรับมือตั้งแต่วันนี้
ประเด็นเหล่านี้ถูกหยิบยกนำมาพูดคุยในวงเสวนา “Policy Forum ครั้งที่ 23 : เตรียมพร้อมภาคใต้รับมือภัยพิบัติ” ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น สร้างความตื่นตัวและขยายความร่วมมือระหว่างชุมชน นำไปสู่ข้อเสนอระดับนโยบายเพื่อป้องกันและรับมือภัยพิบัติได้อย่างเป็นระบบ
3 คำถามใหญ่ ที่ต้องตอบให้ได้ก่อนภัยมา
“นครศรีธรรมราช และสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นพื้นที่เคยเกิดภัยพิบัติมาแล้ว และมีสภาพหินเป็นแกรนิตที่ผุพัง ถ้าโดนปริมาณน้ำฝนเกินกว่าปกติ ถล่มแน่นอน ดังนั้นฝนมาเมื่อไรคือพินาศ การประเมินสถานการณ์จึงต้องประเมินกรณีสูงสุด (Worst-case scenario) ซึ่งจำเป็นมาก”
สุวภาคย์ อิ่มสมุทร รองอธิบดีกรมทรัพยาธรณี
หลักการในการจัดการภัยพิบัติ แบ่งออกเป็น 3 ช่วงตอน คือ ก่อนเกิดเหตุ การเผชิญเหตุ และการฟื้นฟู แต่สำคัญที่สุดคือช่วงของการ “การเผชิญเหตุ” ที่จะต้องตอบ 3 คำถามสำคัญให้ได้ คือ
- จะหนีเมื่อไหร่ ? – อะไรเป็นเงื่อนไขของการหนี ประเมินความเสี่ยงอย่างไร และใครต้องเป่านกหวีด ตัดสินใจว่าต้องหนีแล้ว
- จะหนีอย่างไร ? – จัดการ อพยพคนอย่างไร และจะมีแผนการย้ายผู้เปราะบางกลุ่มต่าง ๆ ก่อนหลังอย่างไร
- จะหนีไปไหน ? – พื้นที่ปลอดภัย ที่ทุกคนรับรู้ มีระบบจัดการรองรับ
“การศึกษาการจัดการภัยพิบัติที่ใต้ ร่วม 20 ปี สิ่งสำคัญที่สุดคือคนที่ประสบภัยต้องมีโอกาสในการจัดการตัวเอง และตอบ 3 คำถามนี้ให้ได้”
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดินโคลนถล่ม ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
หนีเมื่อไหร่?
เวลาพูดถึงน้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม “รศ.สุทธิศักดิ์” ย้ำว่าสถานการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องของ “การสุ่มเกิด” แม้การเตือนภัยจากส่วนกลางจะดีแค่ไหน แต่ก็ไม่อาจการันตีได้อย่างแม่นยำว่าภัยพิบัติจะเกิดขึ้นในจุดใดจุดหนึ่ง ดังนั้น “ชุมชน” ที่อยู่ใกล้ชิดสถานการณ์ที่สุด จึงมีบทบาทสำคัญในการประเมิน และ “เป่านกหวีด” ตัดสินใจว่าหนี เมื่อมีประกาศเตือนภัยมา
สิ่งแรกที่ชุมชนต้องมีคือ “ความรู้” ทั้งเรื่องระดับน้ำฝน มากเกินปริมาณเท่าไรถือว่าอันตราย, พื้นที่เสี่ยง จุดใดในชุมชนเสี่ยงต่อน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มบ้าง และสัญญาณบอกเหตุในพื้นที่ เช่น น้ำมีสีขุ่น มีเสียงดังผิดปกติจากภูเขา ระดับน้ำของลำธารที่ลดลงอย่างรวดเร็ว หรือเกิดหลุมดินยุบตัว
โดยต้องดูข้อมูลผ่าน “เครื่องมือในการประเมินสถานการณ์” จากอุปกรณ์ของชุมชนเองและหน่วยงานราชการ
- ข้อมูลจากกระบอกวัดปริมาณน้ำฝนที่ระบุระดับการเฝ้าระวังและอพยพ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ชาวบ้านสามารถจัดหาได้ง่ายและใช้ไม่ยาก
- แพลตฟอร์มดูสภาพภูมิอากาศ น้ำ และปริมาณฝน
- แหล่งเช็กความเสี่ยงของพื้นที่
- เว็บไซต์ของกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) (คลิก)
- หรือขอข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) ของแต่ละจังหวัดโดยตรง
ทั้งนี้ทั้งหมดจะต้องมี“ระบบการสื่อสารแจ้งเตือน” ที่ชัดเจน เข้าใจง่าย และเข้าถึงได้ เชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานส่วนกลางกับสื่อที่เป็นศูนย์กลางการสื่อสาร และชุมชน เพื่อทำให้ข้อมูลเชิงลึกกลายเป็นข้อมูลเชิงรุกที่ส่งตรงลงไปถึงชุมชนได้เร็วและมีประสิทธิภาพ
หนีอย่างไร ?
เมื่อสัญญานเตือนดัง นั่นหมายความว่าเรามีเวลาไม่กี่ชั่วโมงเพื่อหนี แต่จะจัดการอย่างไรให้เร็ว รอด และปลอดภัย ดังนั้น ชุมชนต้องมีแผนอพยพและซักซ้อมเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 – 3 ครั้ง เพื่อทบทวนความจำและปฏิบัติให้คุ้นชิน โดยชุมชนต้องมี
- จุดรวมพล พื้นที่ปลอดภัยที่ชุมชนทุกคนรับรู้ สามารถใช้รองรับการอพยพได้
- อุปกรณ์และเครื่องมือ เช่น เรือ รถ เสื้อชูชีพ เชือก เลื่อยยนต์
- แผนที่ชุมชน ที่มีข้อมูลพื้นที่เสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง เพื่อสร้างความตื่นตัวให้ครัวเรือนและส่งต่อให้อาสาสมัครเข้าช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
- เส้นทางหนี ควรมีเส้นทางหลัก เส้นทางรอง และเส้นทางรองที่ 2 เพื่อรองรับภัยพิบัติที่เกินจะคาดเดา
มีแผนอพยพแล้วต้องอย่าลืม “แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในชุมชน” ด้วย เพื่อป้องกันความสับสนและการทำงานซ้ำซ้อน จนการเคลื่อนย้ายล่าช้า ชุมชนจึงต้องหาข้อตกลงร่วมกันว่าใครจะทำอะไรบ้างเมื่อภัยพิบัติมา เช่น ใครทำหน้าที่ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง และใครทำหน้าที่ประสานงาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ประสานงานกันเองภายในชุมชน และประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เพื่อให้แผนนี้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ที่ทำให้การซักซ้อมยังมีข้อจำกัด คืออุปสรรคเรื่องงบประมาณ ที่นับวันยิ่งได้รับการจัดสรรน้อยลง แม้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช จะจัดอบรมให้คนนับพันคน หรือพัฒนาการจัดการภัยพิบัติให้กับสมาชิกเครือข่ายไปแล้ว 60 ชุมชน แต่ก็เป็นเพียงแค่ส่วนที่น้อยมาก
“มากกว่า 600 หมู่บ้านในภาคใต้ตกอยู่ในความเสี่ยงเกิดภัยพิบัติ แต่ปัญหาใหญ่คือชุมชนไม่มีโอกาสได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะ แม้มีการดำเนินงานของ ปภ.ที่ดี แต่ปีหนึ่งกรมอนุมัติมา 20 ชุมชน แล้วประเทศไทยมีอยู่ 20,000 ชุมชน ก็ประมาณสัก 1,000 ปี ถึงจะเสร็จ นโยบายรัฐจึงต้องให้ความสำคัญด้วย”
ผญ.โกเมศร์ ทองบุญชู เครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช
หนีไปไหน ?
สุดท้ายคือการตอบคำถาม ว่าจะหนีไปที่ไหน การจัดหาสถานที่ปลอดภัยสำหรับใช้เป็น “ศูนย์อพยพ” ส่วนหนึ่งอาจใช้ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงของกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ได้ แต่ทั้งนี้ก็อาจมีสถานที่ปลอดภัยที่ชุมชนรับรู้กันทุกคน แต่ส่วนกลางยังเข้าไม่ถึง
ดังนั้น “ชุมชน” จะต้องกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นที่นัดหมายให้หน่วยงานภายนอกเข้ามาช่วยเหลือ จัดตั้งศูนย์อพยพ ครัวกลาง และโรงพยาบาลสนาม
มากกว่านั้นยังต้องมีระบบจัดการรองรับที่ดีด้วย ซึ่งควรวางแผนเรื่องการดูแลผู้ประสบภัยในศูนย์อพยพทุกมิติ และเชื่อมต่อ (Matching) ความช่วยเหลือระหว่างอาสาสมัครและผู้ประสบภัย เพื่อจะได้เห็นว่าจุดไหน หรือใครได้รับความช่วยเหลือแล้ว และยังมีจุดไหนที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออีกบ้าง
ภาคใต้กำลังเข้าสู่ “สังคมเสี่ยงภัย” หรือภัยพิบัติเต็มรูปแบบครอบคลุมทุกพื้นที่ การเชื่อมโยงชุมชน ให้เข้าถึงข้อมูลการแจ้งเตือนได้ รวมถึงการเร่งเติมทักษะ ความรู้ แผนอพยพ เครื่องมืออุปกรณ์พื้นฐานในการรับมือน้ำท่วมดินถล่มจึงถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อทำให้คนในพื้นที่ประสบภัย มีโอกาสและศักยภาพในการรับมือและจัดการตัวเองได้ ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียในทุกมิติให้ได้มากที่สุด