รัฐบาลเศรษฐา: จากวันแรกสู่วันสุดท้าย โลกออนไลน์พูดถึงนโยบายอะไรบ้าง

ภายหลังศาลรัฐธรรนูญมีคำวินิจฉัยให้ เศรษฐา ทวีสิน พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปมแต่งตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี สะท้อนการไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง มีลักษณะต้องห้าม โดยให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา ส่งผลให้การดำเนินงานของรัฐบาลเศรษฐาสิ้นสุดลง ซึ่งต่อมา แพทองธาร ชินวัตร ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ คนที่ 31 ของประเทศไทย

รัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ เศรษฐา มีอายุเพียง 11 เดือนเศษเท่านั้น แต่ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ขวบดี มีนโยบายต่าง ๆ เกิดขึ้นมามากมาย ซึ่งได้รับเสียงตอบรับทั้งคำชื่นชม รวมไปถึงคำวิจารณ์ต่าง ๆ จากทั้งโลกออนไลน์และโลกความเป็นจริง

The Active รวบรวมข้อมูลจาก Zocial Eye ซึ่งเป็นเครื่องมือ Social Listening ย้อนดูว่าในระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อ 11 ก.ย. 2566 จนถึงวันที่ต้องร่ำลาจากตำแหน่งนายกฯ ตามคำวินิจฉัย เมื่อ 14 ส.ค. 2567 นโยบายไหนได้จับจองพื้นที่ในโลกโซเชียลอย่างไรบ้าง

โดยจัดอันดับนโยบายที่ได้ยอดเอ็นเกจเมนต์ (ยอดกดดู ไลก์ แชร์ และคอมเมนต์รวมกัน) สูงที่สุดบนโลกออนไลน์ 10 อันดับแรก ดังนี้

นโยบาย

1. ซอฟต์พาวเวอร์ (31,596,383 เอ็นเกจเมนต์)

ไม่น่าแปลกใจที่ติดในอันดับที่ 1 เนื่องจากเป็นคำที่ถูกพูดถึงอย่างมากในบริบทต่าง ๆ ในช่วงแรกที่รัฐบาลมีการประกาศนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ออกมามีการตั้งคำถามจากผู้คนมากมายว่า “ซอฟต์พาวเวอร์คืออะไรกันแน่ ?” ทั้งจาก ธิติ ศรีนวล ผู้กำกับหนังสัปเหร่อ (หนึ่งในหนังที่รัฐบาลชูว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย) และจากผู้คนบนโลกออนไลน์เองก็ตาม

ภายหลังบริบทของคำนี้ก็ยังไม่ได้ถูกทำให้ชัดเจนว่าตกลงแล้วคืออะไรกันแน่ แต่ก็มีการนำคำนี้ไปใช้กับสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยทั้งแบบเดิมที่อยู่ในภาพจำอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการที่รัฐสนับสนุนและเห็นชอบว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทย เช่น มวยไทย ชุดไทย อาหารไทย เทศกาลสงกรานต์ กางเกงช้าง และแบบที่มีความร่วมสมัยมากขึ้น โดยในแบบนี้จะมีการพูดถึงตามกระแสในแต่ละเดือน และมีจำนวนการพูดถึงเยอะมากกว่า เช่น พี่จอง-คัลแลน ศิลปิน LISA และเพลง Rockstar เพลงลูกทุ่ง ซีรีส์วาย-ยูริ หมาจรจัด หรือแม้กระทั่ง sex worker เองก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีแค่เสียงชื่นชมว่าอะไรเหมาะสมเป็นซอฟต์พาวเวอร์บ้าง ในบางกรณีก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมเช่นกัน ยกตัวอย่างกรณี ททท. จัดแข่งบันทึกสถิติโลกในด้านต่าง ๆ เพื่อผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย เช่น แข่งใส่การเกงช้างให้ได้มากที่สุดใน 1 นาที ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม

หรือกรณีชุดทีมพิธีการเข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ลักษณะเสื้อผ้าไหมสีฟ้าและมีลายที่กระดุม ก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความสวยงาม ประชดประชันว่าสะท้อนความเป็นไทยที่เป็นไทยจริง ๆ จนภายหลังคณะกรรมการโอลิมปิกประเทศไทยก็ได้มีการเปลี่ยนชุดเข้าร่วมเป็นแทร็คสูทสีน้ำเงินลายบ้านเชียงแทน

ติดตามนโยบาย นโยบายซอฟต์พาวเวอร์

2. ดิจิทัลวอลเล็ต (28,935,007 เอ็นเกจเมนต์)

หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ส่วนใหญ่มาจากการพูดถึงในเชิงวิจารณ์หน้าบ้านโครงการที่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในแต่ละเดือน เช่น การเลื่อนวันที่จะแจกเงินหมื่น (จากเดิมที่เคยตั้งเป้าไว้ว่าจะได้ช่วงเดือน ก.พ. ก็เลื่อนไปเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ และเลื่อนอีกครั้งเป็นช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2567) หรือเงื่อนไขของของที่ซื้อได้ (ที่ไม่สามารถจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเทอม หรือซื้อสมาร์ทโฟนได้) รวมถึงวิพากษ์กรณีร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 สามารถเข้าร่วมโครงการได้

รวมไปถึงหลังบ้านโครงการ เช่น แหล่งที่มาของรายได้ (จากตอนแรกที่บอกว่าจะไม่กู้เงิน สู่ความเป็นไปได้ที่มี พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท และอยู่ในรูปแบบของ พ.ร.บ.งบประมาณ แทน)

นอกเหนือจากการวิจารณ์นโยบายอย่างเผ็ดร้อนบนโลกออนไลน์ หนึ่งในเนื้อหาที่ได้รับความสนใจสูงในนโยบายนี้กลับไม่ใช่การวิจารณ์นโยบาย แต่คือคลิปวิดีโอสั้น ๆ บนแพลตฟอร์ม TikTok ที่อธิบายความคืบหน้าโครงการ และสอนวิธีลงทะเบียนในแอปทางรัฐ สะท้อนให้เห็นถึงกลุ่มคนที่สนใจและตั้งใจรอรับเงินหมื่นจริง ๆ

ติดตามนโยบาย ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

3. สมรสเท่าเทียม (5,216,147 เอ็นเกจเมนต์)

หนึ่งในนโยบายที่สำเร็จไปเรียบร้อยของรัฐบาลเศรษฐา คนที่พูดพูดถึงส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อให้ผู้มีความหลากหลานทางเพศมีสิทธิเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิง ส่วนใหญ่มีการพูดถึงการติดตามนโยบายเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่วันแรกที่เข้าสภาฯ จนถึงวันสุดท้ายที่ผ่านสภาฯ

โดยเริ่มต้นการเดินทางวันที่ 21 ธ.ค. 2566 เมื่อสภาฯ มีการอภิปรายและโหวตรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั้ง 4 ฉบับในวาระที่ 1 ตามมาด้วยการแต่งตั้ง กมธ. ในวาระที่ 2 ซึ่งก็ถูกตั้งคำถามว่า กมธ.สัดส่วนพรรคเพื่อไทยไม่มีผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นเพศกำเนิดหญิง เช่น เลสเบี้ยน (Lesbian) แซฟฟิก (Sapphic) หรือผู้ที่เป็นนอนไบนารี (Non-Binary) อยู่เลย จนกระทั่งในวันที่ 27 มี.ค. 2567 สภาฯ ก็ได้ผ่านในวาระ 3 ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณา ท่ามกลางข้อกังขาถึงสิทธิ์ในการเลี้ยงดูบุตรของกลุ่มคนเพศหลากหลายที่ร่างดังกล่าวยังไม่ได้ให้ไว้

จนกระทั่งในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นเดือนไพรด์ (Pride Month) เฉลิมฉลองความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567 กฎหมายดังกล่าวก็ผ่านวุฒิสภาในวาระที่ 3 ประตูสู่ความเท่าเทียมเปิดออกอ้าแขนรับกลุ่มคนเพศหลากหลาย นำพาประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย และประเทศแรกในอาเซียนที่จะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม

นอกเหนือจากการพูดถึงกฎหมายสมรสเท่าเทียมโดยตรงแล้ว มีการพูดถึงกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคทางเพศด้วย เช่น เหตุการณ์สภาฯ ปัดตกร่าง พ.ร.บ.คำนำหน้านาม ทำให้หลายคนเสียดายที่ผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่กลับปัดตกร่าง พ.ร.บ.คำนำหน้านามทิ้ง หรือกรณีแก้กฎหมายฟ้องชู้ เพื่อให้เท่าเทียมทั้งชายหญิงนั่นเอง

ติดตามนโยบาย สมรสเท่าเทียม

4. แก้หนี้ (5,216,147 เอ็นเกจเมนต์)

ถือหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่ได้ประกาศไว้ตอนแถลงนโยบายต่อรัฐสภา มีการพูดถึงอย่างมากในช่วง 4 เดือนแรกของการเป็นรัฐบาล (เดือน ก.ย. – ธ.ค.) จากการที่รัฐบาลประกาศนโยบายแก้หนี้ในหลายด้านตั้งแต่ช่วงแรกของการเป็นรัฐบาล เช่น หนี้ครู หนี้นอกระบบ หนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะหนี้เกษตรกร ที่รัฐบาลประกาศพักหนี้เกษตรกร 3 ปี เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2567

ติดตามนโยบาย แก้หนี้นอกระบบ

5. ลดค่าพลังงาน (4,578,923 เอ็นเกจเมนต์)

เป็นอีกหนึ่งนโยบายเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ถูกพูดถึงอย่างมากตั้งแต่วันแรก ๆ ที่มีมติครม. จากการที่ ครม. มีมติลดราคาพลังงานหลายครั้ง จนเหลือ 3.99 บาท/หน่วย ในงวด ก.ย. – ธ.ค. 2566 และหลังจากนั้นมีการตรึงราคาค่าไฟฟ้าอีก 3 งวด (ตั้งแต่ ม.ค. – ธ.ค. 2567) ที่ 4.18 บาท/หน่วย

ติดตามนโยบาย ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงงาน

6. ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ (3,592,041 เอ็นเกจเมนต์)

สนใจการประกาศของเศรษฐา ทวีสิน ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ให้เร็วที่สุด โดยมีการอนุมัติขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2-16 บาททั่วประเทศในวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ซึ่งก็ยังไม่ถึง 400 บาท/วันอยู่ดี ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก ตามมาด้วยการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ในกิจการโรงแรม 4 ดาวขึ้นไป ใน 10 จังหวัด ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าธุรกิจดังกล่าวมีการให้ค่าแรงมากกว่า 400 บาทต่อวันอยู่แล้ว และการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ในวันที่ 1 ต.ค. 2567

มีการพูดถึงกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เหตุการณ์สภาฯ รับหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับ วรรณวิภา ไม้สน พรรคก้าวไกล และฉบับ วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ พรรคภูมิใจไทย แต่กลับปัดตก 1 ฉบับซึ่งคือ ฉบับ เซีย จำปาทอง พรรคก้าวไกล นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่เสนอนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท แต่กลับตีตกกฎหมายเพื่อให้ได้แรงงานราคาถูก และมีการย้ำในโลกออนไลน์ว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นสิ่งจำเป็น

ติดตามนโยบาย ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

7. แก้รัฐธรรมนูญ (3,510,908 เอ็นเกจเมนต์)

หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลอีกนโยบาย ในช่วงแรกของการเป็นรัฐฐาล ชาวโซเชียลให้ความสนใจกับการเปลี่ยนจุดยืนแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาล และกรณีสภาฯ คว่ำญัตติเสนอทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2566

มีการเว้นช่วงไปเป็นระยะเวลาหลายเดือน กระแสการพูดถึงการทำรัฐธรรมนูญใหม่กลับมาอีกครั้งในวันที่ 23 เม.ย. 2567 เมื่อ ครม. เคาะทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง กำหนดคำถามประชามติรอบแรกว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” และไม่กำหนดคำถามประชามติเกี่ยวกับการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

หนึ่งในเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจก็คือ กรณี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์ข้อความเนื่องในวันครบรอบ 10 ปี คสช. รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2567 ในโพสต์ระบุหวังเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่พาประเทศกลับสู่หนทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ติดตามนโยบาย แก้รัฐธรรมนูญ

8. พ.ร.บ.อากาศสะอาด (3,425,748 เอ็นเกจเมนต์)

ช่วงแรก ๆ ของการเข้ารับตำแหน่งรัฐบาลเป็นช่วงใกล้ฤดูฝุ่นพอดี โดยเฉพาะสถานการณ์ฝุ่นในจังหวัดภาคเหนือ ช่วงต้นปี 2567 ที่รุนแรง และการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดของอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่หลายราย นำไปสู่การเรียกร้องแก้ปัญหาฝุ่น และสนับสนุนให้มี พ.ร.บ.อากาศสะอาด

นอกจากการเรียกร้องยังมีการติดตามการออกกฎหมาย เช่น พูดถึงและแสดงความยินดีกรณีสภาฯ รับร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดทั้ง 7 ฉบับ เมื่อ 17 ม.ค. 2567 โดยมีการพูดถึงอย่างมากถึงประมาณเดือน เม.ย. เท่านั้น เนื่องจากหลังจากเดือนนั้นสถานการณ์ฝุ่นก็เบาบางลงตามฤดู ความสนใจของผู้คนบนโลกโซเชียลก็น้อยตาม

ติดตามนโยบาย พ.ร.บ.อากาศสะอาด

9. บริหารจัดการน้ำ (3,414,773 เอ็นเกจเมนต์)

จากสภาวะอากาศสุดขั้วทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งตามมา โดยผู้คนบนโลกออนไลน์เน้นไปที่การพูดถึงเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมเป็นหลัก และการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม

นอกจากนี้ โลกโซเชียลมีการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด เช่น พื้นที่ภาคอีสาน ช่วงเดือน ต.ค. 2566 พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ช่วงเดือน ธ.ค. 2566 และในหลายจังหวัดช่วงเดือน พ.ค. – ก.ค. 2567
ติดตามนโยบาย บริหารจัดการน้ำ

10. แลนด์บริดจ์ (2,725,492 เอ็นเกจเมนต์)

นโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมนี้ ถูกพูดถึงในด้านความคืบหน้าและด้านที่ถูกคัดค้านเป็นส่วนใหญ่ โดยถูกพูดถึงเยอะช่วงประมาณเดือน ม.ค. – ก.พ. 2567 เช่น กรณี สส. พรรคก้าวไกล 4 รายลาออกจาก กมธ.แลนด์บริดจ์ ตามด้วย กมธ. เห็นชอบรายงานผลการศึกษาฯ เหตุการณ์ครม.สัญจร ลงพื้นที่จังหวัดระนอง มีชาวบ้านในพื้นที่ออกมาคัดค้านโครงการ หรือเหตุการณ์อภิปรายรายงานการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ของกมธ.วิสามัญฯ โดยพรรคฝ่ายค้านชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดของโครงการ ก่อนที่สุดท้ายสภาฯ จะมีมติเห็นชอบรายงาน
ติดตามนโยบาย แลนด์บริดจ์

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามกันต่อไปว่า นโยบายเหล่านี้จะสานต่อหรือไม่ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือจะยกเลิกหรือไม่ เมื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ย้ายไปอยู่ที่แพทองธาร ชินวัตร


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

ชญาดา จิรกิตติถาวร

เปรี้ยว ซ่า น่ารัก ไม่กินผัก ไม่กินเผ็ด