เสียงจาก “อานนท์ นำภา” ก่อนวันที่ถูกเรียกคืนอิสรภาพจากคำพิพากษาคดี ม.112
“ผมเชื่อว่าทุก ๆ สิ่งที่ผมและเพื่อน ๆ ทำกันมาเป็นความหวังดีต่อสังคม เป็นประชาธิปไตย มีสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค ทุกคนไม่เสียใจกับทุกอย่างที่เสียไป และถ้าเราถูกจำกัดบทบาทด้วยการขังคุก ก็ให้ถือว่าสิ่งที่เราทำคือดีที่สุดแล้ว อยากให้คนที่อยู่ข้างนอกได้ทำมันต่อ เพื่อก้าวไปสู่สังคมที่ศิวิไลซ์กว่า ให้คิดถึงวันแรกที่ร่วมทำมาด้วยกัน จนมาถึงวันนี้พวกเราได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว ที่เหลือทุกคนก็ต้องทำต่อไป”
เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 ศาลอาญาสั่งจำคุก “อานนท์ นำภา” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 4 ปี ปรับ 20,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา จากกรณีปราศรัยในการชุมนุมทางการเมือง 14 ตุลาคม 2563 ถือเป็นการเริ่มนับ 1 ของการถูกเรียกคืนอิสรภาพ ต้องเดินกลับเข้าเรือนจำ ในคดี ม.112 คดีแรก จากทั้งหมด 15 คดี ที่เจ้าตัวตกอยู่ในฐานะจำเลย
ย้อนกลับไปไม่กี่วันก่อนหน้านั้น The Active สนทนากับ “อานนท์ นำภา” ในช่วงเวลาของการเตรียมตัว และนับถอยหลังสู่การเดินกลับเข้าเรือนจำ ทั้งในฐานะหัวหน้าครอบครัว และ “พ่อ” ที่ต้องส่งต่อภาระหน้าที่ในการดูแลครอบครัวและลูกวัยกำลังเติบโตทั้ง 2 คนให้กับภรรยา รวมถึงการสะสางงานในอาชีพทนายความที่ตัวเขาเองยังติดค้างการทำหน้าที่ว่าความในคดีด้านสิทธิมนุษยชน และคดีทางการเมืองอีกจำนวนไม่น้อย
ขณะเดียวกัน ในฐานะหนึ่งในผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง เขายังสื่อสารไปถึงกลุ่มผู้ร่วมทางให้ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดต่อไป พร้อมฝากข้อความถึงสังคมไทย “อย่าลืม” ความสูญเสีย ใช้อดีตเป็นบทเรียนเพื่อนำพาประเทศไทยไปต่อ รวมถึงนักการเมือง และผู้มีอำนาจ ต้องกลับมาอยู่ในร่องรอยของกฎหมาย หยุดขยายอำนาจจนไปทำลายนิติรัฐ
เตรียมตัว เตรียมใจ ก่อนกลับเข้าสู่เรือนจำ กับ ‘ห่วง’ หน้าที่ความเป็นพ่อ และหัวหน้าครอบครัว
“เราทราบล่วงหน้ามาตั้งแต่แรกว่าจะมีการฟังคำพิพากษาคดี 112 วันที่ 26 กันยายน เตรียมตัวมาตลอด 2-3 สัปดาห์ก่อนคือเตรียมการดูแลครอบครัว หารายได้ให้กับครอบครัว ให้แม่ที่อยู่ต่างจังหวัดมาดูแลในบางครั้ง ซึ่งก็คงเป็นปัญหาอยู่แต่สักพักก็คงชิน คือเราโตมา และเรามีความสัมพันธ์กันในช่วงการต่อสู้มาโดยตลอด ช่วงปี 62 ผมออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคนอยากเลือกตั้ง แฟนผมก็ทำงานด้วยกันมา ดังนั้นเรื่องการต่อสู้และรายจ่ายของชีวิตที่เกิดจากการต่อสู้ คือทุกคนรู้รับทราบและยอมรับมัน”
ช่วงชีวิตที่ผ่านมาของอานนท์ วนเวียนอยู่กับการโดนจับ ครอบครัวต้องขึ้นโรงพักไปประกันตัว รวมถึงกรณีที่คนอื่นถูกจับกุม เขาก็ต้องไปว่าความ ไปประกันตัวและร่วมสอบสวน ทำให้เขาและครอบครัวเริ่มเห็นและเข้าใจกลไกเหล่านี้ กระทั่งปี 2563 ที่ตัวเขาถูกจับและถูกนำตัวเข้าเรือนจำ เปรียบเหมือนเป็นการ “ซ้อมใหญ่ติดคุก” มาถึง 4 ครั้ง ซึ่งตัวเขาเองและครอบครัวต้องยอมรับและแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน
“ทั้งผมและภรรยาก็ทำงานทั้งคู่ รายได้ก็พอ ๆ กัน รายได้ของผมต่ำกว่าด้วยซ้ำเพราะว่าผมเป็นทนายด้านสิทธิมนุษยชน คือเราไปช่วยคดี รายได้ก็จะเป็นต่อวัน ไปขึ้นศาลครั้งหนึ่งก็ได้เบี้ยเลี้ยง หรือคดีที่เขาให้เป็นค่าใช้จ่ายรวม ในส่วนของภรรยาผมก็ทำงานประจำ โดยส่วนตัวก็ทำนา มีข้าวจากนาของตัวเอง ก็ทำให้ประหยัดไปได้
ในแง่ด้านเศรษฐกิจผมไม่ค่อยเป็นห่วงมากเท่าไหร่ เพราะมันมีช่องทางที่สามารถแก้ไขปัญหาไปได้ แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือเรื่องการจัดการในครอบครัว ใครจะไปรับส่งลูกคนโตไปโรงเรียน แล้วลูกคนเล็กก็กำลังจะ 1 ขวบ กำลังซน แต่มันก็ต้องแก้ปัญหาไป แต่ที่หวังจริง ๆ ก็คือ คดีแบบนี้จะสามารถเข้าถึงสิทธิ์การประกันตัว ซึ่งตอนนี้หลายคดียังไม่ถึงที่สุด แต่ก็ยังไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว”
และเมื่ออานนท์ต้องรับบทเป็นทั้งทนายความ และเป็นทั้งจำเลยในเวลาเดียวกัน เขาจึงจำเป็นต้องแบ่งบทบาทการทำงานบางส่วนให้เพื่อนทนายช่วยสะสางงานที่คั่งค้างให้แล้วเสร็จ
“อีกเรื่องหนึ่งก็คือการเตรียมกระจายงานคดีความให้กับทนายความคนอื่น ส่วนบางคดีที่เราเป็นทั้งจำเลย และเป็นทนายความ อย่างคดีชุมนุมที่ 5 แยกลาดพร้าว มีจำเลย 7 คน ซึ่งผมไปตั้งทนายให้กับ ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก จำเลยที่ 4 คือผมเป็นจำเลยที่ 1 และว่าความให้กับจำเลยที่ 4 ด้วย ถ้าอยู่ข้างนอกก็คงมีโอกาสได้เตรียมคดี ใส่สูทผูกเนคไทไปศาล แต่ถ้าอยู่ในเรือนจำก็ต้องถูกเบิกตัวออกมาเป็นทนาย เพราะศักดิ์และสิทธิยังอยู่จนกว่าจะมีการถอนทนายความ”
ย้อนเส้นทางบนถนนประชาธิปไตย การเคลื่อนไหว กับ “ราคาที่ต้องจ่าย”
อานนท์ นำภา ทนายความ และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง วัย 39 ปี บอกว่า เขาเริ่มสนใจและติดตามการเมืองตั้งแต่เมื่อครั้งยังเรียนมัธยม ก่อนเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และย้ายมาเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งได้เข้าร่วมกระบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนตั้งแต่นั้น และเป็นจุดเริ่มต้นของเขาในการหยิบยื่นให้ความช่วยเหลือในเรื่องคดีความตั้งแต่สมัยยังเป็นทนายหนุ่มจบใหม่
“ทนายอานนท์” เริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อเขาเริ่มว่าความคดีเกี่ยวกับสิทธิ คดีทางการเมืองและ มาตรา 112 โดยเฉพาะ “คดีอากง” ในปี 2553 ที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น จนกระทั่งปี 2557 ในช่วงที่มีการทำรัฐประหารโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อานนท์ยังว่าความคดีการเมืองอีกหลายคดี และเริ่มมีบทบาทขึ้นปราศัยในการชุมนุมใหญ่ครั้งแรก ถือเป็นการปักหมุดนักเคลื่อนไหวทางการเมืองนับแต่นั้น
“มันเริ่มจากที่เราสนใจประเด็นทางการเมืองตั้งแต่สมัยมัธยม จนย้ายไปเรียนที่หมาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นครูอาสา ทำกิจกรรม คาบเกี่ยวกับช่วงที่มีการชุมนุมของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล เราก็ติดตามการเมืองมาโดยตลอด จนรัฐประหารปี 49 และเริ่มไปชุมนุม เจอพี่ ๆ อย่างพี่หนูหริ่ง สมบัติ บุญงามอนงค์ และเริ่มเป็นทนายปี 50-51 ช่วยเหลือชาวบ้านด้านสิทธิมนุษยชน เราเริ่มเห็นการต่อสู่ของคนเล็กคนน้อยกับรัฐเสมอ จนกระทั่งปี 52-53 ก็เริ่มมาทำคดีให้กับคนเสื้อแดง ได้มีมิติทางการเมืองที่เป็นภาพใหญ่มากยิ่งขึ้น เริ่มรู้จักกับคนที่เขาโดนกระทำ”
“คาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ช่วงปี 57 เริ่มอยากมีบทบาทมากขึ้นจากการเป็นทนายความอย่างเดียว คือต้องการแสดงออกทางการเมืองที่เป็นไปตามจังหวะของบ้านเมือง เช่น การชุมนุมครั้งแรกที่หอศิลป์ ผมเป็นคนนัดโดยใช้สื่อโซเชียลนัดหมายการชุมนุมมาโดยตลอด หลังจากนั้นก็เริ่มโดนจับ ขึ้นศาลทหาร จนคนเริ่มพูดกันว่าไอ้นี่มันเปรี้ยวตีนเผด็จการนี่หว่า
…หลังจากนั้นก็เริ่มรณรงค์เรื่องการเลือกตั้งในปี 61 ออกมาปราศรัย กับ รังสิมันต์ โรม และ จ่านิว แต่ช่วงหลัง ๆ เริ่มไปพูดตามมหาวิทยาลัย เพราะเริ่มเล็งเห็นแล้วว่า ประเทศต้องการการพูดคุยในประเด็นที่แหลมคมมากยิ่งขึ้น น้องๆในมหาวิทยาลัยก็เชิญเราไปพูด เหมือนกับนักฟุตบอลที่ขอให้เรามาเขี่ยบอลเปิดสนามให้หน่อยแล้วพวกเขาก็จะเล่นกันเอง ก็เคลื่อนไหวมาต่อเนื่องกระทั่งมีคดีเป็นซีรีย์จนถึงปัจจุบัน”
อานนท์บอกว่า การติดคุก และการถูกโดนฟ้องดำเนินคดี เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากพบเจอ ตัวเขาเองก็เช่นกัน แต่เมื่อเลือกที่จะเดินบนทางสายนี้ เขายอมรับว่า “มีราคาที่ต้องจ่าย” แม้จะเป็นราคาที่สูงมาก แต่เขายืนยันว่าสังคมต้องมีคนออกมาพูดความจริง ยอมรับความจริง และนำไปสู่การแก้ไขปัญหา เพื่อสังคมไทยที่ดีกว่าเดิม ศรีวิไลซ์กว่าเดิม
“จริง ๆ ผมมองว่าเป็นเรื่องของจังหวะเวลา เพราะในช่วงปี 61-62 ผมคิดว่าสังคมพร้อมที่จะรับฟังเรื่องราวเหล่านี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า คนที่ออกมาพูดก็ต้องมีรายจ่ายที่สูงมาก อย่างกรณีนักศึกษาหลายสิบคนที่โดนคดี 112 ผมคิดว่าเป็นรายจ่ายที่พร้อมยอมรับ และพร้อมพิสูจน์ว่ายุคสมัยนี้เรากล้าที่จะพูดความจริงต่อกัน สุดท้ายจะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องมาแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเพื่อนทนาย นักวิชาการที่ร่วมเคลื่อนไหว ก็ต้องรับผิดชอบสิ่งเหล่านี้และแก้ปัญหาร่วมกัน แม้กระทั่งสื่อมวลชนก็ให้โอกาสเราพูดถึงสิ่งเหล่านี้ จนเราสามารถพูดได้ว่าปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคม อย่างเช่น สุราเสรี การศึกษา มันถูกมองและพูดกันอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น และพร้อมจะเข้าไปแก้ปัญหาด้วยกันด้วยวิธีไหน”
เคลื่อนไหว ต่อสู้ด้วยความเป็นมนุษย์ บนเพดานสันติวิธีที่ไม่เท่ากัน
“ให้มันเป็นไปโดยรื่นรมย์ และไม่เอาความรุนแรง” แนวคิดการปราศัยและการชุมนุมของ “อานนท์ นำภา” ที่เจ้าตัวต้องการให้การเคลื่อนไหวต่อสู้ ได้เห็นภาพสะท้อนของวิถีชีวิตและความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน ยกตัวอย่างเรื่องราวของอาหารการกิน “ซอยจุ๊” เมนูโปรดที่คนร้อยเอ็ดอย่างเขา ยกให้เป็นเมนูโปรด อาหารสานใจทั้งกลุ่มเพื่อนแกนนำ ผู้ชุมนุม หรือกระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐที่มาสังเกตการชุมนุมในแต่ละครั้ง เพื่อการแสดงออกให้เห็นว่าพวกเขาก็คือคนธรรมดาคนหนึ่งที่อยากขับเคลื่อนสังคมและการเมืองในรูปแบบของตนเอง
“ทุกครั้งที่ต่อสู้เราต้องให้เห็นความเป็นมนุษย์ ไม่ได้สร้างภาวะความเป็นแกนนำหรือเป็นพระเจ้าที่ถือศีลกินเจอะไร เพราะสังคมเปลี่ยนไปมาก เปลี่ยนมุมมองว่าคนก็คือคน ไม่ใช่คนที่สูงต่ำดำขาว เป็นชายหรือเป็นหญิง สังเกตได้ว่าในการชุมชุมหลายครั้งที่ผ่านมา ผู้หญิงมีบทบาทในการเคลื่อนไหวเยอะมาก”
ถ้ามองลึกลงไปถึงรูปแบบการชุมนุม อานนท์ บอกว่าในช่วงแรก ๆ ไม่มีการสลายการชุมนุมเลยสักครั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือที่ถนนราชดำเนิน จนกระทั่งเริ่มมีการปะทะกัน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาประชิด และสร้างบรรยากาศว่าจะมีการจับกุมผู้ชุมนุม และเริ่มหนักขึ้นเมื่อเริ่มมีการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐในการสลายการชุมนุม เมื่อมีการปะทะกันก็เริ่มมีคนไม่พอใจและคิดต่อว่าจะยึดการชุมนุมด้วยสันติวิธีต่อไปไม่ได้ เพราะสุดท้ายก็จะถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรง สุดท้ายก็นำมาซึ่งการใช้วิธีการอื่น ๆ อย่างการชุมนุมที่แยกดินแดงหรือที่อื่น ๆ ที่เริ่มมีการขยับเพดานกันมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นปัญหาเพราะหากมีการดำเนินคดีก็มีโทษที่หนักขึ้น
“เพดานสันติวิธีของสังคมไม่เท่ากัน ถ้าเป็นต่างประเทศ การชุมนุมปิดถนนถือเป็นเรื่องธรรมดามาก แต่สำหรับคนไทยบางคนบอกว่าการปิดถนนคือเรื่องความวุ่นวายและเป็นความรุนแรงแล้ว นี่ยังไม่นับรวมถึงการไปทำลายทรัพย์สินของรัฐซึ่งเป็นสัญญะของการใช้อำนาจ เรามีรัฐธรรมนูญที่ตีกรอบ ใช้คำว่าการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ แต่ร่างของการชุมนุมมันไม่ใช่การชุมนุมอย่างสงบแบบนั่งพับเพียบ คือมันยังมีการชุมนุมรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งก็เป็นสันติวิธี แต่อาจเป็นการประท้วงที่เกิดความไม่สะดวกกับคนใช้สิทธิอื่น ๆ เช่น การสัญจรบ้าง หรือการที่ผู้ชุมนุมไปทำลายรถถังที่ถูกนำออกมาเพื่อจะล้อมปราบ แม้ถูกมองว่าเป็นการทำลายทรัพย์สินของรัฐ แต่ยังไม่หลุดจากกรอบสันติวิธีตราบเท่าที่คุณไม่ไปตีหัวตำรวจ”
ด้วยการตีความ “สันติวิธี” ที่ไม่เท่ากันนี้เอง อานนท์มองว่า เป็นผลที่ทำให้การชุมนุมหรือการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในวันนี้ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การชุมนุมเคลื่อนไหวที่เป็นสันติวิธีแท้ ๆ กับอีกกลุ่มที่ถูกสังคมมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่เริ่มจะใช้ความรุนแรง ซึ่งตัวเขาเห็นว่าต้องดูเป็นกรณีไป เพราะในแต่ละการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมนับพันคน หากมีแค่ 1 หรือ 2 คนไปใช้ความรุนแรงก็จะไปเหมาว่าการชุมนุมทั้งหมดเป็นความรุนแรงคงไม่ได้
“อย่าลืม” ความสูญเสียในเหตุการณ์แต่ละครั้ง บทเรียนราคาแพงที่ทุกคนต้องไม่ปล่อยผ่าน
เมื่อถามว่า อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่คนไทยต้อง “อย่าลืม” หากจะนำพาประเทศไทยเปลี่ยนผ่านเพื่อไปต่อได้อย่างราบรื่น อานนท์นิ่งคิด ก่อนตอบว่า เราต้อง “ไม่ลืม” เหตุการณ์ความสูญเสียในแต่ละครั้ง ซึ่งเกิดจาก “การขยายการใช้อำนาจของรัฐ” ในแต่ละครั้งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับทางการเมือง โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์กว้าง ๆ ว่าในปี 2549 เกิดรัฐประหาร เว้นมา ถึงปี 2553 ที่เกิดการสลายการชุมนุมใหญ่ และเว้นมาจนเกิดเหตุการณ์รัฐประหารขึ้นในปี 2557 จนมาสู่ปี 2563 ที่มีการชุมนุมใหญ่ของคนรุ่นใหม่
อานนท์มองว่า เทคโนโลยีการสื่อสารในโลกยุคใหม่ อย่างเฟซบุ๊ก หรือสื่อสังคมออนไลน์อื่น จะช่วยย้อนเตือนความทรงจำไปถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ แต่ทุกเหตุการณ์จะมีประเด็นหลักของปัญหาทั้งหมดที่ลืมไม่ได้ คือ “การใช้อำนาจ เพื่อพยายามรักษาอำนาจของตัวเองเอาไว้” จนเลยเถิดไปถึงการแทรกแซงองค์กรอิสระ สร้างพวกพ้อง และสุดท้ายก็นำไปสู่การทำลายหลักนิติรัฐ
“ทั้งการทำรัฐประหารปี 49 หรือแม้แต่คุณทักษิณที่พยายามจะรักษาอำนาจ หรือการขยายอำนาจทางการเมืองโดยการเข้าไปเกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ หรือทหารที่เริ่มขยายอำนาจเข้ามาครอบงำทางการเมือง จนกระทั่งไปสู่การยึดอำนาจ จนมาปี 53 ก็เช่นกัน ที่ประชาชนเรียกร้องให้คุณอภิสิทธิ์ยุบสภา แต่คุณอภิสิทธิ์ก็ต้องการรักษาอำนาจไว้โดยให้กองทัพเข้ามาสลายการชุมนุม เป็นต้น ถ้าเราลืม มันก็จะเกิดขึ้นอีกซ้ำๆ”
เมื่อพูดถึงปัญหา อานนท์มองว่าจะไปเหมารวมทั้งหมดให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยม กลุ่มชนชั้นนำ หรือกองทัพไม่ได้ เพราะนักการเมืองก็ไม่ต่างกัน เพราะเมื่อมีการจัดการบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย หรือไม่อยู่ในร่องในรอยของกฎหมาย ทั้งในการเมืองขนาดใหญ่ และขนาดย่อย ทั้งหมดล้วนนำไปสู่การทำลายหลักนิติรัฐทั้งสิ้น
“ทุกคนมีส่วนในการทำลายหลักนิติรัฐ ถ้าเราเคารพกฎหมาย ในความหมายที่เป็นหลักนิติรัฐ เรื่องพวกนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น ถึงเกิดก็สามารถจัดการมันได้ แต่ทุกวันนี้ ที่เกิดรัฐประหารซ้ำ ๆ สลายการชุมนุมซ้ำ ๆ เพราะคนทำไม่เคยถูกลงโทษเลย อาจพูดว่าไม่มีแม้แต่ครั้งเดียวเลยด้วยซ้ำ… อย่างน้อยคนทำต้องถูกลงโทษทางสังคมเพื่อให้ไม่ลืม”
จุดเปลี่ยนประเทศไทยหลังเลือกตั้ง ผู้คนพร้อมแสดงออกทางการเมือง เมื่อจังหวะและเวลามาถึง
“ผมว่าเราได้เยอะ” อานนท์ตอบ เมื่อถามว่า เห็นการเปลี่ยนแปลง จากการเลือกตั้งที่ผ่านมาหรือไม่ ?
เจ้าตัวขยายความเป็นข้อๆ ว่า
- เราได้เห็นการนับแต้มแข่งกัน คือความชัดเจนว่า ”ใครเลือกใคร” ได้เห็นแนวคิดทางการเมืองที่ชัดเจนมากขึ้น แน่นอนว่าวันนี้เห็นคนที่ไม่เลือกระบอบเก่าแน่ ๆ มากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเกิดการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ก็ทำให้เห็นปัญหาที่จะตามมาในการเลือกตั้งครั้งหน้า ว่าประชาชนจะยังเลือกพรรคเพื่อไทยอยู่หรือไม่
- ที่สำคัญกว่านั้นคือ นโยบายที่หาเสียง ในการเลือกตั้งที่ผ่านมามความแหลมคมและมองถึงปัญหาสังคมมากขึ้น
- ได้เห็นคนแสดงเจตจำนงมากที่สุดตั้งแต่มีการเลือกตั้งมา ผ่านภาพของผู้คนที่เดินทางกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่บ้านเกิดจำนนมาก สะท้อนให้เห็นความตื่นตัว และพร้อมที่จะแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น
“เวลาเราร่างกฎหมาย หรือร่างแก้รัฐธรรมนูญ อย่างล่าสุดที่ iLaw ร่าง แค่สองสามวันได้มาเกือบสองถึงสามแสนรายชื่อ มันสะท้อนว่าคนพร้อมที่จะแสดงออกทางการเมือง อันนี้ต้องระวัง เพราะวันนี้คนรู้สึกไม่พอใจกับสังคมที่เป็นอยู่ ถ้าวันใดวันหนึ่งมีเงื่อนไขที่เขาจะแสดงออกอย่างอื่น เช่น เลือกตั้ง หรือชุมนุม หรืออย่างอื่น ผมคิดว่าทุกคนพร้อมที่จะแสดงออกว่าเขาไม่เห็นด้วยกับรัฐในเรื่องอะไร กระแสคนไม่ได้หายไปไหน แต่แค่รอจังหวะ รอเวลา และรอสถานการณ์”
ฝากถึงคนนอกกรงขัง : เปลี่ยนผ่าน เพื่อไปต่อ ของประเทศไทย ในมุมมองของ “อานนท์ นำภา”
นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่กำลังเตรียมพร้อมเข้าสู่วันที่ต้องแบกรับ “ราคา” ที่เขาต้องจ่าย บอกว่าสังคมต้องเดินไปข้างหน้า และทุกการต่อสู้ ก็ไม่ต่างจากการเตะฟุตบอล ที่ต้องมีคนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งต้องดูแลกันไม่ให้คนบาดเจ็บเหล่านั้นตกหล่นไปในสังคม ส่วนคนที่มีแสง ต้องดูแลคนที่อยู่ในที่มืด คอยประคับประคองกันไปพร้อมกับการนำเสนอความจริงสู่สังคม ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าจะต้องมีคนที่ต้องยอมบาดเจ็บและแบกรับราคาที่ต้องจ่าย
แต่ที่ผ่านมา ตัวเขาเองและเพื่อน ๆ ก็พยายามทำให้เกิดการบาดเจ็บน้อยที่สุด ขณะเดียวกันก็พยายามส่งเสียงของคนรุ่นใหม่ไปที่สภาฯ ให้ สส.ทำหน้าที่พูดแทนเพราะมีเอกสิทธิ์คุ้มครอง และคอยหนุนหลังให้กับตัวแทนทั้งนักการเมือง นักวิชาการ รวมถึงสื่อมวลชนและทุกวิชาชีพที่ออกมาต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีทางที่จะนำพาสังคมไปสู่ชัยชนะได้โดยคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องค่อย ๆพากันขับเคลื่อนต่อไป
อานนท์ ยืนยันว่าสิ่งที่ตัวเขา และเพื่อน ๆ น้อง ๆ ทำเป็นความหวังดีกับสังคมและต้องการให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย มีความเสมอภาค มีความเท่าเทียม และมีสิทธิ เสรีภาพ และหากต้องแลกมาด้วยการถูกคุมขัง ก็ขอให้คนที่อยู่ข้างนอกได้ทำต่อ เพื่อนำพาไปสู่เป้าหมาย
“ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้ซีเรียส ถึงขนาดเปลี่ยนแปลงการปกครอง อันนี้เป็นเรื่องที่เอามาใส่ร้ายป้ายสีกัน แต่ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่เขาซีเรียสมากแน่ ๆ กับความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หมายความว่า ถ้าคุณดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็น ผบ.ตร. หรือเป็นอะไรก็ตาม ก็ต้องมีบทบาทหน้าที่ ถ้าทุกคนรักษาบทบาทของตัวเองโดยไม่ขยายบทบาทไปจนทำให้เรื่องอื่นต้องกระทบไปด้วย ผมว่าทุกคนยอมรับ
“ทุกคนพึงพอใจกับการมีจารีตประเพณีดั้งเดิมที่ดีงาม ผมคิดว่าสังคมมีวิวัฒนาการทางจารีตประเพณีอยู่ อะไรที่ดีต้องรักษาไว้ แล้วก็ช่วยกันทำหน้าที่ของแต่ละองค์กร แต่ละบทบาทให้สมบูรณ์โดยไม่ไปละเมิดกับสิ่งอื่น ๆ ผมคิดว่าสังคมจะเดินไปด้วยความราบรื่น เราอยากเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างอังกฤษ เป็นอย่างญี่ปุ่น ที่เป็นเสาหลักให้กับสังคม และการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ไม่ไปละเมิดสิทธิ์ หรือไม่มีก็ได้ ถ้าเปิดให้มีการพูด คือคนที่ไปใส่ร้ายสถาบัน ก็จะถูกสังคมมองว่าเป็นพวกไม่ดีในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่เราต้องให้สังคมมีเพดาน มีการพูดถึง มีการวิพากษ์วิจารณ์ให้มากขึ้น เราอยากเห็นทุกคนมีเสรีภาพ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากขึ้นนะครับ”
ทั้งหมดเป็นประโยคในช่วงท้าย ก่อนจะจบการสนทนา และนับถอยหลังสู่วันที่ “อานนท์ นำภา” ต้องเดินกลับเข้าไปสู่ที่คุมขังอีกครั้ง