จากกระแสข่าวการตัดงบประมาณห้องปลอดฝุ่น (Clean air shelter) สำหรับเด็กอายุ 3-6 ขวบ ที่จะใช้งบประมาณ 219,339,000 บาท สำหรับโรงเรียน 429 โรง รวมจำนวนห้องเรียน 1,743 ห้อง ทั่วทั้ง 50 เขต ในสภากรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา นำมาสู่ประเด็นถกเถียงในวงกว้าง
The Active เปิดโมเดลของ ‘ห้องปลอดฝุ่น’ ที่โรงเรียนภาคเหนือนำร่องปรับตัวเพื่อรับมือสถานการณ์ในช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเข้าขั้นวิกฤต ซึ่งมีการนำไปขยายผลต่อเนื่องอย่างแพร่หลายในหลายพื้นที่ ทั้งในระดับโรงเรียนขนาดเล็ก ชุมชน และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จากที่ทางทีมข่าวลงพื้นที่สำรวจ พบว่า การปรับปรุงห้องพักชายของทางมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ เริ่มจากการออกแบบและติดตั้งมุ้งหรือผ้าม่านกันฝุ่นบริเวณหน้าต่างหรือบานเกร็ดภายในห้องพักนักศึกษา และดำเนินการติดตั้งระบบเติมอากาศสะอาดที่ควบคุมด้วยระบบ Wi-Fi ในแต่ละหอนักศึกษา เพื่อเพิ่มอากาศสะอาดภายในห้องพักทุกห้อง สร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่หอพักนักศึกษา 16 อาคาร รวมกว่า 2,700 ห้อง ซึ่งสามารถเช็คคุณภาพอากาศได้ตลอดเวลาจากเครื่องวัดปริมาณฝุ่น ณ บริเวณด้านล่างหอพัก
ขณะที่เสียงสะท้อนของนักศึกษาที่พักอยู่ในห้องที่มีการปรับปรุง ตรงกันว่า ปริมาณฝุ่น PM2.5 ลดลงจริงดูจากเครื่องวัด แต่ก็ต้องแลกมากับอากาศร้อน อบอ้าว เพราะห้องมีการปิดมิดชิด
เช่นเดียวกับ ที่ โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร อ.ลี้ จ.ลำพูน มีการปรับปรุงห้องเด็กเล็กให้เป็นพื้นที่ปลอดฝุ่น และใช้หลักการไม่ต่างจากที่แรก เช่น การติดตั้งเครื่องเติมอากาศ ผนึกรอยรั่วรอบห้อง เช่น หน้าต่าง เพื่อป้องกัน ไม่ให้ PM 2.5 หลุดรอดเข้ามาได้ จากนั้นเครื่องจะบริหารจัดการลมภายใน เติมอากาศที่สะอาดเข้าไปแทน
โดย 1 เครื่องจะครอบคลุมพื้นที่ห้องเรียนขนาด 25 ตารางเมตร ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 หมื่นบาท ใช้พลังงานเท่ากับพัดลม 1 เครื่อง เหมาะกับโรงเรียนที่กระแสไฟฟ้าขาดกำลังแรง หรือมีงบประมาณจำกัด ซึ่งจะช่วยทำให้พื้นที่ห้องเรียนเปลี่ยนเป็นพื้นที่หลบภัยเมื่อคุณภาพอากาศอยู่ในระดับอันตราย
ส่วนการปรับปรุงห้องให้ปลอดฝุ่นในระดับครัวเรือน ก็มีการประยุกต์และใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ง่าย ๆ ในราคาไม่แพง เช่น เครื่องดูดลม ราคา 700 บาท ไส้กรอง 500 บาท มุ่งลวดกัน PM2.5 ตารางเมตรละ 300 บาท รวม 1,500 บาท ซึ่งการปรับปรุงพื้นที่ให้ปลอดฝุ่นความสำคัญอยู่ที่การทำให้ห้องปิดมิดชิดเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นเข้าไปได้
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง