อย่าแปลกใจ ทำไม ? เด็กไทย…ไม่สร้างสรรค์

เป็นครั้งแรกที่ “การคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ของเด็กวัย 15 ปี ถูกนำมาประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ประจำปี 2022 โดยที่ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้เปิดเผยผลการประเมินออกมาแล้ว เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา

PISA ได้นิยาม “ความคิดสร้างสรรค์” ว่าเป็น ความสามารถในการประเมินไอเดีย และพัฒนาต่อยอดเพื่อการแก้ไขปัญหาเชิงสังคมและวิทยาศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญของแรงงานยุคใหม่เพื่อปรับตัวและอยู่รอดในโลกที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น ปัญหาสังคมสูงวัย ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และการแทรกแซงของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

Mathias Cormann เลขาธิการ OECD ระบุว่า การประเมินของ PISA จะวัดความสามารถของนักเรียนใน 4 มิติที่แตกต่างกัน ได้แก่

  1. การเขียนเชิงสร้างสรรค์

  2. การแสดงออกด้วยภาพ

  3. การแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์

  4. การแก้ปัญหาเชิงสังคม

นอกจากการวัดผลที่ตัวเด็กแล้ว PISA ยังเก็บข้อมูลแวดล้อม เช่น สถานะทางเศรษฐกิจสังคม, ความเชื่อ มุมมองของเด็กต่อความคิดสร้างสรรค์ และ ปัจจัยในระบบการศึกษาของแต่ละประเทศ โดยหวังว่า ข้อมูลจากการประเมินจะช่วยให้รัฐบาลแต่ละประเทศนำไปวางแผนนโยบายการศึกษาให้ทันท่วงที

PISA Creative Thinking Competency Model

การคิดสร้างสรรค์ที่ PISA ประเมินล่าสุด พบว่า นักเรียนทั่วโลก ประมาณ 78% มีความคิดเชิงสร้างสรรค์ในระดับพื้นฐาน กล่าวคือ พวกเขาสามารถริเริ่มไอเดีย เสนอแนวคิดพื้นฐานเพื่อแก้ไขปัญหาที่คุ้นเคยได้ อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่มีระดับผลิตภาพทางเศรษฐกิจในระดับต่ำ 20 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย นักเรียนมากกว่าครึ่งหนึ่ง ประสบปัญหาการทำคะแนนเชิงความคิดสร้างสรรค์ระดับพื้นฐาน

แต่การจะ สร้างสรรค์ อะไรได้นั้น จำเป็นต้องมี วัตถุดิบ หรือ ความรู้ เพื่อใช้สำหรับการสรรค์สร้างเสียก่อน The Active ชวนผู้อ่านสำรวจทักษะของเด็กไทย ผ่านผลการประเมินข้อสอบ PISA และมีอะไรบ้างที่การศึกษาไทยจะผลักดันจินตนาการของเด็กไทยได้ มองหาคำตอบไปกับ ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระ และที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและการเรียนรู้

อ่านไม่แตก-รู้ไม่รอบ พา “ความคิดสร้างสรรค์” ต่ำ

สำหรับ ประเทศไทย ได้คะแนนการคิดสร้างสรรค์ อยู่ที่อันดับที่ 54 จาก 64 ประเทศ และมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มประเทศ OECD อย่างไรก็ตาม PISA อธิบายว่า นี่เป็นระดับที่คาดการณ์ได้

เนื่องจากคะแนนทักษะคณิตศาสตร์ และการอ่านของเด็กไทย
ก็ค่อนข้างต่ำ ทำให้ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์
และวิพากษ์ไอเดียย่อมถดถอยตาม

ตรงกันข้าม ประเทศที่ผลคะแนนความคิดสรรค์เป็นเลิศอย่าง สิงคโปร์, แคนาดา, ฟินแลนด์ ก็มักจะทำคะแนนได้ดีในวิชาอื่น ๆ ด้วย

ในภาพรวม เด็กไทยกว่า 3 ใน 5 (63%) ได้รับการประเมินต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (ได้ระดับต่ำกว่าหรือเท่ากับ 2 จากทั้งหมด 6 ระดับ) กล่าวคือ เด็กไทยส่วนมากสามารถเสนอไอเดีย สื่อสารผ่านภาพอย่างง่าย เน้นแก้ไขปัญหาที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน และสามารถเขียนอธิบายเชิงสร้างสรรค์แบบสั้น ๆ เท่านั้น และมีเด็กไทยเพียง 7% ที่ได้รับการประเมินทักษะในระดับสูง (ระดับ 5 และ 6) ห่างจากค่าเฉลี่ย OECD ถึง 20%

เพราะ “การอ่าน” คือด่านสำคัญของเด็กไทย นี่คือสิ่งที่ ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระ และที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและการเรียนรู้ เปิดเผยกับ The Active พร้อมทั้งเชื่อว่าปัจจัยมีผลต่อการวัดประเมินผล เพราะโจทย์ PISA มีความยาวหลายบรรทัด ต้องอาศัยการตีความร่วมด้วย สำคัญคือเด็กต้องถ่ายทอดไอเดียออกเป็นภาษาเขียน หากอ่านหนังสือน้อย จะมีคลังศัพท์น้อย เขียนไอเดียในเชิงนามธรรมได้ยาก

นอกจากนี้ การอ่านยังเป็นประตูสู่องค์ความรู้อีกหลายแขนง หากเด็กมีองค์ความรู้พื้นฐานในเรื่องต่าง ๆ การจะคิดวิพากษ์ไอเดีย หรือต่อยอดย่อมเกิดขึ้นได้ยาก เพราะเด็กขาดวัตถุดิบ (ความรู้) ในการ สร้างสรรค์ ไอเดียที่หลากหลายและแปลกใหม่

เมื่อเด็กเขามีความรู้พื้นฐานค่อนข้างน้อย การจะไปวิพากษ์ไอเดียหรือต่อยอดจึงเป็นเรื่องที่ยาก ถ้าไปดูประเทศที่เขาทำคะแนนความคิดสร้างสรรค์ได้ดี ก็มักจะพบว่าเด็กเขาทำคะแนนในวิชาอื่นได้ดีเช่นกัน นี่ก็เป็นข้อกังวลหนึ่งของไทย เมื่อเรามีทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถด้อยในด้านหนึ่ง ทักษะด้านอื่นมักจะด้อยตามไปด้วย”

ณิชา พิทยาพงศกร

คนไทยไม่เพียงแต่เผชิญอุปสรรคด้านการอ่านที่เป็นรากฐานของความรู้อีกมหาศาล แต่ยังมีทักษะทางดิจิทัลที่ต่ำกว่าเกณฑ์อีกด้วย สิ่งนี้ย้ำชัดผ่าน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เปิดเผยผลสำรวจพบว่า 74.1% ของแรงงาน และเยาวชนอายุ 15-64 ปี มีทักษะทุนชีวิตด้านดิจิทัลที่ต่ำกว่าเกณฑ์ 

กล่าวคือ พวกเขาประสบปัญหาในการใช้อุปกรณ์ชี้ตำแหน่ง (pointing device) และแป้นพิมพ์ (keyboard) บนคอมพิวเตอร์พกพา และไม่สามารถทำงานง่าย ๆ เช่น การค้นหาราคาที่ถูกต้องของสินค้าจากเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ อันนำไปสู่กำแพงในการเข้าถึงความรู้และโอกาสในการพัฒนาตนเองอีกนับไม่ถ้วน

ไม่แปลกใจที่เด็กไทยไม่สรรสร้าง
เพราะ “ความสร้างสรรค์” ถูกตีกรอบ

การสำรวจของ PISA ยังเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อ ทัศนคติของนักเรียนต่อ ความคิดสร้างสรรค์ พบข้อมูลที่น่าสนใจ ว่า 84% ของนักเรียนไทย เห็นด้วยว่า ตนเองสามารถมีเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ได้ ไม่ว่าเป็นประเด็น หรือหัวข้อใด ๆ แต่ข้อมูลอีกมุมหนึ่ง สะท้อนว่า เกินครึ่ง (54%) ของนักเรียนคิดว่าตนไม่สามารถเปลี่ยนหรือพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองได้มากนัก

ขณะที่ 42% บอกว่า ตนมีปัญหาหรือขาดจินตนาการในการแก้ไขปัญหา และกว่า 4 ใน 10 เชื่อว่า ในสถานการณ์ขัดแย้งมักจะมีคำตอบที่ถูกแค่แบบเดียว ซึ่งเป็นความเชื่อที่อาจไปกดทับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในตัวเยาวชนได้

นอกจากนี้ ลักษณะคำถามในข้อสอบยังเปิดกว้างมาก เช่น ให้เด็กลองตั้งชื่อหนังสือจากภาพที่เห็น, ลองคิดวิธีการรณรงค์แคมเปญเพื่อแก้ไขปัญหาภายในโรงเรียน ตลอดจนลองวาดแก้ไขโปสเตอร์นิทรรศการวิทยาศาสตร์ให้มีความแปลกใหม่ขึ้น

คำถามของ PISA ลักษณะนี้ ณิชา มองว่า ต้องอาศัย ความกล้าแสดงออก ของเด็กอย่างมากในการถ่ายทอดไอเดียตัวเอง ออกมาเป็นภาษาหรือภาพ จึงต้องย้อนกลับมาคิดว่า ถึงตรงนี้แล้ว เด็กไทยได้ฝึกแสดงความคิดเห็นมากพอแล้วหรือยัง ?

ดังนั้น ทักษะความคิดสร้างสรรค์จึงไม่ใช่การสอนคาบเดียวแล้วจบ แต่อาศัยการลองผิดลองถูก ถกเถียงกับเพื่อนร่วมชั้น มีครูคอยช่วยเปิดโลก หาความรู้ใหม่ ๆ มาให้เสมอ สภาพแวดล้อมเช่นนี้จึงจะสร้างให้เด็กมีใจสร้างสรรค์ได้ (Creative Mind)

May be an image of text

ณิชา ยังเชื่อว่า การเลี้ยงดูในครอบครัว และการเรียนรู้ในห้องเรียน อาจเป็นส่วนสำคัญในการบ่มเพาะความเชื่อของเยาวชนไทย เช่น

“การให้เด็กเลือกคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว
หรือการตั้งคำถามในชั้นเรียนที่ครูมีธงคำตอบเดียวในใจ
เหล่านี้ทำให้เด็กไทยไม่มีจินตนาการถึงไอเดียใหม่ ๆ มากนัก”

นักวิจัย จึงชวนตั้งข้อสังเกตว่า หลักสูตรการศึกษาไทยเอื้อหนุนให้ครูสามารถจัดห้องเรียนที่คิดได้อย่างอิสระพอแล้วหรือยัง ? ซึ่งผลสำรวจ PISA ก็พบว่า หลักสูตรไทยแทบไม่มีการพูดถึงการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทั้งลักษณะองค์รวม และแยกย่อยตามรายวิชา (มีเพียง 4 ใน 11 วิชาที่พูดถึงทักษะความคิดสร้างสรรค์)

ความคิดสร้างสรรค์มันไม่ได้ถูกเอาไปใช้ใน ‘วิจิตรศิลป์’ อย่างเดียว แต่ควรปรับใช้ในศาสตร์อื่นได้ด้วย เหมือนที่ PISA นิยามว่าเด็กสามารถแก้ไขปัญหาในเชิงสังคมหรือวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่ ซึ่งถ้าคนมีความคิดสร้างสรรค์ในสาขาอาชีพอื่น ๆ ก็จะช่วยแก้โจทย์ของวิชาชีพนั้น ๆ ได้ เช่น เราจะพัฒนาวัคซีนแบบใหม่ได้อย่างไร เราจะดำรงชีวิตอยู่ในโลกที่ร้อนขึ้นได้อย่างไร เราจะเห็นว่าปัญหาโลกยุคใหม่มันต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ทั้งสิ้น ดังนั้นก็เป็นโจทย์ของวิชาอื่นที่จะนำความคิดสร้างสรรค์ไปปรับใช้ด้วยเช่นกัน”

ณิชา พิทยาพงศกร 
ณิชา พิทยาพงศกร

ณิชา ยังแสดงความเห็นต่อการสำรวจของ PISA ที่พบว่า ประเทศไทยยังไม่มีกรอบการประเมินความคิดสร้างสรรค์ (ที่ไม่ใช่การสอบ) นี่คือสิ่งที่สะท้อนชัดว่า ไม่ใช่จุดโฟกัสที่คนในระบบการศึกษาให้ความสำคัญ และไทยยังไม่มีการเตรียมความพร้อมให้ครูในการเป็น ผู้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์

ขณะที่หลายประเทศที่ได้คะแนนดี พบว่า มีการสนับสนุนครูหลายรูปแบบ เช่น แพลตฟอร์มรวบรวมแผนการสอนที่สร้างสรรค์, การสนับสนุนงบประมาณโครงการสร้างสรรค์, เปิดพื้นที่งานสร้างสรรค์ให้เด็กได้รู้จัก เช่น สตูดิโอศิลปะ, สถานที่จัดแสดง ฯลฯ จึงไม่น่าแปลกใจที่ไทยจะคะแนนน้อย เพราะปัจจัยเชิงระบบไม่สนับสนุน

ทุกคนคือคนสร้างเด็กให้สร้างสรรค์

ท้ายที่สุด ณิชา ก็ยังเชื่อว่า หากต้องการพัฒนาทักษะคิดสร้างสรรค์ให้เด็กไทย ทุกคนในสังคมมีโจทย์ที่ต้องช่วยกันตอบและแก้ไข

  1. สังคมต้องทบทวนว่าเราฝังความเชื่อแบบไหนให้เด็ก เปิดโอกาสให้เด็กแสดงออกมากพอแล้วหรือยัง ?

  2. พื้นที่การแสดงออกมีความหลากหลายมากแค่ไหน จำกัดเฉพาะแค่พื้นที่เล็ก ๆ อย่างกระดาษ A4 หรือเปิดให้เด็กลงมาร่วมแก้ไขปัญหาของชุมชนเขาหรือไม่ ?

  3. รัฐต้องใส่ทรัพยากรด้านสร้างสรรค์ลงไปในระบบการศึกษา เช่น หลักสูตรมีการเปิดกว้างความคิดเด็กไทยมากพอหรือยัง, ครูมีแนวทางพัฒนาวิชาชีพตนเองเรื่องความคิดสร้างสรรค์หรือไม่, โรงเรียนต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้สัมผัสทักษะที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ เช่น การเขียนสร้างสรรค์ การแสดง ดนตรี และศิลปะแขนงต่าง ๆ

“น่าเสียดาย สังคมไทยเรามองเห็นความคิดสร้างสรรค์เยอะมาก เรามีนักสร้างภาพยนตร์ ศิลปิน นักโฆษณาเก่ง ๆ ได้รางวัลจากนานาชาติ เรามีคนทำงานสาย Creative เยอะมาก นี่ขนาดเด็กไทยยังไม่ได้รับการสนับสนุนด้านทักษะคิดสร้างสรรค์ ถ้ารัฐมองเห็น และพัฒนาต่อ
ไทยเราอาจจะเป็น Creative Powerhouse
(ขุมพลังความคิดสร้างสรรค์) ของโลกได้เลย

ณิชา พิทยาพงศกร 

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง