เรียน – สอบ – อ่าน – ท่อง : ส่องปัญหาบันทึกรักการอ่าน สู่คะแนน PISA เด็กไทย

“การลงทุนด้วยหนังสือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด
เมื่อเขารักการอ่านแล้ว เขาจะเรียนรู้อะไรในโลกนี้ก็ได้”

เฉลิมลาภ ทองอาจ ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาภาษาไทย รร.สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

‘การอ่านถือเป็นอิฐก้อนแรกของความรู้ทั้งปวง’ เด็กคนหนึ่งจะเอาตัวรอดในโลกนี้ได้ เขาต้องอ่านให้ออกเป็นเบื้องต้น และเด็กหนึ่งคนจะเชี่ยวชาญวิชาใดได้ พวกเขาต้องมีทักษะในการอ่านที่แข็งแรงมากพอ นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องวิชาการ การอ่านยังเป็นสื่อสะท้อนความคิด เป็นพื้นที่ให้เด็กได้ลองทบทวนตัวเองกับผู้เขียน นำไปสู่การยึดถือในคุณค่าบางอย่าง การเข้าใจตัวเอง และการสร้างตัวตนในแบบที่เขาจินตนาการ

แต่น่าเสียดาย หลายครั้งที่การอ่านยังเป็น ‘การบังคับให้รัก’ และ ‘การท่องให้จำ’

หากลองมองทักษะการอ่านของเด็กไทยผ่านผลการประเมิน PISA 2022 เผยให้เห็นความถดถอยของทักษะด้านการอ่าน, คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนไทยอายุ 15 ปี ซึ่งคะแนนทุกด้านต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD โดยเฉพาะทักษะการอ่านที่ได้รับคะแนนเพียง 379 คะแนน (อันดับ 58 จาก 81 ประเทศ) ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี

นี่ไม่ใช่ความผิดของเด็กที่ทำคะแนนได้ไม่ดี เพราะระดับคะแนนการอ่านของเด็กไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาทุกยุค คะแนน PISA ที่ตกต่ำ ย่อมสะท้อนถึงคุณภาพการศึกษาไทยได้เป็นอย่างดี โปรดอย่าลืมว่าเด็กที่ทำข้อสอบในวันนี้มีอายุ 15 ปี ซึ่งอาศัยมือของหลายรัฐบาลก่อนหน้าช่วยกันสร้างระบบการศึกษาขึ้นมาตั้งแต่พวกเขาเกิดมา ดังนั้น การแก้ไขปรับปรุงต้องเริ่มต้นทันทีและต่อเนื่อง เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเห็นผลตลอดชั่วอายุขัยวัยเรียน

The Active มีโอกาสร่วมชั้นเรียน ‘การอ่าน – คิด – วิเคราะห์’ กับ เฉลิมลาภ ทองอาจ ครูวิชาภาษาไทย ร่วมกับนักเรียนในโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ที่มองว่า ‘ทักษะการอ่าน’ ไม่ได้มีอยู่แค่ในวิชาภาษาไทย แต่เป็นรากฐานของการเรียนรู้ในทุกกลุ่มสาระ

พร้อมชวนหาวิธีการสร้างชั้นเรียนรักการอ่านที่ไม่บังคับให้ใครรัก และการสร้างสังคมที่ทำให้ไม่ว่าใครก็เข้าถึงการอ่านที่มีคุณภาพได้

เด็กเกลียดการอ่าน เพราะถูก ‘บังคับให้อ่าน’

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2551 ย่อหน้าแรกของมาตรฐานการเรียนรู้วิชาภาษาไทย ระบุให้ผู้เรียนมีนิสัยรักการอ่าน และใช้กระบวนการอ่านสร้างความรู้และความคิดเพื่อนำไปใช้ตัดสินใจ แก้ปัญหาในการดำเนินชีวิต นำไปสู่การคิดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในทุกโรงเรียน หรือที่ใครหลายคนรู้จักในชื่อ ‘บันทึกรักการอ่าน’ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมบังคับให้ทำ กำหนดจำนวนเล่ม และประเภทสิ่งพิมพ์ที่ต้องอ่าน มักลงเอยด้วยการลอกบันทึก หรือนั่งเทียนเขียนขึ้นมาให้มีส่ง

“ปัญหาหลักของบันทึกรักการอ่าน คือ การทำให้การอ่านเพื่อเขียนบันทึกส่งครู กับการอ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้เป็นคนละเรื่องกัน ทั้งที่การอ่านก็เป็นพื้นฐานของทุกวิชาเรียนอยู่แล้ว”

เฉลิมลาภ ทองอาจ

ในฐานะครูได้พบเห็นเด็กหลายแบบ พบทั้งเด็กที่รู้ว่าตัวเองชื่นชอบอะไร ถนัดอะไร เด็กเหล่านี้ก็จะรู้ด้วยตัวเองว่าเขาต้องเลือกอ่านหนังสืออะไร แต่เด็กไทยไม่น้อย ยังไม่รู้ว่าตัวเองชื่นชอบอะไร ถนัดอะไร การอ่านหนังสือจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่จะทำให้เขาได้มองเห็นโลก ได้อยู่กับตัวเอง และอาจนำไปสู่การสร้างตัวตนของตนเองขึ้น

ครูเฉลิมลาภ ย้ำว่า การทำให้เด็กรักการอ่าน จึงไม่ใช่การบอกให้เขาทำ แต่คือการแสดงให้เขาเห็น ให้เขาเข้าใจว่าเขาจะรักการอ่านไปทำไม และที่สำคัญ หนังสือที่ให้เขาอ่าน มีความน่าสนใจ มีคุณภาพ ให้เขารู้สึกรักมันแล้วหรือยัง เพราะการสร้างนิสัยรักการอ่าน ไม่อาจเกิดได้ด้วยตัวเด็กคนเดียว แต่ครอบครัวต้องสนับสนุน โรงเรียนต้องให้เวลา สังคมต้องให้พื้นที่ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานอย่างสวัสดิการในการเข้าถึงหนังสือ ต้องมีมากพอที่จะทำให้วัฒนธรรมการอ่านเป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้

สังคมไทยต้องทำให้หนังสือเป็นสิ่งที่เขารัก มากกว่าการบอกให้เขารักการอ่าน เด็กไทยไม่ได้อ่านหนังสือแค่ 8 บรรทัด พวกเขาอ่านมากมายกว่าที่ใครคิด แต่สิ่งที่ขาด คือเขาขาด ความเพลิดเพลิน (reading enjoyment) และ การมีส่วนร่วมในการอ่าน (reading engagement) ส่วนหนึ่ง คุณครูทุกวิชาสามารถนำกิจกรรมเป็นตัวเชื่อมให้เขาเห็นการอ่านเป็นเรื่องสนุกได้ ซึ่งรัฐต้องให้เวลาครูอยู่กับเด็กและหนังสือได้มากพอ

เพราะได้อ่าน…ฉันจึงรัก ไม่ใช่บังคับให้รักแล้วอ่าน

“การอ่านไม่ใช่แค่ภาษาไทย แต่อยู่ในทุกวิชา อย่างผมอ่านงานวิจัย
อ่านหนังสือวิทยาศาสตร์นอกตำรา ก็ทำให้ผมได้เจอ
การตั้งคำถามแปลก ๆ ได้เพิ่มจินตนาการต่อโลกของเรา”

เมธัส ชาครานนท์นักเรียนชั้น ม.6 รร.สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

เมธัส ชาครานนท์ นักเรียนชั้น ม.6 สายวิทย์-คณิต รร.สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ยอมรับว่า เริ่มอ่านหนังสือตั้งแต่ยังเด็ก จากหนังสือการ์ตูนทางวิทยาศาสตร์ นำไปสู่การเริ่มมองหาหนังสือวิทยาศาสตร์นอกตำรา

เขาชื่นชอบหนังสือ ‘What If?: Serious Scientific Answers to Absurd Hypothetical Questions’ เป็นหนังสือที่ชวนจินตนาการถึงสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แปลก ๆ เช่น “ถ้าขว้างลูกบอลด้วยความเร็วแสงจะเกิดอะไรขึ้น” “ถ้าเอาธาตุทั้งหมดในตารางธาตุมาวางรวมกันจะเกิดอะไรขึ้น” และอธิบายผลด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เป็นการเติมจินตนาการใหม่ ๆ ต่อโลกใบนี้ และล่าสุดเขาได้เป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันรายการตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ ‘GenWit’ อีกด้วย

เมธัส เชื่อว่าการอ่านช่วยให้เขาค้นพบตัวเอง เพราะทำให้เขาได้อยู่กับตัวเองและจดจ่อในสิ่งที่อ่าน การอ่านยังเปิดโอกาสให้เขาสำรวจความคิดของผู้เขียนและได้พิจารณาความคิดของตัวเองไปพร้อมกัน

“ความรู้จากหนังสือที่ผมอ่านในวันนี้เราอาจจะยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ในช่วงเวลานี้ แต่ในอนาคตสักวัน สิ่งที่ผมได้อ่านไปจะมีโอกาสได้ใช้เเน่นอน ผมจึงมองว่าผมควรการเปิดกว้างและสนุกไปกับการอ่านหนังสือ”

เมธัส ชาครานนท์

“ผมเคยได้ยินว่า พอเราโตไป เราต้องเรียนรู้เฉพาะทางมากขึ้น แต่ผมไม่อยากให้เป็นแบบนั้น ไหน ๆ เราก็ได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว การได้เข้าใจเรื่องราวผ่านหลาย ๆ มุมมอง มันเพิ่มพูนได้ด้วยการอ่าน”

ภูรินท์ องค์วรรณดี นักเรียนชั้น ม.5รร.สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

อีกคน คือ เกียร์ – ภูรินท์ องค์วรรณดี นักเรียนชั้น ม.5 เขาคือเด็กสายวิทย์หัวใจศิลป์ เริ่มต้นอ่านหนังสือจากหนังสือภาพนิทาน อย่าง ‘นิทานชุดกุ๋งกิ๋ง’ ที่พ่อแม่ซื้อมาให้อ่าน และเริ่มยืมหนังสือจากห้องสมุดโรงเรียนประถมฯ เล่มแรก คือ ‘แฮรี่พอตเตอร์’ ด้วยความสนุกจึงอ่านจบอย่างรวดเร็วภายในหนึ่งสัปดาห์ รวมถึงภาคต่ออีกหลายเล่ม เขาก็อ่านจบหลังจากนั้นด้วยเช่นกัน

“สมัยเด็ก โลกเวทมนต์ก็เป็นโลกเวทมนต์ แต่เมื่อได้ย้อนกลับไปอ่านในวัยที่โตขึ้น โลกเวทมนต์ได้สะท้อนความเป็นมนุษย์ ทำให้เขาเห็นทั้งความไม่สมบูรณ์และการเติบโตของตัวละคร ไปพร้อมกับเขาที่โตขึ้นด้วยเช่นกัน”

ภูรินท์ องค์วรรณดี

เกียร์ เล่าว่า ตอนเรียนประถมโรงเรียนของเขามีหนังสือในห้องสมุดที่น่าสนใจเยอะ ถ้าได้ไปดูอาจเห็นน้อง ๆ นั่งอ่านหนังสือระหว่างรอพ่อแม่มารับ ห้องสมุดปิด 5 โมงเย็น และหลายคนก็นั่งอ่านจนห้องปิด พอโตขึ้น เขามองว่าถ้าโรงเรียนหรือครูบังคับให้อ่านเยอะ ๆ อาจทำให้หลายคน รวมถึงตัวเขาเอง รู้สึกว่าการอ่านเป็นแค่เรื่องในห้องเรียน หรือทำส่งครูเท่านั้น ซึ่งทำให้การอ่านกลายเป็นเรื่องของการถูกบังคับ

เขายังเชื่อว่า การอ่านสามารถเชื่อมโยงความรู้จากหลายมุมมอง เช่น ความรู้ทางชีววิทยาก็สามารถอธิบายได้ด้วยความรู้ทางจิตวิทยาหรือประวัติศาสตร์ และไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องมีความรู้เพียงแขนงเดียว ในฐานะมนุษย์ การได้เรียนรู้โลกผ่านหลาย ๆ เลนส์ เราสามารถทำได้ด้วยการอ่านหนังสือ

เข้าใจว่าหนังสือดูเป็นยาขมของใครหลายคน แต่หนังสือหนึ่งเล่มทำให้เราได้พบเรื่องราวใหม่ ๆ บนโลกใบนี้ มีคนที่เราไม่มีโอกาสได้เจอตัว แต่เขาฝากบางสิ่งมาถึงเรา ผ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่มีอยู่ล้าน ๆ เล่มทั่วโลก และมันอาจเป็นเรื่องราวที่มีค่ามากก็ได้

“พอทำให้การอ่านไม่ต้องรอใครมาบอกให้อ่าน แต่อยากรู้อะไรก็อ่าน บางคนก็รักในอ่านเรื่องที่ตัวเองสนใจโดยที่ไม่รู้ตัว การอ่านกลายเป็นนิสัยที่มั่นคงมากกว่า มองย้อนไปผมก็ดีใจที่ตอนนั้นตัวเองกับเพื่อน ๆ หยิบจับหนังสือด้วยตัวเอง”

ภูรินท์ องค์วรรณดี

“การอ่านยังเป็นพื้นฐานของชีวิต แง่หนึ่งมันทำให้เราเอาตัวรอดได้
อย่างเรื่องพื้นฐานที่สุดอย่างการเข้าใจกฎหมาย และอีกด้านหนึ่ง
ก็ช่วยทำให้เราเห็นโลก และเห็นความคิดของผู้อื่นในสังคม”

ปราณรัก บ่ายคล้อย นักเรียนชั้น ม.2 รร.สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

เช่นเดียวกับ ปริน – ปราณรัก บ่ายคล้อย นักเรียนชั้น ม.2 รร.สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เธอก็เติบโตมากับการอ่านหนังสือการ์ตูนแนววิทยาศาสตร์ให้ความรู้ และหนังสือที่พ่อแม่หรือญาติพี่น้องซื้อมาให้ จนมาถึงวันนี้ เธอก็ยอมรับว่าไม่ใช่คนชอบอ่านอะไรยาว ๆ แต่นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอยังอ่านมัน เพื่อที่จะสรุปออกมาเป็น Shortnote เพื่อย้ำว่าไม่ว่าอะไรในโลก เราก็สามารถทำความเข้าใจกับมันได้ด้วยการอ่านและเขียน

ส่วนตัว ปรินเชื่อว่าตัวเองมักอยู่แต่ความเป็นจริง หนังสือโรแมนติก-แฟนตาซีจึงเป็นพื้นที่ที่ทำให้เธอได้ผ่อนคลาย และออกมาจากโลกความเป็นจริงได้บ้าง ที่สำคัญคือ การอ่านช่วยทำให้เธอได้พูดคุยกับตัวเองมากขึ้น ผ่านเรื่องราวที่ปรากฎในหนังสือ

การอ่านยังคงเป็นส่วนสำคัญของชีวิต มันทำให้เธอเอาตัวรอดได้ อย่างเรื่องพื้นฐานที่สุดอย่างการเข้าใจกฎหมาย หรือการทำสัญญาต่าง ๆ จำเป็นต้องอาศัยพื้นฐานการอ่านที่แข็งแรง และอีกด้านหนึ่งการอ่านก็ช่วยเติมเต็มชีวิตด้วยความเพลิดเพลิน ทำให้เข้าใจโลก และเข้าใจความคิดของผู้อื่นที่อยู่ร่วมในสังคม

ปริน ยังมองว่า การบังคับหรือไม่บังคับให้อ่านมีผลต่อเธอในระดับหนึ่ง เพราะเป็นคนที่ไม่ชอบโดนบังคับ หากต้องทำอะไรภายใต้การบังคับ เธออาจรู้สึกไม่อยากทำและส่งผลให้ทำได้ไม่ดีภายใต้แรงกดดัน

“หากใครไม่สนุกกับการอ่านหนังสือ หรือพบว่าหนังสือไม่ใช่ทาง ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้โลกแตกต่างกันไป แต่อย่างน้อยอยากให้ลองค้นหาวิธีการอ่านที่ตัวเองชื่นชอบ”

ปราณรัก บ่ายคล้อย

ถ้ายังสร้าง ‘ระบบนิเวศการอ่าน’ ไม่ดีพอ
ก็ไม่มีทางฉุดคะแนน PISA ด้านการอ่าน

เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายยกระดับคะแนน PISA เด็กไทย โดย สพฐ. ได้เร่งพัฒนาครูแกนนำ 1,400 คนในแผนการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของนักเรียนตามแนวทาง PISA เพื่อขยายผลไปสู่ครูใน 9,214 โรงเรียน โดยมีนักเรียนเข้าสู่ระบบการทดสอบแบบ Computer Based Testing (PISA Style) จำนวน 208,268 คน และยังมีการจัดทำโครงการโรงเรียนพี่-น้อง เพื่อให้โรงเรียนที่มีความสามารถมากกว่า ช่วยติวเข้มให้กับโรงเรียนที่อ่อนกว่า

อย่างไรก็ตาม ครูเฉลิมลาภ ชี้ว่า การยกระดับคะแนน PISA การอ่านไม่ใช่แค่การติวข้อสอบหรือบังคับให้นักเรียนทำข้อสอบจำลอง แต่ต้องเริ่มจากการสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการอ่านให้กับนักเรียน ปัจจัยสำคัญอย่างความสุขในการอ่าน, การมีส่วนร่วมในการอ่าน, สถานะทางเศรษฐกิจและครอบครัว, ความคล่องแคล่วในการอ่าน, ประสบการณ์การอ่านรูปแบบต่าง ๆ และความรู้เดิมของเด็ก ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาการอ่านเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

คำถามคือ เราจะทำอย่างไรให้ปัจจัยเหล่านี้เกิดขึ้น? คำตอบเบื้องต้น คือ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ไม่ใช่แค่การบังคับให้เด็กทำข้อสอบอย่างยาวนาน เพราะเด็กส่วนใหญ่ไม่ชอบทำข้อสอบแบบนั้น การทำให้เด็กหันมารักการอ่านและรู้สึกมีความสุขกับการอ่านเป็นสิ่งสำคัญมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการอ่านวรรณกรรมหรือการอ่านรูปแบบต่าง ๆ หากเด็กเกลียดการอ่านข้อความยาว ๆ ปัญหาอาจจะมาจากการที่เด็กอ่านไม่ออก อ่านไม่คล่อง หรือรู้สึกว่ายากจนไม่อยากอ่านอีกต่อไป

ดังนั้น ครูเฉลิมลาภ มองว่า หลักสูตรควรเน้นการส่งเสริมการอ่านเป็นฐานการเรียนรู้ในทุกวิชา ต้องบรรจุวรรณกรรมที่สนับสนุนเนื้อหาในแต่ละวิชา และร่วมกันแก้ไขปัญหาการอ่านและการเขียนที่ไม่คล่องควบคู่ไปด้วย ที่สำคัญ ครอบครัวต้องเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมการอ่านเช่นกัน ควรหาเวลาอ่านหนังสือด้วยกัน ตั้งคำถามและพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่อ่าน พ่อแม่และผู้ปกครองควรสังเกตลูกหลาน หากพบว่าพวกเขายังอ่านไม่คล่องหรือไม่สามารถสรุปสิ่งที่อ่านได้ ต้องรีบหาวิธีแก้ไข อย่าปล่อยให้ปัญหานี้ผ่านไป

“การวางฐานการพัฒนาทั้งหมดนี้จะช่วยให้คะแนนการทดสอบ PISA ดีขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้เด็กไทยรักการอ่าน หากเราทำได้เช่นนี้ ย่อมดีกว่าการเน้นแค่ให้เด็กทำข้อสอบจำลองซึ่งไม่แก้ปัญหาที่แท้จริง”

เฉลิมลาภ ทองอาจ
เฉลิมลาภ ทองอาจครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาภาษาไทย รร.สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

บทส่งท้าย :
เป้าหมายของการศึกษาไม่ใช่การเพิ่มคะแนน PISA เพียงอย่างเดียว

แม้กระทรวงศึกษาธิการเตรียมแผนรับมือ ปรับการเรียนรู้ใหม่ หวังยกระดับคะแนนเด็กไทยในการสอบครั้งถัดไป แต่การเล็งเพิ่ม คะแนน PISA โดยที่ไม่พัฒนาพื้นฐานสวัสดิการด้านการศึกษา อาจทำให้นโยบายอัดฉีดคะแนน เป็นเพียงมหกรรมการติวสอบที่เกิดขึ้นเป็นฤดูกาล แต่ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน

ทุกวันนี้ เนื้อหาบนโลกออนไลน์ที่กระชับ รวดเร็ว ส่งผลให้เด็กไทยมีสมาธิจดจ่อกับการอ่านได้น้อยลง และเจออุปสรรคต่อการอ่านขนาดยาวมากขึ้น จากบทความ The Elite College Students Who Can’t Read Books สะท้อนว่า นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำไม่สามารถอ่านหนังสือได้จบเล่ม สาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงในการเรียนการสอนในระดับมัธยม ซึ่งเน้นการสอบมาตรฐานมากกว่าการอ่านเชิงลึก ปัญหานี้ส่งผลต่อความสามารถในการคิดวิเคราะห์และสร้างความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ

นอกจากนี้ ผลสำรวจของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ ธนาคารโลก พบว่า 64.7% ของประชากรไทยตั้งแต่ 15 – 64 ปี มีทักษะด้านการรู้หนังสือที่ต่ำกว่าเกณฑ์ หมายความว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถที่จะอ่านและเข้าใจข้อความสั้นเพื่อแก้ปัญหาง่าย ๆ เช่น การทำตามคำสั่งบนฉลากยา

นี่จึงไม่ใช่ปัญหาการเร่งทำคะแนนการอ่านใน PISA แต่เป็นวิกฤตทักษะแรงงาน ที่ต้องเผชิญกับความผันผวนในโลกอนาคต การปลูกฝังนิสัยการอ่านจึงเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของการศึกษาในยุคปัจจุบัน ไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมทักษะด้านภาษาและความรู้เท่านั้น แต่ยังช่วยปลูกฝังนิสัยรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต

สิ่งสำคัญคือการทำให้เด็กเข้าใจถึงความสำคัญของการอ่านและเห็นว่าการอ่านเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน เพื่อให้พวกเขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับหนังสือตั้งแต่วัยเยาว์

วิธีหนึ่งที่ทำให้ นิสัยรักการอ่าน ถูกปลูกฝัง คือ ารเลือกหนังสือที่เหมาะสมกับความสนใจของเด็ก เช่น หนังสือภาพ หนังสือการ์ตูน หรือนิทานที่มีเนื้อหาเบาสมอง ซึ่งสามารถสร้างความประทับใจให้เด็กและเชื่อมโยงประสบการณ์การอ่านกับความสุขได้ นอกจากนี้ การให้เด็กได้มีโอกาสเลือกหนังสือที่พวกเขาสนใจเองก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะทำให้พวกเขารู้สึกถึงความเป็นเจ้าของในการอ่าน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง