คีพเมน สู่ แฟนวอร์: ด้อมการเมือง เคลื่อนไหวอย่างไรให้สร้างสรรค์

  • จากด้อมเกาหลี สู่ด้อมการเมือง ทำความเข้าใจวัฒนธรรมผู้สนับสนุน หรือกลุ่มแฟนคลับ ที่ไม่ใช่ว่ารักใครแล้วจะหลงใหลคลั่งไคล้ อย่างไม่ลืมหูลืมตา
  • วัฒนธรรมการเมืองของเกาหลีใต้และไทย มีบริบทที่ใกล้เคียงกันอย่างมาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากการเคลื่อนไหวทางการเมือง จะเรียนรู้การแสดงออกผ่านสิ่งต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ได้เช่นเดียวกัน
  • The Active คุยกับ 3 ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมเกาหลี ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เสกสรร อานันทศิริเกียรติ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมไทยคดีศึกษาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (KATS) และ “ลูกหว้า” กมลทิพย์ มีชูคุณ (bluesherbet) นักเขียนบันเทิงเกาหลี

ทันทีที่มีความเคลื่อนไหวสำคัญเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองขวัญใจวัยรุ่นอย่าง “ก้าวไกล” ปฏิกริยาในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะชาวทวิตเตี้ยน จะร่วมกันแสดงพลัง หลายครั้ง สะท้อนความต้องการของผู้คนในโลกออนไลน์ได้เป็นอย่างดี จนติดอันดับความนิยมอย่างรวดเร็ว จำนวนโพสต์ที่พุ่งขึ้นนับล้านครั้ง มีผลต่อการตัดสินใจของพรรคก้าวไกลทันที

ปรากฏการณ์ #มีกรณ์ไม่มีกู ดูเหมือนจะเป็นครั้งที่ทำให้เห็นภาพชัดที่สุด กลายเป็นการตอกย้ำวาทกรรม “ด้อมส้ม” ทั้งในฐานะแฟนคลับในโลกออนไลน์ และฐานเสียงในโลกแห่งความจริง ที่ความนิยมได้ส่งให้พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 มาแล้ว

กระทั่งล่าสุด #ธุรกิจสว และ #เมียน้อยสว ที่ชาวด้อม แสดงออกหลังการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมกันกดดันให้สมาชิกวุฒิสภาเคารพเสียงของประชาชน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า อะไรคือเส้นแบ่งระหว่างการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ กับการล่าแม่มด

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ “ด้อมเกาหลี” หลายมาเป็น “ด้อมการเมือง” คือการชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่แยกปทุมวัน ก่อนจะมีการสลายการชุมนุมในเวลาต่อมา ครั้งนั้น มีการสั่งปิดให้บริการรถไฟฟ้าบีเอส เมื่อ “ด้อมเกาหลี” ที่มักจะซื้อโฆษณาอวยพรวันเกิดศิลปินเกาหลีกับบีทีเอสเป็นประจำ กลายเป็นคนกลุ่มเดียวกันกับผู้ชุมนุม พวกเขาจึงตอบโต้โดยการเลือกจะไปซื้อโฆษณาทางรถตุ๊กตุ๊กหรือป้ายโฆษณาที่อื่น ๆ แทน

การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 19 ก.ค. 2566

ทำความเข้าใจโลกของด้อม รักแรง แต่ก็แบนได้

“แฟนด้อม” คือ คำจำกัดความกลุ่มแฟนคลับของศิลปิน มาจากคำว่า Fanclub + Kingdom เปรียบศิลปินแต่ละวง เป็นแต่ละอาณาจักร มีประชากรหรือกลุ่มแฟนคลับเป็นของตัวเอง เมื่อนำมาผสมกับคำว่า “ส้ม” อันเป็นสีสัญลักษณ์ของพรรคก้าวไกล จึงกลายเป็น “ด้อมส้ม” แต่ในอีกนัย การเป็นด้อมหมายถึง ความรัก ความหลงใหล ความคลั่งไคล้ หรือความเชื่อใด ๆ อย่างไม่มีเหตุผล และความรู้สึกนี้ผลักดันให้เกิดพฤติกรรมในการติดตามและสนับสนุนอย่างใกล้ชิด พร้อมจะปกป้องอย่างไม่มีข้อแม้

ส่วน “ติ่งเกาหลี” เป็นคำที่เอาไว้เรียกกลุ่ม “แฟนคลับ” ที่มีความคลั่งไคล้และความทุ่มเทติดตามผลงานศิลปินคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างเต็มกำลัง ทั้งในแง่ของความรู้สึกและพฤติกรรม อดีตถือกำเนิดขึ้นมาภายใต้ความรู้สึกแง่ลบ เพราะถูกมองว่าไร้สาระ แต่ในปัจจุบัน ‘ติ่ง’ เริ่มมีความหมายในแง่บวก ตีความได้กว้างขวางขึ้น จากพลังขับเคลื่อนในมิติต่าง ๆ ของกลุ่มแฟนคลับไอดอลเกาหลี

แต่แม้ว่ารักมาก ก็เทได้ แวดวงด้อม จึงมีสิ่งที่เรียกว่า “Cancel Culture” หรือวัฒนธรรมการ “แบน” โดยนิยามแล้ว คือการเลิกสนับสนุนคนมีชื่อเสียงจากการกระทำที่ไม่เหมาะสม เสื่อมเสีย หรือแม้แต่ทำให้แฟน ๆ ผิดหวัง ตามมาด้วยการคว่ำบาตรหรือแบนศิลปินเหล่านั้นอย่างไร้เยื่อใย เพื่อเป็นการแสดงออกจากกลุ่มแฟนคลับหรือผู้บริโภคว่าไม่สนับสนุนการกระทำ หรือความคิดเห็นที่คนดังแสดงออกไป

เช่น กรณีของ การัม อดีตสมาชิกวง LE SSERAFIM ซึ่งมีข่าวเรื่องการบูลลี่เพื่อนร่วมชั้น แฟน ๆ ของวงบางส่วนเริ่มมีการเรียกร้องให้เธอออกจากวง เธอจึงพักงาน และยกเลิกสัญญาในภายหลัง แม้ว่าการัมจะพยายามพิสูจน์ตัวตน ว่าเข้าไปช่วยเพื่อนจากคนที่ถูกบูลลี่ก่อน แต่ชาวเน็ตได้มองว่า เธอเองก็มีส่วนในการใช้ความรุนแรงเช่นกัน

หรือกรณีของ ลูกหนัง ที่เปิดตัวเป็นศิลปินเกาหลีวง H1-KEY ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนเกิดกระแส #แบนลูกหนัง เมื่อผู้คนในโซเชียลมองว่า เราไม่ควรสนับสนุนคนที่ครอบครัวมีส่วนในม็อบ กปปส. ซึ่งนำมาสู่การทำรัฐประหาร จนทำให้ลูกหนังต้องถอนตัวจากการเป็นสมาชิกวง H1-KEY

ส่วนในสนามการเมือง หลายคนมองว่า ไม่ว่าจะเป็น Voter ของพรรคสีส้ม หรือพรรคอื่น ๆ ในขั้วที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” หากออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในลักษณะนี้ ไม่ควรถูกเหมารวมว่าเป็นความเคลื่อนไหวแบบ “ด้อม” เสียทั้งหมด กระทั่งเริ่มมีการเรียกร้องให้หยุดเรียก Voter พรรคก้าวไกลว่า “ด้อมส้ม” หากไม่อยากกลายเป็นส่วนหนึ่งของการรัฐประหารด้วยตุลาการกฏหมาย ที่มีภาษาเป็นเครื่องมือ

ด้อมการเมือง

เสรีภาพการแสดงออก VS การละเมิดสิทธิของผู้อื่น

ท่ามกลางความอึดอัดทางการเมือง ที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ ‘พิธา’ หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ทั้งที่ในสภากำลังมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบสอง ส่วนนอกสภาก็มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองมากมาย

ก่อนหน้านี้ ‘พิธา’ เคยประกาศว่า ขอให้ประชาชนทุกคน ร่วมทำภารกิจกับผมในสองสมรภูมินี้ โดยการ ส่งสารถึง สว. ในทุกวิถีทาง ทุกวิธีการที่ท่านนึกออก ย้ำ ขอเป็นวิธีการสร้างสรรค์ ช่วยกันเชิญชวนให้ สว. โหวตนายกตามมติประชาชน หรือ โหวตยกเลิกมาตรา 272 เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน แล้วอะไรคือการแสดงพลังอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะกลุ่มด้อมการเมือง ในมุมของผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมเกาหลี

ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ด้อม เองสามารถแสดงพลังอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ จะเป็นเชิงสัญลักษณ์ หรือชักชวนก็ได้ ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิหรือทำร้ายคนอื่น รัฐธรรมนูญให้สิทธิในการแสดงออก แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือต้องควบคุมในเชิงระดับ หากฝั่งแสดงออกอ้างเสรีภาพ แต่อีกฝั่งที่ไม่อยากให้แสดงออกบอกว่ากำลังละเมิดสิทธิผู้อื่นอยู่ ฉะนั้นต้อง clear-cut ว่าแสดงออกอย่างเต็มที่อย่างไร ที่ไม่ไปละเมิดสิทธิคนอื่น

ขนบการเมืองเกาหลีใต้ กับเงื่อนไขการเมืองไทย

หากเทียบขนบการเมืองของเกาหลีใต้ ที่มีการต่อสู้ตลอดเวลา เสกสรร อานันทศิริเกียรติ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมไทยคดีศึกษาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (KATS) มองว่ามีหลายวิธี อย่างแรก คือ การชุมนุมทางการเมืองอย่างสันติ โดยใช้วิธีจุดเทียน เทียนความหมายก็คือแสงสว่าง เป็นการชี้นำความสว่างในความมืด เรื่องเทียนก็เป็นไปตามพระราชบัญญัติการชุมนุมของเกาหลีใต้ ซึ่งถูกกฎหมาย ต้องมีการแจ้งขออนุญาตก่อน เป็นการยอมรับทั้ง 2 ฝ่าย ในอดีตที่เคยมีการขับไล่ประธานาธิบดีแต่ละสัปดาห์จะมีการเคลื่อนสู่ทำเนียบประธานาธิบดี หรือ ชอง วา แด (청와대: Cheong Wa Dae) ผู้ชุมนุมจะขออนุญาตให้ศาลสั่งว่าขยับได้กี่เมตร ในเกาหลีใต้ตำรวจทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการชุมนุม ศาลเข้ามาร่วมในฐานะกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น อย่างน้อยที่สุดการจุดเทียนสอดคล้องกับที่บอกว่าไม่ใช้ความรุนแรง ชุมนุมอย่างสันติ

ส่วนกระแสการแบนเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ด้านหนึ่งก็เป็นเพราะแฟนด้อมอาจจะนึกไม่ออกว่าจะแสดงออกอย่างไรได้บ้าง ก็เลยเลือกทางนี้แต่นี่ก็ไม่ได้ใช้ความรุนแรง แต่ก็จะมีเรื่องคำพูดที่อาจรู้สึกว่าถูกคุกคาม ข่มขู่ได้

ส่วนการบอยคอต คว่ำบาตร แบนสินค้าหรือธุรกิจ เกาหลีใต้เคยทำและทำบ่อย สอดคล้องกับวัฒนธรรมการยกเลิกหรือ Cancel culture ตราบใดที่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และไม่ใช่ความรุนแรงทางกายภาพ ก็อาจจะมีเงื่อนไขที่ยังพอคุยกันได้ แต่ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือ การแบนนักการเมืองในปัจจุบันของเกาหลีใต้ เมื่ออยู่ฝ่ายตรงข้ามกับความคิดของตัวเอง เมื่อไม่ชอบหน้าฝ่ายตรงข้ามอยู่แล้ว เครื่องด่าจะทำงานอัตโนมัติ แต่นี่คือ Cancel culture ไหม อาจจะต้องคิด

ส่วน “ลูกหว้า” กมลทิพย์ มีชูคุณ (bluesherbet) นักเขียนบันเทิงเกาหลี ตั้งคำถามว่า “ความรุนแรงเกิดจากใครก่อนหนึ่ง!” เธอบอกว่าจุดเริ่มต้นความรุนแรงไม่ได้มาจากประชาชน จุดเริ่มต้นของม็อบต่าง ๆ ก็เริ่มอย่างสร้างสรรค์ ทั้ง วิ่งกันนะ แฮมทาโร่ หรือ ม็อบแฮรี่พ็อตเตอร์ ไม่ได้มีการใช้อาวุธ หรือแม้แต่การชุมนุมสมัยก่อน ประชาชนก็ไม่ได้เริ่มต้นจากการใช้อาวุธ หากเปรียบคงเหมือนลูกโป่งที่อัดแก๊ส ถ้าไม่ปล่อยออกมาบ้าง สักวันก็คงจะระเบิด แต่ถ้าวันหนึ่งประชาชนหยิบเอาอาวุธมาสู้กลับ ก็อาจเป็นเพราะถูกกดขี่ ถูกใช้ความรุนแรงก่อน

“จริง ๆ แล้วไม่ได้ขึ้นอยู่กับประชาชนเลย ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจที่ปฏิบัติกับม็อบอย่างไร”

กมลทิพย์ มีชูคุณ

“สื่อบันเทิง” เครื่องมือเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ลูกหว้า ชวนมองเทียบบริบทเรื่องนี้กับเกาหลีใต้ สิ่งที่เกาหลีใต้ได้เปรียบ และอยากให้ประเทศไทยทำได้ คือ การที่เขามีสื่อที่เป็นเอกเทศ ไม่ขึ้นตรงต่อการตรวจสอบของรัฐบาล หรือมีองค์กรอิสระที่ตรวจสอบกันเองได้ ซีรีส์หรือภาพยนตร์ที่รัฐบาลหรือมีนายทุนใหญ่ให้การสนับสนุน จะไม่สามารถยื่นมือเข้ายุ่งเกี่ยวได้ อย่าง Parasite ที่นำเสนอเรื่องราวความเหลื่อมล้ำ คนที่ต้องอาศัยอยู่บ้านเช่ากึ่งใต้ดิน หลังภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัล รัฐบาลได้ไปปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ถ้าเป็นบางประเทศ (เอ๊ะ?) คงจะโมโหว่าเอาเรื่องไม่ดีของประเทศไปฉายได้อย่างไร

“แม้ว่าไทยยุคนี้จะดีขึ้นแล้ว แต่หนังหรือภาพยนตร์ก็ยัง Romanticize ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน หรือว่าอะไรที่ผลิตซ้ำบ่อย ๆ อย่างเช่น ผู้กองยอดรัก ที่แสดงว่าการรับใช้ชาติมันดีนะ การรับใช้นายพลเป็นเรื่องที่ดี”

กมลทิพย์ มีชูคุณ

ถ้ามองย้อนกลับไป เราเองก็เติบโตมากับสื่อแบบนี้ เราถูกหล่อหลอม เรามีชุดความดีความดีงามแบบหนึ่ง แล้วเราก็ดำเนินไปในแบบนั้น เราจะมองว่าถ้าผู้หญิงแต่งตัวฉูดฉาดหวือหวาเป็นคนไม่ดี เห็นคนกระด้างกระเดื่อง ไม่มีมารยาท เราก็จะรู้สึกไม่ดีกับเขา จึงมองว่าสื่อจำเป็นมาก หากเทียบเกาหลีใต้ที่ได้รับประชาธิปไตยในปี 1987 ในการเลือกตั้งครั้งแรกมีฝั่งประชาธิปไตย 2 พรรคมาสู้กัน และมีพรรคเผด็จการเก่าลงอีก 1 พรรค ทั้ง 3 พรรคคะแนนสูสีมาก คนเลือกพรรคเผด็จการน้อยกว่า แต่ว่าพรรคประชาธิปไตยตัดคะแนนกันเอง จึงทำให้เผด็จการได้ครองอำนาจต่อไป หลังหมดวาระถึงเข้ายุคประชาธิปไตยเต็มใบและสื่อมีอิสระมากขึ้น

ติ่งเกาหลี ตอนนี้สามารถทำได้คือการดูภาพยนตร์เกี่ยวกับการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ เพราะเกาหลีใต้มีความคล้ายกับประเทศไทย นอกจากเรื่องเผด็จการ หรือมาเฟียบ้านใหญ่ ตระกูลแชบอลที่ร่ำรวยก่อร่างสร้างตัวได้ ก็มาจากยุคเผด็จการเช่นกัน

นอกจากการเสพซีรีส์ ที่เกาหลีใต้คนอ่านเว็บตูนเยอะมาก ย้อนไปประมาณปี 2006 มีนักวาดการ์ตูนที่วาดเรื่อง 26 Year เป็นเรื่องราวที่ ควังจู ที่ชายคนหนึ่งเห็นครอบครัวตายไปต่อหน้า ความคับแค้นใจของชายผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนในเมืองควังจู เกาหลีใต้

ในเว็บตูนเขาได้เข้าร่วมแผนการชำระแค้น วางแผนลอบสังหารประธานาธิบดีเผด็จการต้นตอโศกนาฏกรรมสังหารหมู่ควังจูได้สำเร็จ แต่ในความเป็นจริง ผู้นำเผด็จการคนนั้นกลับไม่ตาย คนที่ออกคำสั่งฆ่ากลับได้รับอิสรภาพและเสวยสุข ที่สำคัญเหยื่อยังไม่เคยได้รับคำขอโทษออกจากปากคนสั่งการแม้แต่ครั้งเดียว จึงมองว่าการที่สื่อไม่โดนแบน มีช่องทางแสดงออก เป็นสิ่งที่ดี ที่ควรจะมีในไทยบ้าง

“ไม่จำเป็นว่าต้องเป็น Mass Media ก็ได้ อย่างเว็บตูน เป็นสื่อที่ไม่ต้องลงทุนเยอะ สร้างจากเจตจำนงของประชาชน ณ ตอนนั้น ไม่มีนายทุนมาครอบงำ หากไม่ได้มีเรื่องการเรียกร้องประชาธิปไตยแล้ว ก็สามารถผลักดันสังคมในเรื่องอื่นได้”

กมลทิพย์ มีชูคุณ

มองนอกกรอบ สู่ วิธีการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์

ไพบูลย์ เสนอว่า อาจใช้ความสามารถที่มีอยู่ในการแสดงออกทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ เช่น ใช้งานที่เราทำอยู่มาแสดงออก เป็นศิลปินใช้การวาดภาพ หรือจะชักชวนก็ได้ หรือมีอิเวนต์ อย่างเกาหลีใต้มีงานจะมีการแจกที่ครอบแก้ว (Cup sleeve) เราก็สามารถแจกเพื่อปกป้อง เรียกร้องให้ สว. ฟังเสียงประชาชน เป็นแคมเปญแจกแก้วน้ำ โดยอาจเล่าประวัติความเป็นมาของ สว. มอง สว. มีบทบาททางการเมืองอย่างไร ทำไมเราต้องมี สว. สร้างโมเดล โดยยก สว. ที่ดี เมื่อ สว. เป็นบุคคลสาธารณะ เราสามารถเรียกร้องได้

ส่วน เสกสรร มองการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ต้องประกอบด้วย 2 ส่วน คือการสร้างศักยภาพให้ประชาชน และการลดทอนอำนาจของผู้ประพฤติมิชอบ เมื่อการจุดเทียนไม่มีข้อติ อาจจะเหมาะสมกับประเทศไทย

  1. การเสริมศักยภาพให้ประชาชน Empower People ภาครัฐของเกาหลีใต้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับทุกเรื่อง มี Hackathon ค่อนข้างบ่อย สภาของเกาหลีใต้เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้งาน เปิดกระบวนให้เห็นว่าอะไรเป็นข้อจำกัด ความท้าทาย อุปสรรค หรือโอกาส แต่ท้ายที่สุดประเทศนี้ไม่ได้เป็นของคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่เป็นของคนทุกรุ่น ทั้งเก่า-ใหม่ ฉะนั้นต้องมาเจอกัน ต้องคุยกัน
  2. ลดทอน ลดความชอบธรรมของผู้มีอำนาจที่ประพฤติผิด ประพฤติมิชอบ ข้อมูลทุกอย่างต้องโปร่งใส ต้องตรวจสอบได้ เอาผิดย้อนหลังได้ ในประเทศเกาหลีใต้แรงกดดันสำคัญ สมมุติว่ามีรัฐมนตรีบอกลูกน้องหรือสื่อว่า “โง่” วันรุ่งขึ้นต้องลาออก เพราะแค่เรื่องจริยธรรมพื้นฐานในแง่ของการพูดยังทำไม่ได้เลย คะแนนนิยมจะตกลง แต่ปัญหาคือเมื่อเป็นพวกเดียวกันก็จะอุ้มชู นี่เป็นข้อจำกัดใหญ่ที่จะทำให้สังคมไทยเน่าเฟะ ถลำลึกมากขึ้น ต้องเอาความดี ความงาม ความจริง มาคุยกัน

เสกสรร มองว่า การจุดเทียน อาจจะเหมาะกับไทยที่สุด คนไทยรักสงบ (ถ้ามีทางเลือก) ตอนนี้มี พ.ร.บ.การชุมนุม กทม. ในยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กทม. อนุญาตให้มีพื้นที่ชุมนุม เหมือนตัวช่วยการเปิดฝาหม้อน้ำร้อนที่กำลังเดือดให้มีที่หายใจบ้าง ลดแรงกดดัน การจุดเทียนจริง ๆ ทำง่าย หรืออาจจะแต่งเพลง แปลงให้เป็นงานแฟร์ ถ้าเราเชื่อว่าไทยเก่งเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อย่างในเกาหลีใต้เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาร่วมสังเกตการชุมนุม ทำเป็นเทศกาลวัฒนธรรม กระตุ้นเศรษฐกิจ ร้านค้าที่อยู่รายรอบชอบการชุมนุม เพราะค้าขายดี  จริง ๆ ก็ไม่ได้อยากจะบอกว่าการชุมนุมเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ทำให้สนุก คิดว่าสำหรับคนที่ลังเลเรื่องจะออกไปชุมนุมดีไหม? คงคิดถึงเรื่องความสงบ การปะทะ การใช้ความรุนแรง

การจุดเทียนประท้วง เพื่อขับไล่พัก กึน-ฮเย อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้

ไม่อยากมีม็อบ ไม่ชอบพวกลงถนน ฉันรักสงบ

ลูกหว้า ยอมรับว่าเคยเป็นคนแบบนั้น แต่พอเข้าใจว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น การอยู่อย่างเป็นระเบียบมันก็ดีอยู่แล้วไม่ใช่หรอ? เขากำหนดหน้าที่ให้ เป็นนักเรียนก็เรียนไป เป็นลูกจ้างก็ทำงาน เราชินการสยบยอมอยู่ใน Safe Zone เรารู้สึกว่าถ้าวันหนึ่งมีรัฐบาลและมีกฎหมายที่เป็นธรรมกับประชาชน จะทำให้คุณเลือก Active ทางการเมือง คุณก็ทำได้ คุณอยากอยู่เฉย ๆ ก็ได้ เพราะว่านี่คือการตัดสินใจของคุณ

เธอยอมรับว่าเคยเป็นสลิ่มคนหนึ่ง แล้วเราก็เติบโตขึ้นจากการเสพสื่อในยุคที่มีสื่อจากต่างประเทศ ผ่านซีรีส์ สามารถช่วยประมวลผลแต่ตราบใดก็ตามที่เรายังสมาทานแนวคิดเดิม ๆ สมาทานหลักความดีเดิม ๆ เอาไว้ อย่างพวกละครคุณธรรม ต่อให้เราดูซีรีส์ต่างประเทศเป็น 100 เรื่อง เราก็วิเคราะห์ไม่ได้ เพราะชุดความดีที่เรานับถือไว้

“สิ่งที่ยากที่สุด คือการโน้มน้าวคนที่มีความคิดแบบนั้นให้เปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อ ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอกนะว่าความคิดเรา ณ ตอนนี้ มันถูกต้องหรือเปล่า ที่เราตัดสินใจตอนนี้ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่ถูกในอีก 10 ปีข้างหน้าก็ได้ แต่ว่าก็เป็นตามเสียงส่วนใหญ่”

กมลทิพย์ มีชูคุณ

ไพบูลย์ มองว่าแต่ละกลุ่มจะมองอย่างไรก็ได้ มีสิทธิที่จะมอง คนที่มีค่านิยมคล้ายกัน มุมมองก็จะคล้ายกัน โดยตั้งสิ่งที่อยากได้ แต่คนในสังคมมองต่างได้ตลอดเวลา แต่มองต่างไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกัน คนมองต่างยิ่งจำเป็นต้องมาถกกัน โดยรวมต้องมองแนวทางที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศมากที่สุด

บทส่งท้าย

มีคำกล่าวว่า…มีแต่คนบ้าเท่านั้น ที่จะทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง คิดแบบเดิม ทำแบบเดิม ผลก็เหมือนเดิม ยิ่งในบริบทสายธารการเมืองที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา จาก “คอการเมือง” สู่ “ด้อมการเมือง” ย่อมทำให้ประชาชนผู้สนับสนุนพรรคการเมืองขยายตัวเป็นวงกว้าง และตามมาด้วยการแสดงออกที่แตกต่างและหลากหลาย

เมื่อ…การต่อสู้ของประชาชนไม่มีที่สิ้นสุด หมุดหมายของการกระทำคือความหวังต่ออนาคตประเทศ ดังนั้น วิธีการที่แตกต่าง ก็อาจตามมาด้วยผลลัพธ์ที่แตกต่าง การแสดงพลังอย่างสร้างสรรค์ก็อาจเป็นหนึ่งในวิธีการที่พาไปสู่ผลลัพธ์ที่ว่านั้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

ภัทวีย์ ศรีหะไตรย์

ผู้ประสาน 10 ทิศ ชอบการติดต่อ-สื่อสารเป็นชีวิตจิตใจ ตัวเราขับเคลื่อนไปได้ด้วยการ "ติ่ง"

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์