แม้จะมีความขัดแย้งกันมามากกว่า 10 ปี แต่ยังไม่เคยมีสักครั้งที่ชาวกะเหรี่ยงจากบ้านบางกลอย จะต้องเดินทางไกลจากใจกลางป่าแก่งกระจาน เข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจรัฐ ทำเนียบรัฐบาล และยิ่งต้องมาปักหลักพักค้าง นอนกลางถนนที่มีแต่ไอร้อนและอากาศพิษ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับบ้านไม้ไผ่กลางป่าที่ร่มเย็น ยิ่งเป็นภาพที่หลายคนแม้กระทั่งพวกเขาเอง ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น
แต่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ที่เริ่มตึงเครียดมาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2564 จนถึงขณะนี้ นอกจากจะยังไม่คลี่คลายลงแล้ว ยังมีแนวโน้มตึงเครียดมากขึ้น หลังมีการจับกุมชาวบ้าน 22 คน รวมทั้ง หน่อแอะ มีมิ ลูกชายของปู่คออี้ หรือ โคอิ มีมิ และนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำจังหวัดเพชรบุรี
แม้ศาลจะมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว หลังชาวบ้านต้องถูกขังอยู่ในเรือนจำ 2 วัน แต่ความขัดแย้งที่ร้าวลึกมากขึ้น นำมาสู่การประกาศปักหลักชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งห่างจากการชุมนุมครั้งแรกเพียงแค่ครึ่งเดือนเท่านั้น
เกิดอะไรขึ้นในระยะเวลาเพียงแค่เดือนกว่า จนทำให้ชาวบ้านบางกลอยต้องเดินทางไกลจากใจกลางป่าแก่งกระจาน มาถึงทำเนียบรัฐบาล มาจนถึงสิ่งที่พวกเขาได้ติดมือกลับบ้านอีกครั้งจากการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลครั้งที่ 2 The Active ชวนย้อนดูเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นอีกครั้ง
ปลายเดือนมกราคม 2564
มีรายงานว่าชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจำนวนหนึ่ง เดินเท้าจากบ้านโป่งลึก-บางกลอย กลับขึ้นไปบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งบ้านบางกลอยบน ที่อยู่เข้าไปในป่าลึก ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ทำกินเดิมก่อนถูกอพยพลงมาเมื่อปี 2539
เหตุผลสำคัญที่ชาวบ้านต้องกลับขึ้นไป คือ ที่อยู่ปัจจุบันไม่มีที่ดินทำกินเพียงพอเลี้ยงดูครอบครัว ประกอบกับไม่สามารถออกไปรับจ้างข้างนอกได้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด – 19 จึงต้องการกลับขึ้นไปด้านบน เพราะอย่างน้อยยังสามารถปลูกข้าวกินได้
แต่หลังได้รับรายงานไม่นาน มานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น จัดกำลังเจ้าหน้าที่เดินเท้าขึ้นไปตามชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวในทันที แม้การเจรจาไม่สำเร็จ ชาวบ้านยังไม่ยอมกลับลงมา แต่ก็ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า จะเกิดการใช้ความรุนแรงกับชาวบ้านที่กลับขึ้นไป พร้อมเรียกร้องให้อุทยานฯ ดำเนินการต่อชาวบ้านอย่างเป็นธรรมและไม่ใช้ความรุนแรง
5 กุมภาพันธ์ 2564
เครือข่ายกะเหรี่ยง จัดชุมนุม #saveบางกลอย ที่ด้านหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อยื่นหนังสือต่อ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการฯ ทวงความเป็นธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืนสู่กะเหรี่ยงบางกลอย
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์วันนั้นได้เกิดเหตุชุลมุนขึ้น เมื่อผู้ชุมนุมพยายามจะเข้าไปด้านในพื้นที่กระทรวงทรัพยากรฯ หลังไม่มีเจ้าหน้าที่ออกมารับเรื่อง จนตัวแทนรัฐมนตรีออกมากล่าวยืนยันต่อผู้ชุมนุมว่า จะไม่มีการปิดกั้นขัดขวางเสบียงที่ส่งเข้าไปช่วยชาวกะเหรี่ยง และที่ประชุมจะขอรวบรวมข้อมูลทั้งหมดก่อน แต่ระหว่างตัวแทนรัฐมนตรีออกมาพูดคุย ตำรวจควบคุมฝูงชนได้เข้ายึดป้ายผ้าของผู้ชุมนุม ทำให้เกิดการแย่งชิงกัน และตำรวจริบป้ายผ้าไปได้ทั้งหมด
ผู้ชุมนุมจึงประกาศยุติการชุมนุม โดยนัดหมายรวมตัวกันอีกครั้งวันที่ 15 ก.พ. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านบางกลอย
10 กุมภาพันธ์ 2564
วราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ แถลงข่าวแนวทางการแก้ปัญหา โดยระบุว่า ทส. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางแก้ปัญหา โดยจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจและการถอยคนละก้าว พร้อมกับยืนยันว่ามีประชาชนเพียง 6 เปอร์เซนต์ที่เดือนร้อนและไม่พอใจต่อกระบวนการแก้ปัญหาที่ผ่านมา
12 กุมภาพันธ์ 2564
เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หน่วยเฉพาะกิจพญาเสือและทหารรบพิเศษที่ 1 แก่งกระจาน สนธิกำลังตั้งจุดตรวจค้นก่อนเข้าเขตหมู่บ้านบางกลอย โดยไม่มีการแจ้งให้ผู้นำชุมชนหรือชาวบ้านทราบถึงเหตุผล และจากนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่ยังได้สนธิกำลังกระจายดักซุ่มตามเส้นทางที่ชาวบ้านใช้เดินขึ้นลงหมู่บ้านบางกลอยล่างไปยังบางกลอยบนและใจแผ่นดิน
15 กุมภาพันธ์ 2564
สถานการณ์ความขัดแย้งที่ตึงเครียดมากขึ้นในพื้นที่ และไม่เห็นหนทางเจรจากับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่อคลี่คลายปัญหา ทำให้ชาวบ้านบางกลอยตัดสินใจเดินทางไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลเป็น ครั้งแรก ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เพื่อยื่นหนังสือถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอความเป็นธรรมในการนำชาวบางกลอยกลับบ้าน และเรียกร้องคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สู่พี่น้องชาติพันธุ์ โดยยื่น 3 ข้อเรียกร้องต่อ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ในฐานะตัวแทนของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานแก้ปัญหาของพีมูฟจากกลุ่มผู้ชุมนุม
16 กุมภาพันธ์ 2564
หลังการชุมนุมกดดันที่หน้าทำเนียบรัฐบาลผ่านไป 1 วัน รัฐบาลยอมลงนามในบันทึกข้อตกลงแก้ไขปัญหากรณีบางกลอย – ใจแผ่นดิน ประกอบด้วย 3 ข้อเรียกร้องเร่งด่วน คือ ถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากชุมชนบางกลอยทั้งหมด, หยุดการสกัดการขนส่งเสบียง อาหาร รวมถึงการตั้งจุดสกัดเดิม และจุดที่เพิ่มเติมขึ้นมาทั้งหมด และยุติคดีของสมาชิกภาคีทั้ง 10 คน จากเหตุการณ์ชุมนุมที่ด้านหน้ากระทรวงทรัพยากรฯ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2564
ส่วนข้อเสนอแนวทางการมี 6 ข้อ ได้แก่
1. ให้ชาวบ้านที่ประสงค์กลับไปทําไร่หมุนเวียน และดํารงวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ที่บ้านบางกลอยบนใจแผ่นดิน สามารถกลับขึ้นไปอยู่อาศัย ทํากิน และดําเนินชีวิตตามวิถีดั้งเดิมของบรรพบุรุษได้ โดยการรับรองสิทธิในการอยู่อาศัยและทํากินในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม
2. ยุติการใช้กําลังเจ้าหน้าที่เข้าไปตั้งจุดตรวจและลาดตระเวนในหมู่บ้านบางกลอยล่าง รวมทั้งยุติการ ข่มขู่ คุกคาม หรือใช้ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับชาวบ้าน 36 ครอบครัวที่กลับไปอยู่อาศัยและทํากินอยู่ที่บ้าน บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน
3. ยุติการขัดขวางการขนส่งข้าว อาหาร และสิ่งของจําเป็นไปให้กับชาวบ้านบางกลอย
4. ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะมาตรการด้านการยุติการ จับกุม ดําเนินคดี และการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมในรูปแบบไร่หมุนเวียน
5. ในกรณีที่ชาวบ้านครอบครัวใดประสงค์จะอยู่ที่บ้านบางกลอยล่าง ให้รัฐดําเนินการจัดสรรที่ดินทั้ง ที่ดินอยู่อาศัยและทํากินให้เพียงพอต่อการดํารงชีพ เพื่อให้สามารถดําเนินวิถีชีวิตได้อย่างมั่นคง
6. รัฐจะต้องยุติการดําเนินการสนธิกําลังกันของเจ้าหน้าที่รัฐได้ตั้งจุดสกัด เดินลาดตระเวนและตรวจค้น สร้างแรงกดดันและความหวาดกลัวให้แก่ชาวบ้านบางกลอย และมีมาตรการในการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของชาวบ้าน
โดยตัวแทนรัฐบาลที่ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงนี้ ได้แก่ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ, ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ และ ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
17 กุมภาพันธ์ 2564
หลังยุติการชุมนุมที่ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ช่วงเช้า และเดินทางกลับ ปรากฏเหตุการณ์ว่า เมื่อชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยเดินทางถึงด่านมะเร็ว ทางเข้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กลับถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ สกัดและบังคับให้ชาวบ้านเขียนประวัติข้อมูลส่วนบุคคลก่อน ไม่เช่นนั้นจะไม่อนุญาตให้กลับขึ้นไปยังถิ่นฐาน จนกระทั่งเวลา 18.00 น. ถึงยอมปล่อยให้ชาวบ้านเดินทางต่อไปได้
19 กุมภาพันธ์ 2564
2 วันต่อมา คณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ ตามบันทึกข้อตกลงก่อนหน้านี้ ก็กำหนดลงพื้นที่ระหว่างวันที่ 19-23 ก.พ. เพื่อแสวงหาข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยสันติ อย่างไรก็ตาม การลงเก็บข้อมูลดังกล่าว ไม่มีตัวแทนจากกรมอุทยานฯ ร่วมกระบวนการด้วย
22 กุมภาพันธ์ 2564
ระหว่างที่คณะทำงานแก้ไขปัญหาฯ กำลังลงเก็บข้อมูลในพื้นที่ ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้เปิดปฏิบัติการ ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร โดยเป็นการสนธิกำลังระหว่าง กองร้อย ตชด.144 ทหาร ฉก.ทัพพระยาเสือ ทหารรบพิเศษที่ 1 แก่งกระจาน กองกำกับการ 5 บก.ปทส. กองร้อยน้ำหวาน อช.แก่งกระจาน กองการบิน ทส. หน่วยฯ พญาเสือ สำนักป้องกันฯ กรมอุทยานฯ ดำเนินการระหว่างวันที่ 22-24 ก.พ. 2564 ใช้เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ ส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นไปจับกุมชาวบ้านบางกลอยที่เดินเท้ากลับขึ้นไปที่บ้านบางกลอยบน โดยผลจากปฏิบัติการสามารถพาชาวบ้านกลับลงมาได้ 13 คน
ทั้งนี้ หน่อแอะ มีมิ ลูกชายของปู่คออี้ ที่ให้ลูกหลานพากลับขึ้นไปด้วยนั้น ยังไม่ยอมลงมาด้วย แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามขึ้นไปเจรจา โดยการปฏิบัติการครั้งนี้ ฝ่ายชาวบ้านเห็นว่า ถือเป็นการ ฉีกบันทึกข้อตกลง ก่อนหน้านี้
5 มีนาคม 2564
เจ้าหน้าที่สนธิกำลังกลับขึ้นไปที่บางกลอยบนอีกครั้ง และสามารถควบคุมตัว หน่อแอะ มีมิ และชาวบ้านรวม 82 คน โดยอ้างว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 40 และพาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลงมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ โดยเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวชาวบ้านทั้งหมดไว้ และไม่ให้ครอบครัว หรือทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเข้าพบในชั้นสอบสวน
ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้นำตัว หน่อแอะ มีมิ กับชาวบ้านรวม 22 คน ที่ถูกควบคุมตัวไปที่เรือนจำตามหมายขังศาลจังหวัดเพชรบุรี โดยรวมทั้งคุมขังชาวบ้านผู้หญิงคนหนึ่งที่เพิ่งคลอดลูกได้เพียง 9 เดือน และยังมีการคุมขังทั้งพ่อและแม่ที่มีลูกเล็ก ซึ่งแม้เจ้าหน้าที่จะไม่ได้นำตัวลูก ๆ ของชาวบ้านเข้าเรือนจำด้วย แต่ก็สร้างสะเทือนใจให้แก่คนที่พบเห็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อพบว่าลูกวัย 9 เดือนที่ของผู้หญิงที่คุมขังไม่ยอมกินนมอื่น ๆ นอกจากรอกินนมแม่เท่านั้น
7 มีนาคม 2564
หลังจากถูกคุมขังในเรือนจำ 2 วัน ศาลก็อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวชาวบ้านทั้งหมดโดยไม่มีหลักประกัน แต่มีเงื่อนไขว่า “ห้ามผู้ต้องหากลับเข้าไปในพื้นที่ที่ถูกจับ และพื้นที่อุทยานที่ไม่ได้รับอนุญาต” เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมในระหว่างการพิจารณาคดี และแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เป็นผู้กำกับดูแลเพื่อให้ผู้ต้องหาทั้ง 22 คน ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดโดยเคร่งครัด
แม้จะถูกปล่อยตัวและมีเงื่อนไขข้อห้ามผูกพัน แต่ความตึงเครียดที่รุนแรงขึ้น ทำให้ชาวบ้านบางกลอยตัดสินใจเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เป็นครั้งที่ 2 ประกาศปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลร่วมกับ พีมูฟ เรียกร้องการแก้ปัญหาให้แก่ชาวบ้านบางกลอย รวมทั้งติดตามการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ ที่ไม่มีความคืบหน้าตลอด 19 เดือน นับตั้งแต่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาพีมูฟที่มี พลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
11 มีนาคม 2564
ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยและพีมูฟ ยังคงชุมนุมด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยมีข้อเรียกร้องเร่งด่วน คือ การช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงที่ถูกดำเนินคดี 30 คน ในข้อหาบุกรุกป่า หลังกลับขึ้นไปบนใจแผ่นดิน โดยตัวแทนชาวบ้านเสนอว่า ทางออกในเรื่องนี้อาจดำเนินการโดยแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า ชุมชนบ้านบางกลอยบน และใจแผ่นดินมีการตั้งถิ่นฐานมานานแล้ว
ขณะเดียวกัน มีการนัดหมายของกลุ่มที่เคลื่อนไหวการเมืองจัดกิจกรรม เดินทะลุฟ้า V.2 ในวันที่ 13 มี.ค. 2564 โดยเดินจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาล พร้อมประกาศจะจัดตั้ง หมู่บ้านทะลุฟ้า ที่ทำเนียบรัฐบาล และเตรียมปักหลักค้างคืนต่อเนื่อง
12 – 13 มีนาคม 2564
ขณะที่กลุ่ม #saveบางกลอย ยังคงปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณด้านข้างทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงพื้นที่สำรวจแปลงที่ดินทำกินของชาวบ้านชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยบนทั้งหมด เพื่อสำรวจความถูกต้องและความชัดเจนในการครอบครองที่ทำกินให้ถูกต้อง
รวมทั้งพิจารณาแผนงานการแก้ไขปัญหาบ้านบางกลอยล่างทั้งระบบ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ภายใต้ชื่อโครงการ “ต่อยอดการพัฒนา หมู่บ้านบางกลอยล่าง” จำนวน 7 ด้าน คือ 1) แผนการสำรวจที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยและสำมะโนประชากร 2) แผนงานบริหารจัดการน้ำ 3) แผนงานพัฒนาปรับปรุงดิน 4) แผนงานจัดทำแปลงสาธิตการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน 5) แผนงานพัฒนาอาชีพทางเลือกและการสร้างรายได้ 6) แผนงานการพัฒนาการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม และ 7) แผนงานประชาสัมพันธ์และมวลชนสัมพันธ์
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอยล่างมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านเกษตรและปศุสัตว์ ด้านสาธารณูปโภคด้านสังคมและวัฒนธรรม ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และด้านพัฒนาอาชีพเสริม สำหรับด้านปศุสัตว์มีโครงการ 10 โครงการ ด้านสาธารณูปโภค 12 โครงการ ด้านสังคมและวัฒนธรรม 11 โครงการ ด้านการศึกษา 10 โครงการ ด้านสาธารณสุข และด้านการพัฒนาอาชีพอีก 3 โครงการ
แต่จากการสำรวจพบว่ามีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้การพัฒนาที่ผ่านมาไม่เพียงพอกับพี่น้องประชาชน
15 มีนาคม 2564
คณะกรรมการมรดกโลกแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNESCO) ส่งหนังสือตอบมูลนิธิผสานวัฒนธรรม หลังมูลนิธิฯ แปลหนังสือร้องเรียนของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลกฯ เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2564 ขอให้แก้ปัญหาชุมชนดั้งเดิมก่อนขึ้นทะเบียนมรดกโลก
หนังสือดังกล่าว ลงนามโดย Mechtild Rossler ผู้อำนวยการยูเนสโก ระบุข้อความว่า ได้ส่งต่อข้อมูลไปยังคณะกรรมการ IUCN ในฐานะคณะกรรมการที่ปรึกษา ที่มีหน้าที่ประเมินการเสนอชื่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลก และได้รวบรวมเป็นข้อเสนอให้กับคณะกรรมการมรดกโลกด้วยแล้ว
“อยากที่ท่านทราบ เรามีมาตรฐานในการทำงานที่รัฐสมาชิกจะต้องเตรียมการในการขึ้นทะเบียนฯ โดยสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกจัดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด ดังนั้น เราได้ส่งข้อมูลไปยังตัวแทนรัฐบาลไทย รวมทั้งแถลงการณ์ของ NGO COD และหนังสือร้องเรียนของชาวบ้านบางกลอยไปให้ทางรัฐบาลไทยพิจารณาด้วยแล้ว”
หนังสือระบุด้วยว่า การเสนอชื่อพื้นที่ป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ จะถูกพิจารณาอีกครั้งในการประชุมครั้งที่ 44 ในระหว่างเดือนมิถุนายน/กรกฎาคม 2564
16 มีนาคม 2564
หลังจากเริ่มชุมนุมมาตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 2564 ในที่สุด คณะรัฐมนตรีก็มีมติรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาของกลุ่มพีมูฟและบางกลอย ตามข้อสรุปการเจราจาระหว่างชาวบ้านกับตัวแทนรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียังได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย
โดยคณะกรรมการมี 28 คน ประกอบด้วยผู้แทนภาคราชการ นักวิชาการ และตัวแทนประชาชน โดยมี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และ ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นรองประธาน
คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ คือ 1) ศึกษา รวบรวมปัญหาและตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวข้องกับชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่บางกลอย 2) ศึกษา รวบรวมปัญหาและเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคดีปกครอง คดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวข้องกับชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย 3) เสนอแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายและมาตรการในการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย
4) เร่งรัดอำนวยการดำเนินงาน ติดตามผลการดำเนินการของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรายงานผลการดำเนินการ ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี 5) แต่งตั้งอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฎิบัติงานได้ตามความเหมาะสม 6) เชิญผู้แทนส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐและบุคคล เข้าร่วมประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงและให้ข้อมูล รวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการพิจารณแก้ไขปัญหา และ 7) ปฎิบัติงานอื่นๆตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
นอกจากนี้ ผลการเจรจายังมีข้อตกลงว่า ให้หน่วยงานชะลอการส่งสำนวนคดีของชาวบ้านบางกลอย จนกว่าได้ข้อยุติทั้งหมด ขณะที่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็กำหนดจะเดินทางไปลงพื้นที่บ้านบางกลอยในวันที่ 18 มี.ค. 2564 ซึ่งภายหลังจากมีมติ ครม. ดังกล่าว ชาวบ้านบางกลอยจึงยุติการชุมนุมและเดินทางกลับบางกลอย
อ่านเพิ่ม
25 ปี ความหวัง คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน “กะเหรี่ยงบางกลอย”