จานเด็ดชุมชน เหนือ จรด ใต้.. เสิร์ฟเรื่องเล่า ของดีก้นครัว สู่ภาพฝัน “ซอฟต์พาวเวอร์”

“ยกระดับของดีชุมชน สู่ซอฟต์พาวเวอร์”

เป็นเมื่อก่อนคงอีกไกล ถ้าพูดถึงประโยคนี้ โดยเฉพาะของดีที่สะท้อนผ่าน เมนูก้นครัว จากในบ้านในชุมชนที่เคยถูกมองว่าอยู่ห่างไกล หลังเขา เป็นคนชายขอบ ทั้งที่จริง ๆ แล้วของดีผ่านวัฒนธรรมการกินของพวกเขา กลับเชื่อมโยงถึงศักยภาพ ที่เป็นต้นทุนอย่างยั่งยืนในหลายมิติ

ทำอย่างไร ? เรื่องราวเมนูอาหารในชุมชนจะมีโอกาสเป็นที่รู้จัก และมองไกลไปถึงการยกระดับคุณค่าในตัวเองให้มากกว่าที่เป็นอยู่ อย่างน้อยการเปิดพื้นที่ภายในงาน “Connecting soft power resource Forum” ก็เป็นอีกควาพยายามของการทำให้เจ้าของต้นทุนทางวัฒนธรรมในชุมชนจาก “ภูเขา” ทอดยาวถึง “ทะเล” ได้มีโอกาสโชว์ของ พบกับตัวแทน 11 อุตสาหกรรม บนความหวังเชื่อมต่อภาพฝัน “ซอฟต์พาวเวอร์”

เมนูอาหารชุมชนธรรมดา ๆ แต่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าและคุณค่า สะท้อนวัฒนธรรมการกินได้แค่ไหน ? The Active ชวนทำความรู้จักอย่างน้อย 3 เมนูจาก 3 พื้นที่ ก่อนทุกจานจะยกมาเสิร์ฟภายในงาน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ลองดูกันหน่อยเรามีเมนูไหนมาแนะนำ

“เงี้ยนปลาอินทรี “ ของดี เมนูเด็ด จากใจชาวประมงเกาะเต่า

“เมนูเงี้ยนปลา สะท้อนวัฒนธรรมการกินปลาดิบดั้งเดิมที่มีมานานของคนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มชาวเล ชาวประมง ไม่ต่างจากวัฒนธรรมการกินปลาดิบของญี่ปุ่น หากเราขายปลาอินทรีสด 4 กิโล ก็ได้แค่ 1,000 บาท แต่ถ้าเราไปนำมาทำเมนูหลากหลาย อย่าง ปลาดิบ เงี้ยนปลา 1 ตัวเพิ่มมูลค่าได้หลายพัน แทนที่จะเน้นจับเอาปริมาณเยอะ ๆ เราก็จับน้อย ๆ แต่ขายได้มากดีกว่า” 

นั่นเป็นเป้าหมาย และความหวังที่ทำให้ รุทธิ์  ไกรลำ จากร้านคิงฟิช restaurant เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งนิยามตัวเองเป็นพ่อครัวชาวประมง หรือที่ใคร ๆ เรียก เชฟรุทธิ์ เลือกนำเอาเมนู เงี้ยนปลาอินทรี โอมากาเสะ มาเสิร์ฟในช่วง Lunch & Talk ในเวที Connecting Soft Power Resource Forum : แลกเปลี่ยนเชื่อมชุมชน สู่นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

เชฟรุทธิ์ บอกว่า ที่เลือกนำเอาปลาอินทรีมาเสิร์ฟเป็นปลาดิบ ในเมนูเงี้ยนปลา เพราะเป็นวัฒนธรรมการกินปลาดิบดั้งเดิมของไทยที่มีมานานแล้ว ไม่ต่างจากวัฒนธรรมการกินปลาดิบของญี่ปุ่น แต่อาจต่างกันบ้างที่วัตถุดิบ และการปรุง 

เสน่ห์ของเมนูเงี้ยนปลา คือ การแร่ปลาสด ๆ กินคู่กับน้ำจิ้มรสเด็ดคล้าย ๆ ซีฟู๊ด แต่ใส่ถั่วตัดไปด้วยทำให้รสชาติกลมกล่อมขึ้น ติดหวานนิด ๆ กินกับผักเคียงต่าง ๆ ที่หาได้ตามฤดูกาล หรือปลูกในพื้นที่นั้น ๆ เช่น ผักกาดขาว, ตั้งโอ๋, สะระแหน่, ผักแกล้มสมุนไพรมีกลิ่นหอมเข้ากันดีมาก หรือถ้าใครไม่ชอบกินผัก แค่กินปลาอินทรีย์สดกับน้ำจิ้มก็ติดใจแล้ว 

สำหรับวัตถุดิบหลักอย่าง ปลาอินทรี เป็นปลาที่จับได้ทั้งปี ในเกาะเต่าจะพบมากในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์ ถึงเมษายน ที่สำคัญปลาอินทรีเป็นปลาเนื้อนุ่ม ประสบการณ์ของลูกค้าที่มาชิม คือกินได้หมด ไม่ว่าจะเคยกินหรือไม่เคยกินปลาดิบมาก่อน พอได้กินแล้วจะชอบปลาอินทรีมากเพราะกินง่าย เนื้อนุ่ม ไม่มีเส้นใย ความคาวน้อย และกินได้ทั้งตัว  

สำคัญกว่านั้นคือปลาอินทรีที่นี่ จะสดมาก เพราะอยู่หมู่เกาะกลางทะเล ออกเรือไปไม่ถึง 10 นาที ตกปลา ได้ปลามา ก็รีบนำกลับขึ้นฝั่งทันที เรียกว่าสดกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว และที่พูดมาทั้งหมดทั้งเชพรุทธิ์ และชาวประมงที่เกาะเต่า ต่างก็ตื่นเต้น และตั้งใจมาก ๆ กับการคัดสรรวัตถุดิบปลาอินทรีย์สด ๆ มาเสิร์ฟให้คนกรุงได้ชิมกันในงาน

“เราจับโดยใช้เบ็ดตกปลา ปลาจะมีความสดมาก ๆ ความช้ำของปลา หรือการที่ปลาตายในน้ำจะไม่เกิดขึ้น พอขึ้นเรือเราจะใช้วิธีการ อิเคะจิเมะ แบบญี่ปุ่น คือทำให้ปลาตายอย่างสงบ ไม่หลั่งสารเครียดจนลดคุณภาพเนื้อปลา แล้วปลาที่ได้มาเราต้องเก็บในที่ที่เย็นที่สุด แต่ไม่ใช่การฟรีซ หรือทำให้ปลาแข็ง เราต้องใช้น้ำแข็งแบบเป็นเกล็ดเพื่อแช่ปลา และทำการแรป หรือ ซีนปลาไม่ให้น้ำซึ่มเข้าตัวปลา เพื่อให้คนในงานได้กินกันแบบสด ๆ จริง ๆ“ 

เชฟรุทธิ์ เล่าถึงความตั้งใจ

วัตถุดิบดี มีให้กินไม่หมด ผลพวงดูแลจัดการทรัพยากร

ไม่ใช่แค่หวังให้ผู้คนภายนอก ซึ่งรวมถึงตัวแทน 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ได้สัมผัส ลิ้มรสกับเมนูหรือของดีจากวัตถุดิบสด ๆ เพื่อสะท้อนวัฒนธรรมอาหารการกินจากในพื้นที่เท่านั้น แต่เชฟรุทธิ์ ยังหวังว่า เรื่องราวของอาหารเมนูนี้ จะสะท้อนถึงศักยภาพ องค์ความรู้ ภูมิปัญญาอีกหลายด้านที่มีอยู่ในชุมชน เพราะนอกจากใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ออกเรือหาปลา พวกเขายังทำการอนุรักษ์ โดยมีกติกาชุมชนที่ร่วมมือกันจริงจัง 

โดยประมงพื้นบ้านจะต้องใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอวนตาห่างตามกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่ที่นี่ก็เน้นตกเบ็ด จะไม่ใช้เครื่องมือประมงทำลายล้าง อย่างพวกอวนตาถี่ และยังมีการทำบ้านปลา หรือ ซั้งกอ เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน จุดนี้ก็จะใช้ล่อให้ปลาใหญ่เข้ามาด้วย ชาวประมงพื้นบ้านก็จะมาตกปลากัน โดยวางกติกาว่า ต้องจับแต่ตัวใหญ่เท่านั้น

ชุมชนที่นี่ ยังแบ่งโซนท่องเที่ยวชุมชน โดยเอื้อเกื้อหนุนกัน มีนักท่องเที่ยวมาก็มีรายได้ ได้ขายอาหาร แต่หลัก ๆ คือให้ความสำคัญกับการดูแลเพื่อความยั่งยืนด้วย ทำให้เป็นรายได้หมุนเวียนในชุมชน

ครั้งนี้เชฟรุทธิ์ มองถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับหลาย ๆ พื้นที่ ไม่ใช่แค่เกาะเต่า แต่มีทั้งเกาะสมุย เกาะพะงัน หรือที่รวมตัวกันของกลุ่ม 35 หมู่เกาะ ต่อไปอาจมีร้านอาหารแนวนี้ หรือทำท่องเที่ยวชุมชนแนวนี้ขึ้นได้ มีรายได้มากขึ้น

“จริงผมว่าวัฒนธรรมการกินแบบนี้ ของดีชุมชนหลากหลาย ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่ไม่ได้ถูกสื่อสารเท่านั้นเอง ถ้าเราสนับสนุนการสื่อสาร อย่างบางประเทศ เช่น เกาหลีเขาทำซีรีส์ ทำอะไรให้คนเห็นเรื่องอาหารให้คนสนใจ เราจะทำยังไงให้เกิดการยกระดับให้ทั่วโลกรู้จักวัตถุดิบไทยที่หลากหลาย จริง ๆ เราไม่ได้มีแค่ปลาอินทรีนะ มีอีกมากมาย และหลายเมนู ทำยังไงให้เขาเห็นฝีมือคนทำอาหารไทยมากขึ้น ถูกยกระดับให้เป็นที่รู้จักยอมรับทั่วโลก ก็หวังการพบทั้ง 11 อุตสาหกรรม จะเป็นการเชื่อมต่อในการกำหนดทิศทาง หาวิธีผลักดันไปด้วยกัน เพื่อยกระดับของดีชุมชน“ 

เชฟรุทธิ์ ฝากความหวัง

“ซุปใสชายแดนใต้“ หวังสร้างมุมมองใหม่ต่อพื้นที่ปลายด้ามขวาน

“ซุปใสชายแดนใต้“ เป็น 1 ใน 3 เมนู ที่กลุ่มลูกเหรียง ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งใจนำมาเสิร์ฟให้ผู้ที่มาร่วมงานได้ลิ้มรสอาหารดั้งเดิม

อิสมาแอ ตอกอย เจ้าหน้าที่สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) จ.ยะลา หรือ แอลลี่ เชฟรุ่นใหม่ บอกกับเราว่า จริงแล้ว ๆ ซุปใสชายแดนใต้ เป็นซุปที่มีอยู่ดั้งเดิมในพื้นที่เรียก “ซุปอิสลาม” เป็นซุปเนื้อ ถือเป็นเมนูซิกเนเจอร์ของร้านอาหารอิสลามใน จ.ยะลา แต่ครั้งนี้ที่เปลี่ยนชื่อเป็น ซุปใสชายแดนใต้ ตั้งใจอยากสื่อสารความเป็นอัตลักษณ์ชายแดนใต้ ที่อยากให้ผู้มาร่วมกินเมนูนี้ได้รู้ว่าในพื้นที่ชายแดนใต้ มีอะไรมากมายที่น่าค้นหา และก็มีอะไรที่โดดเด่น ไม่แพ้ในพื้นที่อื่น คล้าย ๆ สะท้อนให้คนเมือง คนต่างพื้นที่ได้เห็นวิถีชีวิตของคนจังหวัดชายแดนใต้ ว่า ความเป็นอยู่เป็นอย่างไร ที่อาจมากกว่าเรื่องความขัดแย้ง ความไม่สงบที่เห็นผ่านสื่อ

เมนู “ซุปใสชายแดนใต้”

“ส่วนลึกที่อยากมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ อยากเป็นกระบอกเสียงให้คนในพื้นที่ ได้เห็นวิถีชีวิตของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ว่า การดำเนินชีวิต ความเป็นอยู่ ของคนในพื้นที่สอดคล้องกับวิถีความเป็นอยู่ในด้านอาหาร วัฒนธรรมอาหารหลายอย่าง ที่ในพื้นที่มีมากมาย ซึ่งที่โดดเด่นในพื้นที่ภาคใต้ เป็นการอยู่แบบพหุวัฒนธรรม มีทั้ง ไทยพุธ ไทยจีน ไทยมุสลิม อยู่ร่วมกัน ซึ่งในพื้นที่บ้านเรา อยู่ด้วยการพึ่งพาอาศัยกัน ตั้งแต่ยาวนาน“

แอลลี่ อธิบาย

แอลลี่ บอกว่า เวลาไปในชุมชน ไปตลาด เพื่อหาวัตถุดิบสด ๆ ใหม่ ๆ มาทำอาหารเมนูต่าง ๆ ได้เจอกับ คุณยาย คุณตา หรือว่าเป็นชาวประมงบ้าง ที่ไปซื้อของ และเขามีรายได้ ก็สามารถไปหล่อเลี้ยงครอบครัวของเขา ขณะที่แอลลี่เองก็หารายได้จาก การขายอาหารก็มาช่วยสังคมด้วย

“ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือทางการศึกษาให้กับเด็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบ เราหารายได้มาจุนเจือครัวลูกเหรียงที่ดูแลเด็กกำพร้า ช่วยเหลือสังคมที่มีวิกฤติเร่งด่วนในพื้นที่ เช่น มีเหตุการณ์ระเบิด น้ำท่วม พลุระเบิดที่นราธิวาส กลุ่มลูกเหรียงเรามองว่า ถ้าจะรอทางรัฐมาช่วย จะติดขั้นตอนหลาย ๆ อย่างต้องใช้เวลา ซึ่งมันช้าต่อการช่วยเหลือแบบเร่งด่วนในชุมชน แต่ครัวลูกเหรียงมีเงินมีรายได้ในการขายอาหาร หรือว่าทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็สามารถเอาตรงนี้ไปช่วยชุมชนได้เลย เรามีครัวสนามไปทำอาหารในชุมชนได้ ไปช่วยชุมชนสร้างความภาคภูมิใจให้เรามาก“

แอลลี่ บอกเล่าอย่างภูมิใจ

เชื่อมต่อซอฟต์พาวเวอร์ ต่อยอดทุนชุมชน สร้างรายได้ที่มั่นคงให้คนในพื้นที่

แอลลี่ ยอมรับว่า ครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญในการเผยแพร่ความเป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ความเป็นพหุวัฒนธรรม ของสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งอาหารที่กลุ่มลูกเหรียงตั้งใจนำมาเสนอให้ทุกคนได้กิน เป็นอาหารที่คนในพื้นที่กินอยู่แล้ว อาหารเหล่านี้จึงสะท้อนวิถีชีวิตชุมชน  เป็นอาหารที่เป็นอาหารประเพณีวัฒนธรรม ซึ่งบางเมนูในพื้นที่จะกินเฉพาะช่วงฤดูกาล เช่น “ตูป๊ะซูตง“ จะหากินได้ยากมาก นอกจากเป็นช่วงเดือนบวช หรือเดือนละศีลอด เป็นของหวานที่จะทำกินกัน 

เมนู “ตูป๊ะซูตง”

กลุ่มลูกเหรียง ตั้งใจเตรียมวัตถุดิบที่มีคุณภาพ หมึกสด ๆ จากชาวประมง เพื่อนำเมนูนี้มาให้เป็นดีเสิร์ท (ขนมหวาน ) โดยเพิ่มความเป็นฟิวชั่น โมเดิร์นเข้าไป  ให้ทุกท่านได้ทาน อยากให้ยกระดับอาหารในพื้นที่ให้ทุกคนได้รู้จักกันว่าสามารถเป็นเอกลักษณ์ อัตลักษ์ ของในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่สำคัญ คือเปิดโอกาสให้พวกเรา กลุ่มลูกเหรียง ได้มีพื้นที่ในการเล่าเรื่องราวสิ่งดีๆ ให้คนภายนอกได้รู้ว่าในพื้นที่บ้านเรา มีอะไรดี

“ก็อยากใช้พื้นที่ตรงนี้ เปิดโอกาสให้ อุตสาหกรรมต่างๆในซอฟต์พาวเวอร์ ได้รับรู้ว่าในพื้นที่บ้านเรามีดีมากกว่าภาพของความขัดแย้ง และที่สำคัญผมชอบการเล่าเรื่องราวความเป็นวิถีชีวิตของชุมชนครับ การที่เราทำอาหาร ไม่ใช่เพียงแค่การโชว์อร่อย ความสวยงาม แต่มันสามารถช่วยเหลือให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย เมื่อนโยบายวางแล้ว แถมมีงบวางไว้ด้วย เราอยากให้มองเห็นสิ่งที่เรามี ให้เราเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้นโยบายนี้ให้มันเกิดขึ้นจริง”

“ที่สำคัญคือสามจังหวัดชายแดนใต้มีต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว มีความอุดมสมบูณ์ ทั้งทางทะเล ทางภูเขา ถ้าทางรัฐบาล เห็นความสำคัญตรงนี้ ผมว่าการทำซอฟต์พาวเวอร์ หรือการสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ผมเป็นโอกาสที่ ทำให้คนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มมากขึ้น”

แอลลี่ ระบุถึงความคาดหวัง

ไร่หมุนเวียน นาข้าว ป่าผู้หญิง แหล่งวัตถุดิบ สู่เมนู “ตาเข่อ“

“เราตื่นเต้นกับโอกาสครั้งนี้มาก ๆ จึงตั้งใจคัดสรรวัตถุดิบที่ดีในพื้นที่ชุมชนของเรา”

ความรู้สึกที่บ่งบอกถึงความยินดีจาก หน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง ผู้ใหญ่บ้านชุมชนห้วยอีค่าง จ.เชียงใหม่ ตัวแทนทีมแม่ครัว หรือ เชฟชุมชนห้วยอีค่าง ที่จะได้โชว์ฝีมือในเมนู “ตาเข่อ” หรือ แกงข้าวคั่ว สู่สายตาคนเมือง และตัวแทนจาก 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์

แม่หลวงแอริ บอกว่า ตาเข่อเป็นเมนูดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ มีวัตถุดิบหลักคือข้าวหอม หรือ “บือเนอมู“ จากไร่หมุนเวียน และในพื้นที่นาข้าว ที่นำมาคั่วแล้วตำให้ละเอียด ความโดดเด่นของเมนูนี้ จะมีความหอมจากข้าวคั่ว และวัตถุดิบที่เป็นพืชผักสมุนไพรต่าง ๆ เช่น หอม, กระเทียม, ใบแมงลัก, ห่อวอแห้ง และฟัก จากไร่หมุนเวียน รวมถึงยังมีตะไคร้ ที่เก็บมาจากป่าผู้หญิง หนึ่งในประเภทป่าชุมชน ที่มีพืชพรรณหลากหลาย เป็นป่าที่สะท้อนบทบาทผู้หญิงในการดูแลชุมชนและครอบครัว

รับชมเพิ่ม : พาเที่ยว ป่าผู้หญิง พื้นที่ชีวิต เศรษฐกิจ ชุมชนห้วยอีค่าง

และยังมีวัตถุดิบสำคัญอีกอย่าง ที่ต้องเตรียมล่วงหน้า คือ เนื้อหมูดำ ที่เลี้ยงในชุมชน ซึ่งต้องนำมาอังเตาถ่านให้พอดี ไม่แห้งจนเกินไป เป็นวิธีการถนอมอาหาร ที่สำคัญคือหมูจะมีกลิ่นหอมจากการย่าง

แม่หลวงแอริ บอกว่า จริง ๆ แล้ว เมนูตาเข่อ ก็มีลักษณะคล้ายกับ เมนูตะพอเพาะมาก ๆ เพียงแต่ใช้วัตถุดิบหลักเป็นข้าวคั่ว ส่วนตะพอเพาะจะใช้ข้าวสาร มีเรื่องเล่าหรือตำนานที่สะท้อนคุณค่าอาหารและการพร้อมรับวิกฤตต่างๆ เหมือนกับตะพอเพาะ 

“ปาเกอะญอ เป็นครอบครัวใหญ่ เวลาทำอาหาร หรือทำกับข้าว จะต้องทำให้เพียงพอกับคนในครอบครัว คนในครอบครัวจะต้องกินได้ ตั้งแต่ผู้สูงอายุไปยังเด็ก เพราะว่า ตาเข่อ เคี้ยวง่าย ผู้สูงอายุก็กินได้ และยังเป็นแกงที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชนเผ่าปกาเกอะญอให้มีความอยู่รอด เพราะหากเผชิญภัยพิบัติต่าง ๆ ผลผลิตข้าวได้ไม่เต็มที่ ก็มีแกงตาเข่อ ที่ใส่ผักลงไปได้หลายอย่าง ทำแล้วพอกินในครอบครัว หล่อเลี้ยงคนในครอบครัวได้“

แม่หลวงแอริ อธิบาย

อาหาร ที่มากกว่าอาหาร สะท้อนทุนทางวัฒนธรรม

เรื่องอาหารของชาวปกาเกอะญอ เป็นมากกว่าอาหาร เป็นเรื่องของวิถี ภูมิปัญญา องค์ความรู้ ดูแลจัดการทรัพยากร ที่เป็นระบบ หรือตามปฏิทินฤดูกาล คือมีระยะเวลาหรือช่วงของการเพาะปลูก การผลิต คือ จะกิน จะเพาะปลูกอะไร ใช้วงจรชีวิตตามปฏิทินฤดูกาล ที่สำคัญยังเก็บคัดเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ ไว้ในปีต่อปี ทำให้พื้นที่มีความหลากหลายในพืชอาหาร

การที่ชุมชนได้มีโอกาสนำเอาอาหารจากท้องถิ่นในชุมชน มาเสิร์ฟให้เพื่อนที่มาจากต่างชุมชน ที่มาร่วมงานนี้ รวมทั้งตัวแทน 11 อุตสาหกรรม เป็นก้าวสำคัญเพื่อให้ทุกคนรู้ว่า วิถีชีวิตปกาเกอะญอเราอยู่บนหลักการพึ่งพาดูแลเคารพธรรมชาติ และมีการเตรียมความพร้อมรับมือวิกฤตต่าง ๆ ด้วย

“ก็มองเป็นโอกาสชุมชน โดยเฉพาะ เราจะดึงความโดดเด่นของความเป็นชนเผ่าให้อยู่ในพื้นที่ในซอฟต์พาวเวอร์ยังไง คิดว่าเราทำตรงนี้เสร็จ อย่างน้อยคนจะรู้จักคนในชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารของชนเผ่า ทำให้คิดถึงอนาคต ที่เด็กเยาวชน สามารถต่อยอดเป็นอาชีพให้กับตัวเองได้ โดยเฉพาะอาหาร เมล็ดพันธุ์ และฐานทรัพยากรที่ช่วยกันดูแลในชุมชน อันนี้คิดว่าเป็นโอกาสให้กับชุมชนปกาเกอะญอ และก็อนาคตให้เด็กเยาวชนสามารถทำเป็นสัมมาอาชีพได้ เป็นความหวัง เป็นโอกาส ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต“

“ที่สำคัญคือ อยากให้มีโอกาสตัดสินใจ มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในการทำอาชีพของตัวเองด้วย เพราะว่าถ้าเราตามสังคมกระแสใหญ่ แน่นอนว่าชุมชนเราอาจจะไปไม่ถึง แต่ว่าถ้าเราให้พื้นที่ชุมชนตัดสินใจร่วมวางแผนแนวทางต่าง ๆ คิดว่าชุมชนอนาคตจะเป็นที่ยอมรับที่รู้จักมากขึ้น”

แม่หลวงแอริ เผยถึงความคาดหวัง

ทั้งหมดเป็นเรื่องราวจากเมนูอาหารเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น แต่ภายในงานนี้ยังมี อีกกว่า 15 เมนู ที่ไม่เพียงเสิร์ฟความอร่อย แต่ยังเสิร์ฟเรื่องราวจากวิถีวัฒนธรรมการกิน ฉายภาพทุนวัฒนธรรมต่าง ๆ จากชุมชนต้นวัตถุดิบ ที่ถือเป็นของดี หวังยกระดับต่อยอดทรัพยากรมากคุณค่าเพื่อพัฒนาเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” จนเป็นที่ยอมรับสู่สังคมภายนอก รวมถึงสังคมโลก

ในงาน “Connecting soft power resource Forum” พื้นที่บอกเล่าเรื่องราวของหลากชุมชน หลายอัตลักษณ์ ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ผ่านวิถีชีวิต ระบบนิเวศ และฐานทรัพยากร จาก “ภูเขา” ทอดยาวถึง.. “ทะเล” จัดโดย Thai PBS, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และภาคีเครือข่ายครั้งนี้ จึงถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้เจ้าของทุนทางวัฒนธรรม ได้เดินทางมาพบกับตัวแทน 11 อุตสาหกรรม สู่การเชื่อมต่อนโยบายที่มีส่วนร่วมจากชุมชนให้เกิดขึ้นได้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล