‘ชมรม รพศ./รพท.’ เผย ถูก สปสช. ลดงบฯ ผู้ป่วยใน ทำ 236 รพ. เกิดวิกฤตการเงิน

ชี้หลังยุคโควิด ผู้ป่วยโรคซับซ้อนกลับมารักษาในระบบมากขึ้น งบฯ ไม่พอ เสนอสปสช. เกลี่ยงบฯ ของบฯ เพิ่มจากรัฐบาล ขณะที่ สปสช. แจงกติกาจ่ายงบฯ ปลายปิด ย้อนถามที่ผ่านมา เงินที่เหลือและจ่ายเกินสะสมไว้ใน รพ. ก็ขอให้เอากลับออกมาใช้ก่อน

สืบเนื่องจาก เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (Uhosnet) และ ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) เข้ายื่นหนังสือต่อ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอความช่วยเหลือกรณีการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยใน 

นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับ The Active ว่า ในเดือนมิถุนายน 2567 สปสช. จ่ายเงินค่ารักษาผู้ป่วยใน 7,000 บาทต่อหน่วย จากเดิม 8,350 บาทต่อหน่วย ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนจริงอยู่ที่ 13,000 บาทต่อหน่วย 

“ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบต้นทุนของการรักษาหนึ่งคนเฉลี่ย 14,000 บาท สปสช.จ่ายให้ 8,350 บาท แต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สปสช. จ่ายแค่ 7,000 บาท แต่การรักษาในโรงพยาบาลยังรักษาเหมือนเดิม คำถามคือนี่เป็นการยกระดับบัตรทองหรือเป็นการลดระดับบัตรทอง” 

นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์
นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป

หลังการปรับลดการจ่ายเงิน ในเดือนมิถุนายน กระทบต่อโรงพยาบาลหลายแห่ง มี 236 โรงพยาบาล ที่ไม่ได้เงินเลยทั้งที่รักษาไปแล้ว เนื่องจากการคิดเงินลดลง และหักเงินเดือนบุคคลากรจนไม่เหลือมาเป็นเงินบำรุงเพื่อจัดซื้อยา ซื้อวัสดุการแพทย์ ว่าจ้างเจ้าหน้าที่ หรือจ่ายโอที จนสุดท้ายการเงินวิกฤติมากขึ้นเรื่อย ๆ 

เวลานี้โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งหมด 900 แห่ง มีโรงพยาบาลที่ติดลบ หักจ่ายหนี้ทั้งหมดไม่มีเงินเหลือแล้ว 270 กว่าแห่ง นี่คือสถานการณ์ที่หนักมากขึ้นเรื่อย ๆ 

ถามว่าเพราะเหตุใด สปสช. จึงลดจ่ายรายหัวผู้ป่วยใน นพ.อนุกูล บอกว่า สปสช. แจ้งว่า งบประมาณที่ได้รับมาไม่เพียงพอ หรือโรงพยาบาลให้บริการมากเกินไป คือ รักษาผู้ป่วยในเยอะเกิน  รักษาผู้ป่วยหนักซับซ้อนมากไป ทำให้เงินไม่พอ เมื่อเงินไม่พอจึงลดการจ่าย ซึ่งเราคิดว่าไม่เป็นธรรมต่อหน่วยบริการ และเป็นการโยนความเสี่ยงให้หน่วยบริการมากเกินไป

ส่วนสาเหตุที่ผู้ป่วยในเยอะขึ้น เพราะว่าช่วงโควิด ปี 2563 คนไข้บางส่วนไม่ได้รับบริการ เช่นคนไข้ผ่าเข่า ผ่าต้อกระจก ไม่จำเป็นเร่งด่วนในการผ่าตัดช่วงโควิดจะหยุด จะผ่าเฉพาะเคสฉุกเฉิน คนไข้กลุ่มนี้จะดีเลย์มา 2-3 ปี ตอนนี้กลับเข้ามาในระบบ คนไข้ในโรงพยาบาลจึงมากขึ้น แต่เงินไม่เพิ่มขึ้นตาม 

ดังนั้นจึงมีขอเรียกร้องให้ สปสช. กลับมาจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยในต่อหน่วย ที่ 8,350 บาทเหมือนเดิม อาจจะไม่ต้องเท่าต้นทุนจริงที่ 13,000 หน่วยก็ได้ เพราะเข้าใจว่าได้งบประมาณจำกัดจริง และมีข้อเสนอ คือ 1. อยากให้ สปสช. เกลี่ยเงินที่ยังมีเหลือในกองทุนอื่น มากระจายในบริการที่สำคัญจำเป็นต่อประชาชน ไม่ควรตัดลด และ 2. หากเกลี่ยเงินแล้วยังไม่พอ เป็นหน้าที่ของ สปสช. ที่จะของบประมาณเพิ่มจากรัฐบาล 

The Active ถามสอบเรื่องนี้กับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ชี้แจงว่าโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ไม่ได้ถูกตัดงบฯ แต่กติกางบฯ ของ สปสช. ถูกกำหนดให้อยู่ในงบฯ ปลายปิด คือมีเงินเท่าไรก็จ่ายตามนั้น 

หลายปีที่ผ่านมา สปสช. จ่ายไปแล้วมีเงินเหลือก็คืนโรงพยาบาลไป แต่วันนี้คาดว่าเงินจะไม่เหลือ ก็เลยถูกทำให้มองว่าอาจไม่เพียงพอ กำลังดูตัวเลขอยู่ เพราะขึ้นอยู่กับปริมาณงานด้วยซึ่งรัฐมนตรีสมศักดิ์ ก็ให้นโยบายว่า ถ้าปริมาณงานเยอะก็สมควรที่จะหางบประมาณเพิ่มเติมเข้ามา

โดยกติกากฎหมาย สปสช.ไม่สามารถเพิ่มเงินเข้าไปได้ เพราะเป็นงบปลายปิด และถ้าดูย้อนหลังทุกปีพบว่ามีการจ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลศุนย์ โรงพยาบาลทั่วไป มากกว่า 8,350 บาทต่อหน่วย อย่างเช่นปี 2565 จ่ายไป 10,000 กว่าบาทต่อหน่วย และย้อนกลับไป 3-4 ปียังเป็น 8,350 บาทอยู่ 

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ถ้าย้อนไปเงินที่ สปสช. จ่ายเกิน เก็บสะสมไว้ในโรงพยาบาล จะขอยังไงให้เอากลับมาใช้ก่อน เพราะเมื่อมองย้อนหลังไปจ่ายเกินทุกปี มี 2 ปีนี้ที่ขาด 

“เวลาเรามองเรื่องงบประมาณด้วยกติกาปลายปิด เมื่อเหลือก็คืนเมื่อขาดก็แบ่งกัน ถ้าต่อไปเราบอกว่าไม่มีการใช้งบแบบปลายปิด ถ้าเกิดมีเงินเหลือ สปสช.ไม่คืนเหมือนกัน ท่านจะออกมาเรียกร้องกันอีกหรือเปล่าว่าเหลือเงินทำไมไม่คืน กติกานี้ถือว่าเป็นกฎหมาย จะเปลี่ยนตามอารมณ์ไม่ได้” 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า ยังไม่ทราบว่ามีกี่โรงพยาบาลที่เกิดวิกฤตการเงินขณะที่รัฐมนตรีสมศักดิ์ เองก็ยังไม่ทราบ จริง ๆ ต้องเรียนว่าโรงพยาบาลขาดทุนหรือไม่ขาดทุน ถ้ากรุณาบอก สปสช. ด้วยก็จะดี เพราะโรงพยาบาลแห่งหนึ่งจะประสบภาวะขาดทุน สปสช.ไม่ทราบได้ เพราะเป็นสิทธิ์ของโรงพยาบาลที่เปิดเผยหรือไม่ 

”เราเป็นคนจ่ายเงินเข้าไป ไม่ใช่เป็นคนใช้เงิน ที่ผ่านมาไม่มีใครอยากให้เราดูว่าใช้เงินอย่างไร แต่ถ้าอยากให้เราดูว่าท่านประสบปัญหาอะไร เราก็ยินดีจะลงละเอียดทางบัญชี ที่ผ่านมายังไม่มี“ 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

เมื่อถามว่ากรณีข้อเสนอให้เกลียเงินจาก หน่วยนวัตกรรมบัตรทอง นพ.จเด็จ ยืนยันว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยเฉพาะคนยากจน โดยหลักการสามารถส่งต่อไปยังหน่วยบริการอื่นได้ ในส่วนของงบประมาณ ของบฯ ไปแล้วจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ งบฯ ของหน่วยนวัตกรรมไม่ได้มากมายอะไร และเชื่อว่าหน่วยนวัตกรรม เป็นหน่วยเล็กๆ ที่อาจช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล 

อย่างไรก็ตาม นพ.อนุกูล ก็มองว่า ปัญหาที่โรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง ยังไม่เกี่ยวกับนโยบายรักษาทุกที่ เพราะเป็นงบฯ ผู้ป่วยนอก หรือ OP AnyWhere นโยบายนี้ชมรมฯ สนับสนุน เพราะประชาชนบางส่วนไปทำงานนอกพื้นที่ เจ็บป่วยได้ใช้บริการ แต่ประเด็นคือเมื่อสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นในเรื่องของรักษาทุกที่ แต่งบประมาณที่จะจัดสรรไม่เพิ่มตาม จะมีปัญหาตามมา

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 67 สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้ไม่ต้องห่วง เป็นหน้าที่ของผู้บริหารกระทรวงฯ ทุกคนที่ต้องช่วยกัน อย่าเป็นห่วงแทนพวกเรา 

“พวกเราก็เป็นทุกข์นอนไม่หลับ นักข่าวถามจะเอาเงินไหนก็ยังตอบไม่ได้ แต่พยายามลดค่าใช้จ่ายหาเงินเพิ่ม ไม่ใช่ว่าจะไม่ดูแลผู้ป่วย แต่การป่วยเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคของคน ก็ต้องหาทางลด”

สมศักดิ์ เทพสุทิน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active