ดันกฎหมายสิ่งแวดล้อมเข้าสภา 4 ฉบับ

“ก้าวไกล” แถลง “ชุดกฎหมายสิ่งแวดล้อม: PM 2.5 วาระด่วนต้องแก้ที่ต้นตอ” ยื่นกฎหมายสิ่งแวดล้อมเข้าสภา 4 ฉบับ ย้ำ แก้ปัญหาทั้งโครงสร้าง ครอบคลุมจัดการขยะ-รายงานปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม-การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ-ฝุ่นพิษและมลพิษข้ามพรมแดน

วันนี้ (13 ธ.ค. 2566) ที่รัฐสภา สส. พรรคก้าวไกล นำโดย พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ และ ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ แถลงข่าวยื่นกฎหมายสิ่งแวดล้อมต่อสภา 4 ฉบับ ประกอบด้วย (1) ร่าง พ.ร.บ.การจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร (2) ร่าง พ.ร.บ. การรายงานการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) (3) ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (4) ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน

สิ่งแวดล้อม

พูนศักดิ์ ระบุว่า พรรคก้าวไกลเสนอร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสิ่งแวดล้อมที่ดีควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยทั้ง 4 ฉบับเป็นชุดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมชุดแรกที่จะนำเสนอเข้าสู่สภา ตามนโยบายที่พรรคก้าวไกลได้หาเสียงกับประชาชน มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

ร่าง พ.ร.บ.การจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร เป็นการบูรณาการด้านการบริหารจัดการขยะทุกประเภท จากเดิมเป็นการบริหารโดยยึดติดกับภารกิจ แบ่งแยกตามหน่วยงาน เช่นขยะที่เกิดขึ้นจากโรงงาน จะถูกกำหนดว่าเป็นขยะอุตสาหกรรม แม้ว่าขยะนั้นจะมีลักษณะหรือมีองค์ประกอบที่เหมือนกับขยะชุมชน

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะจำแนกประเภทของขยะตามลักษณะ แบ่งเป็น ขยะอันตราย ขยะไม่อันตราย และขยะติดเชื้อ ที่สำคัญนี่จะเป็นร่าง พ.ร.บ. ฉบับแรกของประเทศที่นำหลักการ “ลำดับขั้นการจัดการขยะ” (Waste Hierarchy) มาใช้ แบ่งเป็น 5 ลำดับ คือ (1) การลดการเกิดขยะ หรือ Reduce เป็นสิ่งที่เราต้องการทำมากที่สุด (2) การใช้ซ้ำ หรือ Reuse (3) การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ Recycle (4) การนำขยะนั้นมาใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิง (Waste to Energy) และ (5) การกำจัด หรือ Disposal เช่น การฝังกลบ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

พูนศักดิ์กล่าวต่อว่า การนำหลักการดังกล่าวมาใช้ จะทำให้สามารถควบคุมการบริหารจัดการขยะได้ตั้งแต่ต้นทาง โดยต้นทางกำหนดให้ประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำขยะมาคัดแยก เช่นแบ่งเป็น กระดาษ แก้ว พลาสติก และเศษอาหาร เสร็จแล้วจะมีการควบคุมที่การเก็บรวบรวม โดยจะกำหนดอัตราการเก็บรวบรวมที่ 100% หมายถึงขยะจากบ้านเรือนที่เกิดขึ้นทุกประเภทต้องได้รับการเก็บขนทั้งหมด ไม่ปล่อยทิ้ง

ต่อมาการขนส่ง จะควบคุมโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการทวนสอบและควบคุมเพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบทิ้ง และสุดท้ายคือการบำบัดและกำจัดที่ปลายทาง ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะกำหนดให้เป็นมาตรฐาน จากเดิมมีเพียงแนวทางในการปฎิบัติเท่านั้น

สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า อีกส่วนที่สำคัญคือการสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากร โดยจะนำหลักการการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility) จากเดิมผู้ผลิตทำหน้าที่เพียงผลิต จำหน่าย ได้กำไร แต่หลักการนี้จะขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตให้เพิ่มการจัดการซากผลิตภัณฑ์ของตัวเองด้วย เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อผู้บริโภคซื้อจากห้างร้านต่างๆ แล้ว ต้องนำสิ่งนี้กลับคืนไปที่ผู้ผลิต โดยผู้ผลิตกำหนดจุดรับคืน กว่าสิบปีที่ผ่านมามีความพยายามจะออก พ.ร.บ. ออกมาควบคุมเกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่สำเร็จ

ในร่างของพรรคก้าวไกล จึงดำเนินการแก้ไขด้วยการระบุว่าการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ สามารถออกเป็นกฎกระทรวงทดแทนได้ ระยะเวลาเป้าหมายในการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะอื่นๆ อยู่ที่ 3 ปี โดยให้ อปท. จัดการคัดแยก รวมถึงกำหนดให้ผู้ผลิตรวมกลุ่มกันเรียกคืนซากของตัวเอง และทบทวนเป้าหมาย เช่น อัตราการรีไซเคิล โดยกำหนดช่วงเวลาในการทบทวนส่วนการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน เช่น การปนเปื้อนลงสู่ดิน ลงสู่แหล่งน้ำ ผลกระทบเรื่องกลิ่น เราเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ทันที ไม่ต้องให้ประชาชนใช้เวลาเป็น 10 ปีเพื่อดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเอง ซึ่งจนถึงปัจจุบันหลายกรณีก็ยังไม่ได้รับการเยียวยา

ร่าง พ.ร.บ. การรายงานการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม เป็นการปรับปรุงจากร่างเดิมของ สส.พรรคก้าวไกล คือ นิติพล ผิวเหมาะ และ กัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี ปรับปรุงเนื้อหาโดย กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สส.ระยอง เขต 1 พรรคก้าวไกล และ สรพัช ศรีปราชญ์ สส.สระบุรี เขต 1 พรรคก้าวไกล มีเนื้อหากำหนดให้มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เช่น ปริมาณสารเคมีหรือมลพิษที่เกิดขึ้น หรือหากต้องนำสารเคมีหรือของเสียไปบำบัดกำจัดภายนอกโรงงานหรือนอกโครงการ ก็ต้องทำรายงานด้วยเช่นกัน และเปิดเผยต่อสาธารณะ

ข้อดีของกฎหมายนี้ คือจะช่วยในการปกป้องและรับรองสิทธิ์ของชุมชนและประชาชนในการเข้าถึงและรับรู้ ตรวจสอบข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสารเคมีอันตราย ขณะเดียวกันประชาชนสามารถประเมินความเสี่ยงว่าควรอยู่อาศัยหรือสร้างบ้านเรือนใกล้เคียงกับพื้นที่อันตรายเหล่านั้นหรือไม่ ขณะเดียวกัน รัฐสามารถใช้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ในการเตรียมความพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น เช่น กรณีอุบัติภัยโรงงานหมิงตี้ที่ผ่านมา

ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่างโดย ศนิวาร บัวบาน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เพื่อครอบคลุมและบรรเทาผลกระทบ ด้วยการลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และมีมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เช่น การกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มากำกับและสนับสนุนอย่างชัดเจน

ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยังเน้นการเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัวกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และการมีร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถเตรียมความพร้อมรับมืออย่างเป็นระบบ ครอบคลุม และทันการณ์มากขึ้น

ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน เนื่องจากสาเหตุของการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) และมลพิษทางอากาศ มาจากหลายแหล่ง เช่นแหล่งเกษตรกรรม จากการเผาในที่โล่ง ไฟป่าที่ไม่มีการควบคุม จากภาคพลังงาน เช่น การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลถ่านหิน จากภาคขนส่ง เช่นการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ รวมถึงการประกอบกิจการอุตสาหกรรม

แต่อีกแหล่งหนึ่งที่มีความสำคัญ ซึ่งเราเห็นจากภาพถ่ายทางดาวเทียม คือร่องรอยการเผาไหม้จากประเทศเพื่อนบ้านที่ก่อให้เกิดมลพิษข้ามพรมแดน สร้างผลกระทบต่อสุขภาพ ระบบทางเดินหายใจของประชาชน ทั้งที่ประชาชนควรมีสิทธิ์ได้รับอากาศบริสุทธิ์ เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน พรรคก้าวไกลจึงเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมฝุ่นพิษ

จากนั้น ภัทรพงษ์ ในฐานะ สส. ผู้ร่างกฎหมายฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน สรุปที่มาของการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวว่าฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่แค่ฝุ่นธรรมดา แต่เป็นฝุ่นที่ทำลายสุขภาพและทำลายเศรษฐกิจของประเทศ จึงต้องกำหนดเป็นฝุ่นพิษ โดยพรรคก้าวไกลเห็นว่าการแก้ไขปัญหา ต้องแก้ทั้งโครงสร้าง ส่วนสำคัญที่สุดของโครงสร้างคือชั้นฐานราก ซึ่งก็คือกฎหมาย ที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาทำได้อย่างยั่งยืน

ร่างกฎหมายอากาศสะอาดที่เสนอโดยกลุ่มอื่นๆ จะพูดถึงสิทธิในการเข้าถึงอากาศสะอาดของประชาชน พูดถึงการคุ้มครองประชาชนในการฟ้องร้องผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศทั้งจากในและต่างประเทศ แต่ประเด็นที่ร่างของพรรคก้าวไกลแตกต่างออกไป คือจะให้ผู้ประกอบการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่ต้องครอบคลุมทั้งระบบตั้งแต่ต้นสายถึงปลายสาย เช่นกรณีข้าวโพดอาหารสัตว์ ถ้าจะนำเข้าต้องมีรายงานระบุชัดเจนว่ามาจากแหล่งใด และแหล่งดังกล่าวมีวิธีกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตรอย่างไร ขนส่งด้วยวิธีใด และสุดท้ายการผลิตสินค้าในโรงงานมีการปล่อยมลพิษทางอากาศอย่างไรบ้าง

สส.เชียงใหม่กล่าวต่อว่า บางคนอาจมีคำถาม ว่าหากมีการทำรายงานเท็จ หรือมีปัจจัยในต่างประเทศที่เราควบคุมไม่ได้ จะทำอย่างไร จึงเป็นที่มาของระบบการติดตามย้อนกลับโดยภาพถ่ายทางดาวเทียมที่ระบุในร่างกฎหมายนี้ เพื่อพิสูจน์ว่ารายงานที่ผู้ประกอบการทำนั้น ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ และโทษบังคับใช้ต้องชัดเจน ผู้ใดที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศในประเทศไทย ไม่ว่าจากในหรือต่างประเทศ ต้องมีความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา ที่สำคัญ พรรคก้าวไกลยังมองว่าการลงโทษทางสังคมก็ต้องมีเช่นกัน เราต้องมีการเปิดเผยข้อมูลผู้ประกอบการที่เป็นผู้ก่อให้เกิดมลพิษทั้งในและต่างประเทศ ให้สังคมได้ตัดสินว่าจะสนับสนุนผู้ประกอบการเหล่านี้ต่อไปหรือไม่ รวมถึงต้องมีการแจ้งเตือนเฉพาะพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบโดยทั่วกัน

“ถ้า 10 ปีที่แล้วเรามีการแจ้งเตือน จะมีประชาชนกี่คนที่ตระหนักและตื่นรู้ถึงภัย PM2.5 และจะมีอีกกี่คนที่ไม่ต้องเป็นมะเร็งปอดด้วยสาเหตุที่ว่าไม่รู้จัก PM2.5 นี่คือความสำคัญของการแจ้งเตือน”

ภัทรพงษ์ กล่าวว่า การร่างกฎหมายคือขั้นต้นของการแก้ปัญหา PM 2.5 ทั้งโครงสร้างผ่านกลไกนิติบัญญัติ ส่วนฝ่ายบริหาร เราต้องตรวจสอบการทำงานอย่างเข้มข้นเช่นกันตามแนวทางฝ่ายค้านเชิงรุก โดยตั้งแต่วันที่รัฐบาลแถลงนโยบายเมื่อ 12 กันยายนจนถึงวันนี้ ยังไม่เห็นมาตรการใดใดที่แน่ชัด รวมถึงยังไม่เห็นมาตรการเรื่องการจัดการข้าวโพดอาหารสัตว์ที่นำเข้ามาที่แตกต่างไปจากรัฐบาลเดิม


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active