สั่งเร่งรัด ‘ผู้รับสัมปทาน’ หากทำไม่ได้จ่อหาผู้รับประมูล ‘รายใหม่’ มาทำเหมืองแทน ชี้โปแตชเป็นสารตั้งต้นทำปุ๋ยเคมี ด้านอดีต ‘ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ’ ตั้งคำถาม เกษตรกรได้ประโยชน์ไหม ลดราคาปุ๋ยเคมีได้กี่เปอร์เซ็นต์
วันที่ 7 พ.ย. เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้สั่งการในเรื่องเหมืองโปแตช โดยขอไปเร่งรัดให้ผู้ได้รับสัมปทานเหมืองแร่โปแตชทั้ง 3 ราย ดำเนินการขุดเจาะแร่โปแตช เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการเลย และหากไม่สามารถทำได้ ก็ให้ดำเนินการหาผู้รับประมูลรายใหม่เข้ามาดำเนินการเหมืองแร่โปแตช
โดยโปแตชเซียมถือว่าเป็นสารตั้งต้นสำคัญของการทำปุ๋ยเคมี และประเทศไทยมีโปแตชมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากแคนาดา สารนี้เมื่อขุดเจาะมาแล้ว สามารถนำไปขายได้ ให้ราคาได้ดีในต่างประเทศ มีความต้องการสูงที่ประเทศจีน ปัจจุบันนี้มีผู้ได้รับสัมปทานแล้ว 3 ราย แต่ยังไม่มีการดำเนินงานเลย
“ฉะนั้น เรื่องนี้จึงให้ไปเร่งรัดว่า ต้องมีการดำเนินงาน ถ้าไม่สามารถทำได้ ก็ให้หาผู้รับประมูลมาทำงานใหม่อีกที”
เศรษฐา กล่าว
ปัจจุบันประเทศไทยมีการให้สัมปทานเหมืองแร่โปแตช 3 ราย ได้แก่
- บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ผู้รับประทานบัตรโครงการทำเหมืองแร่โปแตช อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ
- บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้รับประทานบัตรในโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี
- บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ผู้รับประทานบัตรเหมืองแร่โปแตช ในพื้นที่ อ.ด่านขุนทดจ.นครราชสีมา
- อ่านต่อ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กว่า 200 คน ยื่นฟ้องขอเพิกถอนการออกประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช
ทั้งนี้ ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยปีละ 4 ล้านตัน มูลค่า 6 หมื่นล้าน เป็นปุ๋ยโพแทชเซียมประมาณ7 แสนตัน คิดเป็น 9 พันล้านต่อปี ขณะเดียวกันประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตโพแทสเซียมสูงมาก คาดว่าไทยมีสำรองแร่โปแตชสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลกอยู่ที่ 4 แสนล้านตัน รองจากแคนาดา เบลารุสและเยอรมนี
สำหรับพื้นที่พบแร่โปแตชขนาดใหญ่ในไทยมี 2 แหล่ง คือ แอ่งสกลนคร ประกอบด้วยจ.สกลนคร จ.หนองคาย จ.อุดรธานี และ จ.นครพนม และแอ่งโคราช ประกอบด้วยจ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษจ.นครราชสีมา และจ.ชัยภูมิ
ด้าน ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตประธานสภาเกษตรกร และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนแรก กล่าวกับ The Active ว่าการทำเดินหน้าเหมืองโปแตชซึ่งเป็นการทำเหมืองใต้ดินรัฐต้องตอบคำถาม 2 ข้อ คือ 1. จะไม่มีผลกระทบกับชุมชน ต่อการทำการเกษตรที่อยู่เหนือพื้นที่ทำเหมือง 2. การจัดการกากแร่โปแตชซึ่งเป็นเกลือแกงจำนวนมาก จะจัดการอย่างไรเพื่อให้ชาวบ้านสบายใจ โดยเมื่อขุดได้แร่โปแตชมาแล้ว รัฐบาลจะได้เพียงค่าภาคหลวงแร่ ส่วนคือผู้จะได้รายได้เต็มๆ คือเอกชนผู้ถือใบประทานบัตร
“กลัวจะเหมือนน้ำมันแพง ทั้ง ๆ ที่ได้สัมปทานขุดในอ่าวไทย กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน ต่อให้ไทยขุดโปแตชได้ แต่เกษตรกรไทยก็ยังคงจะซื้อปุ๋ยในราคาแพง”
การทำเหมืองโปแตชในประเทศจะช่วยให้ปุ๋ยเคมีที่เกษตรกรใช้มีราคาถูกลงและเป็นการลดต้นทุนในภาคการเกษตรหรือไม่ ประพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปุ๋ยเคมี ประกอบด้วยสารตั้งต้น 3 ชนิดคือ ไนโตรเจน, ฟอสเฟต และ โปแตช นั่นหมายความว่า หากมีเพียงโปแตชอย่างเดียวก็ยังไม่สามารถผลิตปุ๋ยเคมีได้ เนื่องจากฟอสเฟตยังต้องนำเข้าจากประเทศจีน และไนโตรเจนก็ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเคมี
หากรัฐบาลต้องการจะลดต้นทุนเกษตรกรด้วยการลดราคาปุ๋ยเคมี จะต้องลงรายละเอียดมากกว่านี้ ไม่เพียงการขุดโปแตชในประเทศ แต่อาจจะต้องคุยกับประเทศจีนในการร่วมผลิตปุ๋ยเคมีเพราะเป็นรายใหญ่ที่มีแร่ฟอสเฟต และต้องคุยกับกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีซึ่งมีไนโตรเจนจากการกลั่นน้ำมัน
“นายกรัฐมนตรีต้องพูดให้ชัดว่า เกษตรกรจะได้ประโยชน์อย่างไร เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหว ถ้าทำจะลดต้นทุนได้กี่เปอร์เซ็น ปัจจุบันปุ๋ยเคมี มีราคาลูกละพันกว่าบาท โดยเฉพาะชาวนามีต้นทุนหลักจากค่าปุ๋ยเป็นหลัก”
ประพัฒน์ กล่าว