กทม. ครองแชมป์ ‘ผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้าน’ วอนผู้ว่าฯ กทม. เข้าใจปัญหา สร้าง ‘เมืองปลอดภัย’ เพื่อทุกคน

‘มูลนิธิอิสรชน’ ชี้ระบบจัดการสุขภาวะล้มเหลว มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบแต่ไม่ขยับ ย้ำบทบาท ผู้ว่าฯ กทม. ให้ความสำคัญ จัดพื้นที่ปลอดภัย จิตแพทย์เคลื่อนที่ เยียวยา ช่วยเหลือ

มูลนิธิอิสรชน เปิดเผยกับ The Active ถึงสถานการณ์ผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า ขณะนี้มีอยู่จำนวน 483 คน ทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าหลังสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

The Active ลงพื้นที่บริเวณตรอกสาเก เขตพระนคร ร่วมกับอาสาสมัครมูลนิธิอิสรชน ซึ่งจัดจุดแจกอาหาร และแจกเสื้อผ้า ให้กับคนไร้บ้านทุกวันอังคาร เฉพาะจุดนี้มีมากกว่า 600 คน จากการประเมินด้วยการพูดคุยกับอาสาสมัคร พบผู้ป่วยจิตเวชแสดงอาการอย่างน้อย 4 คน และให้ข้อมูลสับสนอีกจำนวนมาก

อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน บอกว่า อาการของผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้าน ไม่จำเป็นต้องมีอาการคลุ้มคลั่ง ทำร้ายคนอื่น เหมือนที่เห็นในสื่อเสมอไป จากการลงพื้นที่ของมูลนิธิฯ พบว่า บางคนพูดวกไปวนมา บอกอดีตของตัวเองไม่ได้ หรือบางคนเป็นผู้สูงอายุที่มีอาการอัลไซเมอร์ กลุ่มนี้ถือว่ามีมากขึ้นในพื้นที่ของ กทม. โดยมูลนิธิอิสรชนเข้าไปทำงานด้วยการพูดคุยอย่างเป็นมิตร เสริมพลังให้รู้คุณค่าในตัวเอง จนสามารถสื่อสารได้ดีขึ้น จนถึงสามารถดูแลตัวเองได้

อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน พูดคุยกับ ‘กอล์ฟ’ ชายไร้บ้าน ย่านตรอกสาเก เขตพระนคร กทม.

‘กอล์ฟ’ คือชื่อที่อาสาสมัครใช้เรียกชายไร้บ้านคนหนึ่งที่ได้พบกันเมื่อ 5 ปีก่อน เขาออกจากบ้านใน จ.พิจิตร และมาอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะของ กทม. ต่อมาติดสุราเรื้อรังจนสื่อสารไม่ปกติ อาสาสมัครจึงเริ่มกระบวนการพูดคุยจนรู้ว่าเขาสามารถทำงานเก็บขยะขายเป็นอาชีพได้ จึงระดมเงินซื้อรถซาเล้งเพื่อเลี้ยงดูตัวเอง และสามารถส่งเงินกลับไปให้ที่บ้านได้

แต่การใช้ชีวิตในที่สาธารณะซึ่งผิดระเบียบของ กทม. ทำให้มีที่อยู่อาศัยไม่เป็นหลักแหล่ง จนขาดการติดต่อและมาพบว่ามีอาการกลับมารุนแรงอีกครั้ง ซึ่งเหมือนกับหลาย ๆ กรณีที่ผ่านมา จึงอยากฝากให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ในฐานะผู้บริหารเมือง และเจ้าของพื้นที่ มีพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย พร้อมจิตแพทย์ในพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิต และความปลอดภัยของผู้ป่วยจิตเวช รวมถึงประชาชนใน กทม.ด้วย

“เราคิดว่าการช่วยเหลือ พัฒนาชีวิตให้กับคนจิตเวชไร้บ้านแบบนี้ถูกต้องแล้ว ไม่ต้องรอให้รุนแรงจนไปล้นในโรงพยาบาล แต่บ้านเราไม่มีพื้นที่ปลอดภัยหรือพื้นที่สาธารณะที่คนทุกคนสามารถใช้ได้ หรือให้คนเข้าใจว่าเขาคือคนเท่ากันกับเรา กทม.ควรจะต้องเปิดใจก่อนว่ามีคนกลุ่มนี้จริง แล้วเอาเครื่องมือที่มีมาพูดคุยกับภาคประชาสังคม ว่ามันติดขัดอะไรตรงไหน  ตรงนั้นจะเป็นช่องทางที่เราหาทางแก้ไขไปด้วยกัน”

อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน

สำหรับหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้าน เฉพาะในความรับผิดชอบของ กทม. ประกอบด้วย สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักพัฒนาสังคม ส่วนหน่วยงานที่มีภารกิจหลักร่วมกัน คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรมสุขภาพจิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่หากพิจารณาจาก พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 ที่ให้หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมบูรณาการ นำส่ง รักษา ฟื้นฟูคืนสู่สังคม แต่ยังพบ 3 ปัญหาหลัก คือ การประเมินระดับความรุนแรงของผู้ป่วย สถานการณ์คนไข้ล้นโรงพยาบาลจิตเวช และการฟื้นฟูคืนสู่สังคม ยังไม่ตอบโจทย์กับสถานการณ์

สอดคล้องกับข้อมูลจากมูลนิธิกระจกเงา ที่พบว่า มีผู้ป่วยจิตเวชที่เคยนำส่งรักษาไปแล้วกลับมายืนที่เดิม ทั้งจากปัญหาครอบครัวและบริบทของคนไร้บ้านที่ต้องการใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ซึ่งก่อนหน้านี้หลายภาคส่วนเคยมีการจับมือทำแผนพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้านใน กทม. เช่น มีศูนย์ข้อมูลคนไร้บ้านกลาง สถานที่ฟื้นฟูคนไร้บ้านเฉพาะผู้ป่วยจิตเวช แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้น

ขณะที่แผนพัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปี แม้ผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้านจะไม่ปรากฏอยู่ในแผนชัดเจน แต่ในหมวดมหานครปลอดภัย ก็ระบุเรื่องของปัญหาสุขภาพจิต กทม. ที่ต้องขยายบริการดูแล ป้องกันสุขภาพคนเมือง ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งหมายถึงการเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพจิตใน กทม. ที่ครอบคลุมทุกมิติ ทุกกลุ่มประชากร รวมถึงกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยจิตเวช ด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน