จากสัตว์นักล่าสู่จานอาหารหมา ซ้ำวิกฤตประชากรฉลามลดลง

นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมสะท้อน กรณีนำฉลามวัยอ่อนมาแปรรูปเป็นอาหารว่างของหมา-แมว โฆษณาผ่านโซเชียลมีเดีย สะท้อนปัญหาประมงทำลายล้าง ย้ำ ‘ฉลาม’ ไม่ใช่อาหารทางเลือก

วันนี้ (18 พ.ย. 2565) แฟนเพจเฟซบุก Rereef โพสต์กรณีการนำฉลามวัยอ่อนมาทำเป็นอาหารให้หมาและแมว แล้วมีการโฆษณารีวิวในสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากว่า สะท้อนปัญหาสำคัญของการอนุรักษ์ทะเลไทย ที่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจถึงบทบาทความสำคัญของปลาฉลาม ในขณะที่มาตรการเชิงกฏหมายก็ยังเปิดโอกาสให้มีการใช้ประโยชน์อย่างไร้การควบคุม ทำให้เสี่ยงต่อการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศของท้องทะเล พร้อมกันนี้ ยังให้ข้อมูลว่า ฉลามในโฆษณาคือฉลามขนาดเล็กในสกุล Scoliodon หรือ ปลาฉลามหนูใหญ่

“ทะเลที่ดีคือทะเลที่มีฉลาม และข้อมูลจากงานวิจัยทั่วโลกต่างชี้ให้เห็นว่า เมื่อปลาฉลามหมดไปจากระบบนิเวศ ย่อมส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อห่วงโซ่อาหาร จนเกิดผลเสียต่อระบบนิเวศโดยรวม ถ้าเรายังคิดว่าเราสามารถใช้ประโยชน์ปลาฉลามได้อย่างไม่มีการควบคุมเช่นนี้ ถ้าเราคิดแค่ว่าปลาฉลามเหล่านี้เป็นสัตว์น้ำพลอยได้ (bycatch) ยังไงก็ควรนำมาใช้ประโยชน์ ก็น่าเป็นห่วงจริงๆกับอนาคตของทะเลไทย และมหาสมุทรของโลก การปล่อยให้มีการทำประมงที่ทำให้เกิดการจับสัตว์น้ำที่ไม่ใช่เป้าหมายมากมายแบบนี้ มันคือการทุบหม้อข้าวตัวเอง มันคือการทำลายตัวเองของมนุษย์”

ด้าน เพชร มโนปวิตร ที่ปรึกษาองค์กรไวลด์เอด และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เมื่อทราบเรื่องนี้รู้สึกตกใจ เนื่องจากที่ผ่านมา มีความพยายามรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์ฉลามมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งนอกจากเมนูหูฉลามที่ควรจะหมดไป กลับพบว่ามีความพยายามจะใช้ประโยชน์จากฉลามในแง่มุมอื่นด้วย เช่น การนำเนื้อขาวของฉลามมาบริโภค หรือแม้แต่กรณีนำฉลามวัยอ่อนมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงเช่นนี้

ซึ่งการทำประมงที่สามารถจับสัตว์ตัวเล็กแบบนี้ได้ คือ อวนลาก และอวนลากแผ่นตะเฆ่ ซึ่งเป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำที่จับไม่เลือก และไม่เลือกจับ ทำให้สัตว์ที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย เช่น สัตว์น้ำประเภทเศรษฐกิจ หรือสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ควรจะได้โอกาสเติบโตขยายพันธุ์ถูกจับไปด้วย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงบอกว่า ถึงเวลาที่ภาคส่วนต่างๆ ควรจะคุยกันว่าการประมงแบบนี้เป็นอุตสาหกรรมไม่ยั่งยืน หลายประเทศเมื่อพบว่าการทำประมงสร้างความเสียหายเชิงระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมก็มีการแบนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งไทยเองก็ควรที่จะทบทวน

“สำหรับผมคิดว่านี่คือรากของปัญหาการทำประมงไม่ยั่งยืน การใช้เครื่องมือไม่เลือกทำให้ฉลามตัวเล็กติดอวนได้ แม้ที่ผ่านมาจะมีข้ออ้างว่าเราไม่ได้ทำประมงฉลาม แต่การที่เรามีผลิตภัณฑ์จากฉลามแบบนี้เป็นหลักฐานชัดเจน เมื่อฉลามวัยอ่อน ถูกใช้ประโชน์ในทางธุรกิจแบบนี้ก็ทำให้เกิดมูลค่า และความต้องการ เป็นสัญญาณที่น่ากลัว คนที่รีวิวเองก็สะท้อนว่าเขาไม่ได้เห็นความสำคัญของฉลาม มองว่าเป็นเหมือนปลาทั่วไป สวนทางกับองค์ความรู้ในปัจจุบัน ในระบบนิเวศ ถ้าเราเอาลูกเสือดาวมากิน หลายคนคงรับไม่ได้ แต่พอเป็นปลา คนส่วนใหญ่คิดว่าไม่เป็นไรใช้ประโยชน์ได้ เมื่อทำคลิปวิดีโอมาแบบนี้อาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหารทางเลือก”

ที่ปรึกษาองค์กรไวลด์เอด อธิบายว่า ลักษณะเฉพาะทางชีววิทยาของฉลามแตกต่างจากปลากลุ่มอื่นๆ ส่วนใหญ่ เนื่องจากโตช้า กว่าจะเจริญเติบโตจนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์อาจต้องใช้เวลาหลายปี ฉลามหัวบาตรใช้เวลา 15-20 ปีกว่าจะพร้อมผสมพันธุ์​  และในขณะที่ปลาส่วนใหญ่วางไข่กันนับหมื่นนับแสนฟอง ฉลามออกลูกคราวละไม่กี่ตัว อย่างฉลามหัวบาตรออกลูกคราวละ 6-8 ตัวเท่านั้นและใช้เวลาอุ้มท้อง 10-11 เดือน ยาวนานกว่าคนเสียอีก

“เพราะโตช้า กว่าจะโตเต็มวัย ออกลูกก็น้อยไม่เยอะเหมือนปลาอื่นๆ ที่ไข่เป็นหมื่น แสนฟอง จึงประสบปัญหาเดียวกันทั่วโลก คือประชากรไม่พอ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งประเทศไทยเราเป็นฮอตสปอทที่สำคัญอยู่แล้ว ในกรณีที่ว่าประชากรฉลามลดลงอย่างรวดเร็ว และเรายังเป็นประเทศที่ส่งออกฉลามสูงสุด อันดับที่ 2 ของโลก ถึงจะไม่ได้จับเอง แต่มีการรับซื้อ รวบรวม นำเข้า ส่งออก เป็น shark trade กรณีที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณอันตราย และสะท้อนปัญหาการอนุรักษ์ทะเลอย่างชัดเจน ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านบอกว่า ไม่ต่างจากการจับสัตว์ทะเลวัยอ่อน ซึ่งถ้ามีการใช้ประโยชน์แบบนี้ต่อไปสัตว์ทะเลก็คงหมดไป ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมประมงเอง”

ที่ปรึกษาองค์กรไวลด์เอด กล่าวว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมามีข่าวดีหลายๆ อย่างในทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเห็นประชากรฉลามฟื้นคืนกลับมา และไทยมีโอกาสที่จะเป็นประเทศตัวอย่างแห่งหนึ่งที่อนุรักษ์ฉลามได้ เพราะการมีฉลามเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการอนุรักษ์ทะเล คนที่จะได้ประโยชน์จับต้องได้ คือ กลุ่มชาวประมง เพราะระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ปลาในทะเลเพิ่มขึ้น ด้านการท่องเที่ยว ก็ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว ช่วยสร้างมูลค่าโดยตรง

ซึ่งประเทศไทยได้ประโยชน์กับเรื่องนี้มหาศาลมาก จึงต้องพยายามสร้างมาตรการในการรักษาความสมบูรณ์ทางท้องทะเลต่อไป เพราะแม้ปัจจุบันจะมีการกำหนดในพื้นที่ห้ามประมง มีกฎหมาย เงื่อนไขต่างๆ แต่พบว่ายังไม่สามารถควบคุมได้ หากจะมีการใช้อวนลาก อวนลากแผ่นตะเฆ่ ก็อาจต้องมีมาตรการที่ชัดเจน กำกับควบคุมดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความร่วมมือกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมประมง กรมศุลกากร และภาคส่วนอื่นๆ ในการสร้างจิตสำนึกและความเข้าใจที่ถูกต้อง

“ฉลามบ้านเราเกือบร้อยชนิด และเรามีการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับฉลามมากมาย เช่น ดำน้ำ กรณีที่เกิดขึ้นน่าจะต้องมีการพูดคุยในหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวบรวมความคิดเห็นเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนแก้ปัญหาต่อไป เพราะนอกจากจะล่าแบบไม่เลือก งานวิจัยระบุว่าอวนลาก ที่ลากไปตามพื้นทะเล ยังทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนมากกว่าอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก เนื่องจากคาร์บอนถูกกักเก็บอยู่ที่หน้าดินตะกอน เมื่อไปคุ้ย ทำให้คาร์บอนถูกกวนออกมา เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน และสภาพอากาศแปรปรวน”


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

หยุดจับ ‘ปลาทูวัยอ่อน’ ก่อนจะหมดทะเลไทย

จับ ‘ปลาตัวเล็ก’ แต่สร้างความเสียหายที่ยิ่งใหญ่

รออีกนิด… ถ้าคิดจะกินปลา (ตัวเล็ก)

The Active Podcast EP.88 พลังผู้บริโภค ปกป้องสัตว์น้ำวัยอ่อน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active