“ซอกหลืบเยาวราช” เมื่อ “สิทธิของคนจน” เป็น “สิทธิมนุษยชน”

สารคดี “คนจนเมือง” ตอน ซอกหลืบเยาวราช ตอกย้ำ “สิทธิของคนจน” ไทยพีบีเอส คว้ารางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดชีวิต “ตาไหม” สะท้อน “คนจนเมือง” ที่จนสิทธิ จนโอกาส จนรายได้

ซอกหลืบเยาวราช คนจนเมือง

“อยากขอขอบคุณแทนคนจนทุก ๆ คน ที่รายการทำให้ประชาชนเห็น ว่าเราคนจนเมือง คือ คนจนจริง ๆ ไม่ใช่แกล้งจน”

ทองคูณ โฟสลิต หรือ ตาไหม ตัวละครหลักที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองผ่านสารคดีชุด “คนจนเมือง” ตอน “ซอกหลืบเยาวราช” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวระหว่างร่วมงานมอบรางวัล สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564 (Media Awards 2021) จัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

สุนี ไชยรส ผู้ประสานงานขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย We Move และ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หนึ่งในคณะกรรมการ ให้เหตุผลของการมอบรางวัลดังกล่าวให้กับสารคดีคนจนเมือง ตอน ซอกหลืบเยาวราช ว่า ที่ผ่านมาประเด็นปัญหาของเรื่องสิทธิมนุษยชน มักจะปรากฏผ่านการถูกจับกุม การถูกทำร้าย ชุมชนลำบาก และเรื่องราวมากมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ความแตกต่างของสารคดีเรื่องนี้ คือ เป็นเรื่องของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ลุกขึ้นมาบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเขา ซึ่งเวลาเกือบ 60 นาทีของสารคดี ทำหน้าที่บอกเล่ารายละเอียดให้เข้าใจชีวิตของคนจนเมืองได้อย่างลึกซึ้ง

“คนจนเมืองในมุมของซอกหลืบเยาวราช เป็นเรื่องที่มาเติมเต็มเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ไม่ได้มีเพียงเรื่องของประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาชน หรือเรื่องของความเสมอภาค แต่ยังมีเรื่องของสวัสดิการสังคม ซึ่งลึกซึ้ง และคนบางส่วนคิดว่าไม่ใช่เรื่องของสิทธิมนุษยชน”

ธนพล เลิศธนาผล โปรดิวเซอร์ข่าวอาวุโส ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส ผู้ควบคุมการผลิตสารคดี ระบุว่า ฉากหนึ่งในสารคดีเป็นภาพของตาไหม ยืนมองตึกสูงที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา วันนี้เขาได้มายืนในจุดที่ไม่เคยคิดว่าจะมีโอกาส พร้อมกล่าวขอบคุณแอมเนสตี้ฯ และผู้ชม ที่ทำให้ได้รับรางวัล เพราะเรื่องสิทธิของคนที่จะอยู่ร่วมกับเมืองจะปรากฏชัดเจนมากขึ้น ซึ่งนอกจากตาไหมแล้ว ยังทำให้อีกหลาย ๆ คนในซีรีส์สารคดีคนจนเมือง ถูกขยายความและถูกพูดถึงมากขึ้น ซึ่งระหว่างการผลิตสารคดีมีการทำงานร่วมกับคณะนักวิจัยชุด คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ด้าน รวีภัทร์ จงไพบูลย์กิจ หนึ่งในทีมผลิตสารคดี เล่าถึงช่วงเริ่มต้นของการลงพื้นที่ถ่ายทำสารคดี และเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ “ถ่าน” เป็นสัญลักษณ์หนึ่งในเรื่อง ว่า ได้เจอคนส่งถ่านอีกคนหนึ่งตั้งคำถามกับเธอว่า “รู้ไหมว่าถ่านมันซื่อสัตย์ ก็เหมือนผม ที่สกปรก ไม่มีใครอยากจับ เหมือนกับคนจน แต่รู้ไหมว่ามีประโยชน์มาก ทำอาหารให้อร่อย แล้วหลอมทองได้ด้วย…” เธอบอกว่านี่คือคุณค่าของคนจนที่แบกเมือง หมุนเมือง ที่พยายามบอกเล่าผ่านสารคดี

ซอกหลืบเยาวราช คนจนเมือง

“ซอกหลืบเยาวราช” เป็นหนึ่งในสารคดีชุด “คนจนเมือง” ได้รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564 (Media Awards 2021) ประเภท สารคดีหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทรายการโทรทัศน์ ดีเด่น (ความยาวรวมไม่เกิน 60 นาที)

สารคดีชุด “คนจนเมือง” มีทั้งหมด 11 ตอน ควบคุมและอำนวยการผลิตโดยศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส หรือ The Active เพื่อรื้อถอนมายาคติ “คนจน” และ “ความจน” ว่าไม่ใช่เรื่องของปัจเจกชนที่เผชิญชะตากรรมหรือจนเพราะความขี้เกียจ จากนั้น จัดเรียงความคิดใหม่ความจน เป็นผลผลิตจากโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมและนโยบายของรัฐ และฉายให้ “คนจน” มีหลายรูปแบบ อาทิ คนจนข้ามรุ่น คนเสี่ยงจน คนจนเมืองที่มีนัยของผู้ประกอบการทางสังคมที่ไร้สิทธิ โอกาส และอำนาจ

นอกจากนี้ ไทยพีบีเอส ยังได้รับรางวัลชมเชยจากผลงานเรื่อง “คนหนีตาย” รายการเปิดปม ที่สะท้อนภาพของประเทศไทยในหลักมนุษยธรรม ผ่านบทบาทการรับมือ “ผู้หนีภัยความรุนแรง” และผลงานเรื่อง “มานิ – จาไฮ” ชีวิตบนเส้นด้าย จากรายการเปิดปม ได้รับรางวัลชมเชยเช่นกัน บอกเล่าชีวิตของชาว “มานิ” และ “จาไฮ” สองชนพื้นเมืองในไทย ที่เต็มไปด้วยความเปราะบาง และพบเจอกับปัญหาซ้ำซากทั้งความอคติ ไร้รัฐ และไร้สัญชาติ

ส่วนรางวัลป๊อปปูล่า โหวต ประเภทภาพถ่ายในหัวข้อ “มุมมองชีวิตท่ามกลางวิกฤต ‘โควิด-19’ ผ่านเลนส์สิทธิมนุษยชน” ประเภทบุคคลทั่วไป 2 รางวัล คือ ผลงานภาพถ่าย “ปืนฉีดน้ำ โควิด-19” โดย ฉัฐพัชร์ สุวรรณยุหะ ช่างภาพข่าว ไทยพีบีเอส และผลงานภาพถ่าย “ยายของหนูกำลังทำอะไรอยู่” โดย สุภณัฐ รัตนธนาประสาน ช่างภาพสำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส

ซอกหลืบเยาวราช เล่าเรื่องอีกมุมบนถนนสายเศรษฐกิจ

เนื้อหาของสารคดี ชวนให้มองเห็นอีกมุมของกรุงเทพมหานครยามค่ำคืน เยาวราชที่แปรสภาพจากถนนเศรษฐกิจของชุมชนคนจีน ศูนย์รวมการเงิน ร้านทอง ภัตตาคาร เป็น “ถนนอาหาร” (Street Food) ที่มีความยาวที่สุดแห่งหนึ่ง และเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เบื้องหลังความเจริญและมั่งคั่งของถนนสายนี้ ยังมีคนไทยกลุ่มหนึ่งซุกซ่อนตัวอยู่ในเพิงที่ห่างไกลจากมาตรฐานคำว่า “บ้าน” ของคนทั่วไป เขาหล่านี้เป็นฟันเฟืองหมุนเมืองให้เจริญเติบโตอยู่อย่างสงบเสงี่ยม นี่คือเรื่องราวของ ‘ตาไหม’ ชายชราวัย 62 ปี แรงงานอพยพจากจังหวัดสุรินทร์ตั้งแต่วัยหนุ่ม เจ้าของบ้านจากประติมากรรมปะติด คือติดและปะทุก อย่างที่พอหาได้ เพื่อคุ้มแดดฝน เขาใช้ชีวิตเป็นคนส่งถ่านในเยาวราชมากกว่า 20 ปี และรับจ้างทำทุกอย่างตลอด มาเพื่อเลี้ยงครอบครัว

‘ตาไหม’ คือภาพสะท้อนของแรงงานอพยพ คนไร้บ้าน ไร้หลักประกันในฐานะพลเมืองไทย พวกเขาดิ้นรนเพียงเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดในเมืองใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา แต่คนในซอกหลืบของย่านเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่นี้ กลับไร้ “ตัวตน” มองไม่เห็นหนทางที่จะหลุดพ้นความเป็น “คนจนเมือง” จากโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่ไม่เคยใยดีพวกเขา

กว่าจะเป็นสารคดีคนจนเมือง

สารคดีชุดนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดนิยามความหมายของ “คนจนเมือง” และเปิดประเด็นเรื่องสิทธิและการมีส่วนร่วมอยู่ในเมืองอย่างยุติธรรม (Right of the City, to Just City) ปัจจุบัน คนจนเมือง กำลังเป็น “คนแบกเมือง” ไว้อย่างเงียบกริบ ทั้งที่ทิศทางการพัฒนาเมืองพยายามผลักไสให้เขาไม่มีตัวตน ไม่มีสิทธิ โอกาส และอำนาจในการต่อรองเพื่ออยู่ในเมืองอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีส่วนร่วมอยู่ในเมืองด้วย

มี 2 จุดแข็งอยู่เบื้องหลังการผลิตสารคดีชิ้นนี้ คือ (ก) เบื้องหลังวิธีคิดการผลิตงานชุดสารคดี “คน จน เมือง” ซึ่งมีรูปแบบเป็น Drama Documentary นั้น การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความจนที่เน้นประเด็นเชิงโครงสร้างอาจไม่สั่นสะเทือนคนทั่วไปมากนัก ดังนั้น จำเป็นต้องทำให้รู้สึกด้วย ดังที่ ศ.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ซึ่งเป็นที่ปรึกษา อุปมาว่าเป็นการ “กระชากพรมออกจากตีน” หรือทำให้เกิดการสั่นสะเทือนทางความรู้สึกนั้นอาจจะเข้าถึงคนทั่วไปได้มากกว่า

“…มนุษย์ก็ควรจะต้องมี empathy หรือความเข้าอกเข้าใจความยากลำบากของเพื่อนมนุษย์ ด้วยกัน เราจึงควรนำข้อมูลมาทำให้คน ‘รู้สึก’ แทนที่จะยัดเหยียดข้อมูลเชิงโครงสร้างอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องทำให้คนชนชั้นกลางขึ้นไปเห็นด้วยว่าพวกเขามีความได้เปรียบในเชิงโครงสร้างที่เหนือกว่าคนอื่น…”

และในขณะเดียวกันนั้น ความได้เปรียบก็มาบนพื้นฐานของการเบียดบังผลประโยชน์ของคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำกว่าด้วยเช่นกัน ให้สังคมไทยให้รู้ว่าความจนนั้นไม่ขึ้นอยู่กับปัจเจกชน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกรรมเก่า แต่ความจนนั้นสัมพันธ์กับโครงสร้างของความยากจน โดยโครงสร้างนั้นจะทำหน้าที่กำหนดความจน 2 ด้านด้วยกัน คือกำหนดในทางตรง และอีกทางหนึ่งนั้นทำหนดในทางอารมณ์และความรู้สึกหรือการกำหนดจินตนาการต่อชีวิตของคนว่าจะมีจุดหมายปลางทางของชีวิตไปถึงแค่ไหน

(ข) มีงานความรู้และคณะวิจัยจากโครงการวิจัย “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สนับสนุนข้อมูลและเป็นที่ปรึกษาการทำสารคดี โดยงานวิจัยนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจพลวัตและความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มคนจนเมืองทั้งที่อยู่ในชุมชนแออัดและนอกชุมชนแออัดที่เป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนจนเมืองกับความเปลี่ยนแปลงของเมือง ซึ่งปฏิสัมพันธ์นี้ได้ทำให้คุณลักษณะของคนจนเมืองและชุมชนคนจนเมืองมีความแปรเปลี่ยนไป และคุณลักษณะที่แปรเปลี่ยนนี้มีความหมายความสำคัญอย่างไรในกระบวนการความเปลี่ยนแปลงของเมืองและชีวิตของคนเมืองโดยรวม โดย ศึกษาในพื้นที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สงขลา ชลบุรี และขอนแก่น

เมื่อ “สิทธิของคนจน” เป็น “สิทธิมนุษยชน”

ระหว่างการถ่ายทำและส่วนหนึ่งของการนำเสนอสารคดีได้ “คืน” ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้แก่ ‘ตาไหม’ : แรงงานอพยพที่มาอาศัย “พึ่งใบบุญ” ทำมาหากินในพื้นที่ของคนจีน วันงานเทกระจาด ณ “ศาลเจ้าโจวซือกง” มีคนยากจน กลุ่มคนเปราะบางมารอรับของแจกจำนวนมากเช่นทุกปี วันนี้ ‘ตาไหม’ เปลี่ยนบทบาทจากที่เคยเป็นผู้รอรับสู่การเป็นผู้ให้ เขาไม่แทรกในแถวยาวเหยียด ทว่า เขาเป็นอาสาสมัครช่วยแจกข้าวสารอาหารแห้ง วันนี้ ‘ตาไหม’ ได้สินน้ำใจเป็นข้าวสารนับสิบถุงซึ่งจะทำให้ครอบครัวของเขามีข้าวกินไปทั้งปี แต่เขาก็ยังมีน้ำใจแบ่งปันบางส่วนแจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง ถือเป็นการช่วยเหลือกันตามกำลังที่มี

สารคดีชุด “คนจนเมือง” เป็นส่วนหนึ่งทำให้สังคมเข้าใจนิยาม ความหมายของ “คนจนเมือง” มากขึ้น และเปิดประเด็น ย้ำ วางหมุดหมาย เรื่องสิทธิและการมีส่วนร่วมอยู่ในเมืองอย่างยุติธรรม (Right of the City, to Just City) ซึ่งเมื่อกล่าวถึง ‘สิทธิที่จะอยู่ในเมืองร่วมกันอย่างยุติธรรม’ นี้ สารคดีชุดนี้จึงทำหน้าที่สร้างบทสนทนากับสังคมถึงหลาย ๆ สิทธิที่ประกอบกันเข้ามา โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นจุดร่วมของทั้ง 3 ตอน คือ สิทธิที่ (จะ) อยู่อาศัยในสังคมเมือง และหากเขาเข้ามาทำงานในฐาน “คนแบกเมือง” ไว้ คำถามใหญ่สำหรับคนจนเมืองที่ล้วนเป็นแรงงานนอกระบบทั้งสิ้น พวกเขาจะเข้าถึงสิทธิ โอกาส และอำนาจในการต่อรองเรื่องรายได้ ค่าตอบแทน หลักประกันทางสังคมอื่น ๆ ได้อย่างไร

ความพยายามรื้อถอนมายาคติเกี่ยวกับ “คนจน” เพื่อเปิดพื้นที่ไปสู่การพูดประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และฉายให้เห็นประเด็นสิทธิด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สิทธิที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยและคนไร้บ้าน สิทธิการทำงานและการได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย สิทธิการศึกษา ปัญหาสถานะบุคคลและการเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐานต่าง ๆ เป็นต้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active