นักวิชาการ ย้ำ “ป่าแก่งกระจาน” มรดกโลก ไม่สมศักดิ์ศรี หวั่นแก้ปมชาติพันธุ์เหลว เสี่ยงถูกถอด

“ผศ.ธนพร ศรียากูล” เชื่อคณะกรรมการมรดกโลก ตั้ง 3 เงื่อนไข สะท้อนรัฐไม่จริงจัง แก้ปัญหาสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในป่าแก่งกระจาน แนะรัฐใช้วิกฤตเป็นโอกาส กลับลำพูดคุยชาวบ้าน หาข้อสรุปแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม ก่อนส่งการบ้านคณะกรรมการมรดกโลก 1 ธ.ค.65 ขณะที่เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองฯ เรียกร้องยุติคุกคาม ละเมิดสิทธิชาติพันธุ์ทุกรูปแบบ    

หลังที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ที่ประเทศจีน มีมติขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 3 ของประเทศไทยนั้น

วันนี้(27ก.ค.64) ผศ.ธนพร ศรียากูล ในฐานะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยกับ TheActive ถึงเงื่อนไข ที่คณะกรรมการมรดกโลก กำหนดให้ประเทศไทย ต้องปฏิบัติตาม (Operation guidelines)  3 ข้อ ภายหลังการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกครั้งนี้  ได้แก่


1. การสร้างเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการปรับปรุงขอบเขตพื้นที่มรดกโลกบนพื้นฐานของความร่วมมือระหว่างรัฐภาคีไทยและเมียนมาร์ (Mutual understanding on the revised boundaries of the property based on agreement between the States Parties of Thailand and Myanmar)

2. รับประกันว่าจะรักษาความบูรณ์ มีการคุ้มครองและบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกอย่างเต็มที่ (Ensuring related conditions of integrity, protection and management) 

3. รับประกันว่าจะมีการปรึกษาหารือกับชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่และสนับสนุนการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการจัดการพื้นที่มรดกโลกของชุมชนท้องถิ่น (Ensuring consultations with the local community on their livelihood and their active engagement in management of the property)

ทั้งนี้คณะกรรมการมรดกโลก ระบุให้ประเทศไทยต้องรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการดังกล่าวในวันที่ 1 ธ.ค.65 

ผศ.ธนพร ศรียากูล กรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


ผศ.ธนพร มองว่า เงื่อนไขที่เกิดขึ้น 2 ข้อแรก คือหลักปฏิบัติทั่วไปที่รัฐต้องดำเนินการ เพื่อดูแล ปกป้องทรัพยากรภายหลังการได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก  แต่ที่น่าสนใจ คือเงื่อนไขข้อที่ 3 ซึ่งสะท้อนชัดเจนว่าคณะกรรมการมรดกโลก มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ผืนป่าแก่งกระจาน


โดยเฉพาะประเด็นสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เพราะที่ผ่านมาเกิดข้อขัดแย้งในกระบวนการจัดการปัญหา โดยยกพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย ที่ยืนยันว่าสิทธิชุมชนของชาวบ้าน อยู่ที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน แต่กระบวนการจัดการของรัฐกลับทำให้ชาวบ้าน ต้องถูกอพยพออกมาจากพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม โดยไม่ได้รับการดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี และล่าสุดเกิดกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ดำเนินคดีชาวบ้านข้อหาบุกรุกป่า ดังนั้นหากมองในเชิงโอกาส ภาครัฐก็ต้องเร่งสร้างกลไก การพูดคุย การแก้ปัญหากับชาวบ้าน ให้ได้รูปแบบที่ลงตัวโดยเร็ว ตามเงื่อนไขของคณะกรรมการมรดกโลกกำหนดไว้ 

“ผมว่ามรดกโลกที่เราได้รอบนี้ ไม่ค่อยสมศักดิ์ศรี เพราะไม่ควรมีเงื่อนไข ถ้ามองเชิงโอกาสก็ถือว่ารัฐต้องรีบทำ แต่ถ้ามองตามหลักความจริง เชื่อว่าไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาภาครัฐปิดโอกาสตัวเองมาตลอด และเลือกใช้มาตรการปิดปากชาวบ้าน ทำให้พวกเขาถูกกระทำ ถูกละเมิดสิทธิ ดังนั้นหากภาครัฐแสดงความจริงใจ ก็คงจัดการปัญหาให้เป็นรูปธรรมได้มาตั้งนานแล้ว และเงื่อนไขที่คณะกรรมการมรดกโลกตั้งขึ้น ก็สะท้อนชัดเจนว่าคณะกรรมการฯ ก็มองเห็นถึงปัญหา แต่ถึงยังไงก็ยังมีโอกาสที่ภาครัฐต้องรีบเปิดเวทีพูดคุย ทำให้เกิดผลตามสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวบ้าน”


ผศ.ธนพร ย้ำว่า หากภาครัฐยังเน้นแก้ปัญหาให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยด้วยมาตรการแบบเดิม ๆ ก็อาจไม่สัมฤทธิ์ผลตามเงื่อนไขของคณะกรรมการมรดกโลก ก็อาจสุ่มเสี่ยงที่จะถูกถอนจากการเป็นมรดกโลกได้ พูดง่าย ๆ คือให้ได้ ก็ถอนได้เช่นกัน


ขณะที่วันนี้ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ อ้างถึง กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก ละเลย และไม่คำนึงถึงสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เพิกเฉยต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ชุมชนชาวกะเหรี่ยง การถูกบังคับอพยพ การเยียวยาที่บกพร่อง และการจับกุม ดำเนินคดี


แถลงการณ์ยังเรียกร้อง 4 ข้อ ประกอบด้วย 1. ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาของพี่น้องกะเหรี่ยงในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานโดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับที่ดินทำกินอย่างจริงจังและจริงใจ โดยใช้กลไกคณะอนุกรรมการที่มีอยู่แล้ว หรือกลไกอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่า

2. ยกฟ้องการดำเนินคดีกับชาวบ้านบางกลอยในข้อหาบุกรุกและทำลายป่า  

3. ยุติการคุกคามต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ลงไปให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานในทุกรูปแบบ

4.  รับฟังความคิดเห็นและเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลก ซึ่งเป็นพื้นที่บรรพบุรุษและพื้นที่จิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงด้วย ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active