ภาคประชาชน ตัวกลางประสาน นำร่อง 23 ชุมชน จับคู่ รพ.ปิยะเวท วางระบบติดตาม คัดกรอง ดูแลผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ X-Ray ปอดแล้วไม่มีปัญหา รักษาตัวอยู่บ้าน เผยอธิบดีกรมการแพทย์ไฟเขียว สปสช.เอาด้วย เดินหน้าสร้างทางเลือกลดภาระเตียงในโรงพยาบาล ทลายข้อจำกัดรัฐ เอกชน ชูบทบาทชุมชน ร่วมออกแบบแนวทางคุมระบาด
นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ในฐานะเครือข่ายชุมชนร่วมรักษาโควิด-19 เปิดเผยกับ TheActive ว่า ผู้ป่วยโควิดที่ยังพุ่งสูงติดต่อกันในช่วงนี้ กำลังสะท้อนความจริงในระบบการรักษา และวิกฤตเตียงในโรงพยาบาล แม้ยอมรับว่า ระบบดูแลรักษามีเงาของความเหลื่อมล้ำซ่อนอยู่ จนผู้คนต่างรู้สึกเหมือนกันว่า คนระดับ VIP นักการเมือง ศิลปิน ดารา หากติดเชื้อจะเข้าถึงเตียงได้ง่ายกว่าคนทั่ว ๆ ไป แต่สำหรับวิกฤตที่เกิดขึ้น ความเหลื่อมล้ำอาจไม่ใช่สาเหตุหลัก เท่ากับปัญหาการบริหารจัดการ เพราะหากมองไปที่ความเหลื่อมล้ำอย่างเดียว การจัดการเตียงและทรัพยากรที่ไร้ประสิทธิภาพของระดับนโยบายจะไม่ถูกแก้ปัญหา เพราะแม้จะหาทางเพิ่มเตียงได้ แต่จะเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ดังนั้นสิ่งที่ต้องเพิ่ม คือการดึงความร่วมมือตามแนวทางของ Home Isolation และ Community Isolation หรือ การใช้บ้าน ชุมชน เป็นที่กักตัวและดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ ภายใต้หลักคิดการทำให้ “ชุมชนจับคู่กับโรงพยาบาล” ร่วมกันดูแลผู้ติดเชื้อ จะทำให้มีเตียงหรือสถานที่ดูแลผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก ซึ่งพบว่า ตลอดช่วงที่ผ่านมาอาสาสมัครสาธารณสุข ที่ได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดี มีศักยภาพเพียงพอจะช่วยดูแลคนติดเชื้อในชุมชนได้ พร้อมเชื่อมต่อข้อมูลกับโรงพยาบาลโดยตรง
ล่าสุดมีความคืบหน้าเมื่อได้รับการยืนยัน ว่า ขณะนี้การจับคู่ชุมชนกับโรงพยาบาลเกิดขึ้นแล้ว เบื้องต้นทางเครือข่ายฯ สามารถประสานให้ 23 ชุมชนในหลาย ๆ เขตของ กทม. เช่น เขตคลองสามวา, ห้วยขวาง, ยานนาวา, สายไหม, สะพานสูง, บางนา ได้มาจับคู่กับ โรงพยาบาลปิยะเวท และโรงพยาบาลเอกชนในเครือ เดินหน้าสร้างทางเลือกการรักษาดูแลผู้ติดเชื้อที่บ้าน
“สิ่งสำคัญเมื่อพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน โรงพยาบาลจะร่วมประเมิน คัดกรองก่อน ถ้าผู้ติดเชื้ออยู่ในเกณฑ์อายุยังน้อย ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ และที่จริงจังมากๆ คือผู้ติดเชื้อต้องได้รับการ X-Ray ปอด เพื่อยืนยันว่าปอดไม่มีร่องรอยหรือฝ้า นั่นหมายถึงผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว จะพิจารณาให้รักษาตัวที่บ้าน โดยมีทีมชุมชนคอยดูแล แล้วรายงานกลับมายังโรงพยาบาลทุกวันเพื่อติดตามอาการ หากเจอผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการจากเขียวไปเป็นเหลือง โรงพยาบาลจะพิจารณาจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้ได้เลย อาการก็จะไม่หนัก อีกทั้งชุมชนยังได้ช่วยประเมินความพร้อม เพราะหากบ้านหนึ่งหลังอยู่กัน 5 คน ทุกคนติดเชื้อหมด หากผ่านการคัดกรองแล้วว่าอาการไม่หนัก ก็ให้รักษาตัวรวมกันอยู่ที่บ้านเลย ถ้าบางบ้านมีคนหนึ่งติดเชื้อ แต่สมาชิกที่เหลือไม่ติด ชุมชนก็ต้องช่วยประเมินว่า จะเอาคนที่ไม่ติดเชื้อไปอยู่ที่ไหน ฝากไว้บ้านใคร หรือมีพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ชุมชนจะได้ร่วมออกแบบ เพื่อเป็นทางเลือกไม่ให้ต้องเพิ่มภาระเตียงในโรงพยาบาล”
นิมิตร์ ยังเปิดเผยด้วยว่า แนวทางนี้ต้องทำให้เกิดความมั่นใจ ไม่ใช่การเอาความเสี่ยงมาให้ชุมชน แต่ต้องทำให้ผู้ติดเชื้อในชุมชน มีทางเลือกการรักษาที่ไม่ด้อยคุณภาพ นั่นทำให้ในเวลานี้มีอย่างน้อย ๆ 500 กว่าชุมชน ที่พร้อมจะขยับต่อเรื่องนี้ หากสามารถขยายโมเดลนี้ได้ทั่วพื้นที่ กทม. น่าจะส่วนช่วยลดการเข้าถึงเตียงในโรงพยาบาล ลดผู้ป่วยหนักได้
“ถ้าถามว่าทำแบบนี้แล้วจะติดขัด หรือมีข้อจำกัดหรือไม่ ก็ได้รับการยืนยันจากอธิบดีกรมการแพทย์แล้วว่าทำได้เลย ไม่ติดขัดระเบียบอะไร เรื่องนี้ สปสช. ก็เข้ามาคุยด้วย โดยไม่ได้สนใจว่าเป็นรัฐ เป็นเอกชน ประสานงานกันใครทำได้ก็ทำเลย จากนี้ก็จะไปประสานต่อกับโรงพยาบาลของกรมการแพทย์ และสังกัด กทม.ด้วย ชุมชนไหนพร้อมก็ทำได้ทันที นอกจากเน้นจับคู่โรงพยาบาลกับชุมชนแออัดแล้ว ยังมีศูนย์พักคนไร้บ้าน 2 แห่งทั้งที่บางกอกน้อย และ จ.ปทุมธานี รวมถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่กำลังรอประสาน ถ้าทำให้ชุมชน กลุ่มเปราะบางเข้าถึงการคัดกรอง ได้รับการรักษาเร็ว ก็ยิ่งป้องกันการแพร่ระบาด เท่ากับว่าช่วยหยุดความรุนแรงของโรค ลดอัตราการตายลงได้”