นักวิชาการ แนะ ควรให้ NGO มีบทบาทร่วมพัฒนาประเทศ

มอง “รัฐ” ไม่ใช่พระเอก “NGO” ไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป แต่ทำงานเข้าถึงกลุ่มเปราะบางได้ดีกว่ารัฐ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ตามหลัก SDG

บทบาท “ภาคประชาสังคม” ที่รวมถึง “องค์กรพัฒนาเอกชน” หรือ NGO เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นหนึ่งในการเสริมสร้างหุ้นส่วนการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพในภาครัฐ ระหว่างรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม

แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลับพบว่า รัฐบาลอำนาจนิยมหลายประเทศ เช่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ฯลฯ กลับลดทอนบทบาทของภาคประชาสังคม สวนทางกับเป้าหมายที่ 17 “การมีส่วนร่วมของประชาชนในเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ภาพ: Chol Bunnag

The Active เรียบเรียงบทสนทนากับ ผศ.ชล บุนนาค นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และ ผอ.โครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move Thailand) ม.ธรรมศาสตร์ ถึงเหตุผลที่ องค์กรพัฒนาเอกชน มีความสำคัญกับ การพัฒนาที่ยั่งยืน

NGO เข้าถึงกลุ่มเปราะบางได้ดีกว่า “รัฐ”

ผศ.ชล บุนนาค กล่าวว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน มีหลักการสำคัญ คือ Inclusive development หรือการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เนื่องจากที่ผ่านมา คนที่มักถูกทิ้งไว้ข้างหลังคือ กลุ่มคนยากจน คนเปราะบาง รวมถึงกลุ่มคนที่มักจะใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สีเทา ที่บางครั้งไม่สามารถปฏิสัมพันธ์กับภาครัฐได้โดยตรง แต่ภาคประชาสังคมมีความยืดหยุ่นในการทำงานกับคนเหล่านี้ได้ดี และเข้าถึง

“ภาคประชาสังคม ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เช่น กลุ่มที่ทำงานกับคนชนบท หรือกลุ่มที่อยู่ในเขตห่างไกล กลุ่มชาติพันธุ์ นี้คือกลุ่มเปราะบางเหมือนกัน ที่ SDG ต้องการที่จะไม่ทิ้งไว้ข้างหลัง หรือในเขตเมือง เช่น แรงงานในอุตสาหกรรม เกี่ยวกับทำเรื่องเพศ หรือว่าคนไร้บ้าน จะเห็นได้ว่าประเด็นเหล่านี้ภาครัฐเข้าไม่ถึง แต่เป็นเป้าหมายหลัก ๆ ของ SDG”

นอกจากนี้ ยังมีลักษณะการทำงานแบบมีส่วนร่วม และการเสริมสร้างพลังอำนาจ (Empower) ผู้คนให้เข้ามาร่วมกัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ เพราะ SDG เน้นการพัฒนาที่อาศัยหุ้นส่วนการพัฒนาในการขับเคลื่อน ซึ่งหุ้นส่วนที่ว่านี้ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะรัฐหรือเอกชนเท่านั้น แต่รวมถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาด้วย ซึ่งจะแตกต่างจากสมัยก่อน ที่เน้นแค่รัฐและเอกชน

“ต้องดึงคนที่รับประโยชน์เข้ามาอยู่ในกระบวนการพัฒนาด้วย เพราะว่าเขาจะสามารถสนับสนุนเสียงให้เห็นประโยชน์ว่า เขาได้ไปอย่างไร ข้อจำกัด ศักยภาพเขามีอะไรบ้าง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ ภาคประชาสังคมสำคัญมาก ในการเป็นคนกลางที่จะดึงคนเหล่านี้เข้ามาในกระบวนการ”

NGO รับเงินต่างชาติ?

ผศ.ชล บุนนาค กล่าวว่า ในระดับโลก มีสิ่งที่เรียกว่า Official Development Assistance (ODA) คือ ความช่วยเหลือทางด้านการพัฒนาอย่างเป็นทางการ เป็นเรื่องที่ประเทศในกลุ่ม OECD เช่น สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก นอร์เวย์ ลักเซมเบิร์ก สวีเดน รวมถึงสหรัฐอเมริกา ต้องการให้ความช่วยเหลือทางการเงินระหว่างประเทศอยู่แล้ว

ขณะที่หากย้อนไปหลังช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 ประเทศไทยรับการช่วยเหลือมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และรับเงินน้อยลงจนแทบจะเป็นผู้บริจาคสุทธิในช่วงรัฐบาลประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2546 กล่าวคือรัฐบาลไทยก็มีบทบาทในฐานะเป็นผู้ให้การสนับสนุนประเทศอื่นมาตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมาจนถึงช่วงปลายปี 2556 แต่พอมาสมัย คสช. ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2560 ประเทศไทยก็ย้อนกลับมาเป็นผู้รับความช่วยเหลือทางการพัฒนาอย่างเป็นทางการระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง

“ดังนั้น การที่จะพูดว่าภาคประชาสังคมรับเงินต่างชาติมาแล้วทำร้ายประเทศ เราต้องแยกให้ชัด ก็คือคนที่ใหญ่ที่สุดก็คือรัฐบาล โดยเฉพาะสมัย คสช. ที่ย้อนกลับมาเป็นผู้รับสุทธิ อันที่สองก็คือที่รับเงินต่างชาติมาแล้วมาทำอะไร มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งด้วย”

ผศ.ชล บุนนาค กล่าวอีกว่า ต้องเข้าใจด้วยว่าเหตุผลที่ภาคประชาสังคมทำงานกับกลุ่มด้อยโอกาสหรือกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ นอกจากมาจากความแรงแค้นของเขาเองแล้ว อีกส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของรัฐเอง เนื่องจากการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ย่อมมีได้มีเสีย แต่บางทีรัฐบาลอาจเน้นประโยชน์ของชาติ โดยไม่ดูแลผู้ได้รับผลกระทบ ภาคประชาสังคมจึงเข้ามามีบทบาทส่งเสียงแทนคนที่ไม่มีเสียง แต่กลายเป็นรัฐบาลมองว่าภาคประชาสังคมทำร้ายประเทศ โจมตีรัฐบาล จึงต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งว่าภาคประชาสังคมที่รับเงินต่างชาติ นั้นทำร้ายประเทศจริงหรือไม่ หรือเพียงแค่เรียกร้องให้คนเล็กคนน้อยที่ไม่มีเสียง ในขณะที่รัฐบาลมองไม่เห็น

ขับเคลื่อนประเด็นชังชาติ?

การทำงานขององค์กรต่างชาติ จะยึดหลักการบางอย่างร่วมกัน คือ การเคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และประเทศไทยเองก็ร่วมลงนามในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเด็นละเอียดอ่อนไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ iLaw (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) รณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญ หรือยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น สาระสำคัญไม่ได้ทำลายคุณค่าหลักของประเทศไทย แต่เป็นการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

“จริง ๆ ไม่ใช่แค่ iLaw แต่องค์กรหลัก ๆ ของสหประชาชาติก็ยังแสดงความกังวลเรื่องนี้ ที่เราพูดถึงประเด็น 112 มันไม่ใช่ว่าเขาจะมายึดครอง เรามีอะไรเลิศเลอที่เขาต้องมาแทรกแซง แต่เพราะเขาเป็นห่วงชีวิตของคนที่อาจจะมีความเห็นที่ตรงข้ามกับรัฐบาล แล้วอาจจะไม่ได้รับโอกาส หรือไม่ได้รับการคุ้มครองในการแสดงความคิดเห็นเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ”

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่องค์กรที่เห็นคุณค่าเหล่านี้ จะต้องทำงานในลักษณะแนวนี้ และองค์กรต่างประเทศก็จะให้ทุนสนับสนุน เพราะเขาก็ให้คุณค่าในแบบเดียวกัน ซึ่งความจริงประเทศไทยเอง ก็ควรให้คุณค่าแบบนั้น ตามที่เราให้คำสัญญาตามหลักการสากล

“ผมคิดว่าภาครัฐน่าจะต้องมองว่าตัวเองอาจจะไม่ใช่พระเอกทุกเรื่องในการขับเคลื่อน แต่ควรจะมองว่าตัวเองเป็นผู้อำนวยการ เพื่อดึงคนทุกคนในสังคมมาร่วมขับเคลื่อนกับรัฐบาล เพราะรัฐก็ทำไม่ได้ทุกอย่าง และอยากให้ภาครัฐลองมองถึงกลไกที่จะสนับสนุนภาคประชาสังคม เพราะว่าเมื่อภาครัฐจะมีกลไกเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น เราก็จะสามารถมีผู้คนมากขึ้นมาช่วยรัฐบาลเพิ่มมากขึ้นด้วย”


หมายเหตุ

เรียบเรียงบทสนทนาจากรายการ เช้าทันโลก fm 96.5 สัมภาษณ์ ผศ.ชล บุนนาค คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการโครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move Thailand) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active