เปิดลำดับเหตุการณ์เผชิญหน้า #SAVEบางกลอย

เจ้าหน้าที่ – ชาวบ้านกะเหรี่ยง เผชิญหน้าตึงเครียด หลังอุทยานฯ ปฏิบัติยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร ผลักดันชาวบ้านที่กลับขึ้นไป “ใจแผ่นดิน” ให้กลับลงมา

สถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวกะเหรี่ยงที่บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ภายใต้ปฏิบัติ ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร ที่เริ่มตั้งแต่เช้าวันนี้ (22 ก.พ. 2564) และยกระดับความตึงเครียดในช่วงบ่าย กลายเป็นข่าวใหญ่ที่มีการรายงานทั้งในสำนักข่าวต่าง ๆ และในโลกออนไลน์ จนทำให้แฮชแท็ก #SAVEบางกลอย ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่งของประเทศไทยนานหลายชั่วโมงตลอดช่วงบ่ายถึงเย็น

เกิดอะไรขึ้นที่บางกลอย The Active รวบรวมข้อมูลจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือที่เข้าไปติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ และข้อมูลความเคลื่อนไหวจากหลายกลุ่ม โดยเป็นข้อมูลลำดับเหตุการณ์ที่เริ่มส่งสัญญาณมาตั้งแต่ช่วงค่ำวานนี้ (21 ก.พ.) และที่เกิดขึ้นตลอดทั้งวันนี้ (22 ก.พ.)

21 ก.พ.

เวลา 19.00 น.   มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจพญาเสือ กรมอุทยานฯ และกองกำลังทหารทัพพระยาเสือ เดินทางมาประจำการที่ชุด ฉก. บ้านบางกลอย จำนวนหลายนาย

22 ก.พ.

เวลา 08.30 น.  มีเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 2 ลำ บินมาจอดที่หน่วย กจ.10 คาดว่าจะเป็นผู้บริหารระดับสูงมาประชุมเพื่อวางแผนปฏิบัติการ

เวลา 09.00 น.   พบเห็นเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำบินออกจากบ้านโป่งลึก คาดว่าเป็นการบินออกจากหน่วย กจ.10 ขึ้นไปที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน จุดที่ชาวบ้าน 36 ครอบครัวปักหลักอยู่

เวลา 09.45 น.   ชาวบ้านบางกลอยล่างประกาศเสียงตามสายนัดหมายรวมตัวที่หน่วยอุทยานฯ กจ.10 ที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย

เวลา 10.20 น.   เฮลิคอปเตอร์สองลำขนกำลังเจ้าหน้าที่ขึ้นไปที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดินเป็นเที่ยวที่ 4

เวลา 10.30 น.   ชาวบ้านบางกลอยล่างประมาณ 50 คน รวมตัวกันเดินเท้าไปยังลานจอดเฮลิคอปเตอร์ หน่วย กจ.10 เพื่อขอเจ้าหน้าที่อย่าใช้ความรุนแรงกับชาวบ้านบางกลอยบน – ใจแผ่นดิน

เวลา 10.45 น.   เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำสนธิกำลังบินกลับขึ้นไปอีกครั้ง เป็นเที่ยวที่ 5

เวลา 11.00 น.   เฮลิคอปเตอร์ขึ้นไปเป็นรอบที่ 6 ในขณะที่ชาวบ้านพยายามเจรจากับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ขอคำมั่นว่าจะไม่มีการทำร้าย จับกุม และดำเนินคดีในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหา โดยเจ้าหน้าที่กล่าวว่า กระบวนการนี้ไม่ใช่การจับกุม ดำเนินคดี หรือทำร้ายกัน แต่เป็นการทำข้อมูลรายแปลง ขณะเดียวกัน เฮลิคอปเตอร์บินขึ้นไปเป็นรอบที่ 6

เวลา 11.32 น.   เฮลิคอปเตอร์ลงจอดและรับเจ้าหน้าที่บินขึ้นบางกลอย-ใจแผ่นดินอีกครั้ง เป็นรอบที่ 7

เวลา 15.20 น.   ชุดปฏิบัตินำชาวกะเหรี่ยง 4 คนแรกลงมาทางเฮลิคอปเตอร์พร้อมข้าวของบางส่วน ขณะที่ชาวบ้านบางกลอยล่างนัดรวมพลอีกครั้งบริเวณลานจอดเฮลิคอปเตอร์ โดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้สอบถามข้อมูลชาวบ้านว่าถูกอพยพลงมาปีไหน มีที่ดินทำกินหรือไม่ แล้วจึงจะปล่อยกลับบ้านบางกลอยล่าง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

เวลา 15.31 น.   เกิดความตึงเครียดขึ้น หลังชาวบ้านบางกลอยล่างพากันเดินเข้าประชิดศาลาประชุมบริเวณลานจอดเอลิคอปเตอร์ ขณะที่เจ้าหน้าที่วางกำลังล้อมศาลาไว้

เวลา 16.20 น.   เฮลิคอปเตอร์ได้พาชาวบ้านลงมาเป็นชุดที่ 3 โดยแต่ละชุดจะมีชาวบ้านประมาณ 3-4 คนลงมาด้วย

เวลา 18.00 น.   เจ้าหน้าที่ประกาศหยุดปฏิบัติการ และจะเริ่มปฏิบัติการใหม่ในวันพรุ่งนี้ (23 ก.พ.) โดยสรุปวันนี้มีชาวบ้านที่ถูกพาลงมาทั้งหมด 13 คน มีทั้งผู้หญิงและเด็กเล็ก ขณะที่จำนวนชาวบ้านที่กลับขึ้นไปมีมากกว่า 50 คน โดยกลุ่มล่าสุดเพิ่งเดินกลับขึ้นไปเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (22 ก.พ.) โดยชาวบ้านที่ถูกพาลงมาวันนี้ถูกดำเนินคดีข้อหาเข้าพื้นที่อุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต และต้องเปรียบเทียบปรับคนละ 100 บาท

หลายกลุ่มเคลื่อนไหว ร่วมเรียกร้อง #SAVEบางกลอย

สถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวกะเหรี่ยงบางกลอยตลอดทั้งวัน ทำให้หลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวจนทำให้ #Saveบางกลอย ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่ง เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำไว้ร่วมกับชาวบ้าน

ขณะที่ช่วงเย็น (22 ก.พ.) ภาคี #Saveบางกลอย นัดรวมตัวกันบริเวณแยกปทุมวัน แสดงป้ายผ้า พร้อมข้อความ Saveบางกลอย และเนื้อหาที่พยายามสื่อสารถึงปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ที่กระทำต่อชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ระบุว่า อาจไม่สอดคล้องกับข้อตกลงที่ตัวแทนหน่วยงานรัฐให้ไว้กับชาวบ้านว่าจะยุติการคุกคาม ดำเนินคดีกับชาวบ้านที่กลับเข้าป่าไปที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน

ตัวแทนภาคี #Saveบางกลอย ยืนยันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่สอดคล้องกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชน และความพยายามของภาครัฐที่จะผลักดันการขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก รวมทั้งอาจต้องถูกตั้งคำถามว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ในวันนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางมรดกโลกหรือไม่ จึงเรียกร้องให้สังคมช่วยกันจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ส่วนกิจกรรม เดินทะลุฟ้า จากนครราชสีมา ถึงกรุงเทพฯ นอกจากเรียกร้องประเด็นหลักอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และขอให้ยกเลิกมาตรา 112 ยังมีการแสดงออกเพื่อร่วมส่งความห่วงใยไปยังชาวกะเหรี่ยงบางกลอยด้วย

ล่าสุด กลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมและภาคี #SAVEบางกลอย ได้ออกแถลงการณ์ประณามและเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีสั่งการปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเห็นว่า ปฏิบัติการที่เกิดในวันนี้ อยู่ภายใต้การบัญชาการของ ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจาก วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่รับฟังปัญหาของชาวบางกลอย และเชื่อข้อมูลจากภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว

Alternative Text
AUTHOR

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

นักข่าวไม่จำกัดสาย จัดให้ได้ทุกประเด็น