ไม่มีแพ้ – ชนะ ขอแค่ #ให้มันจบที่รุ่นเรา | ย่างก้าวขบวนการเยาวชน

“ผมขอใช้พื้นที่นี้ ขอบคุณและขอโทษจากใจจริงอีกครั้ง ต่อประชาชน 135,247 คน ที่ร่วมเดินทางกับเราในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ #รื้อระบอบประยุทธ์ และหลายคนที่ติดตามการอภิปรายและคาดหวังอยากให้ร่างฉบับนี้ผ่าน ตลอด 16 ชั่วโมงของกระบวนการชี้แจงในรัฐสภา เราพยายามอย่างเต็มที่เพื่อโน้มน้าวให้สมาชิกรัฐสภาเห็นชอบในการนำร่างนี้ไปสู่ประชามติกับคนไทย 60 กว่าล้านคนทั่วประเทศ

แต่ต้องยอมรับว่าภารกิจนี้ยังไม่สำเร็จ”

คือ ปฏิกริยาของ ‘ไอติม – พริษฐ์ วัชรสินธุ’ หนึ่งในผู้ร่วมผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว หลังรัฐสภาคว่ำร่างฯ ด้วยมติ 473 ต่อ 206 คะแนน นี่เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า แม้ความพยายามของพวกเขา ที่หมายถึงคนรุ่นใหม่และประชาชนหลักแสนคนจะยังไปไม่ถึงฝัน แต่ก็พอทำให้มองเห็นทิศทางจากปฏิกริยานี้ว่า พวกเขายังไม่หยุด

ผศ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของงานวิจัย “The Rise of the Octobrists: Power and Conflict among Former Left Wing Student Activists in Contemporary Thai Politics” (การเติบโตของคนเดือนตุลา: พลังและความขัดแย้งของนักศึกษานักกิจกรรมฝ่ายซ้ายในการเมืองไทยร่วมสมัย) และ “การชุมนุมที่แยกดินแดง ชีวิตพลิกผันเพราะรัฐล้มเหลว การเผชิญหน้า คือ ทางออกสุดท้าย” รวมถึงงานวิชาการที่เกี่ยวข้องอีกหลายชิ้น มองว่าความเคลื่อนไหวของเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ที่ไม่หยุดนิ่ง เป็นเรื่องปกติ พวกเขาต้องการขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการเสนอความคิดหรือไอเดีย แม้บางครั้งจะสุดโต่ง หรือทำได้ยาก แต่เป็นข้อเสนอที่เชื่อว่า จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น

“หากดูสัดส่วนของคนรุ่นใหม่ Gen Z (อายุน้อยกว่า 28 ปี) เทียบกับ Generation อื่น ๆ จะพบว่า คนกลุ่มนี้เป็น เสียงส่วนน้อย (Minority) ของสังคม แต่เป็นกลุ่มคนที่ต้องแบกรับภาระหนักในอนาคต เฉพาะประเทศไทย มีคนวัยนี้อยู่ที่กว่า 10 ล้านคน หรือ ประมาณ 20% ของประชากรทั่วประเทศ นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้เห็นคนรุ่นใหม่ พยายามจะเข้าไปกำหนดนโยบาย และเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อกำหนดอนาคตของประเทศและตัวเอง”

ผศ.กนกรัตน์ ย้ำว่านี่คือ “พลวัตการต่อสู้ระลอกที่ 2-3” ทำให้เราเห็นการยกระดับไปถึงการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นแกนหลัก (Core) ของปัญหา ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็เห็นการรวบรวมรายชื่อของ iLaw (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) และกลุ่ม Resolution เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางการเมือง สะท้อนถึงพลังของคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยหยุด เพราะแม้จะถูกปัดตกกี่ครั้ง ก็ไม่ใช่จุดจบ หรือจุดสุดท้ายของการต่อสู้ โดยย้ำว่า “เราจะเห็นการต่อสู้ลักษณะนี้ อีกหลายระลอกแน่นอน…”

“ทุกการเคลื่อนไหวของเด็กและเยาวชนทั่วโลก ไม่มีคำว่า แพ้-ชนะ และไม่เคยตีบตัน แต่จะสำเร็จได้ต้องมาจากการต่อสู้ผ่าน 2 ระนาบเสมอ คือ การเคลื่อนไหวของ ภาคประชาชนบนท้องถนน และ การเมืองในรัฐสภา”

ผศ.กนกรัตน์ เปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของไทยกับหลายประเทศทั่วโลก โดยยกตัวอย่าง ความล้มเหลวของ พรรคกรีน ในเยอรมนี ซึ่งไม่ได้ประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มต้น การต่อสู้เริ่มจากคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ออกมาผลักดันบนท้องถนน ต่อต้านนิวเคลียร์ ต่อต้านสงคราม และต้องการจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม จนค่อย ๆ ประสบความสำเร็จในระดับท้องถิ่น และแพ้ในระดับประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลานาน 20-30 ปี พร้อมย้ำว่า การเมืองภาคประชาชนต้องใช้เวลามาก เพื่อทำให้ผู้คนเข้าใจถึงปัญหาและมีทางเลือก

เธอยกตัวอย่างประเทศอื่น ๆ อย่าง เมียนมา ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ทำให้คนรุ่นใหม่ในเมียนมามีโอกาสกำหนดชะตากรรมของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องของรัฐบาล ไม่ต่างจากเยาวชนใน ฮ่องกง ที่ออกมาประท้วง ด้วยกังวลถึงอนาคตของพวกเขาภายใต้เงารัฐบาลจีน

ส่วน ยุโรป มีขบวนการคนรุ่นใหม่ในการปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่าง เกรตา ทุนเบิร์ก ที่เป็นภาพแทนของการเคลื่อนไหวของเยาวชนในเรื่องสิ่งแวดล้อมทั่วโลก หรือ คนหนุ่มสาวในอังกฤษ ที่ต้องการให้อังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของ EU เพื่อปกป้องสิทธิและโอกาสการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างชาวยุโรป

ผศ.กนกรัตน์ ประเมินว่า “ไทยก้าวกระโดดกว่าอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะการผลักดันให้ประชาชนลุกขึ้นมามีส่วนร่วมทางการเมือง” เช่น ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองที่มีตัวแทนของคนรุ่นใหม่ อย่าง พรรคอนาคตใหม่ แม้จะถูกล้มไปแต่ก็ยังเห็นการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และยังขยายตัวมากในทุกพื้นที่ของประเทศ เห็นการลุกขึ้นมาตระหนักรู้ และอยากมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น เธอมองว่า การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ไม่ใช่เพื่อแพ้-ชนะ เพียงเพื่อต้องการให้พรรคของตนได้ไปอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร หรือเพื่อให้กลุ่มของตนเข้าไปผลักดันนโยบาย แต่การผลักดันของคนรุ่นใหม่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หมายถึง การปฏิรูปในหลากหลายมิติ

“ถ้าเริ่มต้นมองด้วยประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ เราจะมองไม่เห็นปัญหาอื่นเลย มองไม่เห็นหน้าตา ตัวตนของคนรุ่นใหม่ ในมิติที่เขาเป็นจริง ๆ มองเป็นปีศาจร้ายที่กำลังคุกคามสถาบันทางการเมือง สถาบันทางสังคมทันที แต่ถ้าไกลกว่า สถาบันฯ หากฟังสปีชตลอดปีที่ผ่านมา เป็นนี้เป็นเรื่องที่ดังที่สุด แต่เป็นเรื่องที่มีพื้นที่น้อยที่สุดในทุกเวที ถ้าเรามองปัญหาอื่นที่ไม่ใช่แค่สถาบันฯ เราจะแก้ปัญหาเยาวชนได้มากกว่านี้จริง ๆ”

ผศ.กนกรัตน์ อธิบายว่า เป็นเรื่องที่ต้องพยายามทำความเข้าใจว่าการชูประเด็นดังกล่าวขึ้นมา เพราะที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันการแก้ปัญหาของทุกสถาบันแล้ว ตั้งแต่การเมืองระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ รัฐธรรมนูญ ระบบราชการ กระทรวงศึกษาธิการ แต่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวและไม่ตอบสนอง จึงนำมาสู่สิ่งที่พวกเขาคิดว่าอยู่เหนือโครงสร้างเหล่านี้ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือ กองทัพ

“เราต้องไปสู่ต้นเหตุ ที่มาของปัญหาและที่มาของการเรียกร้อง ว่าจริง ๆ แล้ว จุดเริ่มต้นของเขา ปัญหาจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ลูกหลานชนชั้นล่างต้องเจอ ปัญหาจากการศึกษาที่คนชั้นกลางได้รับ ปัญหาทุนผูกขาดที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สามารถไปไกลกว่าเดิม เมื่อทั้งหมดไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และกลุ่มชนชั้นนำมีภาพลักษณ์เป็นปึกแผ่น ทุกกลุ่มมีความสัมพันธ์ คนรุ่นใหม่เข้าใจว่าทั้งหมดคือเรื่องเดียวกัน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลัก แต่อยู่ที่บริบทแวดล้อม”

นโยบายที่เยาวชนอยากเห็น

“เด็กและเยาวชนเป็นเสียงส่วนน้อยของสังคม หัวใจสำคัญของการเคลื่อนไหว คือ การเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะผู้ใช้นโยบายในอนาคต เราจึงเห็นการเคลื่อนไหวของเยาวชน ผลักดันในประเด็นใกล้เคียงกัน เช่น ความหลากหลาย สิทธิเสรีภาพ สิ่งแวดล้อม ในขณะที่ไทยอาจจะแตกต่างจากหลายประเทศในบางประเด็น อย่างเรื่องการแก้ปัญหารัฐรวมศูนย์ และทุนผูกขาด”

ผศ.กนกรัตน์ มองว่า ทุกการเคลื่อนไหวของเยาวชนทั่วโลกมีจุดร่วมเดียวกัน คือ การผลักดันนโยบายที่กระทบต่ออนาคต เช่น ประเด็นสิทธิเสรีภาพ สิ่งแวดล้อม ความแตกต่างหลากหลาย และที่ดูจะแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ คือการผลักดันให้แก้ปัญหาเรื่องรัฐรวมศูนย์ ผ่านการปฏิรูปในหลากหลายมิติ ฯลฯ

  1. ผลักดันโอกาสและสิทธิที่จะเข้าร่วมกำหนดนโยบาย ในแง่ของตัวแทนทางการเมืองรัฐสภา เพราะสัดส่วนของ Gen Z มีน้อยมาก
  2. ประเด็นความหลากหลาย ผศ.กนกรัตน์ วิเคราะห์ว่า คนรุ่นใหม่ มีความเป็นเสรีนิยม ไม่ได้มีแค่ความจริงแท้อย่างเดียว แต่มีหลายมิติ ซึ่งประเด็นนี้ ก็กลายเป็นช่องว่างระหว่างคนรุ่นใหม่ กับ เบบี้บูมเมอร์
  3. ประเด็นสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงาน การบริโภค ความยั่งยืน ฯลฯ ซึ่งคนรุ่นเก่าไม่ได้ผลักดันมันอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นประเด็นที่คนรุ่นใหม่กังวลและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะจะส่งผลต่อผู้คนในอนาคตไม่ว่าจะรวย หรือ จน
  4. รัฐรวมศูนย์ กระจายอำนาจ ไม่ใช่ประเด็นร่วมทั่วโลก เพราะหลายประเทศสำเร็จ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา รัฐบาลท้องถิ่นเข้มแข็ง บางทีเข้มแข็งจนรัฐบาลส่วนกลางไม่สามารถผลักดันนโยบายบายได้ เป็นพื้นฐานคนรุ่นใหม่ในเมืองไทยอยากเห็น การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น คนรุ่นใหม่มองว่า การผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจ จึงเป็นกลไกหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมในโลกอนาคต

ฝากถึงผู้มีอำนาจ

  • ผู้ใหญ่ที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายยังไม่ค่อยเข้าใจและไม่เห็นถึงความสำคัญที่แท้จริง ว่าปัญหาเยาวชนที่ต้องแก้ไขนั้นเร่งด่วนแค่ไหน
  • การใช้เครื่องมือแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ เพื่อลดความขัดแย้ง โดยมองว่าในอดีตอาจจะคุ้นชินกับการตำหนิ ต่อว่า การลงโทษ ซึ่งการใช้เครื่องมือแบบเดิมพิสูจน์มา 2 ปีแล้วว่าไม่ได้ผล เช่น การยุบพรรค การใช้กฎหมาย ฯลฯ อาจจะถึงเวลาที่ต้องยอมเสียประโยชน์ หรือความไม่สะดวก และให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่
  • การใช้มาตรการที่เคยใช้กับผู้ใหญ่มาใช้กับเด็กและเยาวชน เช่น การเปิดโอกาสให้ใช้เครื่องมือทางกฎหมายปิดกั้น ให้หยุดการเคลื่อนไหว ซึ่งมาตรการเหล่านี้ไม่ช่วยแก้ปัญหา ยังจะผลักดันสังคมไทยที่แบ่งสุดขั้วอยู่แล้วผลักดันเกิดการแบ่งขั้วลึกลงไป สู่คนรุ่นใหม่ด้วย  ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย

“หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ถึงคำวินิจฉัยศาล ว่าอาจเป็นเครื่องมือกฎหมายใหม่ในปีกอนุรักษ์นิยม ดิฉันไม่ได้ก้าวล่วงคำตัดสินของศาล แต่ดิฉันคิดว่า มันมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้”

  • ถ้าไม่พร้อมให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม ในฐานะผู้ใหญ่ต้องผลักดันนโยบายให้เด็ก สิ่งสำคัญที่สุดคือการเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม หรือหากไม่พร้อมจำเป็นต้องคิดและตอบสนองในเชิงนโยบาย เพราะที่ผ่านมามีการรับรู้ปัญหาทั้งหมดอยู่แล้ว จึงกลายเป็นข้อเสนอหรือทางออกจำนวนมาก เช่น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ, การแก้ไขรัฐธรรมนูญ, การผลักดันการปฏิรูปกองทัพ ฯลฯ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่มีน้ำหนัก และสอดคล้องกับงานวิจัย

สำหรับฉากอนาคต หรือ Scenarios ที่ ผศ.กนกรัตน์ ไม่อยากเห็น คือ การพาคนรุ่นใหม่ไปทะเลาะกับสิ่งที่ไม่ควรทะเลาะ พาไปสู่สิ่งที่หลายประเทศเป็น คือการเผชิญหน้า และไปไกลกว่าการเมืองในรัฐสภา

ส่วนฉากถัดมา คือ เริ่มแก้ปัญหาชดเชยเยียวยาให้ต่างฝ่ายมีที่ยืนในสังคม หรือทางเลือกที่ทุกคนอย่างจะเห็น คือ คนรุ่นเก่าพยายามช่วยผลักดันเชิงโครงสร้างระบบราชการ กองทัพ ให้สามารถตรวจสอบได้ ไม่ใช่แค่จะทำให้คนรุ่นใหม่เชื่อมั่นรัฐ แต่จะทำให้โลกที่ยากขึ้นในอนาคต จัดการง่ายขึ้น เพราะนั่นหมายถึงการไปสู่รัฐไทยที่ปรับตัว

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์