ทำไมหนูไม่อยากใส่ชุดนักเรียน?

#1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ เป็นวันเดียวกับวันแรกของการเปิดภาคการศึกษา 2/2563 หรือเทอม 2 ประจำปีการศึกษา 2563

เปิดเทอมนี้ จะเป็นอีกวันที่นักเรียนไทยมีเรื่องให้จดจำ เพราะพวกเขาลุกขึ้นมา “ปฏิบัติการด้วยตัวเอง” ในเรื่องที่เคยเป็นแต่หัวข้อสนทนาบนโลกออนไลน์ของนักเรียนส่วนใหญ่

ทั้ง #1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ และ #จะแต่งอะไรมันก็เรื่องของกู ถูกรีทวีตอย่างคึกคัก หลัง “กลุ่มนักเรียนเลว” และ “ภาคีนักเรียน KKC” และอีกหลายเครือข่ายองค์กรนักเรียน ประกาศชวนกันไม่ใส่เครื่องแบบไปโรงเรียนในวันเปิดเทอม

แน่นอนว่าคำประกาศของเด็ก ๆ ย่อมไม่ได้รับความเห็นชอบจาก “ผู้ใหญ่” หลายคน แต่ในช่วงเวลาที่ “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” เริ่มพัดโหมแรงขึ้น การทำความเข้าใจความแรงแห่งลมเพื่อไม่ให้พลั้งเผลอไปหักโค่น “ต้นไม้เล็ก ๆ” จึงอาจจะเป็นทางเดียวที่จะช่วยให้ในอนาคตเราจะมีต้นไม้ใหญ่ที่งอกงาม

เพื่อจะเข้าใจความคิดเบื้องหลังปฏิบัติการครั้งสำคัญของเด็ก ๆ The Active พูดคุยกับนักเรียนหญิงชั้นมัธยมปลายของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน กทม. ว่าอะไรทำให้เธอและเพื่อนนักเรียนจำนวนมากกล้าที่จะลุกขึ้นมาบอกลาชุดนักเรียน และนี่คือคำตอบทั้งหมดของเธอ

เหตุผลสำคัญของกิจกรรมนี้คืออะไร

อยากรู้ว่าจะเป็นอย่างไร ถ้านักเรียนใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน อยากรู้ว่านักเรียนจะเรียนได้ตามปกติ หรือมันจะเกิดแบบที่ผู้ใหญ่เขามองว่า นักเรียนจะมัวแต่สนใจเสื้อผ้าหน้าผม แต่ไม่ตั้งใจเรียน

มันเป็นการเปลี่ยนแปลงใหม่ ไม่เคยเห็นปรากฏการณ์ที่นักเรียนส่วนใหญ่จะพร้อมใจกันทำเรื่องนี้ คิดว่าเป็นจุดเริ่มการต่อต้านการกดขี่ เป็นการออกจากกรอบเดิมที่คนสมัยก่อนวางเอาไว้หรือผู้มีอำนาจวางเอาไว้ เพราะการออกกฎบังคับให้ต้องใส่ชุดนักเรียน เป็นการใช้อำนาจอย่างหนึ่ง

“ระบบการศึกษามันยังมีสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่กว่าชุดนักเรียน เช่น เรื่องจะไปเรียนต่อที่ไหน นักเรียนก็ยังผ่านมันมาได้เลย แล้วชุดนักเรียนที่เป็นแค่เสื้อผ้าที่เราใส่ไปโรงเรียน ถ้านักเรียนจะไม่ใส่ชุดนักเรียนวันนี้ มันก็ไม่ใช่สิ่งที่บอกว่าในอนาคตเขาจะทำงานไม่ได้หรือเรียนไม่จบ มันไม่เกี่ยวกัน ผู้ใหญ่ควรจะมองที่เนื้อหามากกว่า”

การพูดถึงปัญหาบังคับให้ใส่เครื่องแบบนักเรียนก็มีมานานแล้ว แต่ทำไมถึงเพิ่งมาปฏิบัติการตอนนี้

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักเรียนกล้าลุกขึ้นมาพูดตอนนี้ ก็มาจากการเข้าร่วมเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองตลอดปีที่ผ่านมา จะเห็นนักเรียนขึ้นไปปราศรัยมากขึ้น มีกลุ่มองค์กรที่เป็นแนวร่วม ทำให้นักเรียนกล้าที่จะลุกขึ้นมาพูด เพราะเห็นว่าไม่ใช่แค่เขาคนเดียวที่พูด แต่ยังมีเด็กนักเรียนอีกมากที่ลุกขึ้นมาพูดเหมือนกัน

เครื่องแบบนักเรียนเป็นสิ่งที่มีในสังคมไทยมาช้านาน การให้เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกในทันทีอาจจะไม่ง่ายมองทางออกเรื่องนี้อย่างไร

ส่วนตัวเองเห็นด้วยกับโมเดลของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ที่ให้นักเรียนมีส่วนร่วมเลือกว่าวันไหนจะใส่ชุดอะไร และถ้ามองเป็นภาพรวมก็อาจจะให้แต่ละพื้นที่หรือแต่ละโรงเรียนทั้งผู้ปกครอง ครู และนักเรียน ช่วยกันตัดสินใจว่าโรงเรียนของเราจะเอาอย่างไร โดยต้องรับฟังเสียงนักเรียนจริง ๆ ซึ่งเราอาจจะได้คำตอบที่หลากหลายและไม่เหมือนกันในแต่ละโรงเรียน แต่ที่สำคัญ คือ มันมาจากการมีส่วนร่วมของทุกคนในโรงเรียนอย่างแท้จริง

แต่ก็อาจจะมีเพื่อนนักเรียนที่ไม่เห็นด้วย

การรณรงค์ไม่ใช่การบังคับ ถ้าเขาไม่เห็นด้วย เราก็รับฟังว่าเขาไม่เห็นด้วยเพราะอะไร ทุกคนต้องเคารพสิทธิในตัวเรา และในทางกลับกันเราเองก็อยากให้ทางโรงเรียนก็เคารพนักเรียนด้วย ไม่ควรคิดว่าเด็กทุกคนต้องเห็นด้วยกับเครื่องแบบ

อย่างตัวเองก็จะสวมชุดเครื่องแบบครึ่งท่อน คือ เสื้อเป็นเครื่องแบบนักเรียนหญิง แต่จะใส่กางเกงขาสั้นแบบนักเรียนชาย เพราะต้องการสะท้อนว่าชุดนักเรียนกลายเป็นสิ่งที่กำหนดกรอบของเพศว่า ผู้หญิงต้องใส่กระโปรง ผู้ชายต้องใส่กางเกง โดยไม่ให้ทางเลือกเลย ทั้งที่บางคนอาจไม่ได้อยากใส่ชุดนักเรียนชาย หรือบางคนเป็น LGBT ก็อาจจะอยากใส่กระโปรง แต่ที่ผ่านมาเขาไม่มีโอกาสได้เลือก ก็เลยอยากจะออกมาจากกรอบนั้น

แต่อาจมีคนคิดว่า หากปล่อยเสรีก็อาจจะแต่งกายไม่เหมาะสมหรือโป๊เกินไป

ประเด็นนี้ในกลุ่มก็เถียงกันเองว่า ถ้าปล่อยแล้วจะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นหรือเปล่า แต่ก็คิดว่ามันยังเป็นเรื่องที่หยิบขึ้นมาถกเถียงกันได้ว่าแค่ไหนถึงจะเรียกว่าเหมาะสม และคิดว่าเรื่องความสั้น-ยาว ของชุดที่สวมใส่ก็ยังผูกติดกับค่านิยมเรื่องเพศ ซึ่งจริง ๆ แล้ว โรงเรียนก็ควรจะเปิดพื้นที่ให้ถกเถียงในเรื่องนี้ ทั้งเรื่องค่านิยมไม่โทษเหยื่อ และควรแต่งกายอย่างไรให้เหมาะสมกับกาละเทศะ

“เด็กสมัยนี้เขารู้ตัวกันเองอยู่แล้ว หนูไปเรียนพิเศษก็ไม่เห็นใครแต่งตัวแบบไปเดินชายหาด เด็กรู้โดยสภาพแวดล้อมเองว่าเขาควรจะแต่งตัวอย่างไร”

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว