“R2P” รัฐที่ดี คือรัฐที่คุ้มครองประชาชน

: ศรีประภา เพชรมีศรี

จากเหตุการณ์ความรุนแรงในเมียนมา ประชาคมอาเซียน จึงมีมติ “ไม่เชิญ” ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนช่วงปลายเดือนตุลาคม 2564 ที่ประเทศสิงคโปร์ หนึ่งในเหตุผลสำคัญเป็นเพราะ “ความไม่คืบหน้า” ในแผนฟื้นฟูสันติภาพที่รัฐบาลทหารเมียนมาได้ตกลงไว้กับอาเซียน และเป็นแผนที่ “ไม่มีประสิทธิภาพ”

สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมา ลุกลามจนกลายเป็นอาชญากรรมขนาดใหญ่ ที่มีความร้ายแรง ทำให้ก่อนหน้านี้มีกระแสเรียกร้องให้นานาชาติเข้าไปช่วยเหลือ ผ่านกระบวนการ “R2P” หรือ หลักการความรับผิดชอบในการคุ้มครอง ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศมีความรับผิดชอบร่วมกันในการรับภาระหน้าที่ “เข้าไปแทรกแซง จัดการ แก้ไขปัญหาภายในรัฐอื่น”

แต่คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีข้อถกเถียงว่าอาจเป็น “การอ้างเหตุผลด้านมนุษยธรรมเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ และเพิ่มอำนาจให้กับรัฐที่เข้าไปแทรกแซง” R2P จึงเป็นสิ่งที่ท้าท้ายความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของรัฐ

The Acive ชวนมองสถานการณ์เพื่อนบ้าน ผ่านความเคลื่อนไหวเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชน สันติวิธี และความขัดแย้ง กับ ‘ศรีประภา เพชรมีศรี’ จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพ: กระทรวงการต่างประเทศ

ทำความเข้าใจ R2P

เวลาที่เราพูดถึง “R2P” ชื่อเต็มคือ “Responsibility to Protect” แปลภาษาไทยว่าคือ “ความรับผิดชอบในการปกป้องคุ้มครอง” ซึ่งมีอยู่ 3 ระดับ ภายใต้ หลักการ 3 เสา

หลักการแรก คือ หน้าที่ของรัฐที่จะต้องปกป้องคุ้มครอง จริง ๆ รัฐมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองประชาชนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เสาแรก คือ หน้าที่ของรัฐในการปกป้องคุ้มครอง

เสาที่ 2 คือ ประชาคมนานาชาติ ก็มีหน้าที่สนับสนุนให้รัฐนั้น ๆ ปกป้องคุ้มครองส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ดูแลเรื่องสันติภาพในประเทศของเขาได้ดีขึ้น บางประเทศอาจมีศักยภาพไม่เพียงพอ เป็นหน้าที่ของประชาคมนานาชาติ ที่จะให้ความช่วยเหลือสนับสนุนในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม หรือความช่วยเหลือในเชิงวิชาการ เช่น การสนับสนุนการอบรมเจ้าหน้าที่ เหล่านี้คือหลักการอย่างหนึ่งของ R2P

ซึ่งจะสังเกตว่า หลักการที่ 1 กับหลักการที่ 2 คนมักจะลืมคนจะมาคิดถึงหลักการ 3 คือ กรณีที่รัฐได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน อย่างที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Manifestly” คือ เขาไม่สามารถ (Unable) แล้วก็ไม่ปรารถนา (Unwilling) ที่จะปกป้องคุ้มครองประชาชนของตัวเอง ตามหน้าที่ของเขา ในหลักการที่ 1 ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของประชาคมนานาชาติที่จะแทรกแซง

แต่การแทรกแซงเป็นความเข้าใจผิดอย่างที่ 2 เพราะการแทรกแซงไม่ได้แปลว่า จะส่งกองกำลังเข้าไป เช่น กองกำลังสันติภาพของ UN ซึ่งโดยทั่วไปก็จะถูกเรียกร้องบ่อย ๆ อันนั้นเป็น Last Resort หมายความว่า มันจะเป็นทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น ในการที่จะใช้กองกำลังเข้าไป ประชาคมนานาชาติต้องใช้วิธีการอย่างอื่นก่อน เริ่มต้นตั้งแต่การใช้วิธีทางการทูต การเจรจา การส่งผู้แทนพิเศษเข้ามา ถ้าจะให้แรงขึ้นก็เริ่มกระบวนการ Sanction ทาง Boycott ทางการค้า ทางเศรษฐกิจอะไรก็แล้วแต่ ตัดความช่วยเหลือ คือมันมีระดับของการแทรกแซงของมัน เพียงแต่คิดว่าเวลาที่คนพูดเรื่องของ  R2P คนมักจะจำไปที่อันสุดท้าย คือการแทรกแซงทางทหาร

ซึ่งการแทรกแซงทางทหาร จริง ๆ แม้แต่เรื่องของการ Boycott  การ Sanction ถ้าในระดับสหประชาชาติ ก็ต้องได้รับการ Endorse คือการสนับสนุน การอนุมัติจาก United Nations Security Council คือจาก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ไม่ใช่ว่าประชาคมนานาชาติ อยากจะทำอะไรก็ได้ เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจ เรื่อง R2P

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจถัดมา คือ ต้องไม่ลืมว่าเวลาที่เราพูดถึง R2P เราจะพูดในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไป ซึ่งจะปรากฏอยู่ในเอกสาร คือ กฎบัตรสหประชาชาติ และในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็จะมีกฎบัตรอาเซียน เอกสารเอกสารทั้ง 2 ชิ้น มันมีข้อเหมือนกันบางส่วน ที่เหมือนกันมาก ไม่ใช่เฉพาะในระดับสหประชาชาติ แต่ว่าในระดับภูมิภาคด้วย คือ หลักการในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือ หลักการการเคารพอธิปไตยของประเทศอื่น ๆ เพราะว่าทุกประเทศ ถือว่าในระดับ UN หรือในระดับภูมิภาค ถือว่าทุกประเทศ มีอธิปไตยที่เท่าเทียมกัน มีเสรีภาพในการที่จะดำเนินการอะไรก็ตามภายในประเทศได้อย่างอิสระ โดยไม่ถูกแทรกแซงจากประเทศอื่น

เพราะฉะนั้น หลักการไม่แทรกแซงในกิจการภายในของประเทศอื่น ถือว่าเป็นหลักการทั่วไป ที่ได้รับการรับรองในกฎบัตรสหประชาชาติ แล้วก็ในกฎบัตรอาเซียน รวมถึงในทุกภูมิภาค  ก็มีเอกสารแบบเดียวกัน ที่เป็นธรรมนูญเหมือนกัน

แต่สิ่งที่อาเซียนแตกต่างจากภูมิภาคอื่น และแตกต่างจาก UN จากสหประชาชาติ จากกฎบัตรสหประชาชาติ คือ ในกฎบัตรสหประชาชาติ ถึงแม้จะวางหลักการทั่วไปไว้เลย แต่ในขณะเดียวกันในกฎบัตรสหประชาชาติ จะมีเขียนข้อยกเว้นเอาไว้ ข้อยกเว้นคือ หลักการที่สำคัญก็คือหลักการเคารพอำนาจอธิปไตย ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น แต่มีข้อยกเว้นว่า แต่อำนาจอธิปไตยมันไม่ควรจะเป็นอุปสรรค (Barrier) ในการที่ตัวคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือประชาคมนานาชาติ จะสนองตอบต่อสถานการณ์บางอย่าง ที่มันเป็นภัยคุกคามกับความมั่นคง และสันติภาพในโลก เขียนไว้อย่างชัดเจน คือเปิดช่องไว้ให้ กฎบัตรอาเซียนไม่ได้เปิดช่อง แต่กฎบัตรสหประชาชาติและอย่างที่บอกก็คือว่า เอกสารที่เป็นเอกสารที่มีผลบังคับทางกฎหมายของภูมิภาคอื่น เขาจะมีข้อยกเว้นเอาไว้

ฉะนั้นเวลาที่เราพูดเรื่องการแทรกแซง การแทรกแซงก็คือการที่เราทำอะไร โดยที่ไม่ได้รับการยินยอมจากอีกประเทศหนึ่ง เราถึงได้ใช้คำว่า “แทรกแซง” ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งยินยอม เราไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซง ถือว่าเป็นการเชิญให้เข้าไป (Invitation) อันนี้เป็นหลักการทั่วไป กับข้อยกเว้น ที่มันเป็นที่มาของ R2P

เวลาที่เราพูดถึงการใช้ R2P ซึ่งตอนนี้อย่างน้อยที่สุด คนในเมียนมาเข้าใจ คาดว่าคงจะเข้าใจว่า  R2P คืออะไร ในประเทศไทยยังไม่มีประชาชนคนไหน ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ใช้ R2P  ในฮ่องกงก็ยังไม่ได้มีการลุกขึ้นมาเรียกร้อง เพียงแต่เรียกร้องให้บางประเทศ ลุกขึ้นมาแทรกแซง แต่ว่าเขาไม่ได้ใช้ Concept ของ R2P ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าสนใจเช่นเดียวกัน

การใช้ R2P เขาจะใช้กับกรณีที่เขาเรียกว่า “Mass Atrocities” คือความทารุณโหดร้าย ที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้นกับมนุษย์ ซึ่งก็พูดถึงอาชญากรรม 4 อย่าง

อย่างแรกคือ“Genocide” คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พูดถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เรารู้สึกได้เลยว่า มันต้องใหญ่มาก มันร้ายแรงมาก อย่างในกรณีที่เกิดขึ้น กับกับประเทศเพื่อนบ้านเรา ระหว่างปี 1975-1978 ในสมัยเขมรแดง

อันที่ 2  “Crime against humanity” คือ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

อันที่ 3  “War crime” คือ อาชญากรรมสงคราม

อันที่ 4 “Ethnic Cleansing” การกวาดล้างต่างชาติ การทำลายล้างชาติพันธุ์

โดยอาชญากรรม 4 อย่างนี้ เป็นเอกสารที่รับรองเมื่อปี 2538 ที่ UN ประเทศไทยก็รับรองเช่นเดียวกัน ทุกประเทศในอาเซียนรับรอง อย่างแรกต้องดูว่า เราใช้ในกรณีอะไรบ้าง R2P เพราะมันไม่ได้สามารถเอามาใช้พร่ำเพรื่อ ไม่ใช่ว่าใครเกิดอะไรขึ้น ในประเทศใดประเทศหนึ่ง เราก็ลุกขึ้นมาบอกว่าต้องใช้ R2P มันไม่ได้ใช้ง่าย ๆ

เวลาที่เราพูดถึง R2P เราไม่ได้เน้นเรื่องการแทรกแซงอย่างเดียว แต่มันมีองค์ประกอบ 3 องค์ประกอบ ที่มันมีความสำคัญเท่าเทียมกัน องค์ประกอบแรก เราใช้คำว่า “ความรับผิดชอบในการป้องกัน” หรือ “Responsibility to prevent” หมายความว่าประชาคมนานาชาติ แล้วก็ประเทศรัฐบาลนั้น ๆ ก็มีหน้าที่ในการที่จะป้องกัน ไม่ให้เกิดอาชญากรรมที่ร้ายแรง เช่น เรื่องของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) แน่นอนที่สุดถ้าเราเห็นว่ามีการเลือกปฏิบัติกับเผ่าใด เผ่าหนึ่ง ชนชาติใดชนชาติหนึ่งโดยเฉพาะ อย่างรุนแรง มันต้องแก้ไขปัญหาอันนั้นที่ต้นตอ คือ ดูแล ถ้ารุนแรงก็ต้องจัดการเสียก่อน ก่อนที่มันจะพัฒนาไปถึงขั้นอาชญากรรมที่กล่าวไป อันนี้คือความรับผิดชอบในการป้องกัน

ความรับผิดชอบถัดมา คือความรับผิดชอบในการที่จะสนองตอบ “Responsibility to React” หมายถึงว่า ถ้ามันเกิดเหตุการณ์ขึ้น อย่างเช่นในกรณีของของของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรฮิงญา ในประเทศเมียนมา ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นศาลอาญาระหว่างประเทศ และ UN คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เขาก็ตีความออกมาแล้วว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ มันเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และตอนนี้เราก็รู้ว่ากรณีนี้ก็กำลังพิจารณาอยู่ใน ICC อยู่ที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ แล้วก็ยังอยู่ที่ ICJ ด้วย ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จะสังเกตคือทั้ง 3 องค์กรหลักในระดับนานาชาติ เขาก็มีความเห็นตรงกันว่า สอดคล้องกันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา คนเป็นล้านต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย และจำนวนหนึ่งก็เสียชีวิตไป ดังนั้น ต้องมีการสนองต่อเหตุการณ์นั้น ๆ ซึ่งถึงตอนนี้ก็เรียกว่า ถึงการใช้วิธีแทรกแซงแล้ว แทรกแซงตั้งแต่ระดับต้น ๆ ใช้การแทรกแซงทางการทูต จนกระทั่งถึงอันสุดท้าย คือถ้าอย่างอื่นมันไม่มีผลแล้ว ก็เป็นการแทรกแซงโดยการใช้กองกำลัง การแทรกแซงทางทหาร

ความรับผิดชอบอันสุดท้ายเลย คือ เราเรียกว่า “Responsibility to Rebuild” มันเป็นความรับผิดชอบในการที่จะฟื้นฟู โดยเฉพาะอย่าง หลังจากที่มันมีการแทรกแซงทางทหารเกิดขึ้น คนมักจะลืม 2 อัน อันแรกอันสุดท้าย Prevent กับ Rebuild คนมักจะมองข้าม 2 อันคือหมายความว่า ถ้าเกิดแทรกแซงเสร็จ แล้วก็ลืมไปว่าต้องต้อง Review เขาถึงบอกว่า R2P มันไม่ได้ให้ใช้กันง่าย ๆ

ท่าทีของประเทศอาเซียน ต่อสถานการณ์ในเมียนมา

ท่าทีของประเทศในอาเซียน ตอนนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจน ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศแรกเลย คือ กรณีที่นายกรัฐมนตรีออกมาพูดบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นกิจการภายในประเทศนั้น เพราะฉะนั้นเราไม่แทรกแซง แล้วก็ยังอ้างถึงหลักการของอาเซียนด้วย

แต่อยากจะเน้นอีก 2 อย่างในเรื่องของ R2P ซึ่งคิดว่า  น่าจะต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมว่า เวลาที่เราพูดเรื่องอำนาจอธิปไตยนี้ จริงอำนาจอธิปไตยแนวคิดแบบนี้ มันเกิดตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ตั้งแต่ปี 1648 ระบบรัฐชาติตอนที่เกิดรัฐชาติขึ้น แต่ละประเทศมีอำนาจอธิปไตยของตัวเอง แต่ว่าเราก็ต้องไม่ลืมว่า นับแต่ศตวรรษที่ 17 18 19

ศตวรรษ 19 เราก็เริ่มเห็นแล้วว่า แนวคิดเรื่องอธิปไตยแห่งรัฐ เช่น เรื่องการค้าระหว่างประเทศ มันคือการทำลายหลักการอธิปไตย เพราะจริง ๆ แล้ว ในการค้าขายแต่ละประเทศ มันก็มีกฎเกณฑ์ของตัวเอง เช่น ยุโรปจะซื้อกุ้ง จะซื้อข้าว จะซื้ออาหารทะเล จากประเทศไทย เขาตั้งเงื่อนไข การตั้งเงื่อนไข แล้วเราต้องยอมทำตามเงื่อนไข เพื่อให้เราส่งออกได้ อันนั้นในแง่มุมหนึ่ง อธิปไตยของเรา ที่เราจะสามารถกำหนดอะไรของเราเอง มันไม่ใช่แล้ว อันนั้นที่ชัดเจน

หรือการที่ปัจจุบัน เรามี WTO (World Trade Organization) องค์กรการค้าโลก ทำหน้าที่ดูแล (Regulate) ถ้ามันมีความขัดแย้งในเรื่องของการค้า สามารถจะส่งไปที่ WTOให้เขาพิจารณาได้ การที่รัฐทั้งหลาย ที่เป็นสมาชิกสมาชิก WTO ตกลงยอมให้ WTO เข้ามามีบทบาท ในการกำหนดกำกับ คุณว่าอำนาจอธิปไตยที่เรียกว่า สัมบูรณ์ Absolute มันยังอยู่ไหม มันก็สึกกร่อนไปแล้ว

ตัวอย่างถัดมา เห็นชัดเจนเช่นเดียวกัน การที่ประเทศทั่วโลกเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ทันทีทันใดที่คุณเป็นสมาชิกสหประชาชาติ แปลว่าคุณยอมรับกฎบัตรสหประชาชาติ การยอมรับกฎบัตรสหประชาชาติ แปลว่ามันมีเงื่อนไขบางอย่าง ที่คุณยอมรับไปแล้ว ไม่ใช่แค่กฎบัตรสหประชาชาติ แต่ละประเทศก็ยังเป็นภาคี กฎหมายระหว่างประเทศอีกเยอะแยะไปหมด รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งในกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ถึงแม้ว่าโดยหลัก ๆ กำหนดสิทธิของประชาชน แล้วก็กำหนดพันธกรณีของรัฐ แต่ในขณะเดียวกันทุกประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ ก็รู้ว่า มีข้อยกเว้น

เรื่องอำนาจอธิปไตย มีความเข้าใจผิด โดยเฉพาะความเข้าใจผิดโดยรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างยิ่งว่า อำนาจอธิปไตยของตัวเอง มันสมบูรณ์ แตะต้องไม่ได้ มันไม่ใช่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุคที่เทคโนโลยีมัน Advance มันก้าวหน้าไปขนาดนี้ มันมีอะไรบ้างที่เกิดขึ้นในรัฐนั้น แล้วรัฐอื่นไม่รู้ ไม่มีแล้วในปัจจุบัน

เพราะฉะนั้นในโลกปัจจุบันศตวรรษที่ 21 ถ้าผู้นำประเทศคนไหนลุกขึ้นมาพูด เรื่องอำนาจอธิปไตยที่ใครจะแทรกแซงไม่ได้ คิดว่าเขาไม่เข้าใจระบบระหว่างประเทศเลย ความหมายอีกอันหนึ่งของอำนาจอธิปไตย คือเวลาที่เราพูดเรื่องอำนาจอธิปไตย เรามักจะมองเรื่องสิทธิของรัฐเป็นหลัก แต่สิ่งหนึ่งที่เวลาที่เราพูดเรื่องสิทธิ คือมันมาพร้อมหน้าที่ เวลาที่เราพูดเรื่องอำนาจอธิปไตยของรัฐ เรากำลังพูดถึง Responsibility คือ หน้าที่ของรัฐด้วย “Sovereignty ไม่ได้เพียงคำว่า Right  คือ สิทธิ” แต่ Sovereignty คือ อำนาจอธิปไตย คือ Responsibility” ซึ่งเราลืมเรื่องนี้ไป โดยที่มันมีสิ่งที่เรียกว่า Responding, Responsibility ตามมา มันก็เหมือนกับเวลาที่เราพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน

ตัวอย่างการใช้ R2P ในภูมิภาคอาเซียน

ก่อนที่เราจะใช้คำว่า R2P (Responsibility to Protect) มันมีคำนึงมาก่อน แล้วก็ใช้กันค่อนข้างแพร่หลายก็คือ “Humanitarian Intervention” การแทรกแซงทางมนุษยธรรม ก็มีการใช้กองกำลังเช่นเดียวกัน เช่น ในกรณีของรวันดา พวกเราก็เคยได้ยินว่ามันเกิดอะไรขึ้นในรวันดา มีการต่อสู้ระหว่างชน 2 เผ่าหลัก ๆ มีผลทำให้คนถึงประมาณ 80,000 ถึง 1 ล้านคน ต้องเสียชีวิตไป แต่กว่า UN จะอนุมัติให้เข้าไป มันก็ช้าไปแล้ว คน 800,000 คน เสียชีวิตไปแล้ว การแทรกแซงอันนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นในกรณีของกัมพูชาด้วยซ้ำไป แต่ที่น่าสนใจแล้วมันอาจจะใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน เราในปัจจุบัน คือ เมื่อปี 1994  หรือ 2537 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เขาอนุมัติ  ให้มีการแทรกแซงทางทหาร ในกรณีของการรัฐประหาร มีการรัฐประหารในเฮติเมื่อปี 1991 คือปี 2534 และเหตุการณ์เมื่อทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีผู้ลี้ภัยจากเหตุเฮติหนีเข้ามาเขาก็เรียกร้อง ให้ใช้ “Humanitarian Intervention” ใช้การแทรกแซงทางมนุษยธรรม โดยการใช้กองกำลัง ปรากฏว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอนุมัติ โดยให้มีกองกำลังเข้าไป ด้วยการนำของสหรัฐอเมริกา กองกำลังอยู่ประมาณ 6 เดือน ก็โอเค ก็จัดการให้เกิดความสงบขึ้นในประเทศเฮติ

อาจจะตั้งคำถามว่า แล้วคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ บรรลุข้อตกลงกันได้ยังไง เราก็รู้ว่าโดยทั่วไป การแทรกแซงด้วยการใช้กองกำลัง มันจะมี 2 ประเทศ วีโต้เสมอ ก็คือจีนกับรัสเซีย ปรากฏว่าตอนนั้นสองประเทศนี้ไม่วีโต้ แต่ไม่ออกคะแนน งดออกเสียง ซึ่งถือเป็นการเปิดทาง หลายคนก็อาจจะถามต่อว่า… แล้วทำไม 2 ประเทศนี้ถึงงดออกเสียง  คือจริง ๆ เฮติก็เป็นประเทศเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียหรือจีนไม่ได้อยู่ในขอบเขตอิทธิพลของทั้ง 2 ประเทศ นอกเหนือจะไม่มีอยู่ในขอบเขตอิทธิพลของทั้ง 2 ประเทศแล้ว เป็นประเทศยากจนเล็ก ๆ ที่รู้สึกว่า ไม่มีประโยชน์อะไรกับเขาเลย เขาไม่มีผลประโยชน์อยู่ด้วย

กรณีนี้ ถ้าเอามาเทียบกับประเทศเมียนมา ต่างกันเลย จีนมีผลประโยชน์เต็ม ๆ อย่างมหาศาล ขนาดผลประโยชน์ของเขากำลังถูกมีเหตุการณ์เผาโรงงาน แต่จีนก็ยังยืนยัน จีนเพียงแต่บอกว่า เรียกร้องให้เมียนมา ดูแลผลประโยชน์ของเขา ดูแลคนของเขา แต่ก็ไม่ได้เรียกร้องว่า ประชาคมนานาชาติ จะต้องทำอะไร แต่จีนก็เผยออกไปนิดนึงว่า พร้อมที่จะสนับสนุนมาตรการต่าง ๆ ที่อาเซียน อาจจะพยายามเอามาใช้ ทำให้ อาเซียนแตกเป็น 2 ความเห็น

ถ้ากลับมาว่า หลังจากที่เรามี R2P ปี 2538 แล้ว มันมีกรณีไหนบ้างที่ UN Security Council คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เขาอนุมัติให้ใช้ มันก็มีกรณีของลิเบีย เมื่อปี 2011 เราก็รู้ว่า ประธานาธิบดีกัดดาฟี อยู่ดี ๆ ก็ลุกขึ้นมาประกาศว่า ใครที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเขา เขาสามารถที่จะฆ่าได้เลย แล้วสถานการณ์มันก็ค่อย ๆ รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งก็แน่นอน ประเทศตะวันตก 3 ประเทศ ในคณะมนตรีความมั่นคงก็พยายามเรียกร้องให้มีการใช้ R2P ซึ่งก็ได้รับอนุมัติ โดยที่ 2 ประเทศเขาก็ไมลง ซึ่งก็น่าสนใจ แต่ว่าก็ใช้เวลาหลายปีเหมือนกันกว่าจะได้ใช้

เคยมีการเรียกร้องครั้งหนึ่ง ให้ใช้ R2P ในประเทศเมียนมา ก็คือเมื่อปี 2008 คือปี 2551 เราก็รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศเมียนมา มี ไซโคลนนาร์กิส (Cyclone Nargis) ซึ่งฆ่าชีวิตผู้คนไปหลายหมื่น หรืออาจจะนับแสน แล้วก็ผู้คนประมาณ 2 ล้านคน สูญเสียที่อยู่อาศัย การดำรงชีวิตทั้งหลาย ในตอนแรก ๆ โดยเฉพาะเดือนแรก รัฐบาลทหารในขณะนั้น รัฐบาลทหารเมียนมาก็ปฏิเสธ ที่จะให้ประชาคมนานาชาติ ต่างประเทศซึ่งส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเข้ามา ที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือ กับคนที่ได้รับผลกระทบจากไซโคลนนาร์กีส มีรัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศส แบร์นาร์ด คูชแนร์ (Bernard Kouchner)  ลุกขึ้นมาเรียกร้องบอกว่า  ในกรณีแบบนี้ แปลว่ารัฐบาล Unable, Unwilling คือนอกจากไม่สามารถ ไม่พอ และยังไม่ยินยอมที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนของตัวเอง เพราะฉะนั้นประชาคมนานาชาติต้องใช้ R2P แต่ว่าแม้แต่ประเทศตะวันตกด้วยกันเอง ก็ลุกขึ้นมาโจมตีแบร์นาร์ด คูชแนร์  แล้ว R2P ก็ตกไปตอนนั้น

แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า ในขณะนั้นตัวเลขาธิการอาเซียน ท่านก็พยายามจะใช้การเจรจาทางการทูต จนกระทั่งเมียนมาก็ยินยอมให้อาเซียน เป็นศูนย์กลางในการประสานความช่วยเหลือ จากนานาประเทศ ให้เข้าไปให้ความช่วยเหลือกับประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเราก็ไม่ได้ใช้คำว่า R2P

บทบาทรัฐ บทบาทประชาชน บทบาทของสื่อ จะมีส่วนช่วยรับผิดชอบในการป้องกันยับยั้ง อย่างไร?

ในกรณีของประเทศไทย มันก็มีจุดเสี่ยงอยู่ เช่น รัฐธรรมนูญ กลายเป็นต้นตอของความขัดแย้งในสังคมไทยอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐไม่มีความรับผิดชอบที่จะป้องกันหรือการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ (Prevent) โอกาสที่มันจะมีความรุนแรงมากขึ้นก็มี หรือ กรณีการปฏิเสธการประกันตัวของแกนนำและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งหลาย รวมถึงอีกหลายเรื่องที่เป็นต้นตอของความขัดแย้ง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความรุนแรงที่จะตามมา เพราะฉะนั้น เราก็ต้องเรียกร้อง “ความรับผิดชอบของคนที่เกี่ยวข้อง”

คนที่เกี่ยวข้องในที่นี้คือใคร คนที่เกี่ยวข้องในที่นี้คือรัฐ เพราะรัฐมีหน้าที่อย่างที่เราพูดไปแล้วตั้งแต่ต้น แล้วรัฐบาลชุดนี้ ก็เสนอตัวเข้ามาด้วย เสนอตัวเข้ามาบอกว่า จะทำหน้าที่ส่งเสริมคุ้มครองปกป้องสิทธิของประชาชน ตอนนี้เราก็จะเริ่มเห็นแล้วว่า ตกลงรัฐไทยมีความปรารถนา (Willing) ที่จะทำหน้าที่ มีความจริงใจที่จะปกป้องคุ้มครองประชาชนทุกคน ไม่ใช่บางคน หรือคำกล่าวเรื่อง 2 มาตรฐานเลย แต่คิดว่าเราอาจจะมีมากกว่า 2 มาตรฐาน คือ มีหลายมาตรฐานกับไม่มีมาตรฐาน

หลักอธิปไตยมันไม่ใช่แค่สิทธิ แต่มันเป็นความรับผิดชอบที่รัฐจะต้องคุ้มครอง ปกครอง ปกป้องทั้งสิทธิมนุษยชน ทั้งความปลอดภัยต่อประชาชนที่อยู่ในรัฐ การออกมาเรียกร้องความยุติธรรม ปกป้องประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพประชาชนในประเทศเมียนมา หรือในประเทศใดก็ตาม ถือเป็นนัยยะแห่งการต่อสู้และการขับเคลื่อนประวัติศาสตร์เพื่อสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ทุกคน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


Author

Alternative Text
AUTHOR

ภัทวีย์ ศรีหะไตรย์

ผู้ประสาน 10 ทิศ ชอบการติดต่อ-สื่อสารเป็นชีวิตจิตใจ ตัวเราขับเคลื่อนไปได้ด้วยการ "ติ่ง"

Alternative Text
AUTHOR

อรุชิตา อุตมะโภคิน

ตามหาความเสมอภาคผ่านงานทั้งศาสตร์และศิลป์ พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์รอบตัว