“อุตสาหกรรมอยู่ได้ ชาวบ้านอยู่ได้” ความฝัน? บนเส้นทางการพัฒนาอุตสาหกรรม

  • ปัญหาการลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรมในกระบวนการผลิตของโรงงาน ยังคงเป็นโจทย์สำคัญ หากรัฐบาลไทยจะเดินหน้าสู่เป้าหมายร่วมของเวที COP26 เพื่อรับมือและแก้ปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
  • เฉพาะแค่การรวบรวมข้อมูลจากกรณีที่ตกเป็นข่าว มูลนิธิบูรณะนิเวศ พบว่า สถานการณ์ดังกล่าว “รุนแรงขึ้น” ในขณะที่แหล่งปล่อยมลพิษกลับพยายามลดต้นทุนในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ “อุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งปล่อยสารพิษปรอท” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศไทยต้องเฝ้าระวัง เพราะนอกจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแล้วมลพิษเหล่านี้ ยังส่งผลต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชาชน
  • โรคมินามาตะ ยังเป็นกรณีตัวอย่างชัดเจนที่สุด ว่าปัญหาของสารปรอทที่เกิดจากกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมบางประเภท ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อโลก สุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม เมื่อการพัฒนาต้องเดินหน้า ก็ได้แต่หวังว่า“อุตสาหกรรมอยู่ได้ ชาวบ้านอยู่ได้” จะไม่ใช่แค่ความฝัน

หากดูท่าทีของผู้นำแต่ละประเทศ ในเวที COP26 (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties : UNFCCC COP) ที่รวมถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ต่างเห็นร่วมกันว่า สิ่งแวดล้อมกำลังถูกคุกคาม เป็นปัญหาร่วม ที่ประชากรโลกต้องตระหนัก และมีกลไกแก้ปัญหาอย่างจริงจัง 

เป้าหมายของไทยที่นายกฯ ประกาศกร้าว ว่าจะต้องยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ได้ในปี ค.ศ. 2065 หรืออีก 44 ปีข้างหน้า

“คำถามที่ผุดขึ้นทันที คือ ทำอย่างไร”

คำว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ที่ไทยเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายมากว่า 5 ทศวรรษ โดยเฉพาะหากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยเองก็ยังคงห่างไกล เมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ และคงไม่ใช่แค่มลพิษทางอากาศ แต่ไทยยังมีปัญหาด้านมลพิษอื่น ๆ ปนเปื้อนในน้ำ ดิน ที่หากจะแก้ไขก็คงต้องปรับรื้อการพัฒนาอุตสาหกรรมกันใหม่ โดยเฉพาะ ปัญหาการลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรมในกระบวนการผลิตของโรงงาน

การติดตามปัญหานี้อย่างต่อเนื่องมานานกว่า 3 ปี ผู้เขียนได้ชมภาพยนตร์เรื่อง “มินามาตะ ภาพถ่ายโลกตะลึง” (MINAMATA, 2021) เมื่อเดือนตุลาคม ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริง บอกเล่าปัญหาของชาวเมืองเล็ก ๆ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น จังหวัดคุมาโมโตะ เกาะคิวชู ถึงผลกระทบจากการได้รับสารพิษปรอท ที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยลงสู่แหล่งน้ำอุปโภคบริโภค เป็นเรื่องราวโด่งดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 65 ปี

สิ่งที่ชาวบ้านต้องเผชิญนั้นน่าหดหู่ เศร้า และสะเทือนใจ ขณะเดียวกัน วิธีคิดของผู้ประกอบการต่อสามัญสำนึกความรับผิดชอบที่ถ่ายทอดผ่านบทสนทนานั้น กระตุกต่อมอารมณ์โกรธ ให้ชวนนึกถึงหลายเหตุการณ์ที่ผู้เขียนประสบเองขณะลงพื้นที่ทำข่าว  แต่ทว่าการลักลอบทิ้งสารพิษจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม ไม่ใช่แค่เรื่องสามัญสำนึกของผู้ประกอบการ แต่ยังประกอบไปด้วยความฉ้อฉลของระบบการตรวจสอบ กำกับ กฎหมาย ที่หากจะไปให้ถึงเป้าหมายของท่านผู้นำ คงต้องรื้อโครงสร้างและวางฐานอุตสาหกรรมใหม่กันเลยทีเดียว 

ชิโนบุ ซาคาโมโต ผู้ป่วยโรคมินามาตะตั้งแต่กำเนิด ที่มา: มูลนิธิบูรณะนิเวศ

มูลนิธิบูรณะนิเวศ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการลักลอบทิ้งของเสีย เฉพาะเหตุการณ์ที่เป็นข่าวและมีการเผยแพร่ในสื่อมวลชนประเภทต่าง ๆ รวมถึงการให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กของสื่อมวลชนและเครือข่ายชุมชนในช่วงระหว่างปี 2560-2564 รวม 5 ปี พบว่ามีการลอบทิ้งของเสียทั้งหมด 304 ครั้ง ซึ่งแบ่งขยะติดเชื้อ 17 ครั้ง, ขยะทั่วไป 21 ครั้ง, ลอบทิ้งน้ำเสียโรงงาน 200 ครั้ง ลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอันตราย 66 ครั้ง การลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในปี 2564 (ข้อมูล ณ กันยายน 2564) พบว่า สูงถึง 16 ครั้ง ขณะที่ปี 2563 ทั้งปี พบจำนวน 15 ครั้ง

การปนเปื้อนของแหล่งน้ำและพื้นที่การเกษตรในจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดระยอง

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุว่า ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ปัญหาการลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรมในประเทศไทยรุนแรงและเพิ่มขึ้น คาดว่าเป็นเพราะความเข้มงวดลดลง และการลดต้นทุนของโรงงานในการดูแลสิ่งแวดล้อม ขณะที่อุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งปล่อยสารพิษปรอท ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน ของเสียจากกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเคมีบางประเภท ปิโตรเลียม การขุดเจาะ ซึ่งแหล่งกำเนิดในไทยที่ควรต้องเฝ้าระวัง คือ การขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย แต่ปัจุบันได้มีการยกเลิกติดตามเฝ้าระวังไปแล้ว

“อยากให้ คพ.ติดตามเฝ้าระวังอีกครั้ง เพราะตราบใดที่มีการขุดเจะน้ำมันจะพบสารปรอทหลุดลอกออกมาปนเปื้อนในทะเลและเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารพวกสัตว์ทะเลและที่สุดก็กลับมาหาเรา”  

น้ำมันรั่วในทะเลอ่าวไทย จ.ระยอง

ชาติวุฒิ วังวล ผอ.สำนักควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ระบุว่ามลพิษเหล่านี้ส่งผลต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชาชนส่วนใหญ่ กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงหรือได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มคนเปราะบาง ได้แก่ เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ และกลุ่มคนชายขอบ ข้อมูลจากวารสารการแพทย์เดอะแลนเซต (The Lancet) พบว่าในปี 2562 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหรือความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษ 43,538 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิตมีสาเหตุเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ 30,625 คน มลพิษจากน้ำ 5,379 คน มลพิษจากสถานที่ทำงาน 5,406 คน และพิษตะกั่ว 2,127  คน 

“ปัจจุบันมีภาคประชาชนที่เดือดร้อนหลายแห่ง ออกมาเคลื่อนไหวกับปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงขึ้น และมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการปกป้องและการผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาและหวังให้สื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงเพื่อมุ่งสู่การลดความเสี่ยงจากปัญหาที่เกิดขึ้น” 

ปัญหาของสารปรอทที่เกิดจากกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมบางประเภท ยังคงเป็นภัยคุกคามสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก กรณีของโรคมินามาตะจึงเป็นบทเรียนด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับประชากรโลก

ด้วยเหตุนี้ สหประชาชาติ รัฐบาลนานาชาติ และภาคีระหว่างประเทศ ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิด “อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท” ขึ้นในปี 2553 เพื่อให้มีการควบคุม การเลิกใช้สารปรอทในหลายกิจกรรมและลดการปล่อยสารปรอทจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ  โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ พร้อมทั้งเห็นชอบให้แต่งตั้งกรมควบคุมมลพิษรับหน้าที่ศูนย์ประสานงาน (National Focal Point) ของอนุสัญญามินามาตะฯ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 ประเทศไทยจึงเป็นภาคีลำดับที่ 66 และอนุสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

ยังมีสารพิษอีกหลายตัวที่ไทยเองพยายามที่จะมุ่งแก้ปัญหา และยกระดับกลไกในการติดตามเฝ้าระวัง แต่ก็ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเข้มงวดกวดขัน การยกระดับกฎหมาย อาจจะเป็นปลายเหตุ ตราบใดที่แนวทางการพัฒนาและวางรากฐานของอุตสาหกรรมในบ้านเรา  ไม่ได้อยู่บนหลักการของอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปัญหามลพิษหรือเป้าหมายของท่านผู้นำในยุคสมัยใดก็ตาม อาจยากจะเกิดขึ้นจริง

ได้แต่หวังว่า “อุตสาหกรรมอยู่ได้ ชาวบ้านอยู่ได้”  จะไม่ใช่แค่ความเพ้อฝันเท่านั้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์