เมื่อไม่มีสิทธิที่จะเลือก ชีวิตดี ๆ จึงเป็นแค่จินตนาการ | ชลนภา อนุกูล

“งานและชีวิต” ไลฟ์สไตล์รูปแบบใหม่ของชนชั้นกลางที่ไร้ความมั่นคง

ขาดปัจจัยพื้นฐาน ขูดรีดแรงงานตัวเองแทบตาย สุดท้ายชีวิตดี ๆ ไม่ง่ายอย่างที่คิด

“มองเมือง คนจน ชนชั้นกลาง” ผ่าน “นิยามความจน” โดย ชลนภา อนุกูล นักวิจัยสมทบหน่วยปฏิบัติการวิจัยความมั่นคงของมนุษย์และความเท่าเทียม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความจนในยุคสมัยใหม่ 

ความจนไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่มิติรายได้อย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังหมายถึงความมั่นคงในการจ้างงานอีกด้วย

ชลนภา ยกตัวอย่างอาจารย์มหาลัยที่อาจต้องทำงานประมาณ 6 ปี ถึงจะได้สัญญาจ้างงานตลอดชีพ คำถามก็คือหากประชาชนไม่มีความมั่นคงทางด้านรายได้ อาชีพ มันก็จะบ่งบอกถึงวิธีการมองอนาคตของบุคคลนั้นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนเรื่องที่อยู่อาศัย การเดินทาง หรือมิติอื่น ๆ ในการดำรงชีวิต

การเกิดโรคระบาดขึ้นมา ทำให้เห็นชัดมากว่าอะไรคือความจำเป็นหรือความต้องการขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น การ Work From Home ที่ทุกคนต้องกลับมาทำงานที่บ้าน ดังนั้น มันจึงเป็นตัวสะท้อนว่าที่อยู่อาศัยนั้นเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิตและของทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในชนชั้นหรือในพื้นฐานทางเศรษฐกิจแบบไหน 

ด้าน ความมั่นคงทางอาหาร ชลนภามองว่า หากไปถามคนจน เขาก็จะบอกว่าเขากลัวไม่มีข้าวกิน กลัวอด การคิดต่อความมั่นคงของชีวิตทุกวัน ก็ส่งผลต่อพัฒนาการของสมองเช่นกัน นอกจากนั้น ยังส่งผลต่อวิธีการคิดและวางแผนต่ออนาคตด้วย

“คนยังกลัวอดข้าวและไม่มีแรงไปทำงาน และเมื่อไม่มีแรงไปทำงาน ก็อาจเสี่ยงต่อการหลุดออกจากการจ้างงานได้ เมื่อไม่มีการจ้างงาน ก็อาจไม่มีเงินไปจ่ายค่าห้องเช่าหรือค่าที่อยู่อาศัย ความจนจึงเป็นปัญหาต่อเนื่องกันทั้งระบบ ไม่ใช่อยู่แค่หน่วยใดหน่วยหนึ่งเท่านั้น”

สิ่งเหล่านี้ จึงทำหน้าที่ตอบคำถามด้วยว่า ทำไมสำหรับคนส่วนหนึ่งชีวิตจึงไม่สามารถผิดพลาดได้ จำเป็นต้องเดินไปตามระบบหรือเส้นทางในเส้นทางหนึ่งเท่านั้น เพราะเขาไม่มีต้นทุนสำหรับความเสี่ยงหรือค่าเสียโอกาสในชีวิตมากนัก 

ความจนรูปแบบเก่า ความจนรูปแบบใหม่ 

ชลนภา เสนอว่านิยามความจนแบบเดิมก็ยังคงใช้ได้อยู่ เช่น นิยามด้านรายได้ หรือการแบ่งรายได้ตามเส้นความสามารถ บอกความจนในแง่ของมิติเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ “เงิน” ไม่ใช่มิติเดียวของการวัดความยากจน แต่เงินเป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา การนิยามความยากจนมาพร้อมกับภาพจำของคนชนบท แต่มักมองไม่เห็นคนจนซึ่งอาศัยอยู่ในเมือง

ถ้าเป็นในเมือง เรามักมองความจนอยู่เคียงข้างถนน แต่เราไม่เคยมองว่าภายในห้างสรรพสินค้าเองก็มีคนจนอยู่ด้วยเช่นกัน เพราะคนจนเหล่านี้มักไม่ปรากฏตัวให้เห็น แต่เป็นพนักงานที่ทำความสะอาดอยู่ในห้องน้ำ เช็ดเก้าอี้ให้เรานั่ง เป็นต้น

คนเหล่านี้มักไม่ถูกมองเป็นความจน แต่กลับถูกมองว่าเป็นอะไรสักอย่างที่เป็นส่วนเกินของเมือง 

ความจนแบบใหม่ยังรวมถึงความจนของคนรุ่นใหม่ เช่น การไม่สามารถไปฝันถึงการซื้อบ้านที่จะต้องผ่อนจ่ายในระยะยาวได้นั้น ก็สะท้อนว่าพวกเขาคิดว่าตนเองไม่มีความสามารถในการชำระเงินหรือใช้จ่ายอะไรฟุ่มเฟือยได้ในระยะยาวขนาดนั้น ซึ่งนั่นทำให้คนรุ่นใหม่ไม่มีความมั่นคงในด้านที่อยู่อาศัย เพราะเน้นการเช่าเขาอยู่ไปตลอดชีวิต เป็นต้น 

การพูดว่าเรายังสามารถใช้เส้นความยากจนแบ่งความจนได้นั้น ก็เพราะว่ารายได้เป็นคนละส่วนกันกับทรัพย์สิน ในบางรายอาจมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน แต่มีทรัพย์สินที่จะสามารถรองรับการดำรงชีวิตได้ ดังนั้น ความจนไม่อาจวัดเพียงมิติรายได้ แต่ยังรวมถึงทรัพย์สินและหนี้ด้วย 

ความจนในรูปแบบใหม่ยังรวมถึงการมี “เสรีภาพในทางเศรษฐกิจและสังคม”

“คนจนมันไม่ใช่แค่เรื่องของการขาดแคลนเงินเท่านั้น แต่บางรายยังขาดแคลนศักดิ์ศรีในการดำรงชีวิตได้ด้วยตัวเอง เมื่อใครสักคนหล่นไปอยู่ในความจนและต้องขอเงินจากคนอื่น ก็จะเกิดเป็นความกลัวและความรู้สึกไม่มั่นคงต่อชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจของตนเอง และไม่มีสิทธิหรือเสรีภาพในการเลือกว่าอยากกินและอยู่อาศัยแบบไหน”

เธอสรุปว่า ความจนจึงเป็นสภาวะที่ไม่สามารถเข้าถึงความต้องการพื้นฐาน เช่น อาหาร สุขภาพ ที่อยู่อาศัย ส่วนเรื่องเครื่องแต่งกายอาจจะเป็นเรื่องของเกียรติและศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่ต้องรักษาไว้ อย่างไรก็ตาม ความต้องการของมนุษย์นั้นสามารถยกระดับได้ไม่จำเป็นต้องติดอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีมาก่อน 

จนโดยเปรียบเทียบ จนโดยสมบูรณ์​

ความจนโดยสมบูรณ์ หมายถึง บุคคลนั้นไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว จำเป็นจะต้องพึ่งพาความช่วยเหลือของรัฐจริง ๆ แต่ ความจนโดยเปรียบเทียบ ก็คือสำหรับคนบางกลุ่มแล้ว ทำงานเท่าไรก็ไม่พอที่จะใช้กินอยู่ดี หรือเรียนมาเท่าไรก็ไม่สามารถหางานที่ดีทำได้

ที่สุดแล้วคนจนกลุ่มเปรียบเทียบนี้แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะยกระดับฐานะตนเองอย่างไรก็ไม่สามารถไปพ้นจากสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมเดิมได้เลย นอกจากนั้น คนจนเปรียบเทียบนั้นยังไม่มีมาตรการคุ้มครองทางสวัสดิการสังคมที่ดี ทำให้แม้ว่าจะพยายามเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถไปพ้นจากความจนชนิดนี้ได้เลย นอกจากนั้น คนจนยังไม่มีทางเลือกในชีวิตมากขนาดนั้น เช่น ทางเลือกของการศึกษาหรือทางเลือกของการประกอบอาชีพ ทั้งหมดนั้นจึงทำให้คนจนเสียเปรียบจากกลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวยกว่าในเกือบจะทุกด้าน 

ไม่เพียงเท่านั้น คนจนยังมีโอกาสน้อยที่จะคิดฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า หรือแสวงหาการเติมเต็มชีวิตแบบใหม่ เช่น ที่กลุ่มคนมีฐานะดีกว่าใฝ่ฝันถึง นั่นเพราะสำหรับคนจนแล้ว พวกเขามีเรื่องตรงหน้าให้ต้องคิดถึงในแต่ละวัน มากกว่าการวางแผนอนาคตในระยะยาวซึ่งดูเป็นไปได้ยาก

ดังนั้น หากรัฐลงทุนที่จะสร้างความมั่นคงหรือสร้างความรู้สึกว่าทุกคนจะมีความมั่นคง ทุกคนก็จะมีสิทธิ์คิดฝันถึงการต่อยอดชีวิตไปในทางที่ดีกว่าได้ เพราะไม่ต้องเอาเวลามากังวลเรื่องความปลอดภัยทางเศรษฐกิจและสังคมของชีวิต หรือการทำสิ่งใดแล้วไม่ประสบความสำเร็จเพราะท้ายที่สุดแล้วก็ยังมีสวัสดิการของรัฐหรือนโยบายของรัฐที่รองรับไว้อยู่ 

วิธีที่จะทำให้เข้าใจความจน คือต้องเข้าใจการพัฒนาเมือง 

การพัฒนา หลายครั้ง ทำให้เกิดความยากจนหรือการทิ้งใครสักคนไว้ข้างหลังเสมอ งานวิจัยชิ้นหนึ่งของนักสังคมวิทยาอย่าง David Harvey ที่ศึกษาเรื่องความเป็นเมืองและความเป็นธรรมของสังคม David เสนอว่าการพัฒนาเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ดีแน่ ๆ แต่การพัฒนานั้นเป็นธรรมกับคนที่อยู่อาศัยในเมืองหรือเปล่า เพราะในปัจจุบันนี้มีคนจำนวนน้อยมากที่เข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของเมืองนั่นคือ ที่ดิน เพราะอันที่จริงแล้วโครงสร้างเรื่องที่ดินนั้นไม่ได้กระทำแต่เฉพาะคนชนบท แต่กระทำกับชนชั้นกลางที่อยู่อาศัยในเมืองด้วย

เมื่อพิจารณาความจนในเมืองจึงต้องมองว่า คนเหล่านั้นทำงานแบบไหน มีรายได้แบบไหน มั่นคงและเพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองและครอบครัวหรือไม่ และสำคัญที่สุดก็คือพอให้เหลือออมหรือเปล่า ไม่นับรวมว่าคนจนนั้นมีเหตุให้จำเป็นต้องใช้เงินตลอดเวลา 

ต่อมาเราจะพบว่า สัดส่วนของรายได้กับสัดส่วนของค่าที่อยู่อาศัยนั้นไม่สมดุลกัน ปัจจุบันเราจะพบความเหลื่อมล้ำคือค่าที่อยู่อาศัยมักสูงถึงประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับการวัดความยากจนในต่างประเทศแล้วจะไม่ใช้เส้นความยากจนแต่จะใช้เส้นที่เรียกว่า affordable housing โดยดูว่าประชากรในเมืองนั้น ๆ มีค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยเกิน 30 เปอร์เซ็นต์กี่คน เพื่อที่เขาจะได้ออกแบบที่อยู่อาศัยให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ได้ด้วย ไม่ใช่เน้นสร้างแต่ที่อยู่อาศัยของคนชนชั้นกลางขึ้นไปเท่านั้น 

มิติเรื่องงานยังสัมพันธ์กับความยากจนเพราะงานมักจะกระจุกตัวอยู่ในแต่ในเขตเมือง ดังนั้นหากเราสามารถกระจายงานไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดได้ ก็จะลดปัญหาเรื่องการอัดกันอยู่ในเมืองและต้นทุนในการตั้งต้นชีวิตใหม่ในเมืองซึ่งมีค่าครองชีพที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ดังนั้นการกระจายทรัพยากรอย่างสัมพันธ์กับการออกแบบเมือง เพราะในชีวิตที่ดูเหมือนมีทางเลือกของคนทั่วไปนั้น จริง ๆ แล้วอาจจะเต็มไปด้วยการไม่มีทางเลือกใดเลยจนส่งผลต่อความมั่นคงของชีวิตในที่สุด

ชีวิตที่มีทางเลือก แต่ไม่มีสิทธิที่จะเลือก

เพราะเราไม่มีจินตนาการถึงการมีชีวิตที่ดี และไม่มีโอกาสที่จะเห็นว่าชีวิตที่ดีนั้นเป็นอย่างไร เช่น สำหรับกลุ่มคนจนแล้ว พวกเขาไม่มีจินตนาการถึงชีวิตที่ดีว่าพวกเขาจะสามารถหยุดทำงานในวัยเกษียณได้ เพราะถึงแม้จะมีอายุมากแล้วแต่การหยุดทำงานก็เท่ากับการไม่มีเงินเข้ามาประทังชีวิตนั่นเอง

หรือการที่คนจะต้องทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อที่จะมีเงินใช้จ่าย นั่นหมายถึงว่าคนเหล่านี้มองไม่เห็นว่าชีวิตที่ดีของการทำงานเพียงวันละ 8 ชั่วโมงต่อวันนั้น จะสามารถเติมเต็มหรือสร้างความมั่นคงให้เขาอย่างไรได้บ้าง 

ชีวิตที่ดีเป็นเรื่องของจินตนาการ แต่มันต้องมาพร้อมกับสวัสดิการและการรองรับทางสังคมที่จะเอื้อให้เรามีสิทธิในการมีชีวิตที่ดีนั้นด้วยเช่นกัน การจะพิจารณาถึงสังคมที่ศิวิไลซ์นั้นก็คือการทำให้สังคมไม่เกิดการเลิกปฏิบัติ แต่เน้นการให้ทุกคนเข้าถึงผลที่ควรจะได้

ทำไมประชาชนเข้าถึงทรัพยากรไม่เท่ากัน 

ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วย่อมผ่านการพัฒนาที่เรียกว่า “การปฏิรูปที่ดิน”

ที่ดินถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญมากในหลายประเทศ ดังนั้น การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจผ่านการกระจายผลประโยชน์ด้านที่ดินจึงไม่ใช่แค่การพัฒนาประเทศแบบมุ่งเฉพาะผลประโยชน์ของการเติบโตให้แก่เฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น

ที่ดินจึงกลายเป็นปัจจัยพิสูจน์ความมั่งคั่งในยุคสมัยใหม่ ในหลายประเทศจึงมีวิธีกระจายการจัดการความมั่งคั่ง ก่อนที่จะพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจส่วนอื่น 

ชลนภาเสนอว่าความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นความผิดพลาดของประวัติศาสตร์ซึ่งเราย้อนไปแก้ไขไม่ได้ แต่เราเรียนรู้ได้ว่าประวัติศาสตร์ผิดพลาดอย่างไรและเราจะแก้ไขมันอย่างไร ความผิดพลาดของประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น ก็คือการที่ไม่มองว่าชีวิตที่ดีนั้นเป็นชีวิตที่ดีของทุกคน ไม่ใช่แค่เฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น การพัฒนาที่ผ่านมามักมองอย่างเหมารวมว่าคนบางส่วนต้องเสียสละทรัพยากรที่ดินหรือทรัพยากรส่วนกลางต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศได้รับการพัฒนา ซึ่งกลุ่มคนที่เสียสละนี้ ก็ได้แก่กลุ่มคนจนหรือกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ที่รัฐต้องการใช้เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ

ชลนภายังชี้ว่า การพัฒนาเมืองนั้นมีความซับซ้อนและความไม่เป็นธรรมซ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น คนจนไม่สามารถมีบ้านใจกลางเมือง ซึ่งเป็นแหล่งการทำงานได้ จึงต้องเลือกอยู่ที่อยู่อาศัยที่ไกลกว่าแหล่งงาน และนั่นทำให้พวกเขามีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตที่มากขึ้น เช่น ค่าเดินทาง ค่าเสียโอกาสด้านเวลา และการเสียโอกาสด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านอื่น ๆ

นอกจากนั้น ยังอาจรวมถึงมิติด้านจิตใจและสุขภาพที่ได้รับผลกระทบจากการความเครียดต่อความไม่มั่นคงในชีวิตอีกด้วย 

Need: ความต้องการของคนที่ไม่เท่ากัน

คนจนยังไม่ได้ต้องการขอทรัพยากรเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต ทุกครั้งพวกเขาขอที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายหรือแนวทางการพัฒนาประเทศซึ่งจะมีเสียงและสิทธิของพวกเขาอยู่ในนั้นด้วย นี่จึงเป็นการขอพื้นที่และการปรากฏตัวให้เห็นว่าคนจนก็ดำรงอยู่ในฐานะสมาชิกทางสังคมคนหนึ่ง และได้รับผลกระทบทางสังคมจากสิ่งที่ประชาชนส่วนอื่นก่อไว้ด้วยเช่นกัน 

ดังนั้น สังคมที่มองเห็นความต้องการและความแตกต่างหลากหลายของผู้คน ก็จะสามารถออกแบบสภาพแวดล้อมสังคมและปัจจัยเกื้อหนุนต่าง ๆ ได้อย่างชาญฉลาดและรองรับความมีตัวตนอยู่ของคนทุกกลุ่มมากขึ้น

สังคมที่ดีในแบบของชลนภาจึงเป็นสังคมที่ฉลาดและมีประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม นอกจากนั้น ยังต้องพิจารณาความต้องการที่ไม่เท่ากันของคนแต่ละกลุ่ม เพื่อที่จะทำให้การพัฒนานั้นดำเนินไปอย่างเติมเต็มความต้องการที่ไม่เท่ากันนี้และทำให้ผู้คนสามารถดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันด้วย เช่น กายภาพของคนตั้งครรภ์อาจจะต้องการที่นั่งบนรถโดยสารสาธารณะมากกว่าคนทั่วไป จึงต้องมีการสำรองที่นั่งไว้ให้คนที่ตั้งครรภ์ เหล่านี้คือภาพสะท้อนว่าคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะคนจนนั้นมี Need หรือความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคมที่มากกว่าคนในระดับอื่นนั่นเอง ความต้องการโดยพื้นฐานนั้นถือเป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนควรจะได้รับ

รูปแบบใดที่ผลิตซ้ำให้เกิด “คนจน” ในสังคม 

ชลนภาเสนอว่ามีแนวคิดที่ว่าด้วยการทำให้ทุกอย่างกลายเป็นสินค้า ซึ่งการกลายเป็นสินค้านี้เองหมายถึงว่าทุกคนจะต้องมีความสามารถทางการเงินหรือความสามารถในการซื้อเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการหรือสินค้าเหล่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจการศึกษา ที่หากมีเงินก็จะสามารถเข้าถึงการศึกษาที่ดีกว่าหรือการศึกษาที่สามารถเติมเต็มความรู้ในส่วนต่าง ๆ ได้มากกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขณะเดียวกันก็มีบางอย่างที่ถูกทำให้ไม่เป็นสินค้า ยกตัวอย่างเช่น ทรัพยากรทางธรรมชาติหรือการที่แรงงานถูกทำให้มีราคาถูก ดังนั้น จะมีกลุ่มคนที่มักจะเสียเปรียบและได้เปรียบอยู่เสมอในกระบวนการพัฒนาหรือกระบวนการทางประวัติศาสตร์ กลุ่มคนที่ได้เปรียบมักเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจในการต่อรองทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงการมีทุนทางสังคมอื่น ๆ ที่ช่วยส่งเสริมเครือข่ายของอำนาจด้วย 

“เมื่อพูดถึงความรวยหรือความจนแล้วเราอาจจะต้องพูดถึงการครอบครองอำนาจ เพราะอำนาจคือที่มาของการกำหนดทิศทางบางอย่างทางสังคมในการกำกับการรับรู้ของคน เช่น เราพูดถึงจินตนาการของการมีชีวิตที่ดี แต่ชีวิตที่ดีเหล่านี้ใครเป็นผู้กำหนดทิศทางความเป็นไป ภาพจำของการมีชีวิตที่ดีจึงมักถูกกำหนด โดยกลุ่มคนที่ถือครองทรัพยากรอยู่เป็นจำนวนมาก”

ชลนภา ยกตัวอย่างว่า หากเราดูในสื่อกระแสหลักก็จะพบว่าภาพจำของการมีบ้านที่ดี ก็คือการมีคฤหาสน์ที่สวยหรู มีเงินทอง และมีแม่บ้านคอยให้บริการ คนรวยไม่จำเป็นต้องทำงานอะไรเลย ผู้มีอำนาจทางการเงินจึงมักยึดครองอำนาจของการมองเห็นและอำนาจในการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อเพื่อสร้างการรับรู้ทางสังคมให้คนทั่วไป 

นอกจากนั้น อำนาจยังเป็นเรื่องของการกำหนดความรู้ ยกตัวอย่างเช่นชีวิตช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่มีวาทะกรรมการ หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ที่ต้องการให้ผู้คนรักษาระยะห่างโดยการอยู่แต่ในบ้านของตน นี่จึงเป็นการกำหนดว่าชีวิตที่ปลอดภัยควรเป็นเช่นไร แต่ไม่สนใจมิติทางสังคมและเศรษฐกิจอื่น เช่น คนที่จะต้องตกงาน อดตาย และไร้ศักดิ์ศรี เพราะเกิดการเว้นระยะห่างทางสังคมเช่นนี้ จนทำให้ขาดงานและขาดเงิน เป็นต้น

ที่ผ่านมาจึงเป็นเพียงแค่การฉายภาพความเดือดร้อน แต่มักละเลยที่จะฉายภาพความพยายามของผู้คนที่จะทะลุทะลวงความยากลำบากเพื่อให้พวกเขาลืมตาอ้าปากได้ 

แก้ปัญหาความยากจนด้วยการเน้นลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์

อมาตยา เซ็น (Amartya Kumar Sen) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ชาวอินเดีย เสนอว่าเราต้องทำให้คนยากไร้หรือคนยากจนมีความสามารถในการพัฒนาตนเอง นอกจากนั้น ยังเสนอสิ่งที่เรียกว่า Human Development Index เพื่อวัดการพัฒนามนุษย์ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การพัฒนาการศึกษา แต่ยังรวมถึงมิติอื่น เช่น ศักยภาพของแรงงาน ศักยภาพผู้ประกอบการ เป็นต้น เพื่อให้เกิดคุณค่าของมนุษย์และคนทำงาน

นอกจากนั้น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ยังต้องรวมถึงการพัฒนาคนในเชิงคุณภาพไม่ใช่แค่ในเชิงตัวเลข เช่น เราไม่อาจวัดความสำเร็จได้แค่เฉพาะตัวเลขของคนที่มาลงทะเบียนอบรมอาชีพเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้วเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าเกิดการพัฒนาอาชีพต่อบุคคลนั้นมากน้อยแค่ไหน และได้ประโยชน์ใดจากการพัฒนาอาชีพเหล่านั้นที่จะสามารถนำมาใช้จริงในชีวิตได้

ทั้งนี้ ในระดับมหาวิทยาลัยเองก็เน้นผลิตคนทำงานที่มีความสามารถเป็นลูกจ้าง แต่ไม่มีความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นปัญหาหนึ่งในมหาวิทยาลัยด้วยเช่นกัน 

ความแปลกเรื่องความเหลื่อมล้ำในไทย 

เมื่อคนไทยพูดถึงความเหลื่อมล้ำ ก็มักจะมองถึง ความเหลื่อมล้ำของคนจนและคนชั้นกลาง แต่ในต่างประเทศจะพูดเรื่อง คนรวย 1 เปอร์เซ็นต์ และคนที่เหลืออีก 99 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นชนชั้นกลางและชนชั้นล่างจึงถือเป็นกลุ่มเดียวกัน นอกจากนั้น ยังหมายถึงโครงสร้างของความเหลื่อมล้ำที่เมื่อเกิดการพัฒนาด้านใดขึ้นมาแล้ว ก็มักจะมีคนที่ได้เปรียบและเสียเปรียบอยู่ในการพัฒนานั้นเสมอ

ปกติแล้วคนเสียเปรียบจะดูเป็นคนจน ทำให้เราละเลยการมองชนชั้นกลางว่าเป็นคนที่เสียเปรียบจากกระบวนการการพัฒนาเช่นกัน เช่น เรามองว่าคนจนเป็นคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย แต่ในขณะเดียวกันชนชั้นกลางหลายคนก็จะต้องเช่าบ้านอยู่หรือมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง เช่นคอนโดมิเนียม ที่จะต้องเสียเงินซื้อมาในราคาที่สูงกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่หลายเท่า

อย่างไรก็ตาม ชีวิตของคนที่อยู่ในเมืองและชนบทนั้นมีโครงสร้างที่แตกต่างกันมาก เรามักจะมีภาพจำเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมทางสังคมหรือความยากจนที่ผูกติดอยู่กับคนจน โดยละเลยมิติความยากจนหรือความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับชนชั้นกลาง นอกจากนั้น เรายังไม่สามารถเล่าความไม่เป็นธรรมของชนชั้นกลางและคนจนในเรื่องเดียวกันได้ เพราะมีการเผชิญกับความยากจนที่แตกต่างกันในรายละเอียด

ชลนภา ยกตัวอย่าง เมื่อเราพูดถึงแรงงานนอกระบบ ส่วนใหญ่คำนี้มักผูกติดกับแรงงานรับจ้างรายวัน ซึ่งทำงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะสูงมาก แต่เราต้องไม่ลืมว่าแรงงานนอกระบบก็คือคนที่ไม่มีสัญญาจ้าง เช่น ฟรีแลนซ์ ซึ่งเป็นอาชีพของชนชั้นกลางด้วย เป็นต้น

วิธีคิดที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ จึงทำให้เรารู้สึกว่าเรื่องที่คนจนกลุ่มหนึ่งเรียกร้อง ไม่เป็นเรื่องเดียวกันกับคนจนอีกกลุ่มหนึ่ง หรือในที่นี้ก็คือเรื่องที่ คนจนในชนบทเรียกร้องไม่เป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องความเดือดร้อนของคนจนหรือคนชนชั้นกลางที่อยู่ในเมือง 

นอกจากเรื่องจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่าแล้ว เรายังต้องมองถึงหลักการในการแบ่งปันทางสังคมด้วย เช่น การที่คนรวยควรจะต้องเสียภาษีมากกว่าคนจน เพราะว่าคนรวยส่วนหนึ่งก็ได้ประโยชน์จากความมั่งคั่งที่กอบโกยไปจากกระบวนการการพัฒนาในสังคมนี้

“ถ้าความมั่งคั่งเกิดจากการเอารัดเอาเปรียบคนในสังคม ดังนั้น กลุ่มคนรวยจึงต้องควรจ่ายภาษีกลับมาให้คนที่ได้รับผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากการพัฒนานี้ด้วยเช่นกัน คำถามสำคัญก็คือ เรารู้สึกถูกกระทำหรือโดนเอารัดเอาเปรียบจากคนในสังคมมากพอ ที่จะผลักให้เราลุกขึ้นมาเรียกร้องหรือยัง

ทั้งหมดนั้น อาจจะต้องเกิดจากการสร้างความรู้สึกของการใช้อำนาจในการต่อรองของคนในสังคม ซึ่งหากทั้งหมดรู้สึกร่วมว่าไร้อำนาจแล้วนั้น ก็จะนำไปสู่การต่อสู้เรียกร้องในที่สุด ทั้งหมดนั้น จึงอาจเป็นเรื่องของการทะเยอทะยานอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะหากเราพิจารณาว่าชีวิตเราดีขึ้นได้กว่านี้หรือเรา “deserve” สิ่งต่าง ๆ ได้มากกว่านี้ ก็อาจจะนำไปสู่การพัฒนาหรือการเรียกร้องเพื่อนำมาซึ่งสิทธิในการมีอำนาจร่วมตัดสินใจในกระบวนการพัฒนาได้ 

การแบ่งปันของคนในสังคมคืออะไร เพื่ออะไร 

ชลนภาอธิบาย “การแบ่งปันนี้” ในแง่ของการช่วยเหลือเกื้อกูลในสังคมเดียวกัน เช่น หากใครมีอาหารแบบไหนก็เอามาแบ่งปันกัน อีกฝ่ายก็อาจจะตอบแทนด้วยของหรือบริการอีกแบบกลับมา แต่ในโลกยุคใหม่นั้น การแบ่งปันทางสังคมสามารถทำได้หลายอย่าง อย่างง่ายที่สุด คือ การบริจาค สอง คือ การออกแรงหรือจิตอาสาที่ใช้ทักษะในการทำงานเพื่อแบ่งปันกัน สาม คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ซึ่งนั่นคือสังคมสวัสดิการหรือสังคมที่แบ่งปัน ยกตัวอย่างเช่น สังคมนอร์ดิกที่เป็นรัฐสวัสดิการซึ่งเตรียมพร้อมโครงสร้างสาธารณะหลายอย่างไว้ให้กับคนในรัฐนั้นอย่างเท่าเทียมกัน 

การเกิดมาในครอบครัวที่เลือกไม่ได้หรือมีภาระต้องดูแลนั้น ก็เท่ากับเป็นกรรมเก่าหรือเป็นประวัติศาสตร์ของความจนที่ผูกพันคน ๆ นั้นมาเช่นกัน เช่น บางคนที่อยากมีหน้าที่การงานที่ดีขึ้น แต่ไม่สามารถย้ายเข้าไปทำงานในเมืองได้ เพราะจะต้องอยู่ดูแลพ่อแม่ที่เริ่มแก่หรือป่วย เหตุของความจนจึงจำเป็นจะต้องพิจารณาถึงมิติด้านภาระของชีวิต

ส่วนสิ่งที่จะเลือกให้คนดำเนินชีวิตไปข้างหน้าได้นั้นเรียกว่า ทุนชีวิต ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา ทรัพย์สิน และทุนทางสังคม ดังนั้น การต่อสู้เพื่อให้เกิดการแบ่งปันทรัพยากรหรือความเท่าเทียมทางสังคมนั้น ยังรวมถึงการต่อสู้เพื่อให้คนของเราเข้าไปนั่งอยู่ในกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ด้วย 

เครื่องมือและกลไกเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม 

1 – ความฝัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าเครื่องมือ เราต้องฝันว่าเราอยากมีสังคมที่ดี อนาคตที่ดี และชีวิตที่ดีแบบไหน 

2 – การจ่ายกลับคืน เช่น การจ่ายภาษี เพราะภาษีนั้นถือเป็นรายได้ที่รัฐสามารถเก็บจากผู้มั่งคั่ง อันได้ผลประโยชน์จากการพัฒนาหรือการดำเนินกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ดังนั้น การเก็บภาษีจึงเป็นเหมือนการเก็บค่าการสร้างผลกระทบหรือค่าที่คนเหล่านั้นกอบโกยจากระบบเศรษฐกิจของคนอื่น ๆ ในสังคมไปด้วยนั่นเอง 

การเป็นคนรวยในประเทศนี้ยังทำให้คนรวยมีสิทธิและอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนอื่น ทำให้เรื่องที่ควรจะต้องจ่ายมากกว่าคนอื่นกลับได้จ่ายในสัดส่วนที่น้อยกว่าคนอื่น การเป็นคนรวยในประเทศนี้ยังมีค่าใช้จ่ายน้อยมาก เช่น การมีรถที่ดีก็ยังมีบริการที่จอดรถที่ดีกว่าคนอื่นให้ เป็นต้น 

3 – การสร้างงาน เราไม่อาจมีตลาดแรงงานหรือสร้างพื้นที่ของการทำงานโดยปราศจากการสร้างคนทำงานได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องลงทุนกับการพัฒนาทรัพยากรคนทำงาน 

4 – การตั้งคำถามว่ามีอะไรผิดปกติในกระบวนการพัฒนาของสังคมและเศรษฐกิจ เช่น การตั้งคำถามกับวิธีการทำการเกษตร ทำไมผลิตเหมือนกันแต่ได้ผลผลิตและรายได้ไม่เหมือนกัน มีต้นทุนอะไรที่ใช้จ่ายมากหรือน้อยกว่ากัน และจะทำอย่างไรให้เกิดความมั่งคั่งอย่างถ้วนหน้าได้ 

แว่นใหม่ของรัฐในการแก้ปัญหาคนจน?

ชลนภา บอกว่า อย่างแรกเราต้องมองว่าคนที่กำหนดนโยบายนั้นมองเห็นอะไรบ้าง และแวดล้อมด้วยสังคมหรือคนแบบไหน ซึ่งส่วนใหญ่ มักเป็นความดีงามของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบชนชั้นนำ ยกตัวอย่างเช่น การเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก นำอุตสาหกรรมอื่นของไทยในตอนนี้ ซึ่งนั่นเป็นการละเลยว่าประเทศไทยมีบุคคลจากภาคการเกษตรมากกว่าภาคอุตสาหกรรมจนทำให้ละเลยเกษตรกรในหลายท้องที่เป็นจำนวนมาก

ถัดมา คือ อคติต่อคนแก่ ประเทศไทยมักไม่ลงทุนกับคนแก่ แต่เน้นลงทุนกับเด็กมากกว่า โดยสัดส่วนคนแก่ของไทยตอนนี้อยู่ในภาคการเกษตรมากกว่าในเมือง และคนแก่นั้นไม่ได้แก่แล้วตายไปเลย แต่ยังต้องใช้ชีวิตที่เผชิญกับความไม่มั่นคงและความไม่ปลอดภัยอีกหลายประการซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับความมั่นคงทางชีวิตของคนอื่นด้วยเช่นกัน 

ดังนั้น ไม่ว่าจะพัฒนาแบบใดเราจะต้องไม่ให้ศาสตร์การพัฒนาใดมามีเสียงที่ดังกว่าเสียงของอีกศาสตร์หนึ่ง แต่ต้องให้ความสำคัญและตั้งคำถามกับการพัฒนาผ่านแว่นของการพัฒนานั้นอย่างต่อเนื่องด้วย เราจึงจำเป็นต้องเห็นคนทั้งหมดในระบบ อย่างไม่ยกเว้นใครหรือสถานะใด เราจึงจะออกแบบนโยบายการพัฒนาที่สัมพันธ์กับคนอย่างรอบด้านได้ 

คนเมืองยังเชื่อมโยงกับชนบท ผ่านโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่คนชนบทต้องเสียสละ

ในปัจจุบันนี้หากเรามองว่าคนเมืองกับคนชนบทยังเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันอย่างไรนั้น ก็ให้มองว่า น้ำมาจากไหน ไฟมาจากไหน หลังจากนั้นเราจะเห็นความเชื่อมโยงของคนทั้งสองกลุ่มได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นคนชนบทนี่เอง ที่ต้องเสียสละพื้นที่ในการพัฒนา เช่น การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าให้กับคนในเมือง โดยที่เขาไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการผลิตนั้นเลย หรืออาหารที่ดีมาจากไหน ก็ต้องมาจากพื้นที่ในชนบทซึ่งเป็นพื้นที่ในการผลิตวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อส่งป้อนให้กับในพื้นที่เมือง ซึ่งการเตรียมการผลิตเหล่านั้นก็ยังสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชนบทที่จะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตทั้งในเชิงมิติการใช้ชีวิตส่วนตัวและนิติการใช้ชีวิตในสังคมนั้นด้วย 

ความเสี่ยงที่คนจนจะเพิ่มมากขึ้น 

มีคนที่เป็นแรงงานนอกระบบในไทยราว 22 ล้านคน โดยปัจจุบัน มีคนทำงานที่มีรายได้น้อยประมาณ 8 ล้านคน และมีคนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นยากจนประมาณ 2 ล้านคน นั่นหมายความว่ามีคนที่เราต้องจัดการด้วยประมาณ 10 ล้านคน ความซับซ้อนนี้ทำให้เราอาจแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1 – กลุ่ม lower-paid workers คือ คนที่ทำงานแต่มีรายได้ต่ำเกินไป 

2 – กลุ่ม under-employment นั่นคือกลุ่มคนที่จบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยแต่ไม่สามารถเข้าถึงงานที่เหมาะสมและมีรายได้ที่จะเลี้ยงชีพได้ จนทำให้ต้องลดระดับการศึกษาไปรับงานอื่นเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด 

สำหรับคนทั้ง 2 กลุ่มนี้ เมื่อเราไม่มีแว่นที่จะไปจับหรืออธิบายปรากฏการณ์ของพวกเขา ก็จึงทำให้เราขาดความสามารถในการอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หรือทำนายปรากฏการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นกับพวกเขา ซึ่งถือว่าเป็นการละเลยคนกลุ่มหนึ่งออกจากกระบวนการพัฒนาไม่ต่างกับคนจนเช่นกัน 

ประกันสังคม – ความปลอดภัยทางสังคม

ในต่างประเทศมีคำว่า Social Insurance ซึ่งคิดในฐานว่าทุกคนในสังคมมีความเสี่ยงได้หมด รัฐจึงมีมาตรการรองรับความร่วงหล่นของคนทุกคนเพื่อไม่ให้เกิดการทิ้งใครไว้ข้างหลัง เช่น ที่ต่างประเทศจะคำนวณว่า หากเกิดคนไร้บ้านขึ้นมา จะทำให้รัฐเกิดค่าใช้จ่ายมากขึ้นเท่าไร (แต่ในไทยมักจะมีค่าใช้จ่ายกับคนไร้บ้านแค่เฉพาะกับค่าการตั้งศูนย์คนไร้บ้านเท่านั้น)

นอกจากนั้น ต่างประเทศยังมีการคิดคำนวณอีกว่าหากคนไร้บ้านป่วย รัฐจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อโอบอุ้มคนเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน การที่ประเทศไทยไม่เคยคำนวณค่าใช้จ่ายเหล่านี้ในทางหนึ่ง จึงสะท้อนว่ารัฐไทยมองคนกลุ่มเปราะบางทางสังคมว่าเป็นกลุ่มคนที่ไร้มูลค่าทางเศรษฐกิจและไม่จำเป็นต้องดูแล 

ในไทยมีตัวเลขของแรงงานประมาณ 2 ล้านคนเท่านั้น ที่อยู่ในระบบประกันสังคม นั่นหมายความว่ามีคนอีกกว่า 20 ล้านคนที่ไม่มีประกันสังคม นั่นเพราะพวกเขามีรายได้ไม่พอในการจ่ายเงินประกันสังคมและพวกเขายังขาดแรงจูงใจในการเข้าระบบประกันสังคมอีกด้วย เช่น หากพูดถึงอาชีพการรับส่งอาหารของบริการแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งดูไม่มีนายจ้างชัดเจน แต่หากลูกค้าเป็นคนกดสั่งอาหาร ก็เท่ากับว่าเราว่าจ้างให้ผู้ให้บริการขับรถส่งอาหารมาให้เรา ดังนั้น หากเกิดอุบัติเหตุระหว่างทางกับคนขับ ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ ด้วยวิธีคิดเช่นนี้จึงทำให้เราเห็นว่าแรงงานหลายฝ่ายยังเข้าไม่ถึงประกันสังคมและระบบสวัสดิการที่จะรองรับความปลอดภัยของพวกเขาเลย 

เครื่องมือที่ควรเร่งทำเพื่อป้องกันการร่วงหล่นของคนจน

1 – สร้างงาน 

2 – เราควรคิดเรื่องการจ่าย Universal Basic Income (UBI) หรือ เงินรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ซึ่งเป็นเงินสด จนกว่าคน ๆ นั้นจะตั้งตัวได้ระดับหนึ่ง ซึ่งต้องเป็นเงินสดที่ให้ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนโดยเงินนี้อาจคำนวณร่วมกับเงินอื่น เช่น บางคนอาจจะได้เส้นจากเบี้ยผู้สูงอายุอยู่แล้ว ก็จะทำให้เกิดการปรับระดับฐานเงิน UBI ที่ลดหลั่นลงมาได้ 

ชลนภาชวนพิจารณาว่าทำไมเราต้องให้รายได้ขั้นพื้นฐานต่อประชากร โดย อันดับแรก นั้นมาจากบทเรียนของการเจอภัยพิบัติจากน้ำท่วมใหญ่สึนามิ ซึ่งทำให้ถอดบทเรียนได้ว่า เพราะเงินสดเป็นสื่อของการแลกเปลี่ยนทรัพยากร ดังนั้น การให้เงินสดนั้นสามารถแปลงเป็นปัจจัยที่บุคคลจะให้ชัดการกับชีวิตของตนเองได้ตามความเหมาะสม 

สองคือ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนยอมรับว่าจำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหวของเงินในระบบจนทำให้เงินไม่ฝืดทั้งระบบ และเมื่อบุคคลตั้งตัวได้เขาก็จะมีเวลาที่จะพัฒนาศักยภาพและชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเดิม สามคือ การรู้ว่าเรามีประชากรแบบไหนอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง จากนั้นก็เพิ่มตัวชี้วัดเรื่องการสร้างงานให้กับคนในชุมชนผ่านการประเมินร่วมกันว่าพื้นที่ใดต้องการงานแบบไหน หรือรัฐควรสนับสนุนสิ่งใดเพิ่มเติมในพื้นที่บ้าง 

การกระจายทรัพยากรทั้งหมดนี้ จึงเป็นเรื่องเดียวกันกับการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น ชุมชนควรมีอำนาจในการจัดการการพัฒนาในพื้นที่ผ่านงบประมาณที่รัฐไว้วางใจให้ท้องถิ่นดูแล การเรียกร้องถึงรัฐสวัสดิการจึงไม่ได้หมายถึงการปล่อยให้รัฐเป็นผู้จัดการทั้งหมด แต่หมายถึงการร่วมมือกันจัดการทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม วิธีที่น่าสนใจก็คือการทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Parcipatory budgeting) ซึ่งเป็นต้นแบบมาจากประเทศบราซิล เพื่อตั้งกรรมการจากฝั่งประชาชนเพื่อถกเถียงเรื่องการใช้งบประมาณในแต่ละปีไปกับการพัฒนาในสัดส่วนใดบ้าง 

“ประเทศนี้อาจไม่ได้ต้องการความจริงที่สุด หรือดีที่สุด แต่ต้องการฉันทามติที่จะได้ร่วมกันต่อไปได้ เพื่อสร้างให้เห็นภาพร่วมกันว่า ถ้าประเทศดีเราก็จะไปต่อด้วยกันได้ และหากล่มจมก็จะล้มเหลวไปพร้อมกัน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active